อย่ามัวแต่นึกภาพคุณป้าถักเครื่องจักสาน เมื่อพูดถึงศูนย์ศิลปาชีพ เพราะต้นสังกัดของเขาอย่างศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศศป. หรือ SACICT ยังมีหน่วยงานสนุกๆ ที่เน้นสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ในชื่อว่า ‘ศูนย์นวัตศิลป์’ ซึ่งพาดีไซเนอร์ไทยโกอินเตอร์หลายต่อหลายเจ้าแล้ว
นวัตศิลป์ หมายถึงศิลปะรูปแบบใหม่—โอเค อย่าเพิ่งให้คำภาษาบาลีมาทำให้คุณเบื่อ เพราะศิลปะรูปแบบใหม่นี้คือใช้งานดีไซน์ทันสมัยเข้าไปจับกับภูมิปัญญาสมัยเก่า เช่น งานปั้น งานสาน งานสลักหรืออื่นๆ ที่ล้วนเป็นเทคนิคขั้นสูงหาตัวจับยาก หลายสิ่งก็ต้องเป็นช่างไทยเท่านั้นถึงจะทำได้ และถ้าไม่รีบปั้นมือโปรหน้าใหม่ตั้งแต่วันนี้ อนาคตงานคราฟต์แบบไทยๆ ก็อาจจะหายไปก่อนที่เราจะรู้ตัว ซึ่งวิธีทำให้ศาสตร์โบราณอยู่ต่อไปได้ ก็คือการปรับรูปลักษณ์บางอย่างให้ร่วมสมัยนั่นเอง
สิ่งที่ ศศป. ทำคือพยายามจัดกิจกรรมเพื่อให้พื้นที่กับคนทำงานคราฟต์ไทยให้มากที่สุด เช่น งาน SACICT Craft Trend ที่จะจัดขึ้นทุกปี ในปีนี้ก็จะเล่าถึงเทรนด์ของปีหน้า โดย Craft Trend 2018 เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ TCDC ไปรษณีย์กลางบางรัก
งานนี้มีแต่คนได้กับได้ ดีไซเนอร์รุ่นใหม่หรือคนที่สนใจงานคราฟต์ก็ได้มองเห็นแนวทางการทำงานที่จะทำเงินในตลาดโลก และได้เห็นว่าโลกกำลังหมุนไปทางไหน แล้วเราเองจะแหวกออกไปทางไหนได้บ้าง แถมยังได้รับความรู้จากครูช่างโดยตรง ไม่ต้องไปเสาะหาเองให้ปวดกบาล
ทางฝ่ายของกองประกวดดีไซเนอร์หน้าใหม่ก็จะได้มาค้นหาช้างเผือกกันที่นี่ ซึ่งหากงานของใครเข้าตากรรมการ ก็มีลุ้นได้ไปโชว์ตัวในงานแฟร์ใหญ่ๆ ระดับโลก อย่างงาน Milan Design Week งานใหญ่ที่หลายคนใฝ่ฝัน ซึ่งมีแบรนด์ Trimode Studio ได้เป็นตัวแทนดีไซเนอร์ไทย ที่มี ศศป.สนับสนุนจนไปถึงที่นั่น
หรือล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไปก็เป็นงาน Interior Lifestyle 2017 ณ Tokyo Big Sight ที่มีดีไซเนอร์ไทยฝีมือเจ๋งอย่าง Thinkk Studio แบรนด์ไทยดีไซน์เก๋ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบคนสมัยใหม่ได้อย่างกลมกล่อม
อีกงานหนึ่งของ ศศป.ที่เพลินตาเพลินใจไม่แพ้กันคืองาน IICF หรือ International Innovative Craft Fair ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม บอกเลยว่าไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่เดิน แมวมองจากตลาดนานาชาติก็เตรียมพร้อมแจกนามบัตรพาคุณออกไปเปิดหูเปิดตารับวัฒนธรรมใหม่ๆ แล้วเอากลับมาสร้างสรรค์งานของตัวเองได้ด้วย
แบรนด์ไทยหลายเจ้าที่เป็นไฮไลท์ของงานนี้ ล้วนแต่มีความเก๋ที่ดึงเอาเอกลักษณ์งานช่างแบบไทยๆ ไปประยุกต์อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น FLOW แบรนด์เครื่องประดับเงินแท้ที่เน้นความโค้งเว้าสวยสง่า ในเทคนิคเครื่องเงินเก่าแก่, FEM แบรนด์งานกระเบื้องและเซรามิกที่หยิบเอาลวดลายแบบไทยไปใช้ให้ดูเก๋น่าใช้เอามากๆ ฯลฯ (ใครที่สนใจเข้าไปยลกันเพิ่มเติมได้ที่ www.iicfexpo.com)
นอกจากการให้พื้นที่แล้ว ทาง ศศป. ยังพร้อมสนับสนุนคนทำงานในเชิงกระบวนการด้วย ไม่ว่าจะเป็นดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่อยากเข้าถึงศาสตร์งานช่างไทยโบราณ หรือคนที่มีความรู้ด้านงานช่างแบบเก่าแล้วอยาก adapt ผลงานของตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยใหม่
ทาง ศศป. เอง พร้อมเป็นตัวกลางสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกลุ่มนักออกแบบกับชุมชนครูช่าง ให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่น ความน่ารักอยู่ตรงที่ ทั้งสองฝั่งต่างก็เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในคราวเดียวกัน ครูช่างก็ได้ไอเดียในการสอนและพัฒนางานของตัวเอง ส่วนดีไซเนอร์ก็ได้กลับมามองคราฟต์ไทยแบบลึกซึ้งจนอาจค้นพบแง่งามที่อาจไม่เคยมองเห็น
เห็นแบบนี้แล้ว เราว่าความหวังของงานคราฟต์เมืองไทยอาจไม่ได้หดหู่หรือน่าเศร้าแบบที่กังวลกันปานนั้น เพราะหัวใจสำคัญของการอนุรักษ์ คือการไม่หยุดที่จะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์สดใหม่ แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะไม่เหมือนเดิม แต่แก่นแท้ของการสืบสานงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนๆ ก็ยังคงมีคุณค่าในฐานะงานคราฟต์และงานดีไซน์อยู่ดี