ถ้าพูดถึงเพลงอินดี้ โดยส่วนตัวแล้ว เรามักนึกถึง อิ๊ก—มนต์ทิพา วิโรจน์พันธุ์ เป็นคนแรกๆ
เปล่า, เธอไม่ใช่นักร้อง นักดนตรี (แม้จะมีวงที่ทำๆ หยุดๆ กับเพื่อนก็เถอะ) แต่การเป็นบ.ก.ของ Fungjai Zine แม็กกาซีนออนไลน์ของฟังใจที่เล่าเรื่องใดใดในแวดวงดนตรีอินดี้ ก็มากพอที่จะทำให้เราเชื่อมโยงเธอกับเพลงนอกกระแสได้ไม่ยาก
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด เอาเข้าจริง ตลอดเวลาที่รู้จักกัน เราเห็นเธอแชร์เพลงอินดี้และชนิดอื่นๆ อีกหลากหลาย ไปปรากฏตัวอยู่ในแทบทุกคอนเสิร์ตอินดี้ไทย จนหลังๆ ก็เริ่มขยายไปสู่เทศกาลดนตรีระดับโลก และทุกครั้งก็ตามมาด้วยรีวิวแบบลงลึกถึงดีเทลเพลงและวงดนตรีชนิดหาตัวจับยาก รวมถึงบทสัมภาษณ์คนดนตรีไม่จำกัดพรมแดน ที่เธอเขียนลงใน Fungjai Zine อยู่เป็นประจำ
แพชชั่นที่มีให้กับดนตรีในระดับที่เรียกว่าเนิร์ด ถูกบรรจุอยู่ในงานทุกชิ้นของอิ๊ก แถมยังตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรื่องเพลงแบบเฉพาะกลุ่มราวกับไม่สนผลตอบรับใดๆ (ซึ่งบางครั้งก็ปังมากๆ เสียอย่างนั้น) จนเราอยากชวนเธอมานั่งคุยกันยาวๆ เกี่ยวกับต่างต่างทางดนตรี และความคิดเห็นเผ็ดๆ ที่อยากให้ซีนดนตรีเมืองไทยสนุกขึ้น ซึ่งอาชีพของเธอเอง ก็น่าจะมีส่วนผลักดันสิ่งที่เธออยากเห็นให้เกิดขึ้นจริงได้มากทีเดียว
Life MATTERs : จากนักเขียนฟรีแลนซ์ของฟังใจซีน คุณก้าวเข้ามารับตำแหน่งบ.ก.ได้อย่างไร
อิ๊ก : เราเข้ามาเป็น บ.ก.ประมาณเล่ม Rasmee คือตอนนั้นมันมี department ใหม่เปิดขึ้นมาซึ่งคือ MALAMA Collective เป็นเหมือนสหกรณ์ดนตรีให้กองทุนศิลปินสำหรับสร้างสรรค์เพลงแล้วก็ช่วยโปรโมตจนเขาสามารถลุยต่อเองได้ แล้วพี่กันต์ (กันดิศ ป้านทอง) ที่เป็นบ.ก. Fungjaizine คนแรกเขาต้องย้ายไปอยู่ตรงนั้นเพราะเขารู้จักกับศิลปินเยอะ คลุกคลีกับคอมมิวนิตี้นี้ประมาณนึงอยู่แล้ว
คือจริง ๆ เรารู้ก่อนที่เขาจะย้ายไปประมาณหนึ่งแล้ว ว่าเราอาจจะต้องมาทำตรงนี้ต่อจากเขา แล้วคือวินาทีแรกที่เรารู้ว่าเราต้องรับผิดชอบหน้าที่ บ.ก. เราแบบ ไม่อะ! ไม่
Life MATTERs : ทำไมล่ะ การเป็น บ.ก. มีอะไรที่ทำให้รู้สึกว่า ไม่!
อิ๊ก : เราอยากเป็นแค่นักเขียน เราคิดว่าตัวเราแมเนจไม่เก่ง แล้วเราไม่ได้มีอำนาจในการต่อรองหรือฟาดฟันกับผู้คนขนาดนั้นอะ คือการทำงานส่วนตัวในหน้าที่รับผิดชอบแค่ของตัวเองคนเดียวเราจะทำได้ แต่ถ้าเราต้องมาดูภาพรวมมันค่อนข้างจะเป็นอะไรที่เกินตัว แล้วเราเพิ่งอายุ 23 ณ ตอนนั้น เป็นหมุดหมายที่ต้องรับผิดชอบเยอะประมาณหนึ่ง
จริง ๆ คือก่อนหน้าเล่มนี้พี่กันต์จะเริ่มให้เราลองสัมภาษณ์วงขึ้นปกคนเดียวมากขึ้น แล้วพูดกรอกหูตลอดเวลาว่า มึงต้องมาเป็น บก. ช่วงที่เขาไปบวชเราก็ได้ลองลุยเองบ้าง จริง ๆ ทุกเล่มที่ผ่านมาเราจะรู้กระบวนการทำของมันอยู่แล้ว มันแค่ประหม่า จนเล่มแรกที่ต้องจับเองทั้งหมดก็ไม่ชัวร์ตัวเองเลยตอนทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ได้ทำอะไรที่เป็นตัวเองเยอะขึ้น ได้ใส่อะไรที่อยากทำเข้าไปเยอะมากเหมือนกัน
เหมือนเมื่อก่อน Fungjaizine จะค่อนข้างจะเน้นบทสัมภาษณ์ แต่ด้วยธรรมชาติคนอ่าน พอเห็นคนที่เขาไม่รู้จักเขาก็จะไม่อ่าน แล้วคือจุดเริ่มต้นของ Fungjaizine มันมาจากการที่เราอยากจะเป็นกระบอกเสียงให้ศิลปินที่คนไม่ค่อยรู้จักได้มาลองฟังไง ซึ่งพอเขียนไปเขียนมาก็รู้ว่าการเขียนบทสัมภาษณ์และพรีเซนต์ตัวเขาอย่างนั้นมันได้ผลไม่เท่ากับให้คนอ่านไปฟังเพลงของเขาเอง เราก็เลยพยายามหาวิธีใหม่
เราลองลดสัดส่วนของการสัมภาษณ์ให้มันน้อยลง อาจจะใช้วิธีสัมภาษณ์นั่นแหละ แต่เอาข้อมูลที่ได้มาเขียนเป็นบทความแนะนำวงหรือเพลงไปตรง ๆ แทน หรือปรับให้เป็นข่าวสถานการณ์ปัจจุบัน แล้วก็เน้นบทความที่ให้ความรู้กับคนอ่านมากขึ้น ซึ่งเราว่ามันก็เวิร์กนะ คือเราก็อยากจะเสิร์ฟอะไรที่เราอยากให้เขาอ่าน ไม่ใช่แค่พยายามเสิร์ฟสิ่งที่เขาอยากอ่านอยู่แล้วอย่างเดียว
Life MATTERs : ทำไมการทำคอนเทนต์ให้ความรู้คนอ่านถึงสำคัญสำหรับคุณ
อิ๊ก : เราว่ามันสำคัญมาก ๆ ต้องยอมรับว่าคนฟังเพลงแบบเอาสะดวกกันเยอะ นี่มันไม่ใช่สังคมที่เราจะมานั่งเนิร์ดว่าเพลงประมาณนี้ โครงสร้างแบบนี้ มันมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง เพราะยังไงส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ที่ ‘ฉันรักเธอ เธอไม่รักฉัน’ แค่นั้นจบแล้ว หรือแค่จังหวะตื๊ด ๆ มัน ๆ มีคำติดหูติดปาก คลายเครียด ก็อาจจะพอแล้วสำหรับบางกลุ่ม ซึ่งถ้าเราไม่ทำอะไร มันก็จะอยู่ที่เดิม เราจะหยุดกันอยู่แค่นี้ ให้เพลงตลาดยังมีรูปแบบเดิมๆ แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ
แต่เราก็เข้าใจอีกเหมือนกันว่ามันยากมาก ๆ ที่จะให้คนที่มีความสนใจอื่นๆ มานั่งเนิร์ดอ่านอะไรแบบนี้ แต่อย่างน้อยเราก็ไม่ได้อยู่เฉย ๆ การให้ความรู้ทางดนตรีมันก็เหมือนให้องค์ความรู้ในสาขาอื่นๆ แหละ เพียงแต่คนอาจยังไม่พร้อมเสพหรือไม่คิดว่ามีความจำเป็นที่ต้องรู้แบบศาสตร์พื้นฐานอื่นไง บางทีแค่เรียนหรือทำงานก็เหนื่อยแล้ว คนไม่มีเวลามานั่งอ่านอะไรอื่นๆ ที่อยู่นอกวงโคจรตัวเอง
คือเรามองว่า หลายคนยังเห็นเพลงเป็นแค่สิ่งที่เอาไว้ใช้คลายเครียด ซึ่งพื้นฐานมันก็คือศาสตร์สร้างสุขแหละ แต่จริง ๆ มันมีหลายแง่มุมของดนตรีท่ีคนเอาไปใช้มากกว่านั้น มันไปได้ถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง การทดลองทางวิทยาศาสตร์ หรือใช้เป็นการศึกษาด้านจิตวิทยา ใช้ช่วยผู้ป่วย มิติของมันเยอะมากอะ เราก็อยากให้คนรู้
Life MATTERs : พอทำคอนเทนต์เชิงเนิร์ดแล้วผลตอบรับโอเคมั้ย
อิ๊ก : ครึ่งๆ นะ คือมันเดาทางไม่ถูกอะ อะไรที่เราคิดว่าออกไปแล้วมันจะปังแน่นอน คนชอบ คนตามแน่นอน แต่ผลออกมา เงียบ แต่บางทีอะไรที่คิดว่ามันน่าจะไม่ปังหรอก เอ้า ออกไปแล้วมันติดโผเฉย
อย่างอันล่าสุดคือ Japanese Breakfast นี่เป็นวงที่เราไม่คิดว่าเขาจะดังมากในไทย อยู่ดีๆ ยอดออร์แกนิกไลก์ก็เยอะ มันดูประสบความสำเร็จกว่าบางโพสต์ที่เป็นคนดังในวงกว้างด้วยซ้ำ คือเราพบว่าทาร์เก็ตเขาไม่สนว่าใครดัง เขาสนว่าเขาชอบใครต่างหาก แล้วเราไม่มีทางรู้เลยจนกว่ามันจะปล่อยออกไป
ที่เราต้องทำคือแค่ให้มาตรฐานมันดีก่อน แต่ก็อย่างที่บอก เราก็จะมีแทรกบทความตามใจฉันแบบที่ไม่อิงคนอ่าน ปล่อยไปคนไม่สนใจ ไม่แชร์ ช่างมัน เนิร์ดอะ (หัวเราะ) คิดว่าเดี๋ยววันนึงคนจะกลับมาสนใจสิ่งที่เราอยากนำเสนอเอง แต่ก็ยังคงลองปรับวิธีนำเสนอว่าทำแบบนี้จะมีคนสนใจมากขึ้นไหม อย่างปรับรูป thumbnail ปรับชื่อบทความ แคปชันโพสต์ต่าง ๆ พวกหน้าด่านแรกที่จะดึงดูดให้คนมาคลิกบทความเรามากกว่า
Life MATTERs : หลังๆ เราเห็นว่าฟังใจเริ่มทำบทสัมภาษณ์วงดนตรีต่างประเทศเยอะมาก อะไรที่ทำให้เปลี่ยนจากการนำเสนอศิลปินไทยอย่างเดียว
อิ๊ก : อันนี้เราทำเพราะบางวงเป็นวงที่แฟนเพลงไทยชอบอยู่แล้ว คือเมื่อก่อนเราไม่มีนโยบายทำวงฝรั่งเลยนะแต่เราดื้อ เราบอกว่า เอาจริงๆ ลงไปเดี๋ยวก็มีคนอ่านเอง เพราะว่ายังไงก็มีคนฟังเพลงไทยที่ฟังเพลงฝรั่งด้วย แล้วก็มีคนฟังเพลงบางประเภทที่ไม่ฟังเพลงไทยด้วย เท่าที่เราเคยคุยกับเขา คือเขารู้สึกว่าคนไทยก็อาศัยเรฟเฟอเรนซ์ต่างชาติอยู่แล้ว หรือไม่ บางคนพอฟังภาษาไทยพูดเรื่องรัก ๆ อกหัก ๆ แล้วมันจั๊กจี้
Life MATTERs : แล้วสำหรับคุณมันจริงมั้ย เรื่องที่ว่าวงไทยก็มักจะเอาเรฟเฟอเรนซ์มาจากวงต่างชาติ
อิ๊ก : จริงที่เมืองนอกยังไงก็มีวัตถุดิบมาก่อน แล้วคนไทยไปฟังก็เอามาทำตาม เอาง่ายๆ มันคือเรื่องของวัฒนธรรม เขารู้จักเพลงแจ๊ซ เพลงร็อกก่อนพวกเรา ต้นกำเนิดมันอยู่ทางนั้น พอช่วงค้าขายหรือสงคราม เพลงพวกนั้นมันถึงเข้ามาในบ้านเรา ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดของบ้านเราไง
แต่สำหรับที่ว่าวงไทยก็มีแต่ไปลอกฝรั่ง เราว่ามันไม่จริงทั้งหมด มันแค่ว่า พอเราฟังเพลงอะไรมาตั้งแต่เด็ก ๆ มันก็ซึมซับเข้าในหัวเรา พอกรองออกมามันก็ต้องได้อิทธิพลมาเป็นธรรมดา วงฝรั่งก็เหมือนกันแหละที่ได้อิทธิพลจากวงรุ่นพ่อเขามา
แล้ววงไทยดี ๆ มีแนวทางของตัวเองจริง ๆ ก็มีเยอะมาก แค่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก นั่นเลยเป็นหน้าที่ของเราไง ซึ่งการทำงานที่ฟังใจก็ทำให้เรารู้จักวงพวกนี้เยอะมาก ช่วงที่เราเขียนแนะนำเพลงใหม่ประจำสัปดาห์ หน้าที่คือต้องหาเพลงพวกนี้อยู่แล้ว มันทำให้เราเจอวงชื่อประหลาด ๆ แต่ทำเพลงดีมาก ๆ อย่าง PC0832/676 หรือ DCNXTR
ยิ่งตอนนี้ฟังใจมีระบบให้ศิลปินอัพโหลดเพลงลงไปเอง เลยมีเพลงให้เราฟังเยอะขึ้นมาก แล้วก็จะมีช่วงที่ทีมงานจะมาเป็นดีเจกันในแต่ละวัน โพสต์เพลงลงในเพจ ทำให้ต้อง explore เพลงประมาณหนึ่ง ตรงนี้เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่ Fungjaizine อย่างเดียว แต่มันคือทุกคนในฟังใจที่พยายามต่อยอด ทำอะไรสักอย่างเพื่อให้วงไทยมีพื้นที่
เช่นเรามีงานที่ชื่อ ฟังใจมัน ไอเดียตั้งต้นคือการพูดกับพี่กันต์เล่นๆ ว่าอยากทำเห็ดสดสเกลเล็ก มีสโลแกนประมาณ ‘ฟังใจมัน ใครไม่ฟัง กูฟัง’ เราอยากได้วงที่คนยังไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เพลงดี น่าติดตาม มาเล่นในงาน ใช้ชื่อและความน่าเชื่อถือด้านการเลือกวงของฟังใจกระจายความสนใจ แล้วเราก็ใช้แม็กกาซีนเป็นตัวขยายเสียงอีกที ซึ่งพี่ๆ ในฟังใจก็รับฟังไอเดียเล่นๆ อันนี้ จนช่วยกันทำให้มันเกิดขึ้นมาได้จริง ก็จัดมา 3 ครั้งแล้ว
Life MATTERs : เคยมีคนบอกว่าคุณฟังเพลงยากบ้างไหม
อิ๊ก : มี ซึ่งจริงๆ มันไม่ยากนะ แค่บางคนไม่ชอบมากกว่า เราไม่เคยมองว่าเราต้องฟังเพื่อให้คูลหรืออะไร แค่ฟังว่าเบสไลน์มาอย่างนี้ กีตาร์มาประหลาดมาก เขามิกซ์เสียงให้มันไม่เหมือนกันได้ คือเราไม่ได้ฟังเพลงเอาความหมายอย่างเดียว เอาจริงหลายๆ เพลง เพลงไทยก็ตาม เราไม่ได้ฟังเนื้อร้องเลย ดนตรีมาก่อนตลอด พอฟังแล้วก็ เชี่ย เจ๋งว่ะ คิดแบบนั้นได้ยังไง แค่นั้นเลยอะ มันอาจจะไม่ลึกก็ได้ เราแค่หาอะไรใหม่ๆ ฟังไปเรื่อยๆ มากกว่า
หรือบางทีก็พยายามเก็ตเพลงบางแบบที่ไม่ได้มีโครงสร้างมาเป็นสูตร ล่าสุดงาน POND ที่พี่โค (โคอิชิ ชิมิสึ แห่ง SO::ON DRY FLOWER) ไปเล่นเปิด เราจะมีภาพว่าเขาเป็นคนทำเพลง noise, experimental เป็นอนาล็อกซินธ์เสียงอื้ออึงๆ ไม่ค่อยเก็ต แต่พอลองเปิดใจฟังไปเรื่อยๆ เฮ้ย มันมีจังหวะ มันมีห้องเพลง มันมีลูกดรอปให้เราโยกได้ สุดท้ายเราเต้นกับเพลงพี่เขามันมาก คือพอลองเปิดใจ พยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของเพลงแบบต่าง ๆ แล้วมันก็สนุกอะ
Life MATTERs : อย่างนี้ ถ้าให้นิยามเพลงที่ดี คุณจะนิยามมันว่าอะไร
อิ๊ก : สำหรับเราเพลงดีคือเพลงที่ฟังแล้วแบบ เฮ้ย! อะไรเนี่ย ต้องฟังแล้วว้าว ให้ความรู้สึกใหม่หรือทำให้กดฟังวนซ้ำได้ทั้งวัน แต่ถ้าถามความเห็นเกี่ยวกับเพลงดี เราว่าที่เขาว่างานศิลปะเป็นเรื่องรสนิยมก็เห็นด้วยครึ่งนึง แต่มันก็น่าจะมีหลักพื้นฐานขององค์ประกอบศิลป์หรือเรื่อง aesthetics (ความงาม) หรือแม้มันไม่ได้ดูรูปลักษณ์สวยงามแต่ก็มีคอนเซปต์หรือสิ่งที่ต้องการจะเล่า
เพลงดี ๆ ก็เหมือนกัน มันอาจจะไม่ใช่เพลงที่ฟังแล้วชอบเลย แต่ถ้าดูกันตามตรงมันคือเพลงที่มีการเรียบเรียงที่ดี ท่อนนั้นต่อด้วยท่อนนี้ เฮ้ย มิกซ์มาแบบมีชั้นเชิง คิดมาแล้ว หรือถ้าเรียบง่ายในโครงสร้างเพลง แล้วภาษาที่ใช้ในเนื้อเพลงมันดีไหม ทำให้เรารู้สึกบางอย่างไหม หรือแม้แต่เพลงที่คิดว่าฟังไม่รู้เรื่องอะ เราตั้งใจฟังมันดีพอ หรือเข้าใจที่มาที่ไปของมันไหม อย่างแจ๊ซ บลูส์ เร็กเก้ เทคโน หรือเพลง avant garde ทดลองอะไรต่างๆ ที่ว่ามันยาก อาจเพราะเรายังไม่ได้เข้าใจวิธีคิดของมันหรือเปล่า นี่เลยเป็นเรื่องที่เราอยากเล่า
แต่ถ้าให้สรุป คือเพลงดีมันต้องให้อะไรกับเราสักอย่างไม่ทางใดก็ทางนึง เพลงดีกับเพลงที่ทำให้มีความรู้สึกดีอาจจะเป็นเพลงเดียวกันได้ แต่เพลงที่ทำให้รู้สึกดีหรือทำให้นึกถึงใครสักคน อาจจะไม่ใช่เพลงที่ดีก็ได้ แค่มัน remind ความทรงจำช่วงที่ผ่านมาแค่นั้นเอง
Life MATTERs : จนถึงตอนนี้ คุณว่าวงการเพลงนอกกระแสในไทยเติบโตขึ้นบ้างไหม
อิ๊ก : เราว่าโตขึ้นเพราะว่าคนทำเพลงเองได้เยอะมาก คือเด็กม.4 ม.5 ก็ทำได้ แล้วดีด้วย อย่างวงชื่อ The White Haircut ก็ทำเพลงเอง ติดต่อสื่อเอง นี่ส่ง EP มาให้เราฟังด้วย โคตรร้าย (หัวเราะ) แล้วก็ไปเล่นงาน Cat Expo
คือคนทำเพลงเองก็สามารถหาความรู้หรือวิธีการทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักได้มากขึ้น คนในวงการหลาย ๆ คนก็พยายามผลักดันตรงนี้อยู่ ทำมานานแล้ว จนมันเริ่มขยายตลาดได้เยอะแล้วแหละ อย่างการแทรกตัวเองเข้าไปในวัฒนธรรม flea market ครอสกับแกลเลอรีหรือนิทรรศกาลศิลปะ หรือองค์กรส่งเสริมความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ อย่าง TCDC, Museum Siam ก็ช่วยได้ บางวงเขาก็ไปเล่นกันเมืองนอก ไปมีฐานแฟนในไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เราว่านั่นเจ๋งมาก
แต่ถ้าพูดเรื่องความสร้างสรรค์หรือความหลากหลายทางดนตรี เรารู้สึกว่าช่วงเมื่อก่อน วงไทยมันน่าตื่นเต้นสำหรับเรา เรารู้สึกว่าคนขยันทำเพลง แล้วก็กล้าทำอะไรมากที่ฉีกไปจากอะไรที่คนคุ้นชิน แต่ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าคนเข้ามาลงทุนกับดนตรีเยอะมาก มองมันเป็นธุรกิจที่เปลี่ยนมาโกยเงินจากตลาดนี้ ไม่ได้เข้าใจธรรมชาติของนักดนตรีหรือตัวเพลงจริงๆ
เวลาเพลงอะไรออกมาก็ต้องฮิปอะ ต้องมีความเป็นเด็กอินดี้ ไม่แมสจ๋าจนเกินไปแต่เอาให้ขายได้นิดหนึ่ง แต่สุดท้ายเพลงออกมาก็คือเป็นเพลงที่เราจะรู้ว่า เขียนไลน์ดนตรีออกมาแบบนี้วิทยุเปิดแน่นอนจ้า แต่ไม่ใช่ว่าเพลงป๊อปแล้วไม่ดีนะ เพียงแต่มันไม่ได้ใหม่ ไม่ได้ให้ความรู้สึกอย่างช่วงสองสามปีก่อนขนาดนั้น
Life MATTERs : แล้วในฝั่งของคนฟัง สมัยก่อนคนมักจะมองว่าเพลงนอกกระแสเป็นเรื่องของ ‘ฮิปสเตอร์’ ตอนนี้มันยังเป็นแบบนั้นอยู่มั้ย
อิ๊ก : เราว่าคงไม่มีใครยี้แล้วมั้ง มันมีหลายกลุ่มไปแล้ว พอมีอินเทอร์เน็ตก็มีอะไรหลากหลายให้เลือกฟังเยอะ ให้ตอบกับความต้องการและรสนิยมมากขึ้น มันก็ยังมีคนที่ฟังแต่เพลงค่ายใหญ่อยู่ คนที่ฟังแต่วิทยุคลื่นหลักอยู่ แต่ก็มีหลายกลุ่มที่ไปหาช่องทางของเขา หรือแยกฟังตามแนวที่ชอบเลย
เขาอาจจะไปฟังเพลงคลาสสิก แจ๊ซ ฮิปฮอป หรือเพลง experimental บางคนฟังแต่เสียงนอยซ์วี้ดๆๆๆ แต่เขาก็โยกของเขาได้ แล้วไม่เห็นมีใครสนใจเลยว่า อ๋อ ชั้นแมส ชั้นเด็กแนว แล้วออกตัวแรง หรือเราไม่ค่อยได้คลุกคลีกับตรงนั้นเท่าไหร่แล้วมั้ง เพื่อนๆ คนรู้จักก็อยู่ในซีนดนตรี ซึ่งทุกคนคงไม่ค่อยมาสนใจว่าใครจะยี้จะเย่ ก็ตั้งใจทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อกันต่อไป
เหมือนเราว่าคนในซีนอินดี้ก็มีความพยายามที่จะนำงานตัวเองออกสู่ตลาดมากขึ้น ให้คนได้ลองฟังอะไรที่ไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีอิทธิพลคนอื่นป้อนอะไรซ้ำเดิม คือมันไม่มีประโยชน์ที่จะคูล จะนิช แบบ ‘ไม่ต้องมีใครมาฟังก็ได้แต่เพลงกูเจ๋ง’ อย่างเมื่อก่อน มันไม่ช่วยเลยเว้ย ไม่งั้นคุณก็หยุดอยู่ที่เดิมอย่างเดียว เราเชื่อว่ามันมีคนพยายามทำให้แมสยอมรับด้วยการที่ อาจจะลดความเข้าถึงยาก แล้วก็เป็นมิตรกับคนนอกมากขึ้น
ดังเช่นสิ่งที่สมอลล์รูมกำลังทำอยู่ คือโอเคเพลงส่วนใหญ่เป็นป๊อปก็จริง แต่เป็นป๊อปที่ดีทุกวง และมันก็ยังเป็น independent ทุกวงในนั้นยังทำเพลงของตัวเอง มีสไตล์ของตัวเองชัดเจน แต่คือคนฟังก็มาชอบวงพวกนี้เองไง คุณแค่อย่าเอาเลเบลไปครอบมันว่ามีค่าย หรือเป็นฮิปสเตอร์หรืออะไร ถ้าเพลงดีคนก็ฟัง ค่ายแค่ช่วยเรื่องทุนการทำกับการโปรโมต เป็นโอกาสที่วงพวกนี้จะเป็นที่รู้จักมากขึ้นเท่านั้น
Life MATTERs : มีอะไรที่คุณอยากเห็นเกิดขึ้นในซีนอินดี้ไทยบ้าง
อิ๊ก : เราอยากให้ทุกคนช่วยกันพัฒนาวงการเพลงไม่ใช่มาตำหนิกันแล้วมันไม่ได้อะไร หรืออยากให้ทุกคนผนึกกำลังกันแล้วทำให้วงการมันไปไกลกว่านี้ เช่น Music Festival หรือโปรโมเตอร์ที่เอาวงนอกเข้ามา แต่ช่วงนีหลาย ๆ วงดันทัวร์พร้อมๆ กัน ทำเฟสติวัลดูมั้ย ช่วยคนดูประหยัดไปด้วย (หัวเราะ) แต่เข้าใจว่ามันมีปัจจัยต่าง ๆ และเฟสติวัลมันคือความเสี่ยง ไม่มีใครการันตีได้ว่าคุณจะขาดทุนหรือประสบความสำเร็จ ก็ลองค่อยเป็นค่อยไปกันดู
แล้วเราอยากเห็นคนดูไทยมีมารยาท อยู่ร่วมกันในสังคมอะเนาะ เขาบอกไม่ให้ดูดบุหรี่ในฮอลล์ก็ทำกัน ถ่ายวิดิโอ ถ่ายรูปก็เอาแค่พอประมาณ บางคนนี่ไลฟ์เซลฟี่คุยกับแฟนเลยจ้า หรือพวกคุยกันเสียงดัง วงเล่นอยู่แล้วเดินไปเดินมา เปิดประตูเข้าๆ ออกๆ เงี้ย
Life MATTERs : เรายังเห็นคุณไปคอนเสิร์ตต่างประเทศเยอะมาก พอจะเล่าความแตกต่างของซีนในแต่ละประเทศเท่าที่คุณเห็นได้มั้ย
อิ๊ก : ในแง่แนวเพลงเราตอบไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์นะ มันอาจจะไม่ใช่ซาวด์ของประเทศนั้นๆ แต่เป็นยุคสมัยที่คนฟังอะไรกัน ย้อนกลับไปในยุค 90s มันก็มีสิ่งที่เรียกว่าอัลเทอร์เนทีฟ ฝั่งอเมริกันก็อาจจะหนักไปที่สไตล์นึง อังกฤษจะเป็นอีกแบบนึง หรือย้อนไปพวกช่วงสมัยปลาย 60s ในเยอรมันตะวันออก มีเพลง Krautrock ที่คนพยายามทำซาวด์ใหม่ๆ ขึ้นมา เอาร็อกมาผสมกับแจ๊ซ เอาไซคีเดลิกมาผสมกับอิเล็กทรอนิก มินิมัลซาวด์ การทดลองเสียงต่าง ๆ ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
หรือสมัยนี้เราว่าแจ๊ซมันกำลังกลับมาอีกรอบหนึ่งแล้วเหมือนกัน คนจะทำเป็นซาวด์ย้วยๆ แจ๊ซๆ โซล R&B หน่อย แล้วมันไม่ได้ฮิตแค่ในออสเตรเลีย เซาธ์ลอนดอน หรืออเมริกา แต่คนไทยก็เป็น เพราะเขาก็ฟังๆ แชร์ๆ กันมา นั่นแหละ โลกมันเชื่อมถึงกันหมดแล้ว
ถ้าจะให้เห็นความแตกต่างชัดๆ ก็ต้องเป็น world music หรืออะไรที่มันท้องถิ่นมากๆ อย่างประเทศมาลีมีวงชื่อ Songhoy Blues ที่ถึงเขาทำเพลงบลูส์แต่เขาก็ยังใส่ความเป็นชนเผ่าเข้าไปซึ่งมันชัดมาก หรือบ้านเรา Rasmee ก็เป็นหมอลำที่ใส่ทำนองบลูส์เข้าไป ถ้าให้มันชัดเลยก็คงต้องมองลงไปที่ความเป็นท้องถิ่น หรือที่ราก ถึงจะแยกได้ว่ามันต่างกันยังไง
แต่สังคมดนตรีใกล้ๆ ตัวเราก็สนุกนะ อย่างใน South East Asia ที่หลาย ๆ ประเทศเขามีความกระตือรือร้นที่จะผลักดันซีนตัวเอง แต่มันก็ยังเล็กอยู่และเต็มไปด้วยข้อห้ามหรือสิ่งที่ขัดกับทางกฎหมาย อย่างมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ศิลปินในวงการรู้จักกันเองเกือบหมด บ้านเขามีโรงเรียนสอนศิลปะแค่ไม่กี่ที่เอง คอนเสิร์ตบางที่ห้ามขายเหล้า ห้ามมุสลิมมาดูดนตรี แต่บางคนก็ต่อต้าน เด็กม.ปลายใส่ฮิญาบทำวงพังก์แม่งเลยก็มี
Life MATTERs : ก่อนจากกัน ขอวกกลับมาที่เรื่องงาน พองานอดิเรกของคุณกลายมาเป็นงานแบบนี้ความสนุกลดลงไหม
อิ๊ก : มันหมดพลังเหมือนกัน จากแต่ก่อนเราไปดูคอนเสิร์ตเพื่อที่จะเอนจอยแล้วไม่ต้องทำอะไร เราไม่ต้องแคร์ในสิ่งที่เราเขียนออกไป จริงๆ เราชอบตัวเองที่เราสามารถเอาสิ่งที่เราอินมากๆ มาทำเป็นงานได้ เราไม่ได้ฝืนทำเพื่ออะไร เพื่อใครเลย แต่พอเราอยู่กับตรงนี้นานๆ มันก็มีเบื่อ มีเหนื่อยบ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องทำเพราะมันเป็นอาชีพ มันเป็นหน้าที่
ก็ต้องไปหาอะไรทำที่มันเบรกตรงนี้ไปนิดหนึ่งเพื่อจะให้ไฟกลับมาอีกครั้ง ถามว่าตอนนี้ไฟกลับมามั้ย ก็ไม่เท่าเมื่อห้าปีก่อน พูดได้เต็มปากเลยว่าห้าปีก่อนเราไปคอนเสิร์ตสู้ตายจริงๆ ตอนนี้ไม่ขนาดนั้นแล้ว
และเราอยากเล่าว่าเราเคยไม่ชอบสัมภาษณ์ แต่ไม่มีใครรู้ เราไม่ชอบคุยกับคน หมายถึงว่าเราไม่ชอบไปสัมภาษณ์คนอื่น ไม่รู้จะคุยอะไรอะ คุยไม่เก่ง (หัวเราะ) แล้วการทำงานนี้มันหลีกเลี่ยงการสัมภาษณ์ไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะโยนให้พี่กันไปสัม เดี๋ยวเราเขียนบทความเอง เดี๋ยวเขียนรีวิวให้ ถอดเทปให้ได้ ซึ่งเราก็ต้องปรับตัว เราไม่สามารถอยู่ในเซฟโซนได้ตลอดไป ต้องออกมา แล้วการได้คุยกับหลาย ๆ คนบางทีมันกลับเป็นแรงบันดาลใจเติมไฟให้เราด้วยซ้ำไป
Life MATTERs : สุดท้ายหลังจากที่เหนื่อยกับการเอางานอดิเรกมาทำงาน ยังคงรักมันอยู่มั้ย
เรายังฟังเพลงทุกวันนะ เหนื่อยแล้วยังรักอยู่มั้ยเหรอ (คิดนาน) คือมันเป็นพาร์ตหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว เราตัดมันออกไปไม่ได้ ถึงแม้เราจะต้องพักเบรกจากมันบ้าง ยังไงสักวันเราก็ต้องกลับมาหามันอยู่ดี
เราไม่เคยหยุดฟังเพลง มันไม่ใช่เพลงที่ผิดหรอก มันแค่มีองค์ประกอบอื่นๆ ในชีวิตและการทำงานเข้ามาทำให้เราเหนือย แต่นั่นแหละ เพลงมันก็เป็นเพลง เพลงที่ดีมันก็เป็นเพลงที่ดี เพลงที่เราชอบก็ยังเป็นเพลงที่เราชอบ เราไม่มีทางเลิกฟัง