เมื่อสักกลางปี 2017 ความเปลี่ยนแปลงของบริษัทสื่อนอกกระแสเจ้ายักษ์อย่าง daypoets สร้างแรงสั่นสะเทือนไม่น้อยในวงการสื่อฯ และในตัวบริษัทเอง จังหวะนั้น ทีมงานต่างมีโอกาสเลือกทางเดินของตัวเอง หลายคนเริ่มต้นกับพื้นที่ใหม่ ในขณะที่อีกกลุ่มเลือกจะอยู่ที่เดิม เพื่อสร้างรสชาติใหม่ๆ หนึ่งในนั้นคือชาว a day magazine ที่นำทีมโดย เอี่ยว—ศิวะภาค เจียรวนาลี ผู้ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการคนปัจจุบัน
เอี่ยวอยู่กับ a day magazine มาเนิ่นนาน ตั้งแต่ในฐานะ a team junior รุ่นที่ 3 และในฐานะกองบรรณาธิการคนสำคัญ เขามองเห็น และมีส่วนร่วมกับความเปลี่ยนแปลงของ a day มาจนถึงเล่ม 200 ที่เป็นรอยต่อซึ่งเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย และในเล่ม 201 เรื่องแว่นตา นั่นน่าจะนับว่าคือเล่มแรกที่เขาได้ทำงานในฐานะบรรณาธิการอย่างเป็นทางการ
ผ่านมากว่าครึ่งปี พายุสงบ ทุกสิ่งดำเนินไปตามครรลอง แต่ละคนต่างพบทางของตนเอง ตกตะกอน พร้อมเติบโตไปในหนทางอีกยาวไกล a day ก็เป็นเช่นนั้น และนี่จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีทีเดียว ที่เราจะได้พูดคุยกับเขา—บรรณาธิการคนปัจจุบัน เกี่ยวกับทิศทางใหม่ๆ ของหัวนิตยสารที่เรารู้จักมักจี่มาตลอดการเติบโตของเราเอง
Life MATTERs : ความผูกพันของคุณกับ a day เริ่มมาตั้งแต่ตอนไหน
เอี่ยว : ไม่รู้จะใช้คำว่าผูกพันได้ไหม คือตั้งแต่แรก ความเป็น a day มันผูกติดกับกระแสความนิยมของ a day ในช่วง 2 ปีแรกเอามากๆ ซึ่งเราเองไม่ได้ทันยุคพี่โหน่ง (วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์) เท่าไหร่ มาอ่าน เล่มแรกจริงๆ คือเล่ม Darkside ที่พี่โจ้ (วชิรา รุธิรกนก) เป็นบรรณาธิการ ที่ผ่านมาเรารับรู้ รู้สึกได้ เพียงแต่อาจจะไม่ได้อยู่ในกระแสนั้นเต็มเหนี่ยวมาก มันก็เลยส่งผลให้เรามอง a day ด้วยสายตาแบบกลางๆ มาตลอดในฐานะผู้อ่าน
เราเองไม่ได้เข้ามาที่นี่ด้วยความรู้สึกชอบมากๆ แต่เกิดจากการมองว่ามันคือนิตยสารที่น่าสนใจและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำ แต่ไม่ได้แปลว่าเราไม่ชอบ a day ยุคพี่โหน่งนะ จริงๆ แล้ว a day ยุคพี่โหน่งเป็นตัวอย่างของการทำนิตยสารที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจและน่าศึกษามากๆ ซึ่งการเติบโตของเราเอง ทำให้มุมมองที่มีต่อ a day มันกว้างขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ของมัน
พูดง่ายๆ คือเราได้เข้ามาทำในตอนที่เกิดขึ้นในกระแสความโด่งดังระดับพระกาฬ ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงบรรณาธิการ จนถึงตอนที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของออฟฟิศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เราไม่แน่ใจว่าใช้คำว่าผูกพันได้ไหม แต่เหมือนเราไปอยู่กับแบรนด์นี้มานานกว่าชาวบ้านเขา ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องปกติเท่าไหร่สำหรับยุคนี้
Life MATTERs : ถ้าให้เทียบเป็นความสัมพันธ์ a day คือใครสำหรับคุณ
เอี่ยว : เป็นเหมือนเพื่อนสมัยมัธยม เพราะเราเริ่มอ่าน a day ตอนมัธยมปลาย แล้วลักษณะหนึ่งของเพื่อนมัธยมคือมันมักจะมีความหลังให้เล่าอยู่เสมอ แล้วถ้าเรายังคบกันอยู่ ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัด คือเราจะเห็นว่าคนคนนี้ไม่ได้เป็นแบบที่เราเคยเห็นในช่วงแรกๆ เราเห็นภาพกว้างขึ้น ลึกขึ้น เราก็จะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
a day ก็เช่นเดียวกัน เราพูดอย่างนี้เพราะอยากให้เห็นว่า a day เป็นนิตยสารที่ไม่ได้อยู่นิ่ง ถ้ามองดีๆ มันเป็นนิตยสารที่พยายามปรับตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราพยายามมองเป้าหมายว่าการปรับคือการเขยื้อนไปข้างหน้า ก็เลยคิดว่าความสัมพันธ์ของเรากับ a day น่าจะเป็นแบบนี้แหละ
Life MATTERs : ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าภาพของ a day ค่อนข้างผูกติดกับตัวบรรณาธิการ แล้วพอมาถึงยุคของคุณ มันเป็นอย่างนั้นอยู่ไหม
เอี่ยว : เราเห็นด้วยนะเรื่องที่บอกว่าบรรณาธิการคือหน้าตาของหนังสือ หรือผู้แสดงตัวตนของหนังสือ เพราะไม่ว่าจะยังไงแล้ว ตัวคนทำก็มีบทบาทกับงาน คนเป็นอย่างไร งานก็เป็นอย่างนั้น เป็นเรื่องธรรมชาติ
ตอนรับหน้าที่บ.ก. เรายังพูดติดตลกกับพี่โหน่ง พี่ปิงปอง ( นิติพัฒน์ สุขสวย) อยู่เลย ว่านี่คือการทำ a day ในสถานการณ์ที่ไม่น่าทำที่สุด เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ทำให้คนที่เป็นเหมือนแบรนด์ของ a day สองส่วนหลักๆ ออกไปทั้งคู่เลย ส่วนแรกคือผู้ก่อตั้ง ส่วนที่สองคือบรรณาธิการที่ทำงานมา 14 ปี นั่นก็คือพี่ก้อง (ทรงกลด บางยี่ขัน)
เพราะฉะนั้น a day จึงอยู่ในสภาวะที่ท้าทายมาก ท้าทายอย่างยิ่งเลยล่ะ การมารับหน้าที่ต่อจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยง แต่มันก็เป็นการเสี่ยงที่ไม่ได้โหดร้าย ไม่ได้น่ากลัว
Life MATTERs : อะไรที่ทำให้ความเสี่ยงนั้นน่าลองสำหรับคุณ
เอี่ยว : ถ้าย้อนกลับไป เราว่าเหตุผลที่เรารับหน้าที่นี้ มีอยู่ 2 เหตุผลหลัก เหตุผลแรกคือเรื่องคน ที่พูดแบบนี้เพราะคนที่ทำงานในองค์กรที่สนิทกันมากๆ จะเริ่มไม่รู้ว่าเราเข้ามาเพราะอะไร อยากทำอะไร คือมันเหมือนกับว่าเราอยู่กันด้วยความสนิทใจ จนเหมือนเคลื่อนไหลไปกับกอง รู้สึกสบายใจที่จะอยู่แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ
แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นมันทำให้ทุกคนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ฉันอยากจะทำอะไร ฉันอยากจะเลือกทางไหนกันแน่ ซึ่งในบรรดาทางทั้งหลายแหล่ มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะทำที่นี่ต่อ เราก็คิดว่าด้วยบทบาท ความสามารถ ประสบการณ์บางอย่าง น่าจะช่วยคนที่ยังเลือกทำที่นี่ต่อได้
สองคือช่วงนั้นเป็นช่วงที่เรากำลังจะรับโครงการ a team junior รุ่น 13 พอดี ซึ่งมันมีสิทธิ์สูงมากที่โครงการนี้จะล้มไป ซึ่งเราคิดว่าเรื่องหนึ่งที่เราจะเสียดาย หากวันนึง a day จะไม่มีอยู่ หรือถูกเปลี่ยนไปเป็นแบบอื่น ก็คือเรื่องการสร้างคนเข้ามาในวงการ
มันอาจจะเป็นเรื่องเฮ้าเลี่ยนไปหน่อย ถ้าจะบอกว่า a team junior คือการสร้างเด็กเข้ามาในวงการนิตยสาร เพราะความจริงแล้วเราไม่ใช่เจ้าของชีวิตใคร แต่มันก็ปฏิเสธยากว่า a day ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างคนใหม่ๆ
เราก็เลยรู้สึกเสียดายบทบาทนั้นของ a day เราคิดว่าในฐานะที่เราเกิดมากับการสร้างคนของนิตยสารหัวนี้ มันคงจะดีถ้าเกิดว่าเราได้สร้างรุ่นต่อไปเรื่อยๆ เราอาจจะชอบการมองเห็นคนรุ่นใหม่ๆ หัดโตด้วย นั่นคือสองเหตุผลหลักที่เราเลือกทำ
Life MATTERs : การเข้ามาของน้อง a team junior 13 ได้พิสูจน์อะไรให้คุณเห็นบ้าง
พี่เอี่ยว : เอาง่ายๆ คือมันพิสูจน์ว่ายังมีเด็กที่น่าสนใจ ที่ยังอยากทำสื่อในจังหวะแบบนี้อยู่ มันทำให้เราเห็นความหวังอะไรบางอย่าง ช่วงแรกมันก็มีบ้าง ที่เรารู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มันดูใหญ่ แต่พอเวลาผ่านไปก็รู้สึกมันเล็กลง เป็นแค่อีกเรืองหนึ่งที่ผ่านไป การมี a team junior มันก็พิสูจน์ในแง่นั้น ว่ามันยังสร้างเด็กได้อีกเรื่อยๆ
ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างใหญ่ มันไม่ใช่แค่การที่คนจำนวนหนึ่งออกไป แต่มันมีทั้งการรับคนใหม่เข้ามา รวมทั้งตั้งคำถามกับทิศทางที่เราจะไปต่อด้วย ว่าต่อไปนี้งานที่เราทำอยู่จะไปทางไหน ซึ่งคำถามนี้ค่อนข้างใหญ่มาก
Life MATTERs : ความเปลี่ยนแปลงของ a day ในยุคของคุณเป็นไปอย่างไร
เอี่ยว : ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างใหญ่ มันไม่ใช่แค่การที่คนจำนวนหนึ่งออกไป แต่มันมีทั้งการรับคนใหม่เข้ามา รวมทั้งตั้งคำถามกับทิศทางที่เราจะไปต่อด้วย ว่าต่อไปนี้งานที่เราทำอยู่จะไปทางไหน ซึ่งคำถามนี้ค่อนข้างใหญ่มาก
ซึ่งสิ่งที่เราทำคือการเอาสิ่งที่เรามีอยู่มาดำเนินต่อในแบบใหม่ เอาจริงๆ โครงสร้างเล่มเรายังเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือการเลือกเรื่องมาเล่า ที่ผ่านมาไม่ว่าตัว a day จะถูกมองแบบไหนก็ตาม เราก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจแหละ แต่เรื่องที่เล่ามันอยู่ในขอบเขตหรือพื้นที่ที่ซ้ำๆ เดิม คือมันจะพูดอยู่ไม่กี่วงการ วนไปวนมาอยู่อย่างนี้
และถ้าภารกิจแรกของเราคือการทำ a day ให้ใหม่ ให้สนุกขึ้น เราก็อยากเอาวิธีการของเราไปหาวงการอื่นบ้าง อีกอย่างคือคือคิดวิธีการนำเสนอแบบที่เราไม่เคยเห็น และไม่ค่อยได้ใช้มาก่อน เราอาจใช้อาร์ตมานำตัวเรื่องมากขึ้น
เราคิดว่าตั้งแต่ 201(เล่มแว่นตา) เป็นต้นมา เรามีเป้าหมายว่าเราจะเล่าเรื่องนั้นไปทำไม อย่างเล่มวิชาเปิดโลก มันเกิดมาจากไอเดียง่ายๆ ว่าวิชาเรียนที่เราคิดว่าน่าเบื่อ จริงๆ มันน่าสนใจเหมือนกันนะ ทั้งน่าสนใจในแง่ของชื่อวิชา สิ่งที่สอน อาจารย์ หรือวิธีการสอน
และพบว่าเวลาเราพูดถึงการเปิดโลก เรามักจะนึกถึงการออกไปนอกห้องเรียน เราเลยอยากชวนคิดว่าสิ่งที่อยู่ในห้องเรียนมันก็เปิดโลกได้เหมือนกัน ขนาดวิชาพื้นฐานที่ทุกคนคิดว่าน่าเบื่อ มันยังมีความจำเป็น หรือมีความน่าสนใจบางอย่างเลย
นั่นเป็นในส่วนของการเลือกเรื่อง ทีนี้ในเชิงอาร์ต จริงๆ แล้วรูปแบบในการทำงานของเราไม่ได้เปลี่ยน ไม่ได้มานั่งเขียนมายด์แมปว่าพวกเราทุกคนต้องเป็นอย่างนี้นะครับ ไม่ได้เอาเรฟเฟอร์เรนซ์มากางว่าฉันจะต้องไปเป็นคนนี้นะ วิธีการทำงานของเรามันเหมือนเดิมเลย
ที่ต่างคือเราพยายามไม่ฆ่าไอเดียเร็วเกินไป ซึ่งมันเป็นลักษณะของทีมงานตอนนี้ด้วย คนที่อยู่ที่นี่ตอนนี้ส่วนมากเป็นเด็ก ซึ่งในความเป็นเด็กมันกลายเป็นจุดแข็งที่เรื่องความสดบางอย่าง เราคิดว่าไอเดียที่ดีมันต้องการการคัดกรองก็จริง แต่หลายครั้งไอเดียที่ดีก็เกิดจากการบ้าๆ บอๆ ที่เราไม่ฆ่ามันเร็วเกินไป ลองให้โอกาสมันโต หรือให้เขาลองพัฒนามันต่อ
สิ่งที่เราทำต่างออกไปคือชวนคิดต่อว่าสิ่งที่คิดมามันไปต่ออย่างไรได้บ้าง จริงๆ แล้วการเขียนคำบนหน้าคนมันไม่ได้ใหม่ มันมีมานานมาก แต่เราอยากลองกลับมาหาตัวคอนเซ็ปต์ของเล่ม ลองเอาไอเดียที่มันตกไป มันช้ำ หรือมันเก่าแล้วมาพัฒนาดูไหม เลยคิดว่าถ้าเล่มนี้เราพูดถึงคนที่สับสนไม่รู้จะเลือกเรียนอะไรดี มันก็เหมือนกับเวลาที่เรามีคำถามในหัวมากมายจะเรียนอะไรดีๆ มันเป็นการจำลองโมเมนต์ความรู้สึกบางอย่างในหัวขึ้นมา
เราเชื่ออย่างหนึ่งว่าไอเดียมันไม่มีถูกผิด อยู่ที่ว่ามันพัฒนากับใคร สิ่งที่เราเคยคิดว่ามันเป็นไอเดียที่ดี จริงๆ แล้วมันอาจจะทำงานกับแค่คนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำงานกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง และเมื่อเราลองเปลี่ยนวิธีการใหม่มันก็อาจจะทำงานกับคนกลุ่มใหม่ แต่อาจจะไม่ทำงานกับคนกลุ่มเดิมก็ได้ มันเป็นสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว แต่เราแค่ไม่อยากอยู่กับที่ หรืออยู่กับชื่อเสียงแบบเดิม
Life MATTERs : พอทำออกไปแล้ว คุณเห็นฟีดแบ็กอย่างไรบ้าง
เอี่ยว : ฟีดแบ็กที่ได้ มันมีทั้งฟีดแบ็กเรื่องผลงาน กับฟีดแบ็กเรื่องประวัติศาสตร์เรา คือตัวผลงาน เราก็รับมันไว้มันเป็นกำลังใจ ส่วนมากคนก็จะมองว่า a day เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น หรือทำให้เขากลับมาอ่านอีกครั้ง ซึ่งเราว่ามันเป็นเพราะเรื่องที่เราคุยกันเมื่อกี้ คือการเลือกเรื่องโดยหาทิศทางแบบใหม่ และวิธีการนำเสนอที่ลองไอเดียใหม่ ในแง่นั้นเรารับไว้
เพียงแต่ในแง่ของประวัติศาสตร์ จริงๆ แล้วคำว่า a day โลกสวย เราว่ามันก็ทั้งยุติธรรมและไม่ยุติธรรมกับเรา ด้วยความที่ภาพของ a day ยุคแรกมันชัดมาก ชัดซะจนคนคิดว่าเราเป็นนิตยสารที่ไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย ช่วงแรกเลยเราพยายามมองอะไรใหม่ๆ เหมือนที่ทำอยู่
คือในยุคนั้นเอง นิตยสารมันก็มีวิธีการนำเสนอ มีท่าทีแบบหนึ่ง แต่ a day เสนอในมุมมองที่ต่างออกไปมันเลยทำให้ a day น่าตื่นเต้นในยุคสมัยนั้น แล้วหลายๆ เรื่องที่เราเลือกมันป๊อป มันเป็นการเอาเรื่องที่ป๊อปมาพลิกมุมกลับใหม่ ณ ตอนนั้นเราไม่ได้เอาเรื่องซีเรียสทางสังคมมาย่อย ซึ่งเรื่องนี้มันมาเกิดในยุคหลังๆ ของ a day แล้ว
เราคิดว่าเราเลื่อนไหลไปตลอดเวลา แต่คนยังมองแบบเก่าอยู่ ซึ่งถ้าคิดอีกแง่หนึ่งมันก็ถูกแหละ เพราะว่าสิ่งนั้นก็มีอยู่จริง สิ่งที่ a day ทำมันก็ป๊อปจริงในตอนนั้น สิ่งที่เราเล่ามันก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากๆ ในบางเล่ม
แต่มันไม่ยุติธรรมกับเราตรงที่ a day ยุคหลังๆ หลายปีที่ผ่านมา เราพยายามเปลี่ยน จากเดิมที่เราลองทำอะไรใหม่ๆ ที่แม็กกาซีนไม่ยอมทำกัน เอาเรื่องป๊อป เรื่องแมสๆ มาพลิกมุมกลับ เปลี่ยนเป็นลองเอาโจทย์ทางสังคมมาเล่าด้วยวิธีการที่ย่อยง่าย เรื่องศาสนา สังคม ธุรกิจ เรื่องความตาย เราก็ได้นำเรื่องพวกนี้มาย่อยง่าย แต่คนไม่ค่อยเห็น คนยังจำบางเล่มที่เราทำเรื่องป๊อปอยู่ มันอาจจะไม่ยุติธรรมในแง่นั้น
คือลักษณะของเราไม่ใช่คนใจกว้างนะ แต่เวลาที่คนด่าเราจะอยากฟังเขานิดนึง อยากคุยกับเขาก่อน รู้สึกว่าสิ่งที่เขามีต่อ a day มันน่าคุย น่าฟังไปหมด บางเรื่องมันเป็นเรื่องที่น่าคิดดีว่าทำไมเขาคิดต่างไปอีกแบบหนึ่ง
Life MATTERs : การคุยกับคนที่คิดแตกต่าง ครั้งไหนที่คุณจดจำได้ดีที่สุด
เอี่ยว : มันมีหลายเรื่องเนอะ ขอยกตัวอย่างเรื่องแมวละกัน เพราะเล่มนี้เป็นเล่มที่โดนด่าค่อนข้างเยอะ คนมองว่าเล่มนี้ไม่มีเนื้อหาอะไรเลย ย้อนกลับไปก่อนหน้าเล่มแมว เราเคยทำเล่มหมา ซึ่งมันเป็นการทำสกู๊ปที่เจาะทุกเรื่องเกี่ยวกับหมา ลงลึก ไปหาผู้เชี่ยวชาญ ทำทุกด้าน เจาะทุกอย่าง มัน rational มาก
แต่กับแมวมันเป็นซับเจกต์ที่คล้ายกัน แล้วเราไม่อยากทำแบบเดิม เราอยากทำอะไรที่ emotional มากกว่า แล้วยุคนั้นพวกเราทีมงานกันเอง อยากลองเล่าเรื่องแบบโฟโต้บุ๊กดู เพราะรู้สึกว่าเสน่ห์ของแมวอย่างหนึ่งคือการเห็นภาพมันเล่นกับคน พอเราไปทำความรู้จักกับคนเลี้ยงแมว หลายๆ ครั้ง เราจะได้เห็นภาพที่น่ารักแล้วมันก็มีความสุข เราอยากเล่าพาร์ตนี้อย่างเดียว เพราะมันยังไม่มีใครเล่าแบบนี้
ปรากฏว่าเล่มนั้นโดนด่าเยอะมาก เพราะคนมองว่าซื้อเล่มนี้มาแล้ว a day ต้องทำลึกแน่เลย แต่กลายเป็นภาพซะส่วนใหญ่ มันมีเท็กซ์ที่พูดถึงความสัมพันธ์ของคนกับแมว แต่ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไหร่
ครั้งนั้นมันน่าสนใจตรงที่เราได้ลองรับมือกับดราม่าบนโซเชียลมีเดียครั้งแรก คือก่อนหน้านี้มันเป็นการสื่อสารกึ่งๆ ทางเดียว เพราะเมื่อก่อนเวลาทำอะไรไป ฟีดแบ็กมันไม่ได้พุ่งเข้ามาหาเราแบบทางตรงขนาดนี้ อิมแพ็คขนาดนี้ เรื่องแมวมันเป็นเรื่องที่คนตั้งคำถามเยอะ เกิดการเถียงกันไปมา มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการเล่าเรื่องในพื้นที่นี้มีธรรมชาติแบบไหน เราควรให้ความสำคัญกับอะไร จริงๆ แล้วสิ่งที่เราตั้งใจควรสื่อสารให้ชัดเจนกว่านี้หรือเปล่า
คือตอนนั้นมันมีเรื่องที่ให้เราได้เรียนรู้เต็มไปหมด เราชอบนึกถึงศิลปินที่ออกอัลบั้มแล้วไม่ดัง คล้ายๆ กันคือมันมีศิลปินหลายคนที่พอทำงานไปสักพักนึงแล้วรู้ว่ายังไงคนก็ชอบ ยังไงคนก็ฟัง แต่ชีวิตมันไม่ได้หล่อเลี้ยงด้วยความชื่นชมอย่างเดียวไง สิ่งที่ผลักดันเราอยู่เสมอคือการตื่นเต้นกับการได้ทดลองอะไรใหม่ๆ เราอยากชวนคนอ่านไปสู่ปริมณฑลใหม่ๆ เพราะถ้าเกิดเราอยู่กับที่ก็คงไม่ได้ไปไหน มันเหมือนเราดีใจกับความสำเร็จ แต่ไม่ได้มองว่าพลังที่มีของเรามันทำอะไรได้บ้าง
เมื่อซับเจกต์มีธรรมชาติแบบนั้น แล้วถ้าเราเอาความสนใจของเราไปครอบ พยายามไปตัดให้เหมือนสิ่งที่เราคิด มันก็ไม่แฟร์กับซับเจกต์ ซึ่งนั่นไม่ใช่เป้าหมายเรา
Life MATTERs : พอมาเป็นบรรณาธิการเล่มแล้ว คุณต้องทิ้งความเป็นตัวเองไปบ้างไหม
เอี่ยว : นั่นสิ (หัวเราะ) เราคิดว่าไม่ได้ทิ้งอะไรไปเท่าไหร่นะ หมายถึงสิ่งที่เรานำเสนอผ่าน a day มันคือสิ่งที่เราและทีมงานเชื่อนั่นแหละ แต่ไอ้เรื่องการเสียสละชีวิตบางด้านไปมันมีอยู่แล้ว ปกติ เหมือนมันเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพนี้ ถ้าคุณเป็นบ.ก.คุณต้องเสียสละเวลาส่วนตัวมาทำหน้าที่นี้ ในการเป็นกัปตันทีม
เราอาจจะสูญเสียเวลาบางอย่างไป แต่ในแง่ความสนใจ เราไม่ได้รู้สึกว่าความสนใจฉันมันไม่ a day เลย ไม่เคยคิดแบบนี้ สิ่งที่เราสนใจไม่ได้ฉีกจากแบรนดิ้งของเล่มนี้มาก และในขณะเดียวกันเราอยู่ในตำแหน่งที่เราลองอะไรใหม่ๆ ได้ เราก็คิดว่าน่าจะลองดู
อย่าง a day เล่มใหม่ที่กำลังทำอยู่ คือเล่มกลับบ้าน สำหรับเราเองรู้สึกว่ามันเป็นเหมือนการท้าทายตัวเองมากเหมือนกัน เพราะเรามองว่าการกลับบ้านไปต่างจังหวัดมันไม่ได้โรแมนติก แต่ว่าตัวเรื่องมันเองมีเรื่องนั้นอยู่
เมื่อซับเจกต์มีธรรมชาติแบบนั้น แล้วถ้าเราเอาความสนใจของเราไปครอบ พยายามไปตัดให้เหมือนสิ่งที่เราคิด มันก็ไม่แฟร์กับซับเจกต์ ซึ่งนั่นไม่ใช่เป้าหมายเรา
เป้าหมายเราคือเล่าเรื่องคนกลับบ้านที่หลากหลาย เราพยายามทำให้มันเรียลที่สุด ความหลากหลายจะเกิดขึ้นได้ถ้าเราให้พื้นที่เขา แม้ว่าคนคนนั้นอาจจะมีชีวิตแบบที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อน บางด้านอาจจะโรแมนติกมากจนเรารู้สึกว่าใช่เหรอวะ โลกสวยหรือเปล่า ฟังๆ ดูมันจะเหมือนว่าประเด็นในเรื่องช่างขัดกับสิ่งที่เราคิด แต่เราว่าไม่ว่ะ มันเป็นพื้นที่ใหม่ๆ ที่เราอยากกระโจนเข้าไปดู ถ้าเกิดว่าฉันต้องเล่าเรื่องที่มีโทนอบอุ่นขนาดนี้ แม้ว่าชีวิตฉันเองจะไม่ได้โรแมนติกขนาดนั้น จะมีวิธีทำยังไงให้มันกลมกล่อมได้บ้าง
แล้วมันก็ยังมีแง่มุมอื่นๆ ของการกลับบ้าน บางคนคือการกลับไปหาคอมฟอร์ตโซน หรือบางคนกลายเป็นคนแปลกหน้าของบ้านเกิดตัวเองไปแล้ว บางคนคือการกลับไปยอมจำนนกับอะไรบางอย่าง นั่นก็คือความหลากหลายที่มันเกิดขึ้นจริงๆ จากกลุ่มที่ส่งจดหมายเข้ามาหาเรา ความหมายของคำว่ากลับบ้านเลยเลยกว้างมาก
Life MATTERs : การที่คุณเป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด ต้องจูนหาการกลับบ้านของคนต่างจังหวัดอย่างไรบ้าง
พี่เอี่ยว : มีสองเรื่อง เรื่องแรกคือเราใช้ทีมงานเยอะ และส่วนมากเป็นทีมงานที่อยู่ต่างจังหวัด เพราะเราต้องการคนที่เรียล แล้วมันตลกตรงที่พอทำเสร็จแล้วทุกคนอยากกลับบ้านหมดเลย รวมถึงพนักงานเราด้วย ไม่อยากอยู่ที่นี่แล้ว เราก็บอกเขาว่าอย่าเพิ่ง (หัวเราะ)
กับเรื่องที่สอง เรารู้สึกว่าพื้นที่มันไม่ได้ทำให้เราแตกต่าง เอาเข้าจริง ความรู้สึกของการกลับบ้านมันไม่เหมือนกัน สำหรับบางคนอาจจะมองว่าบ้านเดี่ยวคือบ้าน คอนโดไม่ใช่ บางคนมองว่าโคเวิร์กกิ้งสเปซที่มีเพื่อนคือบ้าน หรือบางคนไม่อยากกลับบ้าน เพราะว่าบ้านไม่มีความสุขก็มี แล้วเราคิดว่าเรื่องนี้มันสากลมากพอ ที่จะทำให้เราที่ไม่ได้บ้านอยู่ต่างจังหวัดก็รู้สึกอะไรบางอย่างไปกับเนื้อหาเรื่องนี้ได้
มันไม่ได้เล่าว่าเขากลับไปทำอะไรอย่างเดียว แต่มันเล่าสิ่งที่เขาคิดต่อครอบครัวเขา บ้านเขา ความสัมพันธ์ของเขากับคนรอบตัวเขาด้วย อย่างบ้านเรามีธุรกิจเป็นของตัวเองแต่เราก็พยายามออกมาเพื่อพิสูจน์ตัวเองแล้วก็เลือกที่จะไม่กลับไป การกลับบ้านของเรามันไม่ใช่การกลับบ้านต่างจังหวัด แต่มันคือการกลับไปทำงานที่บ้านที่คนมองว่าเดี๋ยวก็กลับไปตายรังอยู่ดี
ซึ่งการหนีของเรา มันก็ทำให้เราแหว่งวิ่นและเติมเต็มเราในบางเรื่อง เราคิดว่าสิ่งนี้มันทำให้เรามองบ้านและการกลับบ้านเปลี่ยนไปเหมือนกัน
บางทีการที่เราเป็นแบบนี้อาจจะเป็นเพราะว่าบางทีคนที่เราให้ความสำคัญในชีวิตจริงๆ ไม่ใช่ครอบครัว แต่เป็นใครก็ได้ที่เรารู้สึกดีที่จะได้อยู่ สบายใจ เพราะฉะนั้นมันผิดกับความเชื่อของเราในยุคนึง เป็นความเชื่อของเราสมัยเด็กๆ ที่เราไม่สบายใจเราจะกลับบ้าน เราจะกลับไปหาครอบครัว ไปหาพ่อ ไปหาแม่ แต่พอเราโตมา เราต้องค้นหา ต้องไขว่คว้าอะไรที่เป็นตัวเราเอง มันทำให้เราต้องออกมาจาพื้นที่เดิม เพื่ออกมาหาสิ่งใหม่ที่เป็นของตัวเราเอง เพื่อดูว่าเราชอบอะไรไม่ชอบอะไร ซึ่งการทำแบบนั้น มันทำให้เรามองบ้าน หรือตัวตนที่เราเคยมีสมัยเด็กๆ เปลี่ยนไป สังเกตง่ายๆ คือตอนเด็กเรากอดพ่อ ตอนนี้เราไม่กอดแล้ว เป็นเรื่องปกติ เราว่าความเปลี่ยนแปลงกับความสัมพันธ์พวกนี้สนุกดี ไม่ใช่สนุกในเชิงเฮฮา แต่เราคิดว่าถ้าในระดับคนอ่านที่เป็นคนอ่าน a day เรนจ์อายุช่วงนี้เป็นช่วงที่คนตั้งคำถามว่าตัวตนเราเป็นอย่างไรวะ จะดูครอบครัวให้ไปต่ออย่างไร แต่ถ้าเราสื่อกับคนที่เด็กกว่านี้ เด็กมัธยม การกลับบ้านคือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ผลเลย เขาจะรู้สึกว่าทำไมเหรอ ไม่เห็นมีอะไรเลย ในยุคที่คนเริ่มหาตัวตนแล้ว เรื่องนี้มันจึงเป็นเรื่องที่เถียงกันไป เถียงกันมาอยู่
Life MATTERs : การกระโดดลงไปแหวกว่ายกับคอนเทนต์ใหม่ทุกเดือน และอยู่ในบ่อนั้นอย่างเข้มข้นมีวิธีเตรียมตัวเองอย่างไรบ้าง
พี่เอี่ยว : ความจริงมันเป็นเรื่องที่เราเชื่อและเราชอบ ที่มามันอาจจะง่ายๆ คือเราชอบดูหนังตั้งแต่เด็กๆ ชอบอ่านหนังสือหนัง แล้ววันนึงที่อ่านหนังสือ เราก็ไปเจอว่ามันมีนักแสดงประเภท method ที่ชอบเล่นแบบลงลึกไปกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ และการทำหนังสือหัวนี้มันทำให้เราได้ทำอะไรแบบนั้นทุกเดือนเลย ไม่ว่าทำเรื่องอะไร เราก็จะจมไปกับมัน
และการได้จมไปกับอะไรบางอย่าง เหมือนเราได้ชาเลนจ์ตัวเองในทุกๆ เดือน ถ้ามองการชาเลนจ์ของเราในวัยนี้ มันไม่ใช่แค่การเปลี่ยนซับเจกต์ไปทุกเดือน แต่คือการหาวิธีเล่าแบบใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ด้วย
เวลาคนตั้งคำถามว่าเราจะทำสิ่งพิมพ์ในยุคออนไลน์ได้อย่างไร คนก็จะชอบบอกว่าสิ่งพิมพ์นั้นมีเสน่ห์ เรามาทำสิ่งนี้กันเถอะ กลับกัน เรารู้สึกว่าเสน่ห์มันไม่สามารถทำให้สิ่งพิมพ์อยู่รอดได้ สิ่งที่จะทำให้อยู่รอดได้คือความเข้าใจว่ารูปแบบที่คุณทำอยู่มันมีธรรมชาติแบบไหน แล้วคุณจะทำงานให้สอดคล้องกับธรรมชาตินั้นได้อย่างไร
ซึ่งความคิดนี้มันเป็นความคิดที่เราเอาไปจับกับทุกๆ เรื่อง เพราะ a day ตอนนี้มันอาจจะถูกมองด้วยตัวเล่มเป็นหลัก เพราะมันคือสิ่งที่เด่นที่สุดของเรา แต่เรากำลังมองไปถึงอนาคตว่าแบรนดิ้ง a day มันจะไปอยู่ในรูปแบบอื่นด้วย เช่นถ้าเรามียูทูบชาแนลจะเล่าเรื่องอะไร ถ้ามีทวิตเตอร์จะบ่นเรื่องอะไร ซึ่งตอนนี้มันก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราพยายามจำกัดความตัวเองให้ชัดขึ้นอีก
ยกตัวอย่าง เราใช้ทวิตเตอร์ a day เล่าเรื่องแบบเอ็กซ์คลูซีฟไปเลย เราอยากให้คนที่เข้ามาอ่านทวิตเตอร์ a day ได้เห็นอะไรที่ยังไม่เคยเห็นในรูปแบบอื่นของเรามาก่อน เรื่องที่มันส่วนตัวมากๆ ของทีมงาน a day จะอยู่ทวิตเตอร์เท่านั้น เราพยายามหาความหมายของแต่ละรูปแบบให้เจอว่าเราทำไปทำไม แบบนั้นน่าจะเป็นทางที่เราเชื่อในการทำสื่อยุคนี้ จนถึงตอนนี้ เราตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่า เราจะสนุกกับสิ่งที่ทำได้อย่างไรในรูปแบบต่างๆ
มันอาจจะมีเบื้องลึกเบื้องหลัง ว่าเป็นเพราะเราทำงานในวงการที่คนมองว่าอยู่ในช่วงตะวันตกดิน หรือเริ่มสร้างทีมจากความสิ้นหวังในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนั่นทำให้เรารู้สึกว่าต้องทำให้ความหวังเกิดขึ้น และการที่ความหวังจะเกิดขึ้นได้ เราก็คงต้องออกมาจากที่เดิม เดินทางไปสู่ที่ใหม่ๆ บ้าง นี่คือแนวคิดที่เราใช้ตลอดเวลา ในการทำงานที่ a day ครับ
Photos by Adidet Chaiwattanakul