ช่วงสายของวันหนึ่ง ณ ร้านกาแฟไม่ใกล้ไม่ไกลจากไชน่าทาวน์เมืองไทย เราเดินทางไปพูดคุยกับหญิงสาวเจ้าของผลงานกลิ่นอายโอเรียนทัล ที่เพิ่งไปปรากฏตัวอยู่บนออฟฟิเชียลเว็บไซต์ของแฟชั่นเฮาส์ระดับโลกอย่าง Gucci
ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล อิลลัสเตรเตอร์และอดีต Creative Director แห่ง Kloset คือหญิงสาวคนนั้น วันที่พบกัน เธอใจดีหอบหิ้วชิ้นงานออริจินัลมาให้เราเชยชมด้วยสองตาตัวเอง
วันนี้เธอยังพาอีกหนึ่งเพื่อนร่วมงานคนสำคัญอย่าง ออสซี่-อรช โชลิตกุล ศิลปินอิสระและเพื่อนสนิทจากรั้วศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร้อยเรียงถ้อยคำออกมาเป็นเรื่องราวสุดมหัศจรรย์ของ The Wonder Factory หนังสือนิทานฉบับ (เวรี่) ลิมิเต็ดเอดิชันที่ Gucci ตีพิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสเปิดตัวเครื่องประดับคอลเล็กชั่นใหม่ Le Marché des Merveilles ซึ่งเต็มไปด้วยโมทีฟสิงสาราสัตว์นานาชนิด
และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราขอชวนเชิญคุณผู้อ่านเข้าไปเที่ยวชมโรงงานจิวเวลรีสุดมหัศจรรย์นี้พร้อมๆ กัน
LifeMATTERs : มาร่วมงานกับ Gucci ได้อย่างไง
ยูน : ถ้าจำไม่ผิดตั้งแต่ปี 2016 ที่เราเร่ิมโพสต์รูปที่วาดเล่นลงอินสตาแกรม แล้วตอนนั้น Gucci เปลี่ยน Creative Director คนใหม่ชื่อว่า Alessandro Michele มู้ดงานใหม่มันออกแนวโรแมนติก เราชอบมาก เห็นแล้วรู้สึกอยากวาด ซึ่งปกติเราวาด Fashion Illustration อยู่แล้ว ก็ลองวาดแล้วติดแฮชแท็กของเขาไป ทาง Gucci เห็นก็ทักมา เลยแลกคอนแทคกัน
จนช่วงต้นปีที่แล้วก็ได้ร่วมงานในโปรเจกต์ #GucciTian เป็นโปรเจกต์ที่เขาชวนศิลปินจากฝั่งเอเชียมาสร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับลายผ้าลายใหม่ เขาก็เปิดโอกาสให้เราวาดตามสไตล์ของตัวเองเต็มที่ เราก็วาดเป็นพอร์ทเทรตรูปสัตว์ใส่ชุดของ Gucci ก็งานนั้นเป็นงานแรก แล้วก็ต่อมาเรื่อยๆ จนถึงงานชิ้นล่าสุด
LifeMATTERs : สำหรับงานชิ้นนี้ Gucci ให้ทำอะไร
ยูน : ประมาณปลายปีที่แล้วเขาติดต่อมาให้ทำนิทานหนึ่งเรื่อง คือเขาจะร่วมงานกับศิลปินจากทั่วโลกประมาณ 6 คน มาทำนิทานหลายๆ เรื่อง แต่พอเราทำแล้วส่งไปให้เขาดู เขาบอกว่าของคุณมันดีมากเลย เลยจะทำหนังสือรวมของพวกเราอย่างเดียว ตอนนั้นตื่นเต้น ขนลุกมาก กรี๊ดเลย แต่ต้องทำเพิ่มอีกสองเรื่องภายในเวลาจำกัดมากๆ แค่ 2-3 เดือนเอง เรื่องแรกใช้เวลาประมาณ 2 เดือนพวกเราก็ว่าเร็วแล้ว เพราะมันต้องแต่งเรื่องด้วย เขียนภาพด้วย พอต้องทำเรื่องสองเรื่องสามในเวลานิดเดียว พวกเราก็ยิ่งกรี๊ด
LifeMATTERs : ตอนแรกเขาให้โจทย์อะไรมา
ออสซี่ : เขาไม่ได้ให้โจทย์ บอกแค่ว่าเป็นแฟรี่เทล แล้วก็ให้เราแสดงตัวตนให้เต็มที่ เราก็เลยมาคุยกันว่าจะเล่าเรื่องอะไรดี โดยเรื่องนั้นต้องเข้ากับสไตล์การวาดรูปของยูน ต้องพรีเซนต์ความเป็นยูนออกมาให้ได้
ยูน : เราเริ่มต้นด้วยคีย์เวิร์ด The Wonder Factory เพราะเขาทำเพื่อโปรโมตจิวเวลรีคอลเล็กชั่นใหม่ของเขา องค์ประกอบในเรื่องก็จะหยิบยกมาจากเครื่องประดับจริงๆ ของเขา
ออสซี่ : มันคือคอลเล็กชั่นชื่อ Le Marché des Merveilles เป็นภาษาฝรั่งเศส เราก็ไม่แน่ใจว่าแปลว่าอะไร กูเกิ้ลมาได้ว่า The Wonder Market แต่ด้วยธีมมันเป็นจิวเวลรี เราเลยคิดว่าเป็น The Wonder Factory ดีกว่า เลยเป็นเรื่องราวของสิงสาราสัตว์และโรงงานทำจิวเวลรี ซึ่งงานของยูนเป็นสไตล์โอเรียนทัลอยู่แล้ว เราก็เลยพยายามโยงความเป็นไทยเข้าไปด้วย เริ่มจากชื่อสัตว์ก่อนเลย ทุกตัวจะเป็นชื่อไทยๆ อย่างชื่อแรกที่คิดได้ก็คือเสือดำศิราณีในเรื่อง To Our Beloved Siranee, From The Wonder Factory
ยูน : พอได้คอนเซ็ปต์ The Wonder Factory มาแล้ว เราก็คิดว่าอยากใส่อะไรลงไปด้วย ไม่อยากให้เป็นแค่แฟรี่เทลเฉยๆ ยกตัวอย่างเรื่องความรักก็จะพูดถึง LGBT พูดถึงความหลากหลายทางเพศ และสัตว์ของเราเป็น unisex ทั้งหมด ตัวที่เป็นผู้ชายบางทีก็ใส่กระโปรง แต่งหญิง
LifeMATTERs : เล่าเส้นเรื่องให้ฟังหน่อยได้ไหม
ยูน : อย่างเรื่องแรก To Our Beloved Siranee, From The Wonder Factory เป็นเรื่องของปลาโลมาที่ขอพรพระเจ้าให้รูปปั้นเสือดำหน้าโรงงานมีชีวิต มันเป็นความรักข้ามสายพันธุ์ โดยที่เพื่อนๆ ทุกคนก็ไม่ได้ตั้งข้อสังเกตว่ารักกันได้อย่างไร แต่ทุกคนพร้อมจะช่วย พร้อมจะเข้าใจ ไก่ขึ้นไปจิกสะเก็ดดาว เสือพยายามไปเก็บดอกไม้แต่ได้น้ำตาดอกไม้มาแทน ผีเสื้อไปเก็บน้ำหวาน แล้วพอวันพระจันทร์เต็มดวงก็เอาของไปเซ่นไหว้เทพเจ้าซึ่งเอาของไหว้มาใส่ปาก แล้วก็เคี้ยวคายออกมาเป็นหัวใจ แล้วเอาหัวใจก็ไปใส่ในรูปปั้นให้มีชีวิตขึ้นมา
ออสซี่ : เรื่องที่สอง The Very Big New Friend เป็นเรื่องช้างชื่อเอราวัณ เธอเป็นแฟนคลับของโรงงานเพราะรู้ว่าทำจิวเวลรีสวย ก็เลยเดินทางมาขอทำงานด้วย แต่ตัวใหญ่กว่าโรงงาน เข้าโรงงานไม่ได้ มือก็ใหญ่ แรงเยอะ ทำงานไม่ได้อีก
ยูน : เราตั้งใจพูดถึงคนที่รูปร่างใหญ่ไม่เหมือนคนอื่น แต่เขาก็มีข้อดีของตัวเองไม่ต่างจากคนอื่น แค่ต้องหาข้อดีนั้นให้เจอ คนข้างๆ ก็ต้องให้กำลังใจ อย่างในเรื่องก็จะมีลิงตัวหนึ่งไปให้กำลังใจนาง
ออสซี่ : ตอนจบช้างก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของโรงงาน โดยเป็นผู้ควบคุมอากาศให้ คือสามารถยืนบังแดดให้โรงงาน หรือไม่ก็สร้างสายรุ้ง สร้างฝนให้โรงงาน
พอเรื่องแรกเกี่ยวกับสัตว์ที่ทำงานในโรงงานแล้ว เรื่องที่สองก็เป็นเรื่องของอินเทิร์น เรื่องที่สามเราเลยอยากพูดถึงลูกค้า A Present From The Sky เป็นเรื่องของลูกแมวที่เล่นอยู่ในบ้าน แล้วมีห่ออะไรไม่รู้ตกลงมาจากฟ้า มันเป็นแมวเพ้อๆ หน่อย คิดว่าเพื่อนในจินตนาการส่งของขวัญมาให้แน่เลย แต่ความจริงแล้วเป็นนกกระเรียนที่เพิ่งทำงานส่งของครั้งแรก แล้วส่งพลาด นกกระเรียนก็มาตามเอาของคืน แมวก็ผิดหวังว่า อ้าว ไม่มีเพื่อนในจินตนาการอยู่จริง แต่ตอนเย็นพ่อแม่กลับมาบ้านก็หยิบห่อของขวัญขึ้นมาให้ ซึ่งเป็นห่อเดียวกัน
ยูน : เรื่องนี้จะแฝงความลึกลงมาอีก จะเห็นว่าแมวใส่หน้ากาก คือเราคิดถึงตัวเองที่ขี้อาย แต่วันหนึ่งพอเราได้อะไรที่พิเศษ เราก็พร้อมจะเปลี่ยนให้มีความสุขขึ้น เหมือนแมวที่ใส่หน้ากากมาตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่พอได้ของขวัญ ก็ถอดหน้ากากออก ยอมเปิดใจ เป็นตัวเองอย่างเต็มที่
LifeMATTERs : เหมือนธีมร่วมของทุกเรื่องคือการยอมรับ
ยูน : ใช่ มันคือการยอมรับ มีทั้งยอมรับในความแตกต่างของคนอื่น ยอมรับตัวเอง ยอมรับทางด้านจิตใจและกายภาพ
LifeMATTERs : ความสนุกของการได้ทำงานร่วมกับเพื่อนคืออะไร
ออสซี่ : ข้อดีของมันคือเราช่วยกันคิดเรื่องและรูปด้วย ช่วยกันเลือกฉากที่จะหยิบมาเล่า แทนที่ออสซี่จะเขียนเรื่องนี้แล้วให้ยูนไปวาด เรามาคุยกัน จูนกัน ขอเพิ่มกันได้ บางทียูนบอกว่าฉันอยากวาดแบบนี้ ทำอย่างไรได้บ้าง ก็พยายามตบเรื่องให้ไปตามแนวทางที่ยูนอยากวาด
ยูน : อย่างตอนแรกจะให้แมวเป็นเจ้าหญิง แต่ตอนหลังก็เปลี่ยนเป็นแมวที่เล่นกับเพื่อนในจินตนาการที่มาจากอวกาศ เราก็คุยกันตอนทำงานตลอด ทำให้เรื่องมันยิ่งดีขึ้นไปอีก
ออสซี่ : ตอนเขียนภาษาอังกฤษต้องใช้ He She แทนตัวสัตว์ด้วย บางทียูนบอกไอ้ตัวที่ฉันวาดเป็นผู้ชายนะ แต่ก็ช่างมันเถอะ ให้เป็น unisex ดีกว่า ให้มันแต่งตัวเป็นผู้หญิงบ้าง เราคุยกันตลอดว่าใครอยากได้แบบไหน เป็นงานร่วมกันจริงๆ เลย แต่เน้นที่งานภาพของยูน
LifeMATTERs : ตอนวาดยูนใช้เทคนิคอะไร
ยูน : เป็นสีโคปิก ส่วนใหญ่งานยูนจะไม่ใช้คอมมากเท่าไหร่ เราพยายามใช้มือให้มากที่สุด
LifeMATTERs : ชิ้นหนึ่งใช้เวลาวาดนานไหม
ยูน : ความจริงคือนาน แต่ช่วงนั้นก็ต้องยอมไม่นอน ต้องวาดให้ได้วันละ 1 รูปถึงจะทำตามไทม์ไลน์เขาได้ ตั้งเอาไว้เลยว่าตื่นแปดโมงเช้าแล้วทำถึงเที่ยงคืน ต้องจบภายในหนึ่งวันให้ได้ เพราะไม่งั้นจะไม่ทันเลย
LifeMATTERs : กลิ่นอายความเป็นแฟนตาซีในงานของยูนมาจากไหน
ยูน : มาทุกตอนของชีวิต คุณพ่อเนี่ยแหละเป็นคนที่ทำให้มาทุกตอน เขาชอบปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ แล้วเขาชอบสร้างเรื่อง อย่างเรื่องนกหงส์หยกชอบส่องกระจก พ่อก็บอกว่า ‘มันส่องกระจกเพราะว่าจะไปจีบแฟนนะ’ หรือเห็นไก่สู้กับตะขาบก็จะเล่าเป็นการประลองวรยุทธ์จากหนังจีน ฝนตกน้ำท่วมก็พับเรือออกไปโยนเรือเล่นกัน ถ้าทำสมัยนี้คงโดนด่า แต่ตอนเด็กสนุกมาก
ส่วนที่ได้จากคุณแม่คือเรื่องเสื้อผ้า ที่บ้านทำเสื้อผ้ากัน ตอนเด็กๆ เราไม่มีตุ๊กตาเยอะ แม่ก็พับผ้า แล้วก็ม้วนๆ ก็จะได้ตุ๊กตาหน้าเหมือนตุ๊กตาฟาง ถึงจะน่ากลัว แต่เราก็รู้สึกว่ามันน่ารักดี พอโตขึ้นมาหน่อย เข้าโรงเรียน เราชอบเลือกอ่านวรรณกรรมเยาวชน โตขึ้นมาอีกก็เล่นเกมการ์ด คือความเป็นแฟนตาซี ความเหนือจริงจะอยู่ในทุกช่วงของชีวิต
LifeMATTERs : แล้วทำไมถึงชอบวาดสไตล์โอเรียนทัล
ยูน : ด้วยเชื้อสายจีนของเรา เราก็จะเข้าวัดจีนแต่เด็ก แล้วการตกแต่งที่บ้านก็จีนๆ มีรูปปั้นเซรามิกมาวาง เราเห็นก็ชอบ แต่ตอนเด็กๆ เราซื้อไม่ได้ก็วาดเอา ตอนที่วาดนิทานให้ Gucci ก็ใส่เอเลเมนต์จีนๆ เข้าไปเหมือนกันอย่างเช่น ตอนตามหาของมาเซ่นไหว้เทพเจ้า
LifeMATTERs : สังเกตว่ายูนชอบวาดสัตว์ มีสัตว์ที่ชอบวาดเป็นพิเศษไหม
ยูน : ตอนนี้ชอบวาดเสือ จระเข้ แล้วก็นกกระเรียน เป็นสามตัวที่วาดบ่อย ชอบวาด เราคิดว่าเสือกับจระเข้มันเป็นสัตว์ที่ดูแข็งๆ แต่สัตว์ที่เราวาดมันจะมีจริตจะก้านอะไรบางอย่าง มีท่าทาง อินเนอร์แรง จระเข้ของเราจะไม่ใช่ตัวแข็งๆ แต่จะมีความแซ่บ หางสะบัด เสือก็เหมือนกัน จะไม่ทำหน้าดุ แต่ชอบทำหน้าตลก หน้าไม่มั่นใจบ้าง สัตว์ของเราจะมีความตลกเหมือนคนอยู่ในนั้น
LifeMATTERs : ตอนวาดนิทาน Gucci กำหนดสัตว์ให้หรือคุณเลือกเอง
ยูน : ตอนนั้น Gucci ขอแค่เสือดำกับปลาโลมา นอกนั้นอิสระ เราเลยใส่ช้างเข้าไปเพื่อความเป็นไทย ข้อดีของ Gucci คือเขาไม่ตัดสินงานของเรา มันแทบจะไม่ได้แก้เลยด้วยซ้ำ ไม่ได้เปลี่ยนเส้น มีแค่เท็กซ์ที่เขาอีดีตรอบสุดท้ายให้
ออสซี่ : เขาให้อิสระกับศิลปินมาก เหมือนเลือกมาแล้วก็เชื่อใจ
LifeMATTERs : ในอนาคตจะมีผลงานร่วมกันอีกไหม
ออสซี่ : เพิ่งคุยกันเลยว่าอยากทำโปรเจกต์หนังสือภาพด้วยกัน เรารู้สึกว่าตอนทำ Gucci สนุกดี ถ้าได้ทำกันเองน่าจะสนุกกว่านี้อีก บ้าคลั่งกว่านี้ อิสระ ทำอะไรก็ได้ แล้วไปเสนอสำนักพิมพ์กันเอง
Photos by Adidet Chaiwattanakul
ติดตามความเคลื่อนไหวของยูนได้ที่ @phannapast และออสซี่ที่ Ossy Aracha Cholitgul