พูดถึงทะเล หลายคนก็มักจะฝันหวานถึงทะเลแสนงาม ฟ้าสีครามสดใส แต่ที่จริงทะเลยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าเป็นห่วง อย่างเช่นความตายอย่างเกินจำเป็นของสัตว์ทะเล หรือเรื่องขยะมหาศาลที่พวกเราส่งลงไปข้างใต้นั่น และเขาคนนี้ก็คือผู้ที่คอยเก็บภาพความจริงที่น่าเศร้าของท้องทะเลให้พวกเราได้เห็นกันบ้าง
ชิน—ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย คือช่างภาพใต้น้ำมือฉมังที่เคยฝากฝีมือไว้กับนิตยสาร National Geographic Thailand ทั้งยังคว้ารางวัลชนะเลิศช่างภาพใต้น้ำระดับโลกของ Save Our Seas Foundation ปี 2016 มาครอง ผลงานโดดเด่นและสิ่งที่เขามุ่งมั่นตั้งใจ จึงทำให้เขาได้เป็นหนึ่งใน speaker ของ TEDxBangkok ในปี 2017 นี้
มารู้จักทะเลให้มากขึ้นไปพร้อมๆ กับที่รู้จักเขาคนนี้—ผู้มีทะเลเป็นชีวิตและจิตใจ
Life MATTERs : จากที่เคยสื่อสารผ่านภาพมาตลอด พอต้องสื่อสารด้วยคำพูดบนเวที TED รู้สึกว่ายากหรือง่ายขึ้นไหม
ชิน : ยากนะ เพราะผมพูดเรื่องที่มันเทคนิคัลหน่อยๆ แล้วการจะเอามาพูดให้สมูธ โดยไม่สะดุด และให้คนฟังสนใจ มันเป็นชาเลนจ์ใหญ่ที่ผมเจอ ก็เลยพยายามเขียนสคริปต์เป็นคำต่อคำไปก่อน แล้วค่อยๆ มานั่งเกลาจนมันกลายเป็นคีย์เวิร์ด แล้วค่อยทำให้มันสมูธในตอนหลัง
Life MATTERs : ระหว่างภาพกับการพูด สำหรับคุณคิดว่าอย่างไหนทรงพลังกว่ากัน
ชิน : สำหรับผม ยังคิดว่าเป็นภาพอยู่ หรือผมขี้เกียจก็ไม่รู้นะ การพูดสำหรับผมมันใช้พลังงานมาก เหมือนต้องมองคนฟังตลอดเวลา เพื่อที่จะมั่นใจว่าพอยท์ที่เราจะสื่อมันไปถึงเขาแล้วจริงๆ ซึ่งผมยังมีความมั่นใจในภาพมากกว่า กับการใช้แคปชั่นสองประโยค อะไรที่ไหน อย่างไร คอนเท็กซ์ต่างๆ ภาพรวมที่สื่อถึง ผมว่ามันชัดเจน ง่าย คนสามารถใช้เวลาละเลียดได้ ไม่ต้องโฟกัสตลอดทุกคำที่พูด เพราะจริงๆ ผมพูดไม่เก่งเลย พวก เอิ่ม อ่า อืม อะไรแบบนี้จะเยอะมาก
Life MATTERs : ถึงจะเป็นการสื่อสารในแบบที่ต่างจากเคย แต่เรื่องที่จะเล่ายังคงเหมือนเดิมอยู่ไหม
ชิน : ก็ยังคงเป็นเรื่องของการอนุรักษ์แหละครับ เพราะเรื่องอนุรักษ์ยังไม่อยู่ในสื่อกระแสหลักขนาดนั้น ผมก็เลยอยากให้มันไปถึงคนวงกว้างขึ้น ด้วยวิธีเล่าที่เราสนใจ นั่นก็คือการถ่ายภาพเพื่อเล่าเรื่อง ซึ่งมันใช้ effort เยอะมาก แต่ผมไม่รู้สึกเหนื่อยกับมันเลยนะ ผมรู้สึกว่าเหมือนได้ใช้ชีวิตมากกว่า คืออยู่ในเมืองแล้วผมเบื่อ อยากออกไปทำงานข้างนอกอย่างนั้นตลอด จริงๆ คือใครได้ทำงานพวกนี้แล้วจะหยุดยาก ถึงต้องออกไปเป็น 4-5 วัน เพื่อจะได้มาเป็นภาพหนึ่ง แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าง่ายกว่าไปนั่งพูดให้คนฟัง
Life MATTERs : คิดว่ามีคนได้รับสารจากภาพถ่ายของคุณไปมากพอหรือยัง ฟีดแบ็กเป็นอย่างไรบ้าง
ชิน : ในกลุ่มที่เข้าถึง ผมว่าฟีดแบ็กดี แต่ในการสื่อสารมันก็ยังไม่พออยู่ดีนะครับ เพราะสื่อหลักๆ ที่คนทั่วไปจะเสพเขาไม่ได้มองว่าเรื่องพวกนี้เป็นไฮไลต์อะไรขนาดนั้น ซึ่งมันน่าเครียดนะ ที่สื่อไม่ยกเรื่องนี้มาเลย ทั้งที่เป็นเรื่องที่น่าพูดมากๆ เพราะท้ายที่สุดมันจะกระทบทุกคน
กลับมาที่งานผม พวกนักอนุรักษ์ ช่องทางสื่อสารของเราก็จะเป็นนิตยสารสารคดี หรือ National Geographic ก็จะมีกลุ่มเป้าหมายของเขา คนที่เสพก็จะเป็นคนที่สนใจประเด็นพวกนี้อยู่แล้ว แต่คนที่ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ก็นับว่ายากที่จะให้เขาเข้ามารับรู้ว่ามันมีปัญหาอยู่
Life MATTERs : ปัญหาสิ่งแวดล้อม มันเกี่ยวข้องกับเรา—พวกมนุษย์ทำงานห้องแอร์แล้วปิดหูปิดตาอย่างไรบ้าง
ชิน : สิ่งแวดล้อมมันส่งผลถึงระบบนิเวศ ไปถึงวิถีชุมชน วิถีชุมชนก็ไปแตะระบบเศรษฐกิจ ส่งผลกับสภาพสังคม โดยภาพรวม มันลิงค์กันหมดจริงๆ เหมือนคำว่า butterfly effect ที่คนพูดถึงกันเยอะ และปัญหาทะเลไทยตอนนี้เป็นอันดับที่ 6 หรือ 5 ของโลก ขึ้นอยู่กับว่าเราอ้างอิงรีพอร์ตตัวไหน เราปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลหนึ่งล้านตันต่อปี แล้วขยะพวกนี้มาจากไหน ก็มาจากสิ่งที่คุณบริโภคกันในเมือง บนตึกสูง สุดท้ายคิดว่ามันไปอยู่ที่ไหน?
ถามว่าพวกนี้เราสามารถทำอะไรได้บ้าง อย่างแรกเลยคือการตระหนักรู้ในเรื่องขยะพลาสติก ซึ่งแค่ในเชิงพฤติกรรมของเราอย่างเดียวอาจไม่พอ เราอาจไปถึงการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนในเชิงนโยบายด้วย เช่น ในจุฬาฯ ที่เซเว่นไม่ให้ถุงพลาสติก อยากได้ถุงคุณต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งมันทำให้คุณได้หยุดคิดว่าคุณจำเป็นต้องใช้มันหรือเปล่า
หรืออีกประเด็นหนึ่ง ปศุสัตว์ หมู ไก่ ที่เรากินกัน สิ่งที่เขาใช้เลี้ยงให้มันโตขึ้นมันคือพวกปลาเล็กปลาน้อยที่ใช้อวนตาถี่ลากขึ้นมาเป็นจำนวนมหาศาล แล้วเอามาบดๆ เป็นอาหารไก่ มันเป็นการเสียทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่ามากๆ เมื่อลองนึกว่าปลาพวกนั้นจะเติบโตไปได้อีกเยอะมาก นี่เป็นประเด็น overfishing ในเมืองไทย เช่นการประมงอวนลากของไทยในตอนนี้อัตราการจับปลาเหลืออยู่แค่ 6% จากเมื่อ 50 ปีก่อนที่คนเริ่มทำประมงแบบอุตสาหกรรม
แล้วทำไมเขาถึงยังทำอยู่ เพราะว่ามันขายได้ไง ดังนั้นระบบนี้มันต้องมีการพูดถึง เราจะปล่อยให้มันเป็นแบบนี้ต่อไปเหรอ เราสามารถหาสิ่งอื่นมาเป็นอาหารปศุสัตว์ได้ไหม เพราะตอนนี้เรากำลังทำลายทะเลอย่างไม่รู้ตัว ทั้งสนับสนุนการกวาดเอาทรัพยากรที่มีค่าขึ้นไปอย่างไร้ค่า แล้วทิ้งเอาขยะจำนวนมากลงไปแทน นี่เป็นแค่สองประเด็นนะ
Life MATTERs : ถุงพลาสติกที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งผลร้ายกับท้องทะเลได้มากแค่ไหน
ชิน : ตอนนี้ขยะพลาสติกส่วนใหญ่มันไปอยู่ในทะเล น่าจะประมาณ 70-90 % มันอยู่ที่การบริหารจัดการขยะของเราดีแค่ไหน แต่เท่าที่รู้คือมันคงดีไม่พอ ถึงได้หลุดไปขนาดนั้น พอหลุดไปในทะเลแล้วบางส่วนก็ถูกพัดพามาตามชายฝั่ง ขยะพลาสติกจากเรา บางทีก็ไปฆ่าชีวิตอื่น เช่น เต่าทะเลที่กินถุงพลาสติกเพราะหน้าตาเหมือนแมงกะพรุน หรือวาฬที่เวลาอ้าปากกว้างๆ แล้วสูบเข้าไปหมด ก็ไปติดในกระเพาะตาย มันเป็นอะไรที่น่าเหลือเชื่อนะครับ เราอยู่ห่างกันขนาดนั้น แต่เราทำให้พวกมันตายได้
มันเป็นตัวที่แสดงภาพได้ดีมาก ว่าพฤติกรรมของเราส่งผลต่อธรรมชาติได้ยังไงบ้าง ทะเลที่กว้างขนาดนั้น เรายังส่งผลกระทบถึงมันเลย อย่างตอนผมไปตามถ่ายภาพขยะที่ภูเก็ต ขยะในทะเลที่นั่นเป็นของไทยก็เยอะครับ แต่ก็มีพวกถุงขนมต่างประเทศลอยมาด้วย คือลอยข้ามประเทศมาอยู่ในเมืองไทย เห็นแบบนี้แล้ว จริงๆ ผมว่าโลกเรามันเล็กกว่าที่หลายคน percive ครับ
Life MATTERs : คิดว่าการปรับปรุงทะเลให้ดีขึ้น จะสามารถทำได้ภายในกี่ปี
ชิน : ผมมองไม่ออกว่ามันจะใช้เวลากี่ปี แต่ว่าจากสภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้ การที่คนเราอยู่กับธรรมชาติได้แบบยั่งยืนมันคงไม่น่าจะเกิดขึ้นในรุ่นลูก มันน่าจะเกิดขึ้นในรุ่นหลาน แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ถ้าเราไม่รีบเปลี่ยนตั้งแต่ตอนนี้มันก็จะไม่เหลือแล้ว และไม่มีวันเกิดขึ้นครับ ปัจจุบันปะการังไทยมีแค่ 6 % ที่ยังมีสภาพสมบูรณ์อยู่ ซึ่งแนวโน้มที่เราจะเสียมันไปคือ 1% ต่อ 1ปี ดังนั้น เรามีเวลาอีกแค่ไม่กี่ปีเองในการที่จะรักษามันให้อยู่ โดยปะการังที่ปากบาราซึ่งผมเพิ่งไปถ่ายสารคดีมา ตรงนั้นถือเป็นที่สุดท้ายแล้วที่ยังสมบูรณ์ที่สุดในอันดามัน
แต่ถ้าพูดถึงความหวัง ผมว่ามันดีขึ้นนะครับ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปหน่วยวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งชาติ ที่เขาสร้างหน่วยงานใหม่ขึ้นมา มี progress ดีมาก พีพีโมเดล (โครงการฟื้นฟูสภาพทะเลในอุทยานแห่งชาติเกาะพีพี) นี่สามารถทวงคืนเงินที่หายไปได้เยอะแยะมหาศาล แค่ปฏิรูปโครงสร้างภายใน ทำให้จากเคยได้แปดร้อยกว่าล้านบาทต่อปี กลายเป็นสองพันกว่าล้านได้ โดยที่ทรัพยากรธรรมชาติไม่ถูกทำลายไปกว่าเดิม ซึ่งเงินขนาดนั้นมันสามารถทำโครงการได้อีกเยอะมาก
เงินสองพันล้านทำไรได้บ้าง โอ้โห ผมว่าซื้อเรือ ซื้ออุปกรณ์หน่วยงาน ปรับปรุงออฟฟิศ และยิ่งกว่านั้นจริงๆ ผมว่าถ้าเปลี่ยนโครงสร้างภายในอีก เช่นการเพิ่มฐานเงินเดือนพนักงานที่ทำหน้าที่ภาคสนาม ที่เขาเหนื่อยๆ ตากแดดทั้งวัน ให้เขาพร้อมจะทำต่อ และให้คนที่มีความสามารถสนใจที่จะเข้ามาทำมากขึ้น ผมว่ามันเป็นหนึ่งในการปฏิรูปที่ทำได้จริง
Life MATTERs : สมมติทะเลโทรมมากแล้วมันจะกระทบชีวิตของคนที่อยู่บนตึกสูงได้อย่างไรบ้าง
ชิน : อย่างแรกคืออุตสาหกรรมซีฟู้ด ราคาอาหารแพงขึ้นแน่นอน โอเค เมืองไทยเราเลี้ยงสัตว์เยอะ เอ็กซ์พอร์ตเยอะ อุตสาหกรรมเราใหญ่ แต่ปลาเล็กปลาน้อยมันไม่มีโอกาสขยายพันธุ์ต่อ มันก็มีไม่พอให้เรากินหรือขาย เราก็ต้องอิมพอร์ตจากที่อื่น แต่ตอนนี้เรายังคิดกันแค่ว่าใช้ที่มีกันไปวันต่อวัน ทั้งที่ถ้าเราเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กันตั้งแต่ตอนนี้มันจะดีแน่ๆ ในระยะยาว
Life MATTERs : เคยรู้สึกไหมว่าตัวเองให้อะไรกับทะเลมากกว่าชีวิตส่วนตัวของตัวเอง
ชิน : ไม่เคยรู้สึกว่าการทำงานกับทะเลมันเบียดบังชีวิตส่วนตัว เพราะผมมองว่าตรงนี้มันก็คือชีวิตผมเลย แยกกันไม่ได้แล้วครับ
Life MATTERs : ในวันที่ต้องออกไปถ่ายรูปใต้น้ำ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ชิน : ต้องใช้เวลาเตรียมตัวอาจจะเป็นเดือนในการเขียนสเก็ตช์ ไว้ก่อนเลยว่าอยากได้ภาพอะไรบ้าง composition ไหน เทคนิคไหน ครึ่งบกครึ่งน้ำ ถ่ายจากด้านบน หรือถ่ายจากด้านล่าง อยากได้แสงตอนไหน แล้วจะเรียงภาพยังไง ลิสต์ไว้ก่อนเยอะมาก พอทำงานมันจะง่ายเลย
ที่เหลือก็ไม่มีอะไร มีโทรไปหา fixer หรือคนท้องถิ่นที่ช่วยประสานงานในพื้นที่ให้บ้าง ให้เขาพาไปหาคนที่ผมอยากจะเจอ หรือพาไปในที่ที่คล้ายกับที่ผมวาดภาพไว้ พอไปถึงแล้วก็แค่รอให้สิ่งต่างๆ มันเกิดขึ้น เช่น น้ำสาดขึ้นมาติดหน้ากล้องใต้น้ำแล้วมีเหยี่ยวบินมาสักหน่อย ซึ่งบางครั้งก็ต้องลุ้นนะครับ ว่าสิ่งที่รออยู่มันจะเกิดขึ้นไหม
มีครั้งหนึ่งผมออกไปล่องเรือกับชาวบ้านที่จะจับปลากระโทงร่ม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทะเลอันดามัน และเป็นปลาที่มีจมูกแหลม กลุ่มเดียวกับปลา Marlin ในเรื่อง Old Man and the Sea น่ะครับ ผมก็ขึ้นเรือไปกับชาวประมงที่เขาจะจับปลาตัวนี้ วันแรกออกไปตั้งแต่เช้ามืด เตรียมกล้องขึ้นเรือ ผมก็นั่งง่อยๆ รออยู่บนเรือ เขาจับไม่ได้ก็เสียเวลาไป 1 วันในการนั่งรอ พอวันต่อมาออกเรืออีก ก็ไม่ได้กลับมาอีก คิดว่าเราคงไม่ได้เจอมันแล้ว
แต่ตอนที่เรากำลังกลับจะไปถึงฝั่งแล้ว กลับมีปลาตัวหนึ่งที่โดนปลาตัวอื่นแทงตายลอยขึ้นมาพอดี ซึ่งภาพที่เราคิดไว้คือ ถ่ายเสยขึ้นมาจากใต้น้ำ แล้วตอนที่ชาวประมงเอาปลาขึ้น เขาจะเอาตาขอเกี่ยวแล้วก็ลากขึ้นเรือมา ผมก็แค่รอถ่ายเท่านั้นเอง เวลาถ่ายงาน นาทีเดียวก็เสร็จแล้วครับ ที่เหลือคือการนั่งรอ รอให้ element ต่างๆ จะมารวมอยู่ที่ภาพนั้น
เคสนี้ element ที่ต้องการคือเห็นตาปลาชัดๆ เห็นจมูกนิดๆ สำคัญที่สุดคือเลือด เลือดที่เยอะ ถ้าหากว่าปลาตัวนี้มันตายมานานแล้วเลือดมันจะไม่เป็นสีแดงสด โชคดีมากที่เราเจอมันตอนกำลังโคม่า กำลังจะตายลอยมาหน้าเรือ เลือดนี่สาดออกมา ก็ได้รูปที่ต้องการแหละครับ ผมแพลนไว้ว่าสองวัน แล้วมันก็ได้จริงๆ เพราะความจริงแล้วมันน่าจะใช้เวลาเป็นอาทิตย์
Life MATTERs : มีการดีลกับชาวประมงหรือคนทำงานอย่างไร เพราะสุดท้ายภาพของเราอาจจะเป็นการตั้งคำถามกับสิ่งที่พวกเขาทำ
ชิน : พวกงาน journalist เนี่ย คนในพื้นที่สำคัญมากครับ เราจะต้องมี fixer พาเข้าไปทำงานในพื้นที่ ซึ่ง fixer เป็นอาชีพที่คนไม่รู้ว่ามีอยู่ แต่มันสนุกมาก ได้ออกไปติดต่อกับพวกมาเฟียมีอิทธิพลอะไรพวกนี้ด้วย ยิ่งสำนักข่าวใหญ่ๆ อย่างรอยเตอร์ fixer จะสำคัญกับพวกเขามาก
Life MATTERs : มีน่านน้ำ หรือทะเลที่ไหนที่อยากไปอีกบ้าง
ชิน : อยากไปหมดแหละครับ คือถ้าอยากโตในระดับอินเตอร์ก้ควรออกไปให้กว้างขึ้น แต่ผมอยากถ่ายเมืองไทยที่สุด ผมว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะเล่าให้คนในบ้านเราฟัง เพราะจริงๆ แล้วบ้านเราเป็นที่ที่น่าสนใจ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และยังมีปัญหาอีกเยอะ ทั้งเอเลี่ยนสปีชีส์ เช่น การเอาสัตว์ต่างถิ่นมาปล่อย ทำให้มันทำลายระบบนิเวศน์ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่นการตกปลาแปลกๆ จากอะเมซอนได้ อย่างปลาซัคเกอร์ ปลาราหู ปลาพวกนี้กินลูกปลาประจำถิ่นของเมืองไทยหายไป
ยังมีปัญหาอีกเยอะครับ รวมถึงการจัดการให้พื้นที่ในประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ควรค่าแก่การมองดู เพราะถ้าที่นี่สวยดีอยู่แล้ว ภาพที่มองเห็นก็จะเป็นความสวยงาม ความสมบูรณ์ เป็นไปได้ผมก็อยากถ่ายเรื่องพวกนั้นแหละ แต่สิ่งเหล่านี้มันยังมีอยู่ ยังมีสิ่งที่เสื่อมโทรม ถูกทำลาย ผมก็เลยจะต้องถ่ายเรื่องพวกนี้ออกมา เพราะมันคือบ้านเรา
Life MATTERs : จะมีคนที่ดำน้ำเป็นงานอดิเรกเพราะเห็นว่าทะเลมันสวย ถ้าดำน้ำไปสักระยะหนึ่ง เขาจะมองเห็นปัญหาของทะเลไหม
ชิน : ถ้ากลุ่มที่จริงจัง วงการดำน้ำจริงๆ มันแคบมากครับ ก็รู้จักกันหมด และทั่วไปคือเขาจะสนใจเรื่องพวกนี้กันอยู่แล้วครับ ที่เขาเห็นความสวยงามนั่นเขาก็ไม่อยากให้มันหายไป ถามว่าเห็นปัญหาหรือเปล่า ก็น่าจะเห็นอยู่แล้วครับ เพราะผลกระทบทางทะเลสามารถเห็นได้ในช่วงระยะเป็นปี เป็นเดือน เขาเอามาเล่าเอามาพูดถึงมันก็มีอิมแพ็ค แต่คนที่จะเอามาทำเป็นอาชีพเลยก็ไม่ได้มีเยอะ
Life MATTERs : เพราะอาชีพนี้มีความยากในตัว?
ชิน : เป็นอาชีพที่ยากครับ โดยเฉพาะเรื่องความไม่แน่นอนของงาน เพราะงานพวกนี้ทาร์เก็ตหลักคือให้ถึงประชาชนทั่วไปในวงกว้าง แต่คนที่จะจ้างเราเป็นแค่องค์กรเล็กๆ ไม่กี่กลุ่มเท่านั้น
Life MATTERs : ทางอยู่รอดของอาชีพนี้คืออะไร
ชิน : อย่างแรกเลยคือเราต้อง establish ตัวเองเข้าไปในงานนี้ให้ได้ก่อน ต้องทำสตอรี่ ทำอะไรที่ถนัดหรือมีความรู้ ทำให้เรื่องมันแน่น ทำงานของเราให้ดี ซึ่งก็เหมือนเป็น portfolio ของเรา อันนี้สำคัญ หรือการได้ publish ในนิตยสารที่มีชื่อเสียงเช่น National Geographic ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการที่จะทำให้คนรู้จัก
เพราะหลังจากที่งานผมได้ลงไป ก็มีคนจ้างเยอะขึ้นมากถ้าเทียบกับช่วงแรกๆ ที่ไม่ค่อยมีงาน หลายครั้งเรารู้ว่ามันไม่คุ้มกับเงิน แต่มันเป็นเรื่องที่ต้องเล่า ก่อนที่จะไม่มีโอกาสให้เล่าได้อีกแล้ว สิ่งเหล่านี้ผมว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ดูไม่ฉลาดเท่าไหร่เลย แต่มันต้องวัดใจ ซึ่งถือว่าโชคดีที่ผมวัดแล้วมันรอดมาได้
Life MATTERs : เมืองไทยต้องการช่างภาพใต้น้ำเพิ่มขึ้นไหม
ชิน : จริงๆ ช่างภาพใต้น้ำก็มีเยอะนะครับ แต่เมืองไทยต้องการเพิ่มหรือเปล่า อันนี้ผมมองว่าอยู่ที่ช่างภาพแต่ละคนทำอะไรออกมาให้สังคมได้บ้างมากกว่า เพราะภาพถ่ายก็เป็นภาษา เราเล่าอะไรออกมาให้คนได้เห็น อาจจะรีชไม่เยอะ แต่รีชคนนึง แล้วเขาก็รีชต่อไปเรื่อยๆ มันก็ดีแล้ว that’s how human work ผมเชื่อว่าอย่างนั้นนะ พยายามเชื่อ เพราะถ้าคนนึงมันสั่นสะเทือนไป คนใกล้ๆ มันสั่นต่อๆ มันก็น่าจะไปถึงจุดที่เรามองไว้ในอนาคตได้
Life MATTERs : คุณเองมีการ Work-Life Balance อย่างไรบ้าง
ชิน : ไม่มีเลยครับ ไลฟ์สไตล์ผมแย่มาก กลางวันนั่งทำงานอยู่ร้านกาแฟ กลางคืนที่โอเคๆ ก็ไปอยู่ร้านเหล้า มีแค่นั้นเลย เวลาที่ผมอยู่ในเมืองไม่ได้ไปทำงาน ผมเบื่อ และผมก็เฝ้ารอ ว่างานที่ผมอยากเล่าจะมาอีกทีเมื่อไหร่ ก็หาโอกาสคุย จริงๆ คือนั่งอีเมล์เยอะนะว่ามีเรื่องแบบนี้จะเล่านะ มีทุนอะไรให้ทำไหม คุยไปเรื่อยๆ
และถ้ารอแค่ในเมืองไทยอย่างเดียวก็ยาก เราก็ต้องไปหาจากเมืองนอกด้วย งานอย่างนี้ในไทยมันไม่มีคนจ้างมากพอ ผมก็เข้าใจนะ เพราะถ้าหากว่าเขาไม่ใช่องค์กรอนุรักษ์ที่จะสื่อสารเรื่องพวกนี้ เขาก็คงไม่เห็นประโยชน์ในการจ้างคนแบบผมไปทำงาน งานพวกนี้เมืองนอกจ่ายดีมากนะครับ รูปหนึ่งก็ 5,000-10,000 บาท หรือคิดเป็นวันก็มี ถ่ายกี่วันได้เท่าไหร่ ก็ทำกันยาวๆ ไปเลย ส่วนบ้านเราไม่ใช่แบบนั้น
ปัญหาคือผมว่าสื่อเมนสตรีมในเมืองไทยไม่ได้ให้ค่ากับการอนุรักษ์มากพอ พฤติกรรมคนเสพสื่อก็เปลี่ยนไป เราเลือกอ่านโพสต์สั้นๆ หรือเขียนสั้นในเฟซบุ๊ก แทนที่จะเสียเงินไปซื้อนิตยสาร เท่านี้มันก็ส่งผลต่อสื่อสิ่งพิมพ์อย่างที่เราบ่นกันอยู่
แต่ผมว่าภาพถ่ายพวกนี้มันก็ยังมีพลังอยู่ครับ ภาพถ่ายที่ใช้เวลาในการที่ลงไปอยู่เพื่อเก็บภาพพวกนั้นจริงๆ มันมีคุณค่าของมันอยู่ แค่อาจจะหายไปในคลื่นของอินฟอร์เมชั่นในยุคนี้ แต่ผมว่ามันก็ไม่น่ามีอะไรมาทดแทนได้เหมือนกันครับ เพราะมันก็เป็นคราฟต์เฉพาะทาง ส่วนฟอร์แมตที่ช่างภาพแบบพวกผมจะ struggle ต่อไปได้ อาจจะเป็นการจัด exhibition แต่ว่าภาพแลนด์สเคปสวยๆ อาจจะจัดได้แหละ แต่ภาพเลือดๆ ของผมคงไม่น่าจะได้เท่าไหร่ ก็คงต้องเน้นตลาดนอกเป็นหลักแหละครับ (หัวเราะ)
Photos by Adidet Chaiwattanakul