Dear Reader แด่ผู้อ่านที่รัก… อาจเป็นประโยคคลาสสิคที่นักเขียนสักคนบรรจงเขียนเปิดก่อนจะใช้ตัวอักษรบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด หากสำหรับ เต้อ—เอกราช แก้วมะหิงค์ แห่งแบรนด์ ‘Dear Reader’ สิ่งที่เขาส่งมอบให้เหล่านักอ่านที่รักไม่ใช่ตัวอักษร แต่คืองาน Illustration สไตล์จัดที่สร้างสรรค์จากวรรณกรรมที่เขาหลงรัก จนต่อยอดเป็นแบรนด์ของที่ระลึกจากคนรักหนังสือเพื่อคนรักหนังสือโดยเฉพาะ
หลายคนอาจเคยเห็น คนสวมใส่หรือพกพาสิ่งของที่มีความเกี่ยวข้องกับหนังสือสุดคลาสสิกเดินผ่านหน้าคุณอยู่บ้าง พูดให้ชัดขึ้น มันอาจเป็นเสื้อยืดพิมพ์ลายปกหนังสือ 1984 ของ George Orwell กระเป๋าผ้าสีสดลาย Doraian Grey ของ Oscar Wilde หรือโปสการ์ดงามๆ เป็นภาพจากงานของ Hemingway หรือ Murakami ที่คุณบางคนอาจได้ยินบ่อยจนเอียนแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าขึ้นหิ้ง คลาสสิกเหลือเกิน—เหล่านี้เอง รวมถึงงานงามๆ ชิ้นอื่นอีกเป็นจำนวนมาก หากเข้าไปดูใกล้ๆ ก็น่าจะเห็นโลโก้ Dear Reader ได้ไม่ยาก
ด้วยงานดีไซน์ที่ดูทันสมัย สีสันและลายเส้นที่ถูกออกแบบมาอย่างพอดิบพอดี ทำให้ภาพกราฟิกของเขาเตะตาคนรักหนังสือและคนรักงานดีไซน์จำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ Dear Reader ยังรับหน้าที่สร้างสรรค์ภาพหน้าปกให้กับวรรณกรรมแปลอีกหลายเล่ม เช่น เมตามอร์โฟซิส ของ Franz Kafka และ คิดถึงคิสซิงเจอร์ ของ Etgar Karet ที่เพิ่งวางให้บรรดานักอ่านได้จับจองเมื่อไม่นานมานี้
ก่อนที่เขาจะเริ่มอาชีพนักออกแบบที่แปลงหนังสือเรื่องยาวให้ออกเป็นภาพกราฟิกที่เห็นปุ๊บเข้าใจปั๊บ เตอร์—เอกราช เรียนจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ทำงานกราฟิกที่ SCG Paper ถึง 5 ปี ก่อนตัดสินใจหาทุนเรียนต่อปริญญาโทสาขา ‘Storytelling’ ไกลถึงประเทศสวีเดน ส่วนเรื่องราวที่ว่าเขาพบแนวทางที่แน่ชัดแล้วลงเอยกับงานวรรณกรรมได้อย่างไรนั้น มาทำรู้จักนักออกแบบผู้หลงรักการอ่านผ่านบทสนทนานี้กัน
Life MATTERs : การเรียนที่สวีเดน เปิดโลกแบบไหนให้กับคุณบ้าง
เต้อ : เราได้ทดลองหนีจากวิธีการคิดงานกราฟิกแบบเดิมๆ อย่างในคอร์ส Storytelling เราจะไม่คุยถึงแค่การเล่าเรื่องในงานกราฟิกอย่างเดียว เพื่อนที่เรียนกับเราบางคนมาจากสายทำหนัง สายหนังสือ สายแม็กกาซีนบ้าง เวลาเรียนเราก็จะได้ลองคิดงานคอมมิค งานปั้น หรือแม้แต่งานผ้า ความหลากหลายของสิ่งเหล่านี้ทำให้ขอบเขตของการคิดงานเรากว้างมากขึ้น อย่างเช่น กราฟิกจะเป็น sculpture ได้รึเปล่า เฟอร์นิเจอร์จะเข้าไปอยู่โซนศิลปะ หรือกราฟิกจะรวมกับเฟอร์นิเจอร์ได้มากแค่ไหน ถ้าเราเป็น Illustrator ที่เสพแต่งาน Illustration สุดท้ายงานที่ออกมาก็คงจะไม่แตกต่างจากคนอื่นสักเท่าไหร่
แล้วการไปอยู่ที่อื่นก็ทำให้เราได้เจอคนใหม่ๆ และวิธีคิดใหม่ๆ ซึ่งสภาพสังคมที่นั่นเขาเอื้อต่อการคิดงานศิลปะจริงๆ อย่างเวลาคุยหรือคอมเมนต์งานกัน เขาจะไม่คุยกันว่าไอเดียนี้ต้องขายให้ได้นะ ต้องมีความเป็นคอมเมอร์เชียลจ๋า เขาคิดกันแบบไม่มีกรอบด้วยซ้ำ โดยแต่ละคนจะพยายามเลี้ยงให้ไอเดียนั้นโตขึ้นมาก่อน โดยไม่จำเป็นว่ามันจะเป็นอะไร
สมมติถ้าเราปลูกต้นไม้ เราก็อยากจะรู้ว่าไอ้ต้นนี้มันกินได้มั้ย ถ้ากินไม่ได้ก็ไม่ปลูก แต่ที่นั่นไม่ใช่แบบนั้น เขาไม่มีการบล็อคไอเดียกันตั้งแต่เริ่มต้น ทุกคนพยายามเลี้ยงให้มันโตขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รู้ว่าสุดท้ายมันคืออะไร ซึ่งมันก็มีทั้งไอเดียที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้แหละ บางอันที่ล่องลอยมากๆ จับต้องยาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นอะไรที่ใหม่และน่าสนใจมากๆ เหมือนกัน
Life MATTERs : เริ่มทำ Dear Reader หลังจากที่เรียนจบเลยรึเปล่า
เต้อ : ยังเลย ก่อนหน้านั้นเราเลือกทำแอนิเมชั่นเป็นตัวจบ เป็นสิ่งที่เราสนใจในตอนนั้นเหมือนคนที่เพิ่งพบรักกันใหม่ๆ เราเลยขลุกกับแอนิเมชั่นอยู่พักหนึ่ง แล้วก็มีช่วงหนึ่งที่รู้สึกสิ้นหวังนิดหน่อย คือเราได้รางวัลจากการทำหนังประกวดเทศกาลมาแต่กลายเป็นว่าไม่มีใครติดต่อเราไปทำงานด้วยเลยสักคน แล้วทำแอนิเมชั่นสักเรื่องใช้เวลาทำค่อนข้างนานและตัวคนทำก็ต้องถึกมากเหมือนกัน เพราะแอนิเมชั่น 5 นาทีกินเวลาทำถึง 3-4 เดือน ถ้าเทียบกับการทำงานกราฟิกดีไซน์ เรารู้เลยว่าเราจะได้จำนวนงานเยอะกว่าแน่ๆ เลยคิดว่ากลับไปทำงานกราฟิกดีกว่า
Life MATTERs : กลับมาพบรักอีกครั้งกับงานกราฟิก แล้ว Dear Reader เกิดขึ้นได้ยังไง
เต้อ : เวลาที่ผ่านมา เราอ่านวรรณกรรมมาตลอดเลย แต่มีช่วงที่เราว่างหลังจากที่เลิกทำแอนิเมชั่น เราก็นอนอ่านหนังสือบนโซฟาที่บ้าน รู้สึกว่า เฮ้ย แค่นี้ชีวิตก็มีความสุขแล้วอ่ะ เราไม่อยากทำอย่างอื่นแล้ว แต่พออ่านเยอะๆ ก็เริ่มรู้สึกผิด วันๆ เอาแต่นอนอ่านหนังสือแบบนี้ไม่ดีแน่ๆ เลยคิดว่าควรทำอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับหนังสือ จะได้มีข้ออ้างในการอ่านมัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำ Dear Reader
ในขณะเดียวกัน สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้เริ่มสักที ตอนแรกๆ ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำเกี่ยวกับอะไร ถ้าเราทำงานออกแบบที่มันหลากหลาย เรารู้สึกว่ามันดูสะเปะสะปะไม่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่ แต่วรรณกรรมเป็นสิ่งที่เราสนใจมากอยู่แล้ว เลยเลือกทำแค่งานที่เกี่ยวกับวรรณกรรม ซึ่งคนอ่านวรรณกรรมก็เป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ
Life MATTERs : พอกลุ่มเป้าหมายเป็นคนกลุ่มเล็กมากๆ ไม่กลัวเฟลเหรอ
เต้อ : คือตอนที่ทำไม่ได้คาดหวังอะไรเยอะ แค่มีคนชอบบ้างเราก็ดีใจแล้ว ตอนแรกที่เปิดเพจเราทำแค่วาดภาพประกอบแล้วโพสต์เฉยๆ อาจมีเขียนรีวิวหนังสือที่เราอ่านไปบ้าง พอหลังจากนั้นเราก็เริ่มมีของออกมาวางขาย เช่น เสื้อยืด กระเป๋าผ้า จังหวะนั้นทาง Bookmoby เขาจัดงาน Bangkok Book Fair แล้วผลงานของเราก็ได้ออกขายอย่างถูกที่ถูกเวลา ฟีดแบคตอนนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
พอเราเริ่มทำภาพกราฟิกเกี่ยวกับหนังสือ ขายของตามงานหนังสือ เราก็เลยได้เจอคนในแวดวงหนังสือมากขึ้น อย่าง Readery เขาเปิดโอกาสให้เราวาดภาพประกอบให้ หรือสำนักพิมพ์สามัญชน เราก็ไปขอคำแนะนำจากเขา คุยกันไปคุยกันมาจนมั่นใจว่าเราน่าจะทำงานร่วมกันได้ เขาก็ลองให้เราออกแบบปกหนังสือของคาฟคา เราก็อธิบายกับเขาว่า เราคิดว่าเราเข้าใจหนังสือประมาณนี้นะ เราเห็นเป็นภาพประมาณนี้ เขาโอเคแล้วเราก็เริ่มทำงานออกมา
พอหลังๆ เราก็เริ่มกระจายของเราไปยังที่ต่างๆ มากขึ้น ได้ออกไปเจอสำนักพิมพ์เจ้าอื่นๆ ก็ได้ร่วมงานกับที่อื่นบ้าง ตอนนี้ Dear Reader ได้ออกแบบปกไปประมาณ 8 เล่มแล้ว แต่ที่วางตอนนี้มีแค่ 2 เล่ม ซึ่งเราคิดเสมอว่า Dear Reader ทำเป็นอาชีพหลักไม่ได้หรอก (หัวเราะ)
The MATTERs : ทำไมถึงคิดว่า Dear Reader เป็นอาชีพหลักไม่ได้
เต้อ : เรามองว่าเป็นอาชีพเสริม เพราะจริงๆ แล้วเรามีธุรกิจเสื้อผ้าที่ทำกับเพื่อนที่ช่วยซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ด้วยตัวชิ้นงานของ Dear Reader เองจะวางขายตามร้านทั่วไปไม่ค่อยได้ ก่อนหน้านี้เราเคยเอาเสื้อยืดไปขายในงาน Cat T-Shirt จริงๆ ก็พอขายได้ แต่ว่าคนที่ซื้อไปจะไม่ค่อยเก็ตว่ามันคืออะไร เช่น เสื้อ 1984 หลายคนที่มาซื้อเขาก็จะมาถามเราว่า ไม่มีปี 1982 บ้างเหรอ เขาเกิดปีนั้นพอดี แต่ถ้าเราเอาไปวางในร้านหนังสือเนี่ย เสื้อ 1984 คนที่เข้าไปร้านหนังสือเขาก็จะเก็ตเลยว่าเป็นงานออกแบบที่มาจากหนังสือโดยที่ไม่ต้องอธิบายกันยืดยาว
Life MATTERs : ความท้าทายในอาชีพคนทำกราฟิกหรือ Illustrator ที่คืออะไรบ้าง
เต้อ : เราว่า Illustrator รุ่นใหม่มีคนเก่งๆ เยอะมาก เวลาแวะไปส่งของตามร้านหนังสือ เราเห็นของที่เขาเอามาฝากขายกัน ดูเก๋ ดูสวยไปหมดเลย แถมทำงานเร็วกันมากๆ อย่างน้องที่รู้จักสามารถวาดภาพภายใน 3 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่ 3 ชั่วโมงนั้น เรายังไม่ได้เริ่มคลิกเมาท์เลยด้วยซ้ำ ด้วยวัยของน้องๆ ที่กำลังมีไฟด้วยแหละ อย่างเรา พอนั่งนานๆ ก็จะเริ่มรู้สึกปวดหลังแล้ว (หัวเราะ)
Life MATTERs : ชื่อ Dear Reader มีที่มาที่ไปยังไงบ้าง
เต้อ : ถ้าแปลง่ายๆ ก็คงจะเป็นคำว่า ‘แด่นักอ่าน’ เหมือนที่นักเขียนเขาเขียนกัน แต่จริงๆ เราเอามาจากหนังสือของ Calvino ซึ่งช่วงหลังๆ เขาจะเขียนเป็นแนว metafiction หรือเรื่องเล่าแบบซ้อนเรื่อง บางครั้งผู้เล่า เองก็สื่อสารกับเราเวลาอ่านจะรู้สึกว่าตัวเราอยู่ในวรรณกรรมเล่มนั้นด้วย ถ้าจะให้เห็นภาพชัดขึ้น เหมือนตอนที่เราดูหนังอยู่แล้วตัวละครในนั้นชี้นิ้วมาทางเราหรือพยายามจะสื่อสารกับเรา ทำให้เรารู้สึกมีตัวตนอยู่ในหนังเรื่องนั้นด้วย หนังสือของ Calvino เป็นแบบนั้น ทีนี้ตอนใกล้จบเล่ม เขาชอบพูดว่า แด่นักอ่านหญิง แด่นักอ่านชาย เราคิดว่าคำนี้มันเข้าถึงตัวคนอ่านได้ดี เลยคิดว่าน่าจะเอามาใช้เป็นชื่อ
เราอยากให้ตัว Dear Reader เป็นเพื่อนกับนักอ่านด้วย อย่างโลโก้ที่เป็นรูปคนอ่านหนังสือ ทรงผมออกจะพังค์นิดๆ เป็นตัวแทนของเด็กบ้านๆ คนธรรมดาที่ชอบอ่านหนังสืออะไรประมาณนี้ เราไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นผู้รู้ หรือเป็นคนรู้เยอะแล้วอยากจะสอนใคร เราอยากเปิดให้คนได้เข้ามาคุยกัน เหมือนเพื่อนแนะนำหนังสือให้กับเพื่อนมากกว่า
Life MATTERs : การคิดภาพจากวรรณกรรมหนึ่งเล่ม มีขั้นตอนยังไงบ้าง
เต้อ : การคิดภาพของเราจะแบ่งเป็นสองวิธีง่ายๆ คือ เราจะคิดภาพออกมาให้เป็นความคิดรวบยอด หนังสือบางเล่มถ้าอ่านจบแล้วเรารู้เลยว่าควรจะวาดยังไง สมมติว่าเป็นวรรณกรรม If On a Winter’s Night, a Traveller ของ Calvino ซึ่งงานเขียนเล่มนี้มีวิธีคิดที่ค่อนข้างเยอะ เราก็อยากจะนำเสนอความซับซ้อนของวิธีคิดของหนังสือด้วยการออกแบบภาพที่มาในรูปแบบของช็อตโน้ตสรุปความสั้นๆ
อีกวิธีคือการคิดภาพออกมาเป็นซีน บางเล่มเราอาจจะดึงไอเดียบางไอเดียออกมาทำเป็นภาพได้ อย่างงานของ Raymond Chandler ที่เป็นวรรณกรรมสืบสวนสอบสวน ไขรหัสคดี เราคิดว่าภาพที่เหมาะกับงานของแซนด์เลอร์ไม่ใช่การสรุปความแต่มันคือการวาดซีนสักซีนหนึ่งในเล่ม ให้ภาพช่วยทำหน้าที่อธิบายเรื่องราว
Life MATTERs : มีงานที่โดนยิงทิ้งบ้างไหม
เต้อ : ไม่ค่อยมีนะ เราโชคดีมากที่ได้ทำงานกับคนที่เขาเห็นงานเรามาก่อนแล้ว ต้องขอบคุณพวกเขามากๆ อย่างกระเป๋าผ้าที่เราทำกับ Readery เขาเปิดให้เราออกแบบได้เต็มที่ หรืองานโพสต์ออนไลน์ก็มีน้อยมากที่จะถูกแก้งาน ซึ่งเป็นอะไรที่เราแฮปปี้มาก (หัวเราะ) บางงานก็มีปรับแก้เรื่องสีนิดๆ หน่อยๆ หรืองานที่ออกแบบให้กับสำนักพิมพ์สามัญชน เราส่งไปแบบเดียวตลอด พอเขาชอบงานก็จบง่ายๆ เลย จนตอนหลังก็เริ่มรู้สึกเกรงใจเลยอยากลองทำทางเลือกให้เขาดูบ้าง จริงๆ แล้วสำนักพิมพ์แต่ละที่เขาก็มีวิธีทำงานที่แตกต่างกันไป บางที่เขาอาจจะอยากได้ทางเลือก 2-3 แบบ บางที่แทบจะไม่ซีเรียสเลย
Life MATTERs : สมมติว่ามีวรรณกรรมหลายเล่มมาให้คุณเลือกทำปก คุณมีวิธีเลือกยังไง
เต้อ : ความสุขของเราคือการทำงานที่ทำให้เราได้อ่านหนังสือ เราอยากอ่านหนังสือให้ได้มากที่สุดด้วยซ้ำ ดังนั้น Dear Reader ไม่เลือกงานหรอกครับ (หัวเราะ) แต่การทำงานจากหนังสือสักเล่มมันก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน เราต้องอ่านจนเข้าใจ หรืออ่านแล้วตีความออกมาเป็นภาพได้ อีกอย่างการอ่านมันทำให้เรามั่นใจที่จะสื่อสารนะ ถึงแม้ว่าเราจะตีความผิดก็ยอมรับ ถ้าไม่อ่านเราจะรู้สึกเหมือนเป็นคนพูดจาไม่ชัดถ้อยชัดคำ ดูหลอกลวงนิดนึง
Life MATTERs : แล้วถ้าเป็นงานที่ไม่มีต้นฉบับให้อ่านก่อน คุณจะรับไหม
เต้อ : รับหมดแหละ (หัวเราะ) จริงๆ ก็มีทำแนวนี้บ้างนะ แต่เราต้องไปรีเสิร์ชเพิ่มเติมเองว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร ปกก่อนหน้านี้เป็นรูปแบบไหน หรือบางทีสำนักพิมพ์จะบอกว่าอยากได้ภาพประมาณไหนแล้วให้เราลองวาดไปให้เขาดูซึ่งเป็นขอบเขตที่เรายังแฮปปี้อยู่นะ ไม่ได้ติดปัญหาอะไร เราไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องเป็นคนออกแบบปกที่อินดี้ขนาดนั้น
Life MATTERs : สิ่งที่ยากที่สุดของการคิดภาพจากวรรณกรรม
เต้อ : เราคิดว่าไม่มีนะ แต่กลายเป็นว่าเราจะรู้สึกกดดันตัวเองนิดนึง เวลาที่เจอหนังสือที่เราชอบ หรือเป็นงานของนักเขียนที่เราชอบมากๆ จนบางทีเราเผลอใส่โน่นใส่นี่เยอะเกินมากเกินไป จนภาพมันดูพยายามมากๆ ผิดธรรมชาติของเราไปเลย หลังๆ ต้องพยายามบอกตัวเองว่า เอาง่ายๆ หน่อยนะ ไม่ต้องเยอะนะ อะไรประมาณนี้ (หัวเราะ)
Life MATTERs : ไอเดียตีกันในหัวบ้างไหม แล้วคุณจัดการยังไง
เต้อ : ก็มีบ้างที่ไอเดียจะตีกันในหัว แต่สุดท้ายเราเลือกที่จะไม่พูดอะไรหลายอย่างมากเกินไปในงานหนึ่งชิ้น ตอนนี้เราชอบอะไรที่มันย่อยง่ายๆ เหมือนกับงานเขียนอ่ะ เมื่อก่อนเราอาจจะชอบอ่านงานที่มันซับซ้อน ได้ใช้ความคิดเยอะๆ แต่พอเวลาผ่านไป เราโตขึ้นด้วยแหละ เรารู้สึกว่างานเขียนที่ใช้คำง่ายๆ สื่อสารกันแบบตรงๆ ก็ทัชกับคนได้เหมือนกัน
Life MATTERs : พูดได้ไหมว่าเป็นงานกราฟิกแบบ Less is More
เต้อ : อะไรประมาณนั้น เราพยายามทำให้งานของเรา default ที่สุด อย่างสีที่เราเลือกใช้ก็จะมีอยู่แค่ไม่กี่สี เราเชื่อว่าทุกงานที่เราทำเราต้องมั่นใจว่ามันสื่อสารได้ การใช้สีที่พิศดารหรือการใส่อะไรเข้าไปเยอะมากๆ ก็อาจจะไม่จำเป็น แต่การทำอะไรน้อยๆ แต่ทำให้แตกต่างจากคนอื่นนี่ยากนะ
งานกราฟิกที่เราอยากทำ คืองานที่คิดโดยมีการกลั่นกรองไอเดียมาประมาณนึง พอเวลาผ่านไปสัก 2-3 ปี หรือหลายๆ ปี งานไม่ควรจะเชย นอกจากเราจะเลือกสื่อสารน้อยๆ ออกแบบให้ default ที่สุด แต่เราว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือมันก็ควรจะมีความป๊อปนิดๆ ในสไตล์ของมัน
Life MATTERs : ความป๊อปในงานสำคัญอย่างไร
เต้อ : ถ้าเป็นสินค้า เราว่ามันต้องป๊อบ เรามีภาพกราฟิกเยอะมากๆ ที่เราออกแบบไว้ แต่เลือกมาทำเป็นสินค้าได้ไม่หมด เพราะบางลายมันไม่ก็ไม่เหมาะกับการไปลงเป็นสินค้าจริงๆ ลายพวกนั้นก็เลยไปต่อได้แค่โปสการ์ด ซึ่งการเลือกลายสกรีนบนเสื้อ หรือกระเป๋าผ้าแต่ละใบก็เป็นสิ่งที่เราคิดแล้วคิดอีก เพราะจำนวนที่เราผลิตทีหนึ่งค่อนข้างเยอะ แถมยังต้องส่งไปขายหลายที่ คราวนี้ถ้าลายไหนที่แป้ก เราก็คงต้องเอาของพวกนั้นกลับมาใช้เองจนชั่วชีวิตเลยแหละ (หัวเราะ)
Life MATTERs : จำเป็นไหมว่าคนซื้องาน Dear Reader จะต้องเป็นคนอ่านวรรณกรรม
เต้อ : เราว่าไม่จำเป็นหรอก เราเคยตกลงขายกระเป๋าผ้าให้กับร้าน Booksactually ที่สิงคโปร์ เขาบอกว่า จริงๆ เขาไม่ซีเรียสเรื่องที่ว่างานออกแบบชิ้นนี้จะมาจากเรื่องไหน คือลูกค้าบางคนซื้อเพราะเป็นงานกราฟิกดีไซน์เฉยๆ ซึ่งก็ทำให้เราได้ฉุกคิดนะว่าคนทำอย่างเราจะมีมุมมองที่แคบกว่าจริงๆ พอฟังคนอื่นที่เขาทำงานแบบนี้มานาน เขามีวิสัยทัศน์ในการขายของ เขารู้ว่างานออกแบบประมาณนี้คนมาซื้อไม่จำเป็นต้องเป็นแฟนหนังสือก็ได้ เราก็เห็นด้วยนะ
Dear Reader จะเน้นคิดภาพจากงานวรรณกรรมคลาสสิคหรือวรรณกรรมที่ค่อนข้างมีมานาน เพราะเรารู้สึกว่าวรรณกรรมคลาสสิกเป็นภาษาสากลที่ทั่วโลกรู้จัก สมมติมีนักท่องเที่ยวมาจากไต้หวันมาเห็นปุ๊บ เขาไม่รู้จักนักเขียนคนอื่น เขารู้จักแต่ George Orwell หรือ William Shakespeare เรามองว่าคนอ่านวรรณกรรมอาจจะเป็นคนกลุ่มเล็กๆ แต่ว่ากระจายอยู่ทุกๆ ที่บนโลกนี้ ซึ่งเป็นโอกาสให้งานของเรากระจายไปส่วนอื่นของโลกได้โดยที่เราไม่ต้องปรับภาษาและวิธีการสื่อสารในภาพเลย
Life MATTERs : สำหรับผู้ซื้อที่ชอบตัวงานกราฟิกดีไซน์แต่ไม่ได้อ่านวรรณกรรมนั้นๆ คุณมองอย่างไร
เต้อ : เราดีใจนะ รู้สึกขอบคุณมากๆ ที่มีคนชอบงานออกแบบของ Dear Reader คือเราไม่เคยซีเรียสหากเขาไม่ได้เป็นนักอ่าน แต่ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้มีการพูดคุยที่สนุกๆ เกิดขึ้น อย่างคนที่เขามาซื้อจากมือเรา เราก็จะเล่าให้เขาฟังว่าภาพนี้มาจากวรรณกรรมเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวประมาณนี้นะ ลองหามาอ่านดู พอความสัมพันธ์จากการซื้อขายเกิด มีการแนะนำพูดคุยกันเกิดขึ้น ความประทับใจที่เขาอาจมีต่อเราก็แตกต่างกันแล้ว
Life MATTERs : วรรณกรรมเล่มไหนที่มีผลกับคุณมากๆ
เต้อ : วรรณกรรมที่มีผลกับ Dear Reader มาก คือเรื่อง If on a Winter’s Night a Traveler ของ Calvino นอกจากชื่อ Dear Reader จะมาจากเล่มนี้อย่างที่เล่าไปแล้ว เราเกือบจะตั้งชื่อแบรนด์ให้คล้องกับ If on a Winter’s Night ด้วยซ้ำ หรือโลโก้แบบเก่าที่เราออกแบบก็มาจากเล่มนี้ แต่ถ้าถามว่าวรรณกรรมเล่มไหนที่มีผลต่อตัวเรามากๆ อันนี้ตอบยากนิดนึง เพราะเรารู้สึกว่าเรารีเลตกับตัวละครในวรรณกรรมแตกต่างออกไปตามวัยเหมือนกัน อย่างตอนเด็กกว่านี้เรารีเลตกับตัวละครของ Haruki Murakami แต่ตอนนี้เราโตขึ้น มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้นเราก็อาจจะไม่รีเลตกับตัวละครตัวเดิมแล้วก็ได้
แต่เล่มที่อ่านแล้วรู้สึกทึ่งสุดๆ คืองานของ Umberto Eco เรื่อง The Name of the Rose วรรณกรรมไขรหัสคดียุคกลางที่นำเอาการตีความสัญญะมาใช้ดำเนินเรื่อง เป็นเล่มที่ทำให้เรารู้สึกว่างานเขียนมันไปได้มหัศจรรย์ได้ขนาดนี้เลยเหรอ แถมยังเป็นเล่มที่พอเรากลับมาอ่านอีกเราก็ยังจะรู้สึกทึ่งกับเล่มนี้อยู่แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปีหรือว่าเราจะโตขึ้นก็ตาม
Life MATTERs : จากจุดเริ่มต้น อะไรที่ทำให้คุณชื่นชอบการอ่านวรรณกรรมคลาสสิก
เต้อ : มี quote หนึ่งจากตัวเอกในเรื่อง Norwegian Wood ของมูราคามิที่เราจำได้ เขาพูดว่า ‘ผมจะไม่อ่านวรรณกรรมอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะผมคิดว่าวรรณกรรมจะต้องผ่านการทดสอบทางการเวลามาก่อนว่ามันสมควรได้รับการอ่านรึเปล่า’ เราคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าทำตามเหมือนกัน แม้ว่าจะชอบอ่านหนังสือมากขนาดไหน แต่ชีวิตจริงเราไม่มีเวลาอ่านงานทุกเล่มในโลกใบนี้ การอ่านวรรณกรรมแต่ละเล่มเราไม่ได้ใช้เวลาเพียงหนึ่งหรือสองชั่วโมงเหมือนกับการดูหนังสักเรื่อง เพราะฉะนั้นสำหรับเราแล้วการอ่านหนังสือสักเล่มไม่ใช่เรื่องของรสนิยมแต่เป็นการเลือกใช้เวลาให้คุ้มค่ามากกว่า
Life MATTERs : การอ่านให้อะไรกับคุณบ้าง
เต้อ : วรรณกรรมทำให้เรามองคนอื่นในแง่ความเป็นมนุษย์มากขึ้น เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้นและจะไม่ตัดสินเขาง่ายๆ แบบนั้น วรรณกรรมบางเรื่องที่มีความซับซ้อนก็สอนให้เราเลิกมองอะไรเพียงด้านเดียว ไม่ได้แปลว่าเรามองโลกในแง่ดีนะ มันแปลว่าเรามีพื้นที่เหลือให้กับเขาในแง่มุมอื่นๆ คนที่เราเจอเขาอาจจะไม่ได้เลวร้อยเปอร์เซ็นหรอก ลึกๆ เราก็มีความหวังว่าชีวิตเขาต้องมีอะไรดีๆ บ้างแหละ เราเรียนรู้ชีวิตคนอื่น เห็นอกเห็นใจเขาผ่านวรรณกรรม
Life MATTERs : สมมติว่าอยากให้คนไทยอ่านวรรณกรรมเยอะขึ้น คุณว่าเราควรเริ่มจากตรงไหน
เต้อ : ตอนเด็กๆ เราอาจจะไม่ค่อยอ่านหนังสือกันเท่าไหร่ เราเลยรู้สึกว่าน่าจะเริ่มจากโรงเรียนรึเปล่า วรรณกรรมไม่ค่อยถูกพูดถึงในโรงเรียนมากเท่าที่ควร บางเล่มนี่สำคัญมากเลยนะ เด็กๆ ควรรู้จักมันตั้งแต่มัธยม หรือจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เรียนเกี่ยวกับศิลปะ เรายังรู้สึกว่าขนาดตอนเรียนมหาวิทยาลัย การพูดถึงวรรณกรรมก็ยังน้อยอยู่ แต่สุดท้ายแล้วการอ่านต้องเริ่มจากตัวเราด้วย ต้องเห็นความสำคัญของการอ่านก่อน
Life MATTERs : ในยุคที่คนมองว่าสิ่งพิมพ์กำลังร่อแร่ คุณเองที่อยู่กับหนังสือมานานมองว่าอย่างไร
เต้อ : ขึ้นอยู่กับว่าเป็นงานอะไรด้วย เราค่อนข้างเบื่อที่เขาเถียงกันว่า ‘งานพิมพ์ตายแล้ว’ มีตั้งหลายอย่างในโลกใบนี้ที่ทยอยตายตามกาลเวลาไปเรื่อยๆ นะ ในแง่นิตยสาร งานออนไลน์มันก็อาจจะแทนได้จริงๆ แต่เราว่าสเน่ห์ของวรรณกรรมก็คือการที่มันจะยังเป็นเล่มแบบนี้อยู่ Kindle ยังไงก็แทนไม่ได้อยู่ดี อาจจะดูโรแมนติกนะ แต่เราชอบความที่มันเป็นเล่มหรืออาจเป็นเพราะเราเป็นคนยุคเก่าด้วยแหละมั้ง (หัวเราะ)
Life MATTERs : สเน่ห์ของความเป็นเล่มที่คุณติดใจ
เต้อ : เราเจอวรรณกรรมแปลมือสองเล่มหนึ่งชื่อว่า The Unbearable Lightness of Being ของ Milan Kundera เราประทับใจมาก คือเจ้าของเดิมเขาเขียนอะไรลงไปทุกหน้า อย่างหน้าแรกเขาก็เขียนว่า ‘ลืมไปแล้วว่าเคยรักเขายังไง’ พอเราอ่านไปเรื่อยๆ เราก็จะพบว่าเขาจดทุกอย่างลงในเล่ม ขีดเน้นประโยคที่ดูคมคายไว้ หรือบางท่อนที่พูดถึงพฤติกรรมหลังจากการร่วมรักของตัวละคร เขาก็เขียนข้างๆ ว่า ‘นี่เลยๆ ใช่มึงเลย’ นั่นแปลว่าเขารู้สึกรีเลตกับตัวละครในหนังสือมากเหมือนกัน
ตอนที่เราอ่านเล่มนี้ ก็เหมือนกับการที่เราอ่านเรื่องราวของเจ้าของหนังสือคนเก่าไปด้วย จนมาถึงหน้าสุดท้าย เขาก็ยังเขียนคอมเมนต์ตอนจบว่า ‘ดีมากสุดยอดวรรณกรรม’ เราว่าสิ่งนี้บ้ามากๆ
วรรณกรรมเล่มนี้และอีกหลายๆ เล่มทำให้เรารู้สึกว่า ความเป็นมนุษย์ที่เราเคยเข้าใจสามารถขยายไปได้เรื่อยๆ จากตอนแรกที่เราเข้าใจว่าคนแบบในวรรณกรรมไม่มีทางมีอยู่จริงบนโลกใบนี้ แต่พอเจ้าของหนังสือคนเก่าเขาบอกว่าตัวเขาเองมีความรู้สึกเดียวกับตัวละครในวรรณกรรม เจอแบบนี้ก็แปลกดีเหมือนกัน
Life MATTERs : แล้วการทำ Dear Reader ให้อะไรกับชีวิตคุณบ้าง
เต้อ : อย่างแรกเราไม่ใช่คนที่คิดอะไรยาวๆ เหมือนเดิม เมื่อก่อนเราจะแพลนโน่นแพลนนี่เยอะ เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าเราคิดถึงเป้าหมายระยะสั้นมากขึ้น เลยไม่ได้มองว่าการทำ Dear Reader จะตอบโจทย์อะไรในวันที่เราอายุมากขึ้นกว่านี้ หรือทำให้เราบรรลุอะไรบางอย่าง แต่ตอนนี้เราโอเคมากๆ ในสิ่งที่เราทำอยู่ อยากทำอะไรให้ตัวเองมีความสุขหนึ่งปีถัดไป สองปีถัดไปแค่นั้นเอง ไม่ได้มองไกลขนาดนั้น แต่เรารู้สึกว่าที่มันเป็นอยู่ตอนนี้ก็ดีนะ ดีกว่าที่เราเคยคิดไว้แล้ว
ตอนที่เราตั้งเพจก็หวังว่า Dear Reader จะสามารถเป็นพื้นที่ให้คนได้มาคุยกันเรื่องวรรณกรรม เราเคยโพสต์เกี่ยวกับหนังสือมือสองเล่มหนึ่ง เขาเขียนดีมาก ภาษาสวยงามมาก แล้วก็มีคนในเพจตอบกลับมาหาเราว่าลองอ่านเล่มนั้นเล่มนี้สิ ซึ่งเราก็ซื้อมาอ่านตามที่เขาแนะนำจริง เราชอบบรรยากาศนี้มาก อยากให้มีการพูดคุยแบบนี้เกิดขึ้นในเพจเยอะๆ
ถ้าถามว่า Dear Reader อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจับต้องวรรณกรรมเยอะขึ้นไหม ในแง่ของคนทำกราฟิกเราอาจจะไม่ได้หวังยิ่งใหญ่มากขนาดนั้น เราไม่อยากให้เสื้อ กระเป๋าผ้า หรือโปสการ์ดต้องแบกรับภาระอะไร แต่ถ้าเป็นความคิดส่วนตัว เราก็อยากให้คนอ่านหนังสือกันอยู่แล้วแหละ อยากให้คนเข้าใจว่าการอ่านวรรณกรรมมันดีนะ ถึงแม้ว่าบางทีจะเศร้าหรือจะให้อารมณ์แบบไหนยังไง แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือวรรณกรรมสั่งสอนความเป็นมนุษย์ให้กับเราได้จริงๆ
Text by: Benjawan Mungkornatsawakul
Photos by Adidet Chaiwattanakul