กิจกรรมพื้นฐานของมนุษย์อย่างเซ็กซ์นั้น มองกันได้หลายแง่เสียเหลือเกิน และคำอธิบายที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ ก็หนีไม่พ้นทางชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการ (Evolutionary biology) ที่มองความดึงดูดต่อเพศตรงข้าม ว่าเป็นภาพสะท้อนของการต่ออายุสปีชีส์ของเรา เมื่อชีวิตเราเปราะบางนัก เซ็กซ์จึงอาจเป็นเพียงทางรอดเดียว
การให้คำอธิบายแบบนี้ แม้จะช่วยชี้ให้เราเห็นแรงจูงใจในการมีเซ็กซ์ แต่นั่นก็ไม่ได้ตอบเหตุผลแห่งยุคสมัย ที่ว่าทำไมคนเราถึงไปนั่งตามผับบาร์ ก่อนจะลงเอยคืนนั้นกับใครคนหนึ่งในสถานที่แปลกตาสักแห่ง หรือบ่งบอกถึงความจำเป็นที่คนเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์กับใครสักคน—ทั้งหมดไม่ได้ทำเพื่อ ‘สืบพันธุ์’ ล้วนๆ สักหน่อย
ว่ากันว่าความสัมพันธ์ทางเพศ หรือความรู้สึกประเภทตื่นเต้นราวกับมีผีเสื้อบินว่อนในท้องนั้นเป็นผลพวงจากการเอาชนะความโดดเดี่ยวของมนุษย์เรานี่เอง และมนุษย์ก็โดดเดี่ยวมากกว่าที่เราคิดหรือรู้ตัว
ความโดดเดี่ยวเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่หมดวัยเด็ก จากที่เคยรู้สึกอบอุ่นสบายในสภาวะที่เราใกล้ชิดกับแม่ เมื่อแม่กอดเราผิวแนบผิว เราได้ยินเสียงหัวใจของเธอเต้น เราจะทำอะไรก็น่ารักน่าเอ็นดูไปเสียหมด แม้ไม่ต้องพูดอะไรความต้องการของเราก็จะถูกตีความและได้รับการตอบสนองเสมอ
จนเมื่อโตขึ้น เราเรียนรู้ที่จะต้องปกปิดร่างกายและของสงวน ในขณะที่ร่างกายเราเริ่มเรียกหาสัมผัสแบบอื่นนอกจากของพ่อแม่พี่น้อง กิจกรรมเนื้อแนบเนื้อก็กลายเป็นเรื่องวาบหวิวเกินอบอุ่นไปพร้อมๆ กัน จนหลายครั้งก็ต้องกดมันเอาไว้ให้ลึกที่สุด
ความพึงพอใจของคนอื่น ที่มีต่อการดำรงอยู่ของตัวเราก็ลดน้อยถอยลง ไม่ได้มีใครเห็นเราน่ารักน่าชังไปหมดอย่างที่พ่อแม่มองเราเมื่อยังเด็ก หรือหากจะมีใครสักคนพึงพอใจ ส่วนใหญ่ก็วัดเอาจากสิ่งที่เราทำหรือแสดงออกมา มากกว่าสิ่งที่เราเป็น
หลายแง่มุมในรูปลักษณ์ยามเปลือยของเราเอง ที่ขบถต่อตัวเราและทำให้เราหวาดกลัว จนเรารู้สึกว่าต้องซ่อนส่วนนั้นจากคนอื่นๆ ด้วยการใช้จ่ายเงินไปกับเสื้อผ้าและทรงผม เราเติบโตไปเป็นคนที่งุ่มง่าม เชื่องช้า เต็มไปด้วยความละอายและวิตกกังวล—เรากลายมาเป็นผู้ใหญ่ ผู้ถูกเนรเทศออกจากสวรรค์อย่างแท้จริง
นอกจากต้องปิดบังชิ้นส่วนร่างกายแล้ว การหันตัวเองเข้าหาคนอื่นก็กลายเป็นเรื่องยากขึ้น เพราะมิติของมนุษย์ที่โตแล้วนั้นซับซ้อนมากไปกว่าที่จะใช้ความ ‘ชั้นเดียว’ แบบเด็กๆ แล้วก็สามารถจูนกันได้ ในที่สุดเราก็เริ่มจับตาดูภาพลักษณ์และคอยเงี่ยหูระวังคำพูดของตัวเองอยู่ตลอดเวลา
หากเราเป็นสิ่งยิ่งใหญ่เช่นพระเจ้า เราอาจจะไม่รู้สึกถึงความโดดเดี่ยว เพราะเราไม่ต้องไปสัมพันธ์กับอะไร เราไม่ต้องรู้สึกถึงขีดจำกัดของตัวเอง เรายิ่งใหญ่ หาที่เปรียบไม่ได้
แต่เพราะเราไม่ใช่ เราอ่อนแอและรู้ถึงความจำกัดที่เรามี เราเกิดการเปรียบเทียบและต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างซับซ้อนตลอดเวลา ที่เราบอกว่าเราอยู่คนเดียวได้ นั่นอาจเพราะเราไม่มีวันอยู่คนเดียวได้จริงๆ เรายังต้องขึ้นอยู่กับการมีอยู่ของคนอื่นเสมอ เพราะถ้าไม่มีคนอื่นอยู่ คำว่าอยู่คนเดียว ก็คงไม่เกิดขึ้น
และสุดท้ายแล้ว การอยู่คนเดียวนั้นอาจจะผิดธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกหล่อหลอมให้ออกมาเป็นสัตว์สังคมอยู่สักหน่อย เราทั้งหลายจึงโหยหาความสัมพันธ์—และหากสัมพันธ์ระยะยาวยากนัก สำหรับบางคน ความสัมพันธ์ระยะสั้นก็พอถูไถ
ยิ่งความสัมพันธ์นั้นเป็นแบบผิวแนบผิวคล้ายกับที่เราเคยสัมผัสเมื่อยังเด็ก ยิ่งความสัมพันธ์นั้นได้เปิดเปลื้องตัวเราสู่ตัวตนแรกที่พยายามปกปิดด้วยเสื้อผ้าและทรงผม นั่นล่ะ บางทีมันอาจยิ่งทำให้คนเรารู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลงก็เป็นได้
เพราะในเบื้องลึกของจิตใจ เราไม่เคยลืมความต้องการเก่าแก่แต่แรกเกิด ซึ่งก็คือการได้รับยอมรับในแบบที่เราเป็น การได้รับความรักผ่านสื่อกลางคือร่างกายของเรา หรือเพียงได้อยู่ภายในอ้อมแขนของใครสักคน ความต้องการเหล่านี้ผลักดันเราให้คนหาใครสักคนอย่างกระตือรือร้นและไม่หยุดหย่อน… ใครสักคนที่เราจะจูบและหลับนอนผ่านค่ำคืนไปด้วยกัน นั่นอาจไม่ใช่แค่ความร่านหรือสัญชาติญาณในการสืบพันธ์ล้วนๆ สักหน่อย
Text by แมวกุหลาบดำ
Cover illutration by loemor
หมายเหตุ บทความนี้ดัดแปลงจาก Botton d. Alain. How to Think More about Sex.
London: Macmillan,2012.