คุณเชื่อเรื่องพรหมลิขิตไหม
ส่วนตัวเราเชื่อ และเชื่อมากๆ เสียด้วย เมื่อพรหมลิขิตนั้นก้าวพ้นขอบเขตของความรักใคร่ไปสู่ดินแดนอื่นๆ เช่นว่า หนังสือที่ได้อ่านในช่วงชีวิตที่เหมาะเจาะ หรือบทเพลงในวิทยุที่บังเอิญเข้ากับอารมณ์นาทีนั้น
พรหมลิขิตทำนองนี้ผ่านเข้ามาแล้วจะติดอยู่ในใจเราไปตลอด ดั่งครั้งหนึ่งที่เราได้สบตากับ Greta Gerwig ผู้สวมบทบาทของ Frances Ha ในภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน ตอนนั้นตัวเราในวัยยี่สิบกว่าๆ กำลังว้าวุ่นกลุ้มใจด้วยคำถามคลาสสิกของวัยรุ่นทุกคน เราคือใคร เราอยากเป็นใคร เรากำลังทำอะไร เราจะทำอะไรต่อไป ไหนจะเรื่องความรักและความสัมพันธ์ที่แทบจะเปลี่ยนไปนาทีต่อนาที
ฟรานเชส ฮาไม่ได้ช่วยเราตอบคำถามสักข้อ แต่เธอช่วยให้เราเลิกว้าวุ่นไปเลย เพราะหญิงสาววัย 27 ปีอย่างเธอก็ยังไม่รู้เหนือรู้ใต้พอๆ กับเรา—งานการยังไม่ใช่อย่างที่ฝัน ความสัมพันธ์ชำรุดทรุดโทรม ไหนจะเรื่องการเงินที่ช็อตแล้วช็อตอีก
อะไรแบบนี้แหละที่เราเชื่อว่าเป็นพรหมลิขิต และบุคคลที่อยู่เบื้องหลังพรหมลิขิตนั้นก็คือนักแสดงนำผู้ควบตำแหน่งคนเขียนบท—เกรต้า เจอร์วิก
เกรต้าเป็นนักแสดงผู้เติบโตจากภาพยนตร์อินดี้สาย mumblecore (ทุนต่ำ) เช่น Hannah Takes the Stairs (2007) และ Damsels in Distress (2011) หลังจากได้ทำงานร่วมกับ Noah Baumbach ผู้กำกับซึ่งภายหลังพัฒนาเป็นคนรัก ในเรื่อง Greenberg (2010) เธอจึงเริ่มเบนเข็มมาสู่การเขียนบท โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่เธอเขียน (ร่วมกับโนอาห์) ก็คือ Frances Ha (2013) นั่นเอง แล้วไม่กี่ปีหลังจากนั้นทั้งคู่ก็เขียนบทร่วมกันอีกหนึ่งเรื่องชื่อว่า Mistress America (2015)
แม้จะไม่ใช่ผลงานโซโล่ของเกรต้าเสียทีเดียว แต่ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องก็มีลายเซ็นของเธออย่างชัดแจ้ง ด้วยบทพูดอันเป็นธรรมชาติ ชาญฉลาด ทั้งยังตลกในคราวเดียวกัน แถมด้วยการแสดงสุดเรียลลิสติกของเธอในบทของสาวนิวยอร์กคาแรคเตอร์จัด ที่เชื่อมโยงกับหญิงสาวทั่วโลกได้อย่างน่ามหัศจรรย์ (หลายครั้งที่เกรต้าเดินๆ อยู่แล้วมีหญิงสาวเข้ามาทักว่า ‘OMG ตัวละครตัวนั้นเหมือนฉันเด๊ะเลย’)
คงไม่ต้องบอกก็น่าจะเดาได้ว่าตัวละครจากปลายปากกาของเกรต้าห่างไกลจากคำว่าเพอร์เฟกต์มาก พวกเธอไม่ใช่นางเอกตามขนบที่สวย รวย เก่ง จัดระเบียบชีวิตได้ หรือมีเส้นทางชีวิตชัดเจน แต่ทั้งฟรานเชส (Frances Ha) และบรูค คาร์ดานิส (Mistress America) มีข้อบกพร่องมากมาย (ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว) ใช้ชีวิตแทบจะวันต่อวัน และต้องเรียนรู้ที่จะอิมโพรไวส์ไปตามจังหวะชีวิต
ในวงการภาพยนตร์ทุกวันนี้ นานๆ ทีจะมี chick flick ว่าด้วยผู้หญิงที่เขียนจากมุมมองของผู้หญิง ปราศจาก male gaze (มุมมองแทนสายตาของเพศชายที่จ้องมองไปเพศหญิง) ไร้ตอนจบแสนสุขเหมือนในเทพนิยาย และยิ่งไปกว่านั้น—ไม่โฟกัสที่เรื่องราวโรมานซ์ของตัวเอก
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไป ใช่ว่าฟรานเชสหรือบรูคจะไม่สนใจเรื่องรักๆ ใคร่ๆ พวกเธอต่างก็ออกไปเดต (แม้ฟรานเชสจะถูกเรียกว่า ‘undatable’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า) แต่ตัวละครทั้งสองของเกรต้าไม่ได้มองมันเป็นแก่นหลักในชีวิตของตน เพราะท่ามกลางโลกที่เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง หญิงสาวยุคใหม่ต้องตามล่าคว้าฝันที่ไม่รู้จะเป็นจริงได้ไหม พร้อมกับตั้งใจทำงานหาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง บริหารความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ทั้งครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน และทำทั้งหมดนี้โดยไม่เสียสติไปเสียก่อน
นักวิจารณ์หลายคนยกย่องให้เกรต้าเป็นเฟมินิสต์นักเล่าเรื่อง เป็นต้นว่า Leigh Kolb จาก btchflicks.com ผู้บอกว่า หนังของเกรต้านั้นดีต่อใจของเหล่าเฟมินิสต์มากๆ เพราะตัวเอกของเรื่องเป็นผู้หญิงที่ทั้ง ‘มีจุดบกพร่องและเยี่ยมยอดในคราวเดียวกัน’
นอกจากนี้ เรื่องราวว่าด้วยประสบการณ์ร่วมของผู้หญิงยังสะท้อนแนวคิด The Personal is Political (เรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องการเมือง) ของ Second Wave Feminism ที่ว่า เรื่องราวซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ในครอบครัว ในชีวิตประจำวัน เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจของหญิงชาย ไม่น้อยไปกว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นพื้นที่สาธารณะ
แม้แนวทางของ New Wave Feminism จะเน้นที่ the personal มากกว่า political พาลให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าด้อยค่ากว่าเฟมินิสต์คลื่นลูกก่อนๆ ที่เรียกร้องประเด็นหนักหน่วง เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง การได้รับค่าแรงเท่าเทียมกับเพศชาย ฯลฯ แต่แนวทางนี้ก็แพร่หลายอย่างมากในยุคปัจจุบัน อีกทั้งปรากฏให้เห็นในสื่อและศิลปะแขนงต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง นอกจากภาพยนตร์ของเกรต้าแล้ว ซีรีส์ Girls (2012-2017) ของ Lena Dunham ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง
ทั้งนี้ทั้งนั้น เกรต้าแจกแจงว่าแนวคิดสตรีนิยมที่สะท้อนในภาพยนตร์ของเธอนั้นเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่าตั้งใจ แต่ก็เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเพิ่มจำนวนของคนเขียนบทและผู้กำกับเพศหญิง “พอมีผู้หญิงเขียนบทมากขึ้น คุณก็จะได้เห็นประสบการณ์ของตัวละครที่หลากหลายขึ้นโดยปริยาย เพราะปกติพวกเธอก็มองโลกด้วยมุมมองเช่นนั้นอยู่แล้ว” หญิงสาวอธิบาย
แม้จะฟังดู passive มากกว่า aggressive แบบที่เฟมินิสต์ส่วนใหญ่ถูกตีตรา แต่เกรต้าก็เก็บซ่อนความเฟียร์ซอยู่ในตัวไม่น้อย ครั้งหนึ่งนักข่าวถามเธอว่า รู้สึกอย่างไรที่ถูกเรียกว่า muse (ผู้เป็นแรงบันดาลใจ) ของ Noah Baumbach คำตอบของเธอตบหน้านักข่าวคนนั้นฉาดใหญ่
“ฉันโอเคที่ถูกเรียกว่า muse ตราบใดที่คุณไม่ลืมว่า muse คนนี้เป็นคนเขียนบทด้วย ดูเหมือนว่าเราจะอยู่ในยุคที่ผู้หญิงไม่ค่อยได้รับบทบาทดีๆ ในหนังเนอะ”
และในอีกบทสัมภาษณ์หนึ่ง นักแสดงและนักเขียนบทสาวบอกว่า โนอาห์เป็นคนสำคัญในชีวิตของเธออย่างปฏิเสธไม่ได้ เขาช่วยให้เธอค้นพบเสียงของตัวเอง และทั้งคู่ก็ได้ร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานออกมาหลายชิ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะทำงานโดยปราศจากเขาไม่ได้
“ฉันไม่อยากจะพูดอะไรที่ฟังดูน่ารำคาญหรอกนะ แต่ต่อให้ไม่มีโนอาห์ ฉันก็จะผลิตผลงานออกมาอยู่วันยังค่ำ ฉันจะหาประตูบานอื่น แล้วผลักมันเปิดออก” เกรต้ากล่าว “ฟังดูหยิ่ง แต่มันเป็นเรื่องจริง”
ผลงานล่าสุดของเกรต้าอย่าง Lady Bird (2017) ฉายแสงเจิดจ้าไร้เงาของคนรักอย่างโนอาห์มาบดบัง เพราะเธอทั้งเขียนบทและกำกับด้วยตัวเอง โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ Saoirse Ronan มารับบทเป็น Lady Bird เด็กสาวชั้นม.6 กับชีวิตสุดว้าวุ่นที่ทุกอย่าง—ความรัก การเรียน ความสัมพันธ์พ่อแม่—อีรุงตุงนังกันไปหมด
ฟังเรื่องย่อแค่นี้อาจดูน่าเบื่อและคลิเช่ แต่เมื่อพล็อตเรื่องแบบนี้มาอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญด้านประสบการณ์ของผู้หญิงอย่างเกรต้า เราก็เชื่อว่ามันจะเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่น่าจดจำไม่แพ้ผลงานที่ผ่านมาของเธอ
อ้างอิง
Radnor, Hilary. The New Woman’s Film: Femme-centric Movies for Smart Chicks. 1st ed., Routledge, 2017.