เมื่อพูดถึงความตายทีไร หลายคนก็มักจะนึกถึงกลิ่นอายเย็นยะเยือก แต่ในเทศกาล Day of the Dead ความตายได้เปลี่ยนบรรยากาศไปเป็นอบอุ่น สนุกสนาน และโบฮีเมียน
เพราะในเมื่อคนตายก็คือเพื่อน คนรัก หรือครอบครัวของใครสักคน ชาวเม็กซิกันจึงเชื่อว่า น่าจะมีสักสองสามวันในหนึ่งปี ที่เราจะคิดถึงพวกเขาได้อย่างเป็นทางการ ในวันนั้น ท้องถนนจะเต็มไปด้วยฝูงชนในเมคอัพหัวกะโหลกสไตล์โบโฮฯ ดอกไม้ประทับผมแบบฟรีดา คาห์โล สวมชุดพื้นเมือง แห่แหนเครื่องบูชา ทำขนมน้ำตาลปั้นรูปหัวกะโหลก และสนุกเสียงดนตรีเต็มพิกัด มีการฉลองกันทั้งในประเทศต้นกำเนิดอย่างเม็กซิโกเอง รวมถึงในอเมริกาที่เต็มไปด้วยชาวเม็กซิกัน โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนีย และประเทศอื่นๆ ที่ตกเป็นอาณานิคมของสเปนเหมือนเช่นประเทศเม็กซิโก
วันแห่งความตาย หรือ Day of the Dead มีชื่อภาษาสเปนว่า Dia de los Muertos เป็นเทศกาลเก่าแก่ที่เฉลิมฉลองในช่วงวันที่ 31 ตุลาคม จนถึง 2 พฤศจิกายน ของทุกปี (และในปี 2008 เทศกาลนี้ก็ถูกบันทึกเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ โดยองค์กร UNESCO)
วันที่ 31 ตุลาคมและเรื่องของวิญญาณ—ฟังดูเหมือนเทศกาลฮัลโลวีน แต่นี่ไม่ใช่สิ่งเดียวกันอย่างเด็ดขาด และชาวเม็กซิกันก็ซีเรียสกับประเด็นนี้อยู่ไม่น้อย ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี หลายสื่อทั้งในเม็กซิโกและอเมริกาก็ยังคงเขียนสกู๊ปสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับให้นักท่องเที่ยว เพราะชาวเม็กซิกันบางส่วนก็ไม่ต้องการให้ทั้งสองเทศกาลที่แตกต่าง ถูกวิถีของนักท่องเที่ยวหลอมรวมมันเข้าด้วยกันจนวันแห่งความตายของพวกเขาหมดความขลังอย่างที่ควรจะเป็น
(และตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป แอนิเมชั่นเรื่อง Coco ก็น่าจะช่วยตัดความเข้าใจผิดระหว่างสองเทศกาลออกไปได้มากทีเดียว)
ความเชื่อเรื่อง ‘วันแห่งผู้ล่วงลับ’ เกิดขึ้นตั้งแต่หลายพันปีก่อนในยุคของชาว Aztec, Toltec และ Nahua ที่เชื่อว่าความตายเป็นแค่อีกระยะหนึ่งของชีวิต คนตายยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพียงแค่ย้ายไปอยู่ในโลกอื่น และพวกเขาจะกลับมาโลกเดิมปีละครั้ง
ความเชื่อนี้ฝังแน่นมาจนถึงอารยธรรมใหม่ เมื่อหลอมรวมกับความเชื่อทางคริสตศาสนาที่เข้ามาพร้อมชาวสเปนผู้ยึดครองเม็กซิโก เทศกาลที่ชื่อว่า Dia de los Muertos จึงถือกำเนิด และเหตุที่จัดขึ้นติดต่อกัน 3 วันนั้นก็ด้วยความที่ตรงกับ 3 วันสำคัญของชาวคริสเตียนคือ All Saints Eve, All Saints Day และ All Soul Day นั่นเอง
ด้วยความเชื่อว่าบรรดาญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วจะดั้นด้นเดินทางกลับมายังบ้านที่พวกเขาเคยอาศัยอยู่ในช่วงเทศกาลแห่งความตาย คนในครอบครัวจึงมักเตรียมอาหารโปรดมื้อใหญ่ไว้ต้อนรับบนแท่นบูชา (Ofrenda) เผื่อว่าเดินทางนั้นจะทำให้ญาติผู้ล่วงลับหิวโหยและเหนื่อยล้า พร้อมกับเตรียมสิ่งของที่คนตายชอบสมัยยังมีชีวิตอยู่ ทั้งหนังสือโปรด เครื่องดนตรีประจำตัว เพื่อเป็นเครื่องเอนเตอร์เทนต้อนรับการกลับมาในรอบปี
หลังจากการต้อนรับขับสู้เสร็จสิ้นก็ถึงเวลาของการปาร์ตี้ครั้งใหญ่ ครอบครัวจะพากันออกเดินทางไปยังสุสานของผู้ตาย เพื่อทำความสะอาดป้ายบนหลุมศพ ประดับประดาด้วยดอกไม้จนแทบมองไม่เห็นผืนดิน ร้องรำทำเพลง และพูดคุยกับญาติๆ ที่ตายไปแล้ว บางคนถึงกับพาลูกมาแนะนำตัวกับปู่ย่าที่ไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าหลานก็มี
ปาร์ตี้ ณ สุสานเช่นนี้ไม่มีกำหนดเลิกแน่ชัด บางคนจึงจุดเทียนและนั่งคุยกับครอบครัวจนข้ามคืน ทำให้สุสานช่วงเทศกาล Day of the Dead เรืองรองด้วยแสงเทียนที่สะท้อนกับกลีบดอกดาวเรืองกลายเป็นค่ำคืนที่สดใสที่สุดเท่าที่สุสานจะเป็นได้ด้วยตัวของมัน
เทศกาลแห่งความตายสู่งานศิลปะวิพากษ์สังคม
เรื่องทางศิลป์ๆ เกี่ยวกับเทศกาลนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของงานคราฟต์และการตกแต่งเท่านั้น แต่วันแห่งความตาย ยังทำให้ศิลปะสำคัญอีกชิ้นถือกำเนิดขึ้น โดยในต้นศตวรรษที่ 20 นักเขียนการ์ตูนเม็กซิกันหัวก้าวหน้า José Guadalupe Posada ได้วาดภาพ Calavera Garbancera ขึ้น เป็นภาพโครงกระดูกหญิงสาวกำลังสวม French garb หรือชุดแบบผู้หญิงฝรั่งเศสที่กำลังเป็นนิยมในสมัยนั้น
จุดมุ่งหมายของเขาก็เพื่อดึงสติชาวเม็กซิกันที่แข่งขันกันอ้าแขนรับวัฒนธรรมยุโรปอย่างไม่หยุดหย่อน ว่าท้ายที่สุดแล้ว พวกเราก็คือโครงกระดูกเหมือนกันนั่นแหละ (จะแข่งกันตามฝรั่งเพื่อ… อะไรทำนองนี้)
ต่อมาในปี 1947 ศิลปิน Diego Rivera (สามีสุดที่รักของ Frida Kahlo) ก็หยิบเอาภาพโครงกระดูกของ Posada ไปไว้ในภาพวาดของเอาอีกทีหนึ่ง เป็นภาพโครงกระดูกสวม French garb ยืนรวมหมู่อยู่กับชาวเม็กซิกันที่มีคาแรคเตอร์หลากหลาย ในชื่อภาพ Dream of Sunday Afternoon in Alameda Park ที่มีตัวดิเอโกและฟรีดาร่วมซีนอยู่ด้วย โดยหญิงสาวโครงกระดูกในชุดหรูนั้นถูกตั้งชือว่า Catrina ที่แปลว่าคนรวย
ดังนั้นความหมายของโครงกระดูกในภาพของ Diego นี้จึงถูกทำให้เคลื่อนไปอีก นั่นก็คือจะรวยจะจนสุดท้ายก็กลายเป็นโครงกระดูกเหมือนกัน
จากความเชื่อเก่าแก่สู่เทศกาลแห่งความตาย มันได้สร้างรากฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งยวดให้กับชาวเม็กซิกัน ต่อยอดกลายเป็นงานศิลปะชิ้นสำคัญตั้งแต่ยุคเก่าจนถึงปัจจุบันนี้
นี่จึงเป็นอีกครั้งที่เราพบว่าความตายยังมีอีกหลายแง่มุมนักให้เราค้นหาหรือกระทั่งสร้างสรรค์เรื่องราวขึ้นมาต่อจากมัน และความตายเหล่านั้นก็ไม่ได้มีแต่เรื่องน่ากลัวเสียอย่างเดียว
อ้างอิง