นอกจากฟักทองของคุณป้าลายจุด หรือยาโยอิ คุซาม่าแล้ว งาน Bangkok Biennale ยังมีงานศิลปะเจ๋งๆ และอลังการผุดขึ้นในหลายจุดทั่วกรุงเทพ ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้า วัดวาอาราม ไปจนถึงพื้นที่ริมแม่น้ำโดยบางแห่งศิลปินได้ผสมผสานงานศิลปะและสร้างความหมายใหม่ให้เราเข้าไปสัมผัส ลองนึกภาพการเดินในวิหารพระนอนที่วัดโพธิ์ แต่เรากลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของงาน รอบๆ เจดีย์ในวัดประยุรวงศาวาส มีหัวกะโหลกเซรามิกให้เราได้ก้าวไปพร้อมๆ กับเข้าใจความหมายของความตาย
Bangkok Biennale เป็นเทศกาลทางศิลปะขนาดมหึมา เริ่มจัดแสดงแล้วและส่วนใหญ่ก็จะจัดแสดงไปอีกสี่เดือน จนถึงวันที่ 3 กุมภา ซึ่งสเกลของงานก็สมศักดิ์ศรีคำว่า Bangkok Biennale คือเป็นการจัดแสดงงานศิลปะกว่า 200 ชิ้น จากศิลปินกว่า 70 คนจากทั่วโลก ตามสถานที่สำคัญ 20 แห่งกลางกรุงเทพมหานคร
The MATTER ชวนไปดูงานที่จะเนรมิตรกรุงเทพให้กลายเป็นดินแดนแห่งศิลปะ ดูหมาหมาบูลล์เทอร์เรียยักษ์ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล เดินเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งอนาคต ลอดรังไหมขนาดมหึมา ไปจนถึงงานที่ผสานความหมายของพื้นที่ทางประวัติศาสต์เข้าสู่ประสบการณ์ใหม่ๆ ในวัดโพธิ์ที่เราเคยเห็นถูกขึงด้วยอะคริลิคสีแดง ทำให้รู้สึกถึงการเดินเข้าสู่มิติอื่นสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องจักรวาลของพื้นที่ อนึ่งศิลปินที่เลือกมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานเท่านั้น ยังมีงานเจ๋งๆ ใหญ่ๆ อีกเยอะเลย
ใครที่สนใจว่าทั้ง 20 จุดมีที่ไหนและมีอะไรบ้าง ดูได้ที่ bkkartbiennale.com
รายละเอียดศิลปินทั้ง 75 คน และจุดแสดงผลงานดูได้ที่ BAB2018GUIDEBOOK.pdf
Yayoi Kusama – Beacon 3, Central World / Fashion Gallery 3,Siam Paragon
หนึ่งในไฮไลท์ที่ใครๆ ก็รอคอย งานของคุณป้าลายจุด ยาโยอิ คุซาม่า นั้นจัดแสดงอยู่สองจุดด้วยกันคือ ที่ชั้น 3 สยามพารากอน เป็นประติมากรรมฟักทองลายจุดสองรูปที่อาจดูเล็กๆ หน่อย ส่วนอีกจุดเป็นฟักทองลายจุด 14 ลูกแขวนอยู่ที่เซ็นทรัลเวิร์ล คุณป้ายาโยอิเป็นศิลปินร่วมสมัยที่ทรงอิทธิพลต่อกระแสป๊อปอาร์ตในสหรัฐฯ ซึ่งงานลายจุดของคุณป้าปรากฏในศิลปะหลายแขนงตั้งแต่ภาพวาด ประติมากรรม และศิลปะจัดวาง
Aurèl – Mandarin Oriental Hotel
เจ้าหมาหมาบูลล์เทอร์เรีย ขนาดยักษ์เป็นผลงานของออเรล ศิลปินชาวฝรั่งเศส ‘Lostdog’ เจ้าหมาหลงน่ารักตัวใหญ่เป็นงานศิลปะที่เดินทางไปทั่วโลกเพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่ประชากรโลกกำลังเผชิญ เช่น ปัญหามลพิษ ที่ศิลปินสร้างหมายักษ์ขึ้นจากพืชที่ช่วยลดมลพิษในอากาศกว่า 1,500 ต้น ในงานนี้ศิลปินสร้างบูลด็อกปิดทองให้นั่งอยู่หน้าโอเรียนเต็ล เป็นเจ้าหมาที่กำลังหาเส้นทางไปสู่ความสุข ท่ามกลางโลกอันวุ่นวายของเรา
Canan – BAB Box, One Bangkok
ท่องไปในดินแดนของสัตว์มหัศจรรย์ เหล่าสิ่งมีชีวิตประหลาดผลงานของจานัน ศิลปินชาวตุรกี เธอเป็นศิลปินนักเคลื่อนไหวเพื่อสตรี งานของเธอมีการนำเอาความคิดเรื่องจักรวาลวิทยาของเปอร์เซียและอิสลามมาใช้ โดยเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดเหนือธรรมชาติ ซึ่งงาน Animal Kingdom นี้ จานันได้สร้างแดนสวรรค์ที่เต็มไปด้วยสัตว์ในเทพนิยายเช่นมังกร นก งู เหล่าสัตว์ที่ทั้งน่ารักและสามารถคุกคามมนุษย์ไปได้พร้อมๆ กัน
Elmgreen & Dragset- The East Asiatic Building
สระว่ายน้ำจำลองขนาดยักษ์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากคู่หูศิลปินจากเยอรมัน Elmgreen & Dragset เป็นศิลปินจากเบอร์ลินผู้ฝากงานไว้ในเทศกาลศิลปะสำคัญๆ ทั่วโลก หนึ่งในงานสร้างชื่อคือการที่พี่แกไปสร้างชอปปราดาไว้กลางทะเลทรายเท็กซัส เพื่อเสียดสีกระแสทุนนิยมและแฟชั่น ซึ่งงานในครั้งนี้พวกเขาได้จัดประติมากรรมทรงกลมในนาม ‘Zero’ เป็นขอบสระว่ายน้ำสูงแปดเมตร รูปทรงเลข 0 อันเป็นนามธรรมนี้ ศิลปินต้องการให้เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและทะเลนอร์ดิก
Tao Hui – Alliance Française Bangkok
มาดูสายหนังกันบ้าง งานของเถา ฮุย ศิลปินชาวจีน ‘The Dusk of Tehran’ เป็นหนังสั้นสวยๆ บทสนทนาในสองดินแดน ฮ่องกงและอิหร่าน ว่าด้วยการตามหาความรักและการแต่งงานอย่างอิสระของผู้หญิงจากสองโลก ทั้งฮ่องกงที่ผู้หญิงดูจะมีอิสระเสรี และดินแดนแห่งข้อกำหนดทีมีระเบียบปฏิบัติเช่นอิหร่าน ประสบการณ์ร่วมของผู้หญิงสองโลกในการตามหาความรักมีจุดร่วมกันอย่างไร ติดตามหนังสั้นนี้ได้ที่สมาคมฝรั่งเศส
Jitsing Somboon- Wat Pho
จิตต์สิงห์ สมบุญ เคยเป็น Head of Design ของ Playhound แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของไทย งานศิลปะของ จิตต์สิงห์ เป็นการผสมผสานงานออกแบบเสื้อผ้าเข้ากับตัวงาน ครั้งนี้จิตต์สิงห์ชวนเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงาน เมื่อเราเข้าไปยังวิหารพระนอนในวัดโพธิ์กับ ‘Paths of Faith’ คอลเล็กชั่นเสื้อคลุมสีขาวปักคำว่าศรัทธาสามภาษา ให้นักท่องเที่ยวได้ใส่และเดินรอบพระนอนใหญ่ ประสบการณ์ในวิหารจะต่างออกไปแค่ไหน เมื่อเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะการแสดงสดที่มีเสียงเหรียญกระทบก้นบาตรและเสื้อแห่งศรัทธามาประกอบ
Eisa Jocson – O.P. Place (F. 3)
Becoming White งานศิลปะผสมผสานจากศิลปินชาวฟิลิปินส์ ตัวงานพูดถึงแรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์ที่เข้าไปทำงานในฮ่องกงดิสนีย์แลนด์ การแสดงออกถึงความสุขถือเป็นหน้าที่หนึ่งที่แรงงานเหล่านี้ต้องทำเพื่อให้ความบันเทิงกับนักท่องเที่ยว รอยยิ้มขมๆ ปนกับการทำงานรับใช้ของเจ้าหญิงสโนไวท์จึงเป็นงานที่ชวนให้เราขบคิดถึงผู้คน ชนชาติที่เราอาจมองไม่เห็นตัวในพื้นที่เหนือจินตนาการนั้น งานนี้จัดแสดงที่ตึก O.P. Place ในตึกยังมีงานของศิลปินอีกหลายท่านจัดแสดงพร้อมกันด้วย
Krit Ngamsom – Khao Mor, Wat Prayoon
เขามอเป็นเหมือนสวนและน้ำตกเล็กๆ ใช้ประดับภายในสถานที่ งานของกฤช งามสม เป็นประติมากรรมเต่าที่แบกสิ่งต่างๆ ไว้บนหลัง ซึ่งสิ่งที่เต่าแบกอยู่สะท้อนถึงความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมอันหลากหลายที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวในบริเวณพื้นที่คลองสาน
Lee Bul – The East Asiatic Building
อี บุล ศิลปินชาวเกาหลี ได้พาเราไปยังดินแดนสีเงินล้ำสมัยท่ามกลางสถาปัตยกรรมเวนิส Diluvium เป็นศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ ออกแบบให้ผู้ชมหลุดเข้าไปในเขาวงกตที่หุ้มด้วยเทปสีเงินทั้งหมด ในพื้นที่เราจะถูกท้าทายเรื่องแรงแรงโน้มถ่วงและการรักษาสมดุล ซึ่ง อี บุล เป็นศิลปินที่ใช้ตำนาน เรื่องเล่าและการสร้างเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบและสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับมนุษย์
Yoshitomo Nara – BAB Box, One Bangkok/Nai Lert Park Heritage Home
งานของโยชิโตโมะ ชวนให้เรานึกถึงงานเทพนิยายร่วมสมัยของญี่ปุ่น เป็นงานที่พาเราไปยังความฝันวัยเด็กที่น่ารัก สวยงาม แต่งานที่ดูน่ารักนี้กลับมาจากประสบการณ์การเติบโตอย่างโดดเดี่ยวในวัยเด็ก งานของโยชิโตโมะมีสองชิ้นใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ Your Dog งานที่คล้ายกับเจ้าหมาที่เคยถูกจัดแสดงที่ป่าตองหลังเหตุการณ์สึนามิก็ถูกนำมาจัดแสดงที่ One Bangkok ส่วนผลงาน Miss Forest ประติมากรรมสำริดว่าด้วยความเชื่อเรื่องต้นไม้และนางไม้ในแถบภูมิภาคนี้ถูกจัดแสดงที่ Nai Lert Park Heritage Home
Nino Sarabutra ,Wat Prayoon
‘ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย คุณจะทิ้งความดีอะไรไว้บนโลกนี้’ งาน What Will You Leave Behind ของ นีโน่ สาระบุตร เป็นงานที่เราตั้งคำถามกับตัวเอง และยิ่งพีคเมื่อหัวกะโหลกจิ๋วทั้งหนึ่งแสนสองหมื่นชิ้นถูกโปรยไว้บนทางเดินรอบเจดีในวัดประยูร ชวนให้เราขบคิดถึงสัจธรรม ความตาย ไปพร้อมๆ กับการเดินอยู่ในดินแดนของพระพุทธองค์
Numen For Use Design Collective -BACC (F. 7)
งานของ Numen For Use Design Collective กลุ่มนักออกแบบหลายแขนงจากประเทศโครเอเชีย ที่ขึ้นชื่อเรื่องการทดลองกับพื้นที่ขนาดใหญ่และดึงผู้ชมเข้าไปในงานแนวทดลองที่ถูกออกแบบขึ้นจากสิ่งเล็กๆ โดยที่กรุงเทพกลุ่มนูเม็นสร้างรังไหมขนาดยักษ์จากเทปกาว ผู้ชมจะถูกนำเข้าไปในรังไหมอันแปลกประหลาด เป็นแสง เสียง สัมผัส และกลิ่นที่ทำให้เราได้เดินทางเพื่อค้นหาตัวตนและการเกิดใหม่ในรังไหมประหลาดนี้
Sanitas Pradittasnee -Khao Mor, Wat Arun/The EmQuartier
งานของสนิทัศน์เป็นการผสานงานออกแบบภูมิสถาปัตย์ ที่สร้างสเปซขึ้นมาเพื่อสร้างประสบการณ์และความใหม่ งานของเธอให้ความสำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่างวัฒนธรรมเก่าแก่และลักษณะร่วมสมัย ในงาน From the World Inside/Across the Universe เป็นศิลปะจัดแสดงที่เล่นกับการมองเห็นและแสง ได้เปลี่ยนพื้นที่บริเวณเขามอ วัดอรุณให้กลายเป็นการเข้าสู่มิติอีกมิติหนึ่ง ให้ผู้ชมได้กลับไปเพ่งอยู่กับตัวเอง เข้าใจความเปลี่ยนแปลง ความไม่จีรัง และการที่เราเป็นเพียงอนุภาคเล็กๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่