คงไม่มีใครไม่รู้จัก Jim Carrey ผู้พิสูจน์ฝีมือการแสดงมานักต่อนัก ทั้งในภาพยนตร์คอมเมดี้และดราม่า ไม่ว่าจะเป็น The Mask (1994), The Truman Show (1998) หรือ Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2014) แต่คงมีน้อยคนที่จะรู้ว่าหนุ่มใหญ่วัย 55 ปีคนนี้ มีความสามารถพิเศษอีกอย่างซ่อนอยู่ นั่นคือเขาวาดรูปได้ และวาดดีด้วย
เรื่องราวการวาดรูปของเราถูกบอกเล่าในสารคดีสั้นเรื่อง I Needed Color ซึ่งพาผู้ชมเข้าไปดูเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินหน้าใหม่ในสตูดิโอของเขาที่นิวยอร์ก ที่ทำให้เราไปเห็นภาพอื่นๆ ของเขานอกจากความคอมเมดี้ที่เราเห็นกันในหนัง
“ในฤดูหนาวอันเย็นยะเยือกของนิวยอร์ก ผมมองไปรอบๆ บ้าน มันช่างหดหู่เหลือเกิน และผมคิดว่าผมต้องการสีสัน” แคร์รีย์เล่าถึงช่วงปี 2010 ที่เขาเริ่มต้นจับพู่กันวาดภาพเพื่อรักษาแผลใจหลังจากเลิกรากับแฟนสาว Jenny McCarthy ซึ่งคบกันมานานกว่า 5 ปี
นับแต่นั้นมานักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดังคนนี้ ก็ห่างหายไปจากสายตาของสาธารณะชน (แม้จะยังมีตัวตนอยู่บนโลกออนไลน์บ้างผ่านแอคเคาต์ทวิตเตอร์) แล้วอุทิศตนให้กับการวาดภาพอย่างเต็มรูปแบบ
ในปี 2011 เขาจัดแสดงผลงานในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่มีชื่อสุดกวนว่า ‘Jim Carrey: Nothing To See Here’ ในแกลเลอรีแห่งหนึ่ง ณ เมืองปาล์มสปริง รัฐแคลิฟอร์เนีย ผลงานของแคร์รีย์เต็มไปด้วยสีสันสดใส และมีกลิ่นอายของป๊อปอาร์ต ซึ่งเสียงตอบรับจากนิทรรศการนั้นแตกออกเป็นสองฝั่ง—หนึ่งคือชื่นชม สองคือเฉยเมย (แต่หนักไปฝั่งที่สองมากกว่า)
เหตุผลหนึ่งเพราะแคร์รีย์ไม่ใช่เซเล็บคนแรกที่ลองก้าวขาเข้ามาในโลกศิลปะ ก่อนหน้านั้นดาราฮอลลีวู้ดหลายคน เช่น Dennis Hopper, Johnny Depp, James Franco ฯลฯ ก็เผยตัวตนอีกด้านที่เป็นศิลปินให้ชาวโลกเห็นเหมือนกัน ซึ่งแน่นอนว่าก่อนจะได้รับความสนใจและการยอมรับจากผู้คนในแวดวงศิลปะและบุคคลทั่วไป คนดังเหล่านี้ต้องพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าพวกเขามีความสามารถจริงๆ ไม่ใช่แค่ฉวยโอกาสจากชื่อเสียงของตัวเอง
ปีนี้แคร์รีย์จึงกลับมาอีกครั้งพร้อมนิทรรศการครั้งที่ 2 ชื่อว่า ‘Sunshower’ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายนที่จะถึงนี้ ณ Signature Galleries เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา โดยในวันแรกจะมีอีเวนต์พิเศษเพื่อขายภาพวาดของแคร์รีย์เป็นครั้งแรก ผู้ที่สนใจต้องควักเงิน 10,000 เหรียญสหรัฐ (ต่อ 2 คน) เป็นค่าบัตรเข้าร่วมงาน ซึ่งราคานี้รวมผลงาน 1 ชิ้นที่คุณเลือกได้เอง โอกาสในการพบปะพูดคุยแคร์รีย์ตัวเป็นๆ รวมทั้งฟิงเกอร์ฟู้ดและไวน์ที่เสิร์ฟไม่อั้นตลอดทั้งคืน
เท่าที่ดูจากภาพบางส่วนที่ปล่อยออกมา ผลงานในนิทรรศการครั้งที่ 2 ของแคร์รีย์ยังคงลายเซ็นเดิมเอาไว้ นั่นคือสีสันสดสวยและกลิ่นอายความป๊อป โดยคราวนี้ เว็บไซต์ blouinartinfo.com ถึงกับให้คำนิยามว่าผลงานของเขาเหมือนเป็น ‘การเจอกันระหว่างวอร์ฮอลและมาติส’
นอกจากนี้เว็บไซต์เกี่ยวกับศิลปะหลายแห่งยังชื่นชมในความเอาจริงเอาจังของแคร์รีย์ ซึ่งต้องยกเครดิตให้สารคดี I Needed Color นี่เองที่ช่วยเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของนักแสดงผู้นี้ให้คนภายนอกได้รับรู้
ผมคิดว่าการที่ใครคนหนึ่งจะเป็นศิลปินได้ พวกเขาต้องสร้างแบบจำลองชีวิตข้างในของตัวเองออกมา แคร์รีย์กล่าว
…สำหรับเราแล้ว ความสวยงามและความหมายของทุกสิ่งบนโลก แน่นอนว่ารวมถึงศิลปะด้วย ขึ้นอยู่กับสายตาผู้มอง ซึ่งผลงานของแคร์รีย์ในฐานะจิตรกรนั้นสวยหรือไม่ มีคุณค่าต่อวงการศิลปะหรือเปล่า หรือเป็นเพียงงานอดิเรกของคนดังและคนรวย ก็คงสุดแล้วแต่เราๆ ท่านๆ จะมองแล้วตีความ
แต่ถ้าให้เดา นักแสดงผู้คร่ำหวอดในวงการมายาอย่างแคร์รีย์อาจไม่สนใจมากนักว่าคนอื่นคิดอย่างไร (หรือสนแต่ก็ไม่รับมาเป็นภาระหนักอก) โดยเฉพาะเมื่อเขาได้พบความหมายอันยิ่งใหญ่และล้ำลึกของศิลปะด้วยตัวเองแล้ว
“ผมไม่รู้ว่าการวาดภาพสอนบทเรียนอะไร ผมรู้แค่ว่ามันปลดปล่อยผมให้เป็นอิสระ” แคร์รีย์ว่าไว้อย่างนี้ด้วยเช่นกัน
cover photo by I Needed Color
อ้างอิง