ถ้าชื่อเสียงเปรียบเหมือนกระแสน้ำ ในปี 2004 วงดนตรีจากแคนาดา Arcade Fire โยนอัลบั้มแรกอย่าง Funeral ลงบนน้ำเบาๆ และมันค่อยๆ กระเพื่อมกลายเป็นคลื่นใหญ่ในวันนี้ จากวงที่ไม่มีใครรู้จัก พวกเขาเล่นคอนเสิร์ตครั้งแรกที่นิวยอร์กใน Webster Hall ที่นั่นในมุมมืด มี David Bowie ยืนดูอยู่
วันรุ่งขึ้น David Bowie เหมาอัลบั้ม Funeral ที่ Tower Records จนหมด เพื่อไปแจกให้เพื่อนฟัง แน่นอนว่าเขากลายเป็นแฟนตัวยงของวงนี้ และปีต่อมา David Bowie ชวน Arcade Fire ขึ้นไปเล่นเพลง Wake Up ด้วยกัน และส่งผลให้เพลงนี้กลายเป็นหนึ่งในเพลงชาติของอินดี้ร็อคในทศวรรษทันที
ความสำเร็จของพวกเขาไม่ได้มาเพราะความหน้าม้าเท่านั้น อัลบั้มต่อๆ มาอย่าง Neon Bible, The Suburbs, Reflektor ได้รับเสียงตอบรับจากแฟนๆ มากมาย พร้อมตำแหน่งวงดนตรีขวัญใจนักวิจารณ์จากทั่วทุกมุมโลก จนได้รับรางวัล Grammy ไปครองในอัลบั้ม The Suburbs นอกจากนี้ David Bowie ยังกลับมาร่วมงานกับวงอีกครั้งในอัลบั้ม Reflektor
ในปี 2016 การจากไปของ David Bowie กลายโศกนาฎกรรมของวงการเพลง Arcade Fire สร้างขบวนพาเหรดกับวงดนตรีแจ๊ส เพื่อทริบิวด์ให้กับ David Bowie ในเนื้อความว่า “ศิลปินที่ยิ่งใหญ่จากพวกเราไปแล้ว โลกที่พวกเราอยู่ทั้งสว่างและน่าค้นหาในเวลาเดียวกัน ก็เพราะผู้ชายคนนี้ เราจะตะโกนเพื่อสรรเสริญเขาไปเรื่อยๆ ท่ามกลางอากาศที่เขาสร้างไว้ให้เรา”
Everything Now. On Vinyl. Out Now. http://smarturl.it/EverythingNowStore
Posted by Arcade Fire on Saturday, July 29, 2017
และ Arcade Fire ก็กลับมาในปี 2017 กับอัลบั้มใหม่ที่ชื่อ Everything Now ที่ดูเหมือนว่าผลตอบรับจะพีคขึ้นกว่าเดิม โดยฝ่ายที่ชอบก็จะชอบมากๆ แต่เสียงที่แตกออกไปก็ก่นด่าว่าอัลบั้มใหม่นี้มันห่วยแตกสิ้นดี
ในอัลบั้มนี้ Arcade Fire เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นบริษัทปลอมๆ บริษัทหนึ่ง เปิดแคมเปญที่ใช้เป็นหน้าปกอัลบั้ม ด้วยป้ายขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าภูเขาสูง มีไฟ LED เป็นชื่อบริษัท และติดลำโพงไว้ พร้อมกับรันไฟ LED ที่เปลี่ยนภาษาวนไป 20 ภาษา ทำให้ตัวอัลบั้มมีปกให้เลือกเยอะถึง 20 ภาษาและมี Night Version ซึ่งเป็นลิมิเต็ดให้เลือกอีกด้วย ซึ่งป้ายขนาดยักษ์นี้มีอยู่จริง ตั้งอยู่ที่เมืองหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นผลงาน Installation Art ของ JR อาร์ติสต์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส
ตัวอาร์ตเวิร์กเอง ออกแบบโดย Ping Pong Ping สตูดิโอดีไซน์จากมอนทรีอัล โดยรูปแบบของ Night Version หน้าปกเป็นภาพตอนกลางคืน ห่อหุ้มด้วยพลาสติกแข็งพิมพ์ลาย เล่นเลเยอร์กับภาพบนปก ไวนิลเป็นสีฟ้าอมเขียว จัดว่าสวยงามมาก
ในทางดนตรี Everything Now โปรดิวซ์โดย Thomas Bangalter จาก Daft Punk และ Steve Mackey มือเบสวง Pulp บรรจุด้วย 13 แทร็ค และดูเหมือนทุกแทร็คจะถูกแปลงเป็นโปรดักต์สินค้าของบริษัท Everything Now ทั้งหมด พวกเขาแนบอาร์ตเวิร์กที่เป็นเหมือนโบชัวร์สินค้าใส่มาในไวนิลด้วย
เพลง Creature Comfort หนึ่งในเพลงที่ดีที่สุดของอัลบั้ม ตัวเพลงเป็นดิสโก้-ร็อกสนุกๆ แต่เนื้อเพลงหนักมาก พูดถึงความเจ็บปวด เต็มไปด้วยความสับสน และความรู้สึกเกลียดตัวเองในช่วงชีวิตของวัยรุ่น พวกเขาแปลง Creature Comfort ให้กลายเป็นซีเรียลอาหารเช้า และติดป้ายโฆษณา 100% fun
หรืออย่างเพลง Electric Blue เพลงที่ทริบิวด์ให้กับ David Bowie เล่นกับเนื้อหาเพลง Sound & Vision ที่ Bowie ร้องว่า “Blue, blue, electric blue, That’s the colour of my room, Where I will live, Blue, blue” ส่วนในเพลง Electric Blue เนื้อเพลง Summer’s gone and so are you, See the sky electrocute, A thousand boys that look like you, Cover my eyes electric blue พวกเขาแปลงเพลง Electric Blue ให้กลายเป็นน้ำยาหยอดตา
ไม่เพียงเท่านี้ พวกเขาสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาโดยเฉพาะชื่อ www.everythingnow.com และออกแบบให้เหมือนเป็นเว็บบริษัทห่วยๆ ในช่วงยุค 90’s – 00’s ช่วงยุคสมัยอินเตอร์เน็ตยังไม่เจริญ และเหมือนโดน Spam bot เต็มไปหมด เป็นการเล่นกับ Infinite Content หนึ่งในชื่อเพลงของอัลบั้ม
การล้อเลียนวัฒนธรรมป็อป ของพวกเขายังไม่หมดเพียงเท่านี้ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่แตกเป็นสองฝ่ายชัดเจน ทั้งแง่ลบและแง่บวก พวกเขาสร้างเว็บไซต์ปลอมชื่อ Stereoyum ขึ้นมาเพื่อวิจารณ์อัลบั้มตัวเองมันไปซะเลย ล้อกับชื่อเว็บข่าวดนตรี Stereogum ที่เคยพาดหัวข่าวโจมตีวงว่ามันเคยดีกว่านี้มาก—Remember When Arcade Fire Were Good?
ไม่เพียงแต่เสียงวิจารณ์จากนักวิจารณ์เท่านั้นที่แตกเป็นสองเสียงชัดเจน แฟนเพลงของพวกเขา ก็มีทั้งก่นด่าและชื่นชม แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นด้วยคือ มันไม่ใช่อัลบั้มที่ดีที่สุดของวงแน่นอน แต่ไม่ว่าจะยังไง พวกเขายังเป็นหนึ่งในวงดนตรีที่น่าสนใจที่สุดวงหนึ่งของยุค และพยายามสร้างสรรค์ซาวด์ที่น่าสนใจ ในแบบที่รับใช้พวกเขาเองอยู่ตลอดเวลา และไม่แน่ว่า Everything Now อาจกำลังล้อเลียนกับอะไรบางอย่างอยู่ ในแบบที่ตัววงต้องการให้มันเป็นก็เป็นได้
Text by Panlert ฟรีแลนซ์ graphic designer
ทำเพจ อินดี้สมัยใหม่ (Indie 10’s) และเป็นดีเจประจำให้ Dudesweet