หลายคนน่าจะคุ้นหน้า อ้น—นพพันธ์ บุญใหญ่ ผู้กำกับละครเวทีมากความสามารถ ที่รับงานแสดงและหนังโฆษณาหลายชิ้นอย่างเช่นของค่าย Salmon House แต่นอกจากงานแสดงทางหน้าจอแล้ว เขายังเป็นคนที่ลงลึกกับศาสตร์ ‘ละครเวที’ ชนิดที่ตั้งมั่นว่า ละครเวทีจะต้องไม่ใช่แค่งานอดิเรก แต่ต้องเป็นงานที่เลี้ยงชีพได้ จึงตัดสินใจตั้งกลุ่มละครชื่อ FULLFAT ขึ้นมา ร่วมกับ จั่น—วิชญ์พล ดิลกสัมพันธ์, ภูมิ—กิตติภูมิ วงศ์เพ็ญทักษ์ และ แตงโม—ลฎาภา โสภณกุลกิจ
Co/exist คือละครเวทีงานล่าสุดของกลุ่ม FULLFAT ที่เพิ่งแสดงรอบสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยจัดหนักจัดเต็มใส่คนดูอย่างไม่ประนีประนอม ทั้งเนื้อหาแน่นๆ บทพูดภาษาอังกฤษ และสเปซจัดแสดงที่ต้องเข้าตรอกซอกซอย ให้คนดูเข้าไปเสพละครเรื่องนี้ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นใจ
และสำหรับ อ้น—นพพันธ์ จากกราฟิกดีไซเนอร์จบอังกฤษ ผู้กลับมารับงานแสดงที่เมืองไทย ขยายไปถึงงานเขียนบทและกำกับ นพพันธ์ต้องผ่านประสบการณ์หลากหลายทั้งสนุกสนานและเจ็บปวด ซึ่งเขาได้บอกเล่าถึงเรื่องราวเหล่านั้น รวมถึงแนวคิดที่จะพาละครเวทีให้ไปไกลกว่าเดิม ทั้งในแง่การสื่อสารและเพดานของฟอร์แมตละคร ส่วนจะมีพลังล้นเหลือแค่ไหน เชิญติดตาม
Life MATTERs : กลุ่ม FULLFAT เกิดขึ้นได้อย่างไร
นพพันธ์ : มันเริ่มจากการที่เราได้ทำงานเรื่อง Happy New Year Mr. Smith กับน้องๆ ในทีมคือ จั่น ภูมิ และแตงโม แล้วก็แฟนเราก็บอกว่าเราควรจะทำงานละครให้ไปไกลกว่านี้ คือชื่อเรามันก็ค่อยข้างมีคนรู้จักในระดับนึงแล้ว ในเวลาเดียวกันมันควรจะมีความเป็นกลุ่ม ความเป็นแบรนด์ที่จับต้องได้ ก็เลยคิดตั้งกลุ่มกัน วันหนึ่งเรานั่งเครื่องบินแล้วได้กินขนมคัสตาร์ด มีความมัน เยิ้มๆ ก็คิดว่าเออ มัน full fat ดีว่ะ คือเรากินเอาอิ่ม เอาอ้วน ไม่กินคลีน ไม่ดูแลสุขภาพ อยากให้มันแน่นๆ เพราะเราเองก็สนุกกับงานละครเวทีแบบนั้นเลยหยิบมาใช้เป็นชื่อกลุ่ม ส่วนฟอร์แมตที่เรานำเสนอก็ไม่เคยเป็นฟอร์แมตของละครเท่าไหร่ เพราะเราก็มีอีกเป้าหมายที่พาขอบเขตของการทำละครไปทางอื่นที่ไม่ได้ถูกกำหนดและจำกัดแค่กับคำว่า ‘ละครเวที’ อย่างที่คนเข้าใจกัน
Life MATTERs : ที่ผ่านมาความยากของการทำละครเวทีคืออะไร หมายถึงที่ทำให้ละครเวทีมีคนดูที่ยังค่อนข้างจำกัดแวดวง
นพพันธ์ : จากประสบการณ์ของเราเองคือเรื่องของสปอนเซอร์ เราไม่เคยขอสปอนเซอร์ ไม่ใช่ว่าสปอนเซอร์ไม่มีอยู่ แต่อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่รู้จักวิธีไปหาเขา เพราะการที่เรากำกับและโปรดิวซ์เอง บางทีก็เล่นด้วย เราไม่มีหัวทางด้านนั้นสักเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องงบมันสำคัญทั้งเรื่องการพีอาร์ การทำเนื้อหา เรื่องสเปซ ดังนั้นบางทีแทนที่จะดึงคนได้ 100 คน กลับได้เพียง 40 คนเพราะเราได้สเปซเล็ก ส่วนเรื่องคนดู ตอนนี้เราคิดว่าคนดูกำลังเริ่ม appreciate กับการมาดูละครเวทีมากขึ้น เพราะด้วยเนื้อหา ด้วยพื้นที่ ด้วยนักแสดงที่เข้าใกล้คนดูกว่าเดิม และถึงละครเวทีไม่ได้มีอยู่ในวัฒนธรรมแต่เดิมของบ้านเรา แต่ตอนนี้ด้วยความที่คนก็ผลักดันมันออกมา เลยทำให้คนจับต้องได้มากขึ้น ซึ่ง FULLFAT เองก็อยากจะมีส่วนเสริมตรงนี้เหมือนกัน
เรื่องแรกที่ดูในประเทศไทยน่าจะเป็น ‘สวยสู่นรก’ ของนิกร แซ่ตั้ง เขาทำในสเปซที่เป็นของคณะ 8×8 เป็นตึกแถวห้องเล็กๆ ห้องหนึ่ง มีนักแสดงเล่น 4 คน ไม่มีพร็อพ ไม่มีอะไรเลย มีแต่เก้าอี้ 4 ตัว เราเลยได้รับแรงบันดาลใจจากตรงนั้นว่า มีเท่านี้ก็เล่าเรื่องได้นะ เขามีแค่เนื้อหากับนักแสดงที่ดี แล้วก็บทดีๆ
Life MATTERs : ละครเวทีเรื่องแรกๆ ที่คุณเคยดูคือเรื่องอะไร
นพพันธ์ : เรื่องแรกที่ดูในประเทศไทยน่าจะเป็น ‘สวยสุดนรก’ ของนิกร แซ่ตั้ง เขาทำในสเปซของคณะละคร 8×8 เป็นตึกแถวห้องเล็กๆ ห้องหนึ่ง มีนักแสดงเล่น 4 คน ไม่มีพร็อพ ไม่มีอะไรเลย มีแต่เก้าอี้ 4 ตัว เราเลยได้รับแรงบันดาลใจจากตรงนั้นว่า มีเท่านี้ก็เล่าเรื่องได้นะ เขามีแค่เนื้อหากับนักแสดงที่ดี แล้วก็บทดีๆ นั่นคือละครเรื่องแรกๆ ที่ดูในเมืองไทย แต่ก่อนหน้านั้นน่าจะเป็นเรื่อง CATS ที่เป็นบรอดเวย์ ตอนที่เราอยู่อังกฤษ แม่พาไปดูเรื่องนี้แล้วประทับใจมาก จำได้ว่าเห็นโปสเตอร์ตั้งแต่เรา 9 ขวบยันเรา 20 เลย เห็นโปสเตอร์แปะเต็มผนังใต้ดิน แบบตลอด 10 ปี ไม่ไปไหนเลย คืออยู่ได้ไงนะ มันคงดีมาก คนดูวันละร้อยอะไรแบบนี้ สิ่งนี้เราไม่แน่ใจว่ามันจะมีในประเทศนี้ได้หรือเปล่า ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องมีหรอก แต่ว่าแค่ 3 เดือนอย่างนี้ เราไปกันไหวหรือเปล่า
Life MATTERs : สำหรับการสื่อสารผ่านการแสดงนี้ คุณเริ่มต้นจากตรงไหน
นพพันธ์ : หลังจากที่ดูละครเวทีไปเมื่อตอนเด็กๆ เราก็ยังไม่ได้ทำอะไรต่อนะ เราไปเรียนกราฟิก เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ แต่พอเรียนจบกลับมาไทยแล้วเราได้รับงานแสดงหนัง พบว่าชอบศาสตร์การแสดงการสื่อสารทางนี้ ตอนช่วงอายุ 26-27 เราถ่ายหนังมา 15 เรื่อง อยู่ในกองถ่ายนานมาก ดังนั้นความเป็นหนังหรือการสื่อสารแบบหนังมันอยู่ในการตัวเราอยู่แล้ว ตอนนั้นเราเลยเริ่มไปเขียนบทละคร จากนั้น งานกำกับงานเขียนบทก็เริ่มเข้ามา เป็นบริษัทหนังบ้าง เป็นเพื่อนที่ทำ production house บ้าง เขาอ่านบทเราแล้วก็ชอบ แต่มันก็มีอุปสรรคของมันนะ เรายังมีสกิลยังไม่พอ เพราะเราไม่ได้เรียนมา แล้วเขียนบทเอาแต่ใจตัวเองที่ตัวเอง เขียนแบบที่รู้ว่ามันควรจะเป็นอย่างไง แต่คนอื่นไม่สามารถเอาไปทำต่อได้ ซึ่งมันสำคัญมาก ว่าคนเขียนบทที่ดีคือ ภาพต้องชัดบนกระดาษไม่ใช่ภาพชัดแค่ในหัวตัวเอง
Life MATTERs : ประสบการณ์เขียนบทละครโทรทัศน์ กับละครเวทีมันต่างกันมากหรือเปล่า
นพพันธ์ : คือตอนแรกพอเป็นละครเวทีของตัวเอง เราเลยรู้สึกว่าไม่ต้องละเอียดมาก ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นปัญหาในการทำงานนะ แต่พอเรารู้ว่าเราต้องการอะไร ในฐานะที่เป็นผู้กำกับ เราก็เข้าไปซัด บอก บอก บอกเขา นักแสดงอาจจะงงๆ หน่อย แต่ภาพออกมาแล้วมันก็ดี ทีนี้พอเป็นงานที่เราเขียนส่งไปให้กองถ่าย เราต้องระบุรายละเอียดทุกอย่าง ทุกบริบทของแอคติ้ง ให้นักแสดงในกองเขาเข้าใจชัดเจน อีกอย่างพออารมณ์ขันหรือเนื้อหาของเราไม่ถูกใจผู้ผลิต แต่เราก็ไม่ชอบปรับบทตัวเองให้ถูกใจใคร สุดท้ายก็เจ็บปวดกันทั้งสองฝ่าย จากที่เคยทำงานเขียนบทละครทีวี ตอนนี้ก็ไม่เอาอีกแล้ว
เราด่าตัวละคร แล้วตัวละครก็ด่าเรา ว่าทำไมให้กูโง่ ทำไมกูเป็นนางเอกแบบนี้ ทำไมกูต้องการผู้ชายที่หล่อรวย ทำไมมึงดูถูกกูจังวะ แต่บทมันสร้างมาแบบนี้ คนดูชอบตัวละครแบบมึงไง—นี่คือประสบการณ์จากการเขียนบทละครโทรทัศน์ ที่เราเก็บเอาไปเล่นในละครเวทีของเขา
Life MATTERs : ประสบการณ์ชิ้นนี้กระทบใจคุณแค่ไหน
นพพันธ์ : เราหยิบเรื่องนี้ไปเล่นในละครเวทีเรื่อง Happy New Year Mr. Smith ด้วย มันเป็นเรื่องของคนเขียนบทหนังแต่ต้องมาทำมาหากินด้วยการเขียนบทละครเวที แล้วก็เขียนไม่ได้เพราะไม่อิน เราด่าตัวละคร แล้วตัวละครก็ด่าเรา ว่าทำไมให้กูโง่ ทำไมกูเป็นนางเอกแบบนี้ ทำไมกูต้องการผู้ชายที่หล่อรวย ทำไมมึงดูถูกกูจังวะ แต่บทมันสร้างมาแบบนี้ คนดูชอบตัวละครแบบมึงไง—นี่คือประสบการณ์จากการเขียนบทละครโทรทัศน์ ที่เราเก็บเอาไปเล่นในละครเวทีของเรา หลังจากนั้น เลยคิดว่าจะไม่ทำงานกับคนอื่น จนกว่าเขาจะคลิกกับความคิดของเรา สุดท้ายก็เลยกลับมาเป็นนักแสดง เพราะว่าห่างเหินจากการแสดงไปประมาณปีสองปี ปีนี้ก็เลยจะเห็นงานเราตามทีวี หน้าสื่อต่างๆ เราอยากจะกลับมาเป็นนักแสดงที่เป็นอาชีพจริงๆ
Life MATTERs :ในฐานะนักแสดง การแสดงผ่านหน้าจอกับแสดงในละครเวที ใช้พลังต่างกันแค่ไหน
นพพันธ์ : พลังน่าจะเท่ากัน แต่ว่าในละครเวทีมันสบายตัวกว่า เพราะว่าเราได้ค้นหาได้เรียนรู้ แล้วก็เรามีช่องว่างให้ทำสิ่งสนุกๆ ส่วนการแสดงในกองถ่าย เราต้องรู้ว่าผู้กำกับชอบอะไร เขาต้องการอะไร แล้วก็ต้องสามารถแบ่งสมองเป็นสามเลนได้ เลนแรกคือแอคติ้ง อย่างที่สองคือบล็อกกิ้ง อย่างที่สามคือไทม์มิ่ง แบบเขาให้เราวิ่งให้ดูวิ่งเร็วแต่จริงๆ ต้องวิ่งช้ามาก แล้วก็มาอยู่ให้ตรงจุดมาร์ก แล้วหันหน้าตรงนี้แต่อย่าเกินตรงนี้ไป กล้องจะรับตรงนี้ไม่ได้ แล้วก็ต้องเล่นให้โคตรจริงพลังต้องพอ แล้วต้องปัง เทคเดียวผ่านให้เขาตลอดเวลา นั่นคือทัศนะคติของเรา เวลาเล่นหนัง เราไม่มีแบบ เดี๋ยวก็ได้ เดี๋ยวก็มีอีกเทคนึงแหละ เราต้องเดิมพัน แข่งขันกับเวลา
Life MATTERs : ในขณะที่การแสดงละครเวทีเรามีสกิลที่ต่างออกไป…
นพพันธ์ : ละครเวทีมันมีเวลาให้ซ้อมประมาณหนึ่งเดือน แต่พอไปอยู่บนเวทีมันจะต้องดีลกับการ อ้าว จำบทไม่ได้ ตรงนั้นแหละที่ต้องอาศัยสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเรา การเอาตัวรอดบนเวทีนั้นน่าสนใจกว่า เพราะก่อนหน้านั้นเรามีเวลาซ้อมให้คุณทำทุกอย่าง นั่นคือ privilege ของคุณแล้ว ดังนั้นหลังจากซ้อมเต็มที่แล้ว สุดท้ายมันอยู่ที่ว่าคุณจะเอนจอยกับมันยังไงด้วย ไม่งั้นจะเบื่อ แล้วส่วนตัวเราเองเป็นคนที่เบื่อง่ายอยู่แล้ว อย่างน้องในทีมเราเอง ภูมิกับจั่น จะสังเกตได้ว่าทุกครั้งที่เขาเล่นจะเล่นไม่เหมือนกัน จะมีอะไรบางอย่างที่เขาจับต้องได้ในรอบนั้นแล้วก็ส่งให้เรา เราก็เทคจากเขา เพราะว่าปรัชญาในละครของเราคือเราอยู่ด้วยกันจริงๆ
เราไม่ได้เรียนละครเวทีมา เราไม่รู้องค์ประกอบของมัน ทุกครั้งที่ทำละครเวทีมันเลยเหมือนเอาหนังมาวาง โดยไม่สนใจเรื่องบีท ไม่สนใจอย่างอื่นเพราะเราไม่รู้ว่าละครเวทีมันคืออะไร เราใช้ความเป็นหนังสูงเพราะเราดูหนังเยอะมาก เราเล่นหนัง เราทำหนัง เราเป็นนักเล่าเรื่องที่เลือกใช้ฟอร์แมตนี้มาเล่า
Life MATTERs : สำหรับคุณแล้ว ละครเวทีคืออะไร
นพพันธ์ : ความนิสัยแย่ของเราคือเราไม่ค่อยดูละครเวที เราดูบางเรื่อง เพราะว่าเราทำละครเวทีแต่เราไม่เคยใช้ฟอร์แมตละครเวทีเลย เราเรียกละครเวทีเพราะมันเป็น live performance มันมีการแสดงสดเกิดขึ้น เราไม่ได้เรียนละครเวทีมา เราไม่รู้องค์ประกอบของมัน ทุกครั้งที่ทำละครเวทีมันเลยเหมือนเอาหนังมาวาง โดยไม่สนใจเรื่องบีท ไม่สนใจอย่างอื่นเพราะเราไม่รู้ว่าละครเวทีมันคืออะไร เราใช้ความเป็นหนังสูงเพราะเราดูหนังเยอะมาก เราเล่นหนัง เราทำหนัง เราเป็นนักเล่าเรื่องที่เลือกใช้ฟอร์แมตนี้มาเล่า ก็ไม่ต่างจากศิลปินทั่วไปที่เลือกการถ่ายภาพ เลือกการเขียนหนังสือ เลือกวีดีโอ เลือกวาดรูป แต่สุดท้ายแล้วเราก็เลือกอะไรที่เป็นตัวเองอยู่ดี มันเป็น self portrait เหมือนกันนะ
และเสน่ห์ของละครเวทีอีกอย่างคือคนดู คนดูที่นั่งอยู่ตรงหน้าจะมีส่วนร่วมกับเราด้วย ความคิด หรือมวลที่คุณดูรู้สึก หัวเราะ ไม่หัวเราะ พลังของคุณรวมกัน ถึงจะมีแค่ห้าหกเจ็ดแปดคนเนี่ยมันส่งอารมณ์ได้ดีมาก มันเป็นเสน่ห์ที่ถ้าใครชอบก็ชอบไปเลย ไม่ชอบก็ไม่เอาไปเลย เราเองก็เคยไปดูละครเวทีแล้วรู้สึกว่านี่ทำอะไรกันวะ พูดไปพูดมามันก็เหมือนกับเราก็ไม่เทิดทูนศาสตร์นี้ได้เต็มที่หรือเปล่านะ เราเองก็ไม่ได้เรียนมา แต่เราว่าทุกคนสามารถ own มันได้ คนหนึ่งอาจจะเอาละครเวทีไปทำบางอย่างในแบบของเขา แล้วมีอีกคนมาทักว่า อุ้ย นี่ไม่ใช่ละครเวที คือมันอะไรไม่รู้แหละ แต่มันเป็นทางของเขานะ นี่มันปี 2017 แล้ว คำว่าละครเวทีมันอาจจะมีคำเดียวในพจนานุกรม แต่ในความเป็นจริงมันมีอะไรพ่วงมาอีกเยอะมาก คุณสาดสีใส่กันในห้องหนึ่งหนึ่ง คนอาจจะมองว่านี่คือ live performance แต่สุดท้ายมันเป็นละครเวทีได้ไหม เราก็ว่าได้ มันมีหลายอย่างมากที่มนุษย์ไปยึดติดกับคำ เราเลยรู้สึกว่าในการสื่อสารสิ่งที่เราจะทำออกไป ก็น่าจะใช้รูปถ่ายที่เล่าได้ชัดสุด คือเห็นแล้วรู้จริตเรื่องจริตผู้กำกับเลย
Life MATTERs : พูดในแง่การประกอบอาชีพ คิดว่าเมืองไทยสามารถมีอาชีพนักแสดงละครเวทีได้เลยไหม
นพพันธ์ : คิดว่ามีได้ ถ้าเราสื่อสารกับนายทุนหรือสปอนเซอร์ ถ้าถามว่าละครเวทีกลุ่มเล็กๆ อยู่ได้ไหม มันอยู่ได้ด้วยใจ เพราะทุกคนก็มีอาชีพหลักกันหมด ละครเวทีเป็นงานอดิเรก แต่เราไม่อยากให้มันเป็นแค่นั้น แต่นั่นก็ต้องมาจากการทำงานเป็นเชิง business จริงๆ ถ้าสามารถหานายทุน หาสปอนเซอร์มาเป็นแบคอัพได้ แล้วเราก็อยากทำงานในเชิงพาณิชย์ให้ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายด้วย ไม่งั้นมูลค่ามันก็จะตกเป็นแค่งานอดิเรก
Life MATTERs : คิดว่าวงการละครเวทียังแคบอยู่ไหม
นพพันธ์ : มันก็เล็กแหละ แต่เหมือนกับว่ามีกลุ่มใหม่ออกมาเรื่อยๆ สิ่งที่จะวัดได้ว่าเขาไปต่อได้ไหมคือผลงานที่ผลิตออกมาต่อปี คนมักจะพูดว่าคนทำละครเวทีมักดูกันเอง บางวันเราเห็นด้วย บางวันเราก็ไม่เห็นด้วย เราคิดว่าเขาก็ต้องอยากให้คนอื่นมาดู แต่จะทำยังไงนั้นคือหน้าที่ของคนทำ ไม่ใช่ของคนดู เราควบคุมคนดูไม่ได้ แค่เราต้องคิดว่าเราจะทำไงให้คนอื่นมาดูงานเรา ทำยังไงให้เข้าถึงได้ มันมีสูตรของมันแหละไม่งั้นทีวีไม่ประสบความสำเร็จหรอก ไม่งั้นเอเจนซี่บาง house ไม่รวยไม่ได้ชื่อเสียงขนาดนั้นหรอก มันเป็น marketing มันก็ต้องขายของ
Life MATTERs : แล้วเจ็บปวดมั้ย สุดท้ายแล้วก็ต้องเข้าหา marketing
นพพันธ์ : สำหรับการทำงานเชิงพาณิชย์ เราคิดว่าถ้ามองในมุมคนญี่ปุ่นที่เขาทำทุกวิถีทางให้ของเขาขายได้ เพื่อที่จะให้คนจับต้องศิลปะตรงนี้ได้ มันก็ไม่ได้ผิดอะไรนะ มันอยู่ที่ว่าเราทำพอหรือยังมากกว่า เราทำเพราะอยากให้ละครเวทีเป็นอาชีพได้ เหมือนในยุคละครโรงแรมมณเฑียร ที่รุ่งเรืองที่สุดของละครเวทีไทย นักแสดงมีเงินเดือน เป็นอาชีพ มีที่อยู่ให้ด้วย แต่แล้วมันก็หมดยุคไปตั้งแต่มีหนังวีดิโอเข้ามา แต่แล้วก็กลับมาใหม่และมันก็เติบโตขึ้นมาจากสิ่งต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ต ซีรีส์ และชื่อของแต่ละกลุ่ม ความสามารถ การพัฒนาของเขาในแต่ละกลุ่มมันไปไกลเหมือนกันนะ เขาได้ไปต่างประเทศ มีคนรู้จักพวกเขาเยอะมาก แต่ก็อาจเหมือนพี่เจ้ย—อภิชาติพงษ์ ที่ก็ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ แต่บ้านเราไม่สนใจเขาเท่าไหร่เลย มันก็ต้องตั้งคำถามกับความสำเร็จของเราว่ามันคืออะไร หมายความหมายอะไร เพราะของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน
Life MATTERs : คุณเคยมองว่าตัวเองดื้อไหม
นพพันธ์ : น่าจะเรียกว่าความเอาแต่ใจตัวเองมากกว่า คือเราอยากทำอะไรเราก็ทำ อย่างการเป็นนักเขียนมันก็จะมีที่เราอยากใส่ประโยคนี้ลงไปอะ คุณต้องอ่านแบบนี้ ต้องกระโดดข้ามรั้วมานิดหนึ่งสิ จะ play safe อย่างเดียวไม่ได้ อย่าง Co/exist เราตั้งใจให้คนดูดูเราอย่างเดียว เราไม่ให้คุณหยุดหายใจ คุณต้องดูแบบนี้เพื่อที่เราจะได้ push วิธีการสื่อสารไปอีกระดับหนึ่ง เราไม่อยากแค่ทำตามสูตร คือสูตรมันเวิร์กนะแต่พอรู้แล้วเราก็จะหลงอยู่กับมัน พอเราขยายขอบเขต ความเป็นไปได้ในการเข้าใจโลกของทุกคนก็จะกว้างขึ้น ในขณะที่โปรดิวเซอร์หนังไทยส่วนใหญ่อาจจะมองว่าทำแบบนี้ไม่ได้นะ คนดูไม่คิด แต่ว่าจะไปคิดแทนคนอื่นได้ยังไง คนดูเขารู้สิ เขาก็ดู Netflix ดูเกาหลี เขาดู HBO กันทั้งประเทศ มีแต่เราเนี่ยที่ไม่ยอมทำงานออกมาให้มันไปต่อ มันโทษคนดูไม่ได้แล้ว เราเลยไม่โอเคกับโปรดิวเซอร์ที่บอกว่าคนดูไม่พร้อม มันคือการดูถูกคนดูมากๆ Co/exist เลยเป็นอีกด้านหนึ่งที่สุดทาง
เราไปเล่นข้างนอก นั้นคือประสบการณ์ที่เราคิดว่า ใช่ ละครมันเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ สำหรับเรามันมีความหมายมากที่ต้องไปเล่นที่นั่น เพราะว่ามีความพัง ความก่อสร้าง สิ่งนี้ แสงสวยๆ มันมาอยู่ตรงนี้ได้ไง
Life MATTERs : พลังที่ได้รับจากคนดู Co/exist เป็นไงบ้าง
นพพันธ์ : วันที่สองที่สามเราเพิ่งมาเก็ตว่าเราไม่ควรถามอะไรคนดูแล้ว เพราะเขาคงน่าจะเหนื่อยกับการนั่งดู 1 ชั่วโมง 45 นาที ร้อน อึน ภาษาอังกฤษที่ฟังแล้วก้องไปก้องมา เราควรให้เขากลับไปอึนก่อนแล้วค่อยว่ากันอีกที เราอยากรู้เหมือนกันนะ แต่เราเค้นเขาไม่ได้ แต่ส่วนตัวคิดว่ามันเบ็ดเสร็จในนั้นแล้วล่ะ ไม่มีอะไรคลุมเครือ มันมีความงง แต่เราไม่ได้สนใจตรงนั้น เราสนใจแค่โมเมนต์ของซีน ซึ่งมันท้าทายคนดู แต่อย่างน้อย ถ้าฟีดแบ็คดี นักแสดงก็ได้อะไรในระดับหนึ่งที่มากกว่าความเหนื่อย เพราะเราไปเล่นข้างนอก นั้นคือประสบการณ์ที่เราคิดว่า ใช่ ละครมันกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ สำหรับเรามันมีความหมายมากที่ต้องไปเล่นที่นั่น เพราะว่ามีความพัง ความก่อสร้าง สิ่งนี้ แสงสวยๆ มันมาอยู่ตรงนี้ได้ไง
Life MATTERs : โปรเจกต์ต่อไปได้คิดๆ กันไว้หรือยัง
นพพันธ์ : ก็คิดคร่าวๆ ไว้ ว่าจะทำสักสองสามโปรดักชั่น แผนคือภูมิและจั่นมีบทของเขาทั้งคู่ อยากมีการทำโปรเจกต์เกี่ยวกับการอ่านบท ไม่มีการแสดงเท่าไหร่ เหมือนละครพูด แล้วก็ฟังสารไปเรื่อยๆ ภาพที่จั่นเคยพูดถึงคือ The Handmaiden บางที text มันทำงานกับเราแรงมากโดยไม่ต้องมองอะไร ไม่ต้องมีแอคติ้งมาเสริม ก็อยากทำอะไรแบบนั้นเป็นอันต่อไป แล้วก็เรื่อง สเปซ ที่เราอยากพาคนดูไปเปิดใจ ทั้งเราก็คงค้นหากันไปว่าละครไปอยู่ที่ไหนได้อีกบ้าง