ภาพยนตร์เป็นสื่อแสนทรงพลังและกินความหมายกว้าง ผู้กำกับหนังแต่ละคนอาจจะมีเหตุผลของตัวเองในการทำหนังสักเรื่อง และสำหรับแคลร์—จิรัศยา วงษ์สุทิน ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เธอใช้เปลี่ยนเศษเสี้ยวความทรงจำทั้งสุข ทั้งทุกข์ในช่วงชีวิตของตัวเอง ให้ออกมาเป็นภาพและเสียงที่ลงตัวและกระทบใจคน จนชื่อของเธอเป็นที่รู้จักในวงการหนังไทยมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย
‘กลับบ้าน’ (2554) คือหนังสั้นชนะเลิศรางวัลช้างเผือกจากเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 16 เป็นจุดเริ่มต้นที่สง่างามสำหรับเด็กสาวขี้อายคนหนึ่ง ซึ่งจากนั้นได้ครองรางวัลนี้อย่างต่อเนื่องติดกันสามปีซ้อน โดยภาพยนตร์สั้นเรื่องที่สองคือ ‘เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน’ (2555) และเรื่องที่สาม ‘วันนั้นของเดือน’ (2557)
เรื่องที่สามนี้ นอกจากจะเป็นที่สนใจในหมู่คนรักหนังบ้านเราแล้ว ยังไปไกลถึง Clermont-Ferrand International Short Film Festival ประเทศฝรั่งเศส นับเป็นหนังสั้นเรื่องที่ 2 ของคนไทยที่ได้รางวัลชนะเลิศจากเทศกาลหนังสั้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้แคลร์ยังเป็นทีมเขียนบทให้ ‘ฝากไว้..ในกายเธอ’ (2557) และ ‘โปรดระวังอันตรายข้างหน้าฯ’ (2558) อีกด้วย
ล่าสุด เธอเพิ่งฝากผลงานไว้ในโปรเจกต์ ABABO รวมหนังสั้น 4 เรื่อง จาก 4 กรุ๊ปเลือด ที่เกิดจากความร่วมมือกันของคนทำหนังอิสระและสภากาชาดไทย ชวนคนไทยไปบริจาคเลือดเพื่อแลกตั๋วหนังเข้าชม และแคลร์เอง เป็นหนึ่งในสี่ผู้กำกับ
นี่คือการกลับมาทำงานกำกับในรอบสามปีของเธอ จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้มีบทสนทนาร่วมกัน ย้อนไปถึงเรื่องราวที่ผ่านมา มองไปถึงอนาคตข้างหน้า และลงลึกไปถึงความรู้สึกภายในที่กลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดเรื่องราวทั้งหมด
Life MATTERs : ทำหนังได้ดีเป็นที่ยอมรับทั่วโลกขนาดนี้ คุณเป็นเด็กที่เติบโตมากับการดูหนังหรือเปล่า
แคลร์ : เปล่าเลย ตอนเด็กๆ เราชอบดูละคร เป็นเด็กบ้าดาราที่ชอบอ่านข่าวบันเทิง จำชื่อดาราได้หมดทุกคน ดูละครเยอะมาก จนเพิ่งมาสนใจหนังตอนเรียนช่วงมัธยมต้น เราเห็น Julia Roberts แล้วชอบมาก ตามอ่านรีวิวในนิตยสารหนัง อ่านกระทู้ในพันทิป ตามดูหนังที่เขาเล่น ซึ่งก็มีหลากหลายแนวไม่ได้มีแค่ Romantic Comedy เพียงอย่างเดียว
เราจริงจังกับการดูหนังมากขึ้น เพราะได้ค้นพบว่าหนังมันมีมากกว่าความบันเทิง เช่น เรื่อง My best friend wedding (1997) ดูจบแล้วอินมาก ซึมไปสามวัน เพราะมันเป็นหนังรักที่ไม่ได้สมหวังเหมือนที่เราเคยรู้จัก เรารู้สึกว่าหนังมีอิมแพ็กกับชีวิตเราเยอะ ก็เลยชอบดู แต่ไม่เคยคิดว่าจะทำหนังหรอกนะ
ตอนมัธยมปลายเราเรียนศิลป์-ฝรั่งเศส คิดว่าคงจะเรียนอักษรศาสตร์มั้ง แต่ในใจลึกๆ ก็ชอบดูหนังอยู่นะ และปีเรามี GAT PAT ครั้งแรก คะแนนเราสามารถเลือกคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ก็เลยเลือก แต่จนเข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็ยังไม่ได้คิดจะทำหนัง เพราะเห็นคนอื่นทำ ไปช่วยรุ่นพี่ออกกองแล้วมันดูเป็นเรื่องยากมาก จนมีรุ่นพี่คนหนึ่งที่สนิทกันไปหาทุนทำหนังให้เพื่อนเขามาได้ 7 เรื่อง แล้วมันมีเรื่องหนึ่งที่ยังว่างพอดี เราเลยมีโอกาสได้ลองทำดู
Life MATTERs : จากที่ไม่ได้สนใจทำมาก่อน ประสบการณ์การทำหนังสั้นเรื่องแรกเป็นยังไงบ้าง
แคลร์ : ก่อนหน้านั้นเราเป็นโรคกลัวคน กลัวการเจอคนใหม่ๆ กลัวการทำความรู้จักคนที่ไม่คุ้นเคย แล้วในเรื่องจะมีนักแสดงคือพ่อกับลูก ซึ่งบทพ่อนี่หานักแสดงที่เหมาะยากพอสมควร สุดท้ายพี่ๆ เลยแนะนำให้ใช้โมเดลลิ่งจัดหานักแสดงให้ เราก็เลือกไปคนหนึ่ง ด้วยความที่กลัวคนก็เลยให้เขาไปเจอวันออกกองเลย ไม่นัดคุยอะไรทั้งนั้น คิดว่าพี่เค้าคงทำได้แหละมั้ง ไม่รู้ว่าต้องมีเวิร์กช็อป หรือบรีฟบท สรุปวันนั้นคือพังมาก เพราะพี่เขาเป็นนักแสดงสมทบในละครมาตลอด ก็เลยติดการแสดงแนวละคร
เราเองเป็นผู้กำกับเรื่องแรกก็ยังไม่มีความสามารถพอที่จะไปปรับเขา ยิ่งเป็นการปรับหน้ากองด้วยยิ่งยาก ยังไงเราก็ปรับเขาไม่ได้ สุดท้ายฟุตเทจที่ถ่ายมาวันนั้นทั้งวันไม่ได้ใช้เลย เราก็เครียดมากว่าจะทำต่อดีไหม สุดท้ายก็เอาใหม่ หาคนใหม่แล้วมาคุยกันก่อน เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ตอนทำหนังเรื่องแรก ว่า pre-production การพูดคุยทำความเข้าใจกับนักแสดง มันสำคัญมากๆ สำหรับการทำหนัง
Life MATTERs : ทำหนังเรื่องแรกก็ได้รางวัลเลย มันส่งผลยังไงต่อเราบ้าง
แคลร์ : วันฉายมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่เราก็สนุกไปกับมัน เราเห็นรุ่นพี่ส่งประกวดในเทศกาลภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทยก็เลยลองส่งเล่นๆ ดูบ้าง ปรากฏว่าได้รางวัลชนะเลิศ ชื่อรางวัลช้างเผือก ซึ่งวันงานเราไม่ไปด้วย เพราะคิดว่าไม่ได้แน่นอน พอได้รางวัลก็เหมือนเป็นจุดเปลี่ยนนิดหนึ่งสำหรับเรา มันเหมือนเป็นข้อพิสูจน์บางอย่างว่าเราทำได้ดีระดับหนึ่ง เหมือนได้รับการยอมรับ ก็เลยคิดว่าอยากลองทำหนังต่อไปเรื่อยๆ
Life MATTERs : รางวัลแรกทำให้คุณได้รับการยอมรับและอยากลองทำหนังต่อไป แล้วอีกหลายๆ รางวัลต่อมาส่งผลมากน้อยแค่ไหน
แคลร์ : พอได้รางวัลแล้วในแง่การทำงานก็กดดันตัวเองนะ คือเวลาทำ เราไม่ได้คิดว่าจะต้องได้รางวัลหรอก แต่คิดว่าถ้าทำหนังออกมาห่วยคงเกลียดตัวเอง คงโดนด่าแน่เลย เป็นความคิดแบบเด็กๆ นั่นแหละ ก็เลยพยายามทำให้ดีที่สุด
สิ่งที่รางวัลส่งผลต่อเราคือ มีโอกาสเข้ามาเยอะขึ้น มีคนอยากทำงานกับเรา ซึ่งเราก็ได้โอกาสมากกว่าคนอื่น แต่อีกมุมหนึ่งเราก็ไม่มั่นใจในตัวเอง ชอบคิดว่าถ้าคนมองว่าเราได้รางวัลเยอะ เขาจะมองว่าเราเก่งไหมวะ ถ้ากูไปโชว์โง่ให้เขาเห็นจะทำไงดี เราเป็นบ้ากับเรื่องนี้มาก เราไม่มี self-esteem เลย ซึ่งก็เป็นปัญหากับเราในทุกๆ แง่ ซึ่งถ้าเรามั่นใจในตัวเองกว่านี้ เราอาจจะมีการงานที่ดีกว่านี้ หรือทำอะไรได้มากกว่านี้มั้ง
Life MATTERs : การเป็นผู้กำกับที่กลัวคน ทำงานยากไหม
แคลร์ : ยากเหมือนกัน เราถนัดการคุยส่วนตัวมากกว่า ซึ่งก็เข้าใจว่าแต่ละฝ่าย ทั้งทีมอาร์ต ทีมเสื้อผ้า บางทีก็ต้องมาคุยรวมกัน อย่างตอนประชุมรวมก่อนทำหนังเรื่อง ABABO เราเกรงใจทุกคนมากที่ต้องมารอ กว่าเราจะพูด เรากลัวเวลาคนสิบคนมารอฟัง ก็จะไม่ค่อยถนัดการทำงานแบบนั้น เราก็เลยเลือกคนที่คุ้นเคยมาทำงานด้วยกัน ซึ่งเรารู้ดีนะว่าเราต้องทำงานกับคนที่เราไม่คุ้นเคยบ้าง เพื่อที่จะได้ input ที่ต่างออกไป
Life MATTERs : คุณเป็นผู้กำกับแบบไหน ภายในกองถ่ายทำงานยังไงบ้าง
แคลร์ : เราเป็นคนที่ต้องการ input จากคนทำงานทุกฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น พี่ตากล้อง ก่อนออกกองเราจะคุยกันไว้ก่อนว่าอยากได้ฟีลไหน เราจะเห็นภาพในหัวตัวเองประมาณหนึ่ง เห็นบรรยากาศของมัน พอมาหน้ากองก็จะให้เขาลองวางเฟรมอย่างที่พี่ตากล้องคิดว่าดีมาก่อนเลย แล้วเรามาดูอีกทีว่าชอบไหม
ไม่ว่าทำงานกับฝ่ายไหนก็ตามจะไม่มีการบอกว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เป๊ะๆ แต่ถ้าเห็นต่างก็จะมาชั่งใจว่าจะเชื่อเขาหรือเปล่า บางทีสิ่งที่เขาให้มาก็ช่วยเราได้มากนะ ส่วนการคุยกับนักแสดงก็จะมีแอคติ้งโค้ชมาประกบอยู่ตลอด เราไม่รู้ว่าผู้กำกับคนอื่นมีแอคติ้งโค้ชกันไหม แต่เรามีทุกเรื่องเลย ตั้งแต่ทำหนังเรื่องที่ 2 เป็นต้นมา
เพราะเรารู้ตัวว่าสื่อสารอะไรไม่ค่อยเก่ง จึงจำเป็นต้องมีคนที่เข้าใจความต้องการของเรา เพื่อไปสื่อสารต่อให้มันได้ผลดีที่สุดจริงๆ เพราะหนังของเราจะไม่ชอบถ่ายกว้างๆ แต่จะชอบให้เห็นคน เราชอบให้เห็นหน้าคน เพราะเราทำหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคน
Life MATTERs : หนังทุกเรื่องของคุณจึงเป็นหนังที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเสมอ
แคลร์ : เราชอบดูหนังเกี่ยวกับคนจริงๆ ที่จับต้องได้ เชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเราได้ ด้วยตัวเราเองให้ความสำคัญกับคนรอบข้าง อินเรื่องเพื่อนค่อนข้างมาก เวลาดูหนังก็ชอบดูสิ่งที่เราอิน เวลาได้ดูหนังที่สะท้อนสิ่งที่เราคิดออกมาเป็นภาพ เป็นเรื่องราว เราจะรู้สึกเหมือนมีคนเข้าใจเรา
ส่วนตัวเราค่อนข้างหมกมุ่นเรื่องความสัมพันธ์ประมาณหนึ่ง ก็เลยชอบทำหนังที่พูดเรื่องทำนองนี้ เราชอบทำหนังเล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่ตัวเองเคยมีปัญหาในอดีต พอผ่านมันมาได้แล้ว เราก็อยากจะบันทึกช่วงเวลานั้นไว้ เพื่อสั่งลาปัญหา สั่งลาความสัมพันธ์นั้น
อาจเพราะเวลาเกิดปัญหาขึ้น เราเป็นคนไม่กล้าพูดกับอีกฝ่ายตรงๆ เพราะเรากลัวการเผชิญหน้า เราไม่ชอบทะเลาะกับใคร ไม่ชอบการมีปัญหากัน หนังเป็นวิธีหนึ่งในการบอกคนคนนั้น ไม่รู้ว่าเขาจะได้ดูไหม แต่เราได้พูดไปแล้วในแบบของเรา การทำหนังเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ก็หมายความว่าเราก้าวข้ามมันมาได้แล้ว
Life MATTERs : วิธีการเขียนบทในแบบของตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง
แคลร์ : เราจะคิดเรื่องตัวละครก่อน เราจะเล่าเรื่องใคร พอรู้ว่าตัวละครนี้เป็นใครมีปมขัดแย้งอะไรอยู่ มันจะพาบทไปต่อได้ แล้วเราก็ชอบเขียนบทสนทนา เรามองว่าด้วยความที่ชีวิตจริงคนเรามันสานสัมพันธ์กันด้วยการพูด เราอาจจะมีปัญหาเรื่องนี้ด้วยมั้ง เราก็เลยมองว่าการพูดคุยกันเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ของคนเราเดินต่อไปได้ เป็นส่วนสำคัญต่อความสัมพันธ์
แต่หลายคนอาจจะมองว่าการทำหนังมันไม่ควรพูดเยอะ ซึ่งเราก็เห็นด้วยว่าภาพสำคัญ แต่สำหรับเราคำพูดก็สำคัญมาก บางทีเราก็เขียนบทสนทนาของเราไปเรื่อยๆ ตัวละครมีปัญหาเรื่องหนึ่งก็จะพูดเรื่องนี้ ซึ่งพอเขียนไปก็จะรู้ว่าจะพูดอะไรต่อได้อย่างลื่นไหล ซึ่งเราไม่รู้เหมือนกัน มันเป็นไปตามธรรมชาติ ว่าเมื่อพูดเรื่องนี้แล้ว จะตัดสินใจอะไรต่อไป
Life MATTERs : ให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะเล่าหรือวิธีการมากกว่ากัน
แคลร์ : สิ่งที่จะเล่า (ตอบทันที) เราให้ความสำคัญกับบทและนักแสดงมากๆ เราเชื่อว่าบทดีมันชนะไปกว่าครึ่งแล้ว เราชอบความเป็นธรรมชาติ ชอบอะไรที่สมจริง เราชอบดูยังไงเราก็ทำหนังแบบนั้นแหละ ด้วยเหตุนี้เราจึงสนใจบท สนใจสิ่งที่จะเล่ามากกว่า เพราะเวลาดูหนัง สิ่งที่มากระทบเรามันคือ what ซึ่งก็คือบท ไม่ใช่เทคนิคอะไรที่หวือหวา แต่ก็แล้วแต่รสนิยมคนนะ
Life MATTERs : การทำหนังเปลี่ยนแปลงคุณไปอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่การทำงานและการใช้ชีวิต
แคลร์ : ถ้าเป็นเรื่องการทำงาน เรารู้สึกว่าเราเก่งขึ้น เชี่ยวชาญขึ้น แต่ทุกคนก็คงจะรู้สึกอย่างนี้แหละมั้ง แต่ถ้าเป็นเรื่องชีวิต เราก็ไม่ได้รู้สึกเปลี่ยนไปเลย เรารู้สึกว่าตัวเองเด็กเท่าเดิม ที่ผ่านมาอาจจะเป็นแค่การปล่อยวางปัญหา บางเรื่องในชีวิตถ้าเรายังไม่ได้ทำหนังเกี่ยวกับมันก็อาจจะเป็นเพราะเรายังคิดถึงเรืองนั้นอยู่ ซึ่งไม่ได้เป็นความตั้งใจนะ มันเป็นไปเอง
อย่างวันนั้นของเดือน (2014) พูดเรื่องความรักของเราสมัยมัธยม ซึ่งเป็นเรื่องที่รบกวนจิตใจเรามาตลอด พอเราหยิบมันมาทำหนังก็เหมือนกับเราได้พูดสิ่งที่อยู่ในใจเราไปหมดแล้ว ถ้าพูดถึงการเติบโตก็น่าจะเป็นการที่เราก้าวข้ามผ่านปัญหามาได้ แต่ตัวตนของเราก็ยังเป็นเด็กคนเดิมอยู่ดี อย่างเรื่องล่าสุดพอดูแล้วก็คิดในใจว่า ทำไมกูยังทำหนังเรื่องเด็กมัธยมอยู่ได้วะ กูไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่หรือเปล่า
Life MATTERs : ช่วงชีวิตวัยมัธยมของคุณดีงามมากแค่ไหน
แคลร์ : ช่วงเป็นนักเรียนม.ปลายเราแฮปปี้กับการใช้ชีวิตมาก เราสนุกกับการได้ใช้ชีวิต คือไม่ได้ใช้ชีวิตสุดๆ แบบนั้นนะ แต่มันเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีเรื่องหนักหนาอะไรให้ต้องกังวล รู้สึกว่าตัวเองได้ใช้ชีวิตครบมาก มีเพื่อนที่ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด มีความรัก
การอยู่ในโรงเรียนมัธยมมันให้ความรู้สึกปลอดภัย ตื่นเช้า ไปโรงเรียน เจอเพื่อน เรียน สอบ เลิกเรียน ไปกินข้าว ดูหนัง กลับบ้าน ชีวิตมันมีแค่นั้น พอโตขึ้นแล้วมีเรื่องให้ต้องกังวลเยอะ เรารู้สึกสบายใจกับช่วงเวลานั้นที่สุดมั้ง ก็เลยทำแต่หนังที่พูดถึงวัยนั้น
Life MATTERs : ในวัย 25 ปี คุณมองว่าตัวเองเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่แล้ว
แคลร์ : เรามองว่าตัวเองเด็กมาก ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีเลยนะ เรารู้สึกเหมือนเราไม่โต ทำไมยังมองตัวเองเด็กขนาดนั้นทั้งที่จริงเราควรคิดอะไรให้มันโตกว่านี้ได้แล้ว ไม่ใช่ในแง่ที่มีตัวละครในหนังเป็นผู้ใหญ่นะ แต่หมายถึงการตัดสินใจ ความรับผิดชอบ การทำงานควรโตกว่านี้ หนักแน่นกว่านี้ อย่างที่บอกว่าเรายังกลัวคน เวลาทำงานก็จะกลัวนั่นกลัวนี่ ซึ่งจริงๆ ไม่ควรเป็นอย่างนั้นแล้ว
Life MATTERs : การยังเป็นเด็กอยู่เสมอแบบนี้มีข้อดีบ้างไหม
แคลร์ : (หัวเราะ) นึกไม่ออก เรารู้สึกว่าอยากโตแล้ว นี่เป็นเรื่องที่เราต้องดีลอยู่ตอนนี้ โอเค มันดีในแง่ความรู้สึกปลอดภัยแหละ พอเราเป็นเด็ก เรารู้สึกว่าเราทำพลาดได้เว้ย มันไม่ต้องเพอเฟ็กต์ก็ได้ ในเรื่องการทำงานและทุกๆ อย่าง ซึ่งมันก็ทั้งดีและไม่ดีนะ ดีในแง่ที่จะกล้าทำนั่นทำนี่ ไม่ดีในแง่ถ้าคิดมีความรับผิดชอบกว่านี้ มันอาจจะทำให้เราพัฒนามากขึ้น ทำงานได้ดีกว่านี้
Life MATTERs : เล่าประสบการณ์ฉายเดี่ยวในเทศกาลหนังที่ต่างประเทศให้ฟังหน่อย
แคลร์ : มันก็แปลกดีเวลาเราได้ไปดูวัฒนธรรมการดูหนังของประเทศอื่น อย่างตอนที่ไปร่วม Clermont-Ferrand International Short Film Festival ที่ฝรั่งเศส เปรียบเหมือนเทศกาลหนังเมืองคานส์ของคนทำหนังสั้น เพราะมันใหญ่มาก คนทั้งเมืองตั้งแต่แก่ยันเด็กมาดูหนัง โรงหนังใหญ่ขนาด 1,400 คน ก็เต็มทุกรอบ คนมาดูเหมือนเป็นวัฒนธรรมของเมืองเขา เขาดูเป็นปกติ ให้ความสำคัญกับมัน
สนุกดีที่ได้ไปเจอการดูหนังของประเทศอื่น แต่วันแรกๆ มี Q&A แล้วคนถามมาเราตอบไม่ได้ เดดแอร์มากๆ ทั้งที่จริงอยู่บ้านก็พูดได้นะ แต่ไปตรงนั้นแล้วตอบไม่ถูก วันนั้นคนเยอะด้วย น่าอายมากๆ ชีวิตพัง กลับบ้านมาก็ฝึกฝนภาษาเต็มที่เลย
สิ่งที่เราเสียดายคือเป็นคนขี้อายนี่แหละ เพราะเวลาไปเทศกาล เราได้ไปเจอคนทำหนังจากประเทศอื่นเต็มไปหมด แต่เราไม่ไปคุยกับใครเลย มีคนพยายามจะคุยกับเรานะ ผู้กำกับคนที่หนังของเขาฉายรอบเดียวกับเราชวนคุย เราก็คุยนะ แต่ก็คุยแค่นั้น ถ้าเรากล้ากว่านี้อาจจะมีโอกาสมากกว่านี้ หรือทำอะไรมากกว่านี้
Life MATTERs : เทศกาลฉายหนังหรือรางวัลต่างๆ สำคัญต่อวงการหนังมากแค่ไหน
แคลร์ : เทศกาลต่างๆ มันเป็นพื้นที่ฉายหนังแบบหนึ่ง อย่างหนังสั้นถ้าไม่มีเทศกาล ก็ไม่รู้จะทำไปทำไมเลยนะ ไม่รู้ใครจะฉาย มันเหมือนทำเพื่อเรียนจบเท่านั้น ซึ่งมันไม่ควรเลย หนังควรจะไปได้ไกลกว่านั้น การมีรางวัล มีเทศกาลก็ช่วยให้หนังมีคนดูมากขึ้น เป็นเหมือนสะพานที่จะพาเด็กเรียนหนังไปถึงสนามการทำงานที่แท้จริง
อีกอย่างพอมีเทศกาล ก็ทำให้เด็กหลายมหาวิทยาลัยมาเจอกัน รู้จักกัน ช่วยเหลือกัน เวลาต้องไปทำหนัง โฆษณา เอ็มวีต่อไปก็มีคอนเนกชั่นที่พอจะติดต่อกันได้ เทศกาลมันเป็นทั้งที่ฉายหนังที่พาหนังไปสู่คนดูและเป็นโอกาสในการทำงาน ส่วนตัวรางวัลมันก็เหมือนเป็นสิ่งที่คูณเพิ่มเติมเข้าไป ถ้าได้รางวัลก็มีโอกาสมากกว่าคนอื่น พาหนังไปได้ไกลขึ้น เป็นกำลังใจให้คนทำด้วย เป็นแรงผลักดันอะไรบางอย่าง
Life MATTERs : มองว่าวงการหนังไทยตอนนี้เป็นยังไงบ้าง
แคลร์ : เรากำลังคิดอยู่ว่าอย่างฉลาดเกมโกงก็เป็นหนังแนวที่ไม่มีในไทยมานานมากแล้ว แล้วพอมันได้ร้อยล้านเราก็รู้สึกว่ามันพิสูจน์อะไรบางอย่าง ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่ดูหนังไทยหรอก แต่ด้วยความที่มันเกี่ยวกับเรื่องเงิน เรื่องต้นทุนการฉายในโรงหนัง มันเสี่ยง บางคนก็เลยเลือกทำสิ่งที่คิดว่าเซฟกับตัวเขาเองด้วย จึงเลือกทำแบบที่มีคนเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ก็เลยไม่ค่อยมีสิ่งใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นออกมา
แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดนะ ก็ยังมีคนที่คิดทำอะไรใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ และเราคิดคิดว่าก็มีมากขึ้นด้วย ยิ่งทำ Lost in Blue ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่รวมหนังสั้นธีสิสของนักศึกษาสามเรื่องมาฉายในโรง ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเลย คนดูเต็มหลายรอบเหมือนกัน เราว่ามันอยู่ที่คนทำ ที่จะต้องหาอะไรที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจ เราเชื่อว่าคนดูพร้อมจะเปิดรับนะ
Life MATTERs : หนังแนวไหนที่อยากเห็นมากขึ้นในบ้านเรา
แคลร์ : หนังดราม่า ดราม่าจริงจังเลย เราคิดว่าในไทยไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่จะเป็นหนังรัก หนังตลก หนังผีไปเลย อย่างรักแห่งสยามก็เป็นสิ่งที่เราดีใจที่เกิดขึ้น มันเป็นหนังที่เล่าเรื่องชีวิตของคนจริงๆ ไม่ได้โฟกัสที่ความรักหนุ่มสาวเท่านั้น ตัวเราเอง สไตล์การทำหนังจะกลางๆ ไม่ได้อาร์ตแตกมาก หรือแมสมาก เหมือน American Indy ซึ่งเราเข้าใจว่าในไทยมันไม่มีแบบนี้ เพราะมันไม่ทำเงิน สร้างขึ้นมาก็ยาก มันไม่สุดสักทาง มันเลยไม่ค่อยมีคนทำออกมา
Life MATTERs : การกลับมาทำหนังสั้นในรอบสามปีเป็นอย่างไรบ้าง
แคลร์ : ก่อนจะรับงานนี้เราลังเลอยู่นานมาก ว่าจะทำดีไหม เพราะเราไม่ได้ทำหนังมานานมากตั้งแต่เรียนจบ ก่อนหน้านี้มีงานหนึ่งที่คิดว่าจะทำ แต่คิดไม่ออก ไม่เห็นภาพ เราผิดหวังในตัวเองมาก สุดท้ายก็เลือกที่จะไม่ทำงานนั้น แอบคิดว่า เอ๊ะ! หรือเราจะทำหนังไม่ได้แล้วมั้ง คนก็ถามกันหลายคนว่าเมื่อไหร่จะทำหนัง
มันเกิดภาวะที่เราเกลียดตัวเองตอนทำโปรเจ็กต์ Lost in Blue เรารู้สึกว่าหากินกับสิ่งที่เราทำมานานแล้ว หรือเราไม่เก่งจริง ก็เลยไม่ทำใหม่สักที กลัวความล้มเหลวใช่ไหม? สิ่งนี้ทำให้เรากดดันตัวเอง คิดอยู่นานมากว่าจะทำดีไหม แต่ดีที่มีน้องแม้ว—ปภาวี จิณสิทธิ์ คนทำหนังเกี่ยวกับกรุ๊ป A ซึ่งสนิทกันอยู่แล้วก็มีกำลังใจขึ้น เราคิดว่าถ้าเราไม่ทำนี่คือจุดจบของการทำหนังแล้ว เราจะก้าวข้ามสิ่งนี้ไปไม่ได้สักที เพราะหลายทีแล้วที่เรากลัวแล้วก็ไม่ทำ
Life MATTERs : การเป็นคนทำหนังอิสระตามความต้องการของตัวเองมาตลอด พอต้องเปลี่ยนมาทำหนังตามโจทย์ยากขึ้นแค่ไหน
แคลร์ : โปรเจ็กต์ ABABO เป็นหนังสั้นสี่เรื่องเกี่ยวกับคนสี่กรุ๊ปเลือด เพื่อชวนให้คนไปบริจาคเลือด ซึ่งเรื่องกรุ๊ปเลือดนี่เราก็สนใจมาตั้งแต่เด็ก ๆ ชอบดูดวง ชอบอะไรแบบนี้อยู่แล้ว เรามองว่าน่าสนใจดี เราเป็นคนเลือดกรุ๊ปโอ ซึ่งเป็นกรุ๊ปที่แบบ (หัวเราะ) ไม่มีความโดดเด่นอะไรเลย ใครๆ ก็กรุ๊ปโอ ซึ่งเป็นคนปกติ
ก็มาคิดว่าจะทำหนังคนกรุ๊ปโอได้ไงวะ ไม่มีจุดเด่นเลย สุดท้ายก็ได้ไอเดียว่า ทำเรื่องคนธรรมดานี่แหละ ใช่สุดแล้ว พอได้แนวทางแล้วก็เครียดต่ออีกเรื่องคือ หนังที่ทำมันมีจุดประสงค์ของมันอยู่ ตอนแรกพยายามคิดแบบโฆษณานิดหนึ่ง แต่ด้วยความที่เราเป็นคนติดอะไรเรียลลิสติกมาก ก็เลยไปทางนั้นไม่ค่อยได้ มีปัญหาเรื่องการใส่จุดประสงค์ของหนังเข้าไป
ตอนแรกพยายามคุยกับเอเจนซี่ คุยกับโปรดิวเซอร์ว่าไม่ใส่เรื่องการบริจาคเลือดเข้าไปได้ไหม แค่ประเด็นการให้ การเสียสละได้หรือเปล่า แต่ว่าสุดท้ายก็เลือกที่จะปรับให้มันเข้าไปกับบทหนังของเราได้ ซึ่งเราดีใจนะที่สุดท้ายเชื่อโปรดิวเซอร์ เพราะพอมานั่งคิดว่าถ้าทำหนังแล้วจุดประสงค์ของหนังมันไม่ออกก็คงจะเสียใจ เพราะสุดท้ายแล้วความต้องการของเขาคือให้คนออกไปบริจาคเลือด มันมีวิธีการขายของที่ทำให้ดีได้ ดีใจที่เราเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องกับโปรเจ็กต์นี้
Life MATTERs : ห่างหายไปสามปี เห็นหนังเรื่องล่าสุดที่ออกมาแล้วเป็นยังไงบ้าง
แคลร์ : ตอนดูดราฟต์แรก คิดเลยว่านี่คือจุดจบของชีวิตการทำหนัง ไลน์ไปหาเพื่อนว่า “กูพังแน่เลย กูพอแล้ว ถ้าหนังออกมาห่วยทำไงดี” เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เราก็ด่าตัวเองว่า “นี่ไง เพราะมึงไม่ทำหนังก็เลยเป็นอย่างนี้” หนังกรุ๊ป A ของแม้วเนี้ยบมาก เราชอบงานของเขามาก เกลียดตัวเองแต่ก็พยายามฟังคอมเมนต์จากทุกคน จากโปรดิวเซอร์ คนตัดต่อ ทีมงาน พยายามปรับให้ดีเท่าที่จะดีได้
พอมาดูใหม่คนในทีมก็ค่อนข้างโอเค ก็เลยโล่งใจ ความกังวลที่มีมาตลอด 3 ปีหายไปนิดนึง ก่อนหน้านี้เคยคิดว่าตัวเองควรไปทำอย่างอื่นดีไหม เช่น ไปทำงานกับหมา (หัวเราะ) เพราะเราชอบหมา อาจจะไปทำมูลนิธิช่วยเหลือหมาอย่างจริงจัง แล้วอยากทำหนังเมื่อไหร่ก็ค่อยทำ หรือไม่ก็ทำโฆษณา แต่สุดท้ายแล้วเราก็คิดว่าคงทำหนังแหละ มันเป็นแนวทางที่เหมาะกับวิธีการทำงานของเราที่สุด
Life MATTERs : อีกห้าปี สิบปีข้างหน้าอยากเห็นตัวเองเป็นผู้กำกับแบบไหน
แคลร์ : คิดว่าจะเป็นคนที่โตเป็นผู้ใหญ่สักที คงจะทำหนังที่โตขึ้น อีกอย่างคือเราพูดมานานแล้วว่าอยากทำหนังยาว คิดว่าคงทำเอง หาทุนเองเลย และอยากทำหนังเข้าสตูดิโอด้วย อีกห้าปี สิบปีข้างหน้าเราก็คิดว่าตัวเองจะยังคงทำหนังอยู่ ซึ่งก็คงจะทำเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เราหมกมุ่นกับมันเหมือนเดิมนี่แหละ
Text by: Suwicha Pitakkanchanakul
หมายเหตุ : รางวัลช้างเผือก ตั้งขึ้นตามชื่อภาพยนตร์เรื่อง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ ซึ่งสร้างโดยนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ออกฉายครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2484 ที่กรุงเทพฯ สิงค์โปร์ และนิวยอร์ค เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่พูดภาษาอังกฤษ ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะเชิดชูสันติภาพ ทำให้หนังเรื่องนี้เสมือนเป็นตัวแทนพัฒนาการสูงสุดแห่งการสร้างสรรค์ในยุคนั้น มูลนิธิหนังไทยฯ จึงนำมาใช้ตั้งชื่อรางวัลที่มอบให้แก่ภาพยนตร์นักศึกษาที่ชนะการประกวดในเทศกาลหนังสั้น