มุมหนึ่งของชั้นสองบนตึก PMQ ที่รัฐบาลฮ่องกงแปลงโฉมจากแฟลตตำรวจเก่า ให้กลายเป็นอาร์ตสเปซ เราเจอร้านเครื่องประดับ Little Finger ซุกซ่อนอยู่
ภายในร้าน มีผู้หญิงสวมมาส์ก ผมประบ่า นั่งอยู่หลังเคาน์เตอร์และจดจ่อกับชิ้นส่วนอะไรสักอย่างในพื้นที่เล็กจ้อย ภายในร้านมีเครื่องประดับที่ทำจากโลหะและวัสดุประหลาดวางอยู่จนเรามองตาระยิบระยับ รู้เลยว่าวันนี้เงินไหลออกจากกระเป๋าแน่นอน
ชิ้นงานของเธอทั้งสวยเรียบและแลประหลาดในคราเดียว บางชิ้นแทบเดาไม่ออกว่าเป็นเครื่องประดับหรือ installation art กันแน่ แต่ก่อนที่เราจะนึกสงสัยอะไรไปมากกว่านั้น มาส์กบนใบหน้าหญิงสาวหลังเคาน์เตอร์ก็ถูกเปิดออก เธอส่งยิ้มและเราก็ได้มีบทสนทนายืดยาว
ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายและการเบียดเสียดของตึกสูงในฮ่องกง Pinky Wong คือศิลปินสาวผู้จบการศึกษาจากภาค Visual Arts ที่ Hong Kong Baptist University และ Saar College of Fine Arts ประเทศเยอรมัน โดยเธอสร้างชิ้นงานขึ้นมาจากมวลของบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง
ฮ่องกงทำให้เธอทั้งเครียดและมีไฟ เธอใช้ประโยชน์จากความกดดันจากพื้นที่แคบและตึกจำนวนมหาศาล บวกกับความสนใจเรื่องงานคราฟต์ ทั้งหมดนี้ได้ถูกถ่ายทอดผ่านงานจิวเวลรีของเธอได้อย่างจับจิตจับใจ
Life MATTERs : แบรนด์ Little Finger เกิดขึ้นได้ยังไง
Pinky : ฉันเริ่มทดลองแบรนด์นี้ตอนเรียนจบเมื่อปี 2011 และเริ่มสร้างแบรนด์อย่างจริงจังในปี 2012 ซึ่งตอนนั้นการผลิตเครื่องประดับที่ทำจากโลหะยังถือว่าใหม่อยู่ ยังไม่ค่อยมีใครรู้ว่าเราสามารถประดิษฐ์จิวเวลรีขึ้นเองได้ จากนั้นก็เริ่มไปออกงานตาม creative market ต่างๆ แต่มันสูบแรงมากๆ พอฉันได้ข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะเปิดตึก PMQ ให้ศิลปินและดีไซเนอร์ที่สนใจเข้ามาเช่าร้านและให้เช่าในราคาถูก (ค่าที่ที่ฮ่องกงแพงมาก—ผู้เขียน) ฉันจึงตัดสินใจที่จะลองเปิดร้านที่นี่เพื่อที่จะมีสตูดิโอไว้ผลิตงานด้วยในตัว
Life MATTERs : คุณเรียน fine arts ซึ่งเป็นสายที่กว้างมาก ทำไมถึงเลือกเจาะลึกไปที่เครื่องประดับ
Pinky : ตอนแรกฉันแค่สนใจงานคราฟต์และสิ่งที่เชื่อมโยงกับร่างกายมนุษย์ ดังนั้นโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่ทำ จึงเกี่ยวกับการออกแบบงานคราฟต์ที่มีความสัมพันธ์บางอย่างกับร่างกาย ฉันลงเรียนคอร์สการประดิษฐ์เครื่องเงินตอนเรียนมหาวิทยาลัย พอจะรู้เทคนิคพื้นฐานและคอนเซ็ปต์ในการผลิต จึงมีความคิดอยากที่สานต่อหลังเรียนจบ
หลังจากนั้นเลยลองไปเป็นผู้ช่วยประสานงานที่แกลเลอรีถ่ายภาพ แต่สำหรับฉันแล้ว รู้สึกว่าภาพถ่ายไม่ได้สร้างความสัมพันธ์กับคนดูอย่างชัดเจน อาจจะแค่แขวนไว้เฉยๆ คนจะดูหรือไม่ดูก็รู้ แต่จิวเวลรีสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเครื่องประดับกับผู้ใส่ได้ ฉันเลยเลือกที่จะดีไซน์เครื่องประดับนับแต่นั้นมา
Life MATTERs : ทำไมคุณถึงสนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตัวชิ้นงานกับร่างกายมนุษย์
Pinky : ฉันคิดมาเสมอว่าทำไมคนเราถึงให้ความใส่ใจกับสิ่งที่อยู่กับร่างกายน้อยจัง นอกเหนือจากเสื้อผ้าน่ะนะ อย่างเช่น คนจะคิดว่าแหวนก็แค่รูปทรงวงกลมหนึ่งวง ถ้ามันกลายเป็นสี่เหลี่ยม คนก็อาจจะคิดว่ามันไม่ใช่แหวนอีกต่อไปแล้ว มันเลยเป็นข้อสงสัยในใจฉันตลอดเวลาว่าทำไมบางคนถึงไม่ค่อยจินตนาการว่าร่างกายของเราสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งของต่างๆ และใช้งานได้อย่างไรบ้าง
จิวเวลรีไม่ใช่แค่สินค้า ฉันมีความรู้สึกพิเศษกับร่างกายคน เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทำแหวนรูปทรงประหลาดขึ้นมา เวลาที่ลองเอาไปให้เพื่อนลองใส่ พวกเขามักจะถามกลับมาว่านี่ใส่ยังไง เป็นอาวุธไว้ทำร้ายคนหรือเปล่า (หัวเราะ)
ฉันหลงใหลในความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างคนและสิ่งประดิษฐ์ถักทอ ในแง่ที่ว่ามันสามารถเชื่อมโยงความเป็นมนุษย์ได้ทั้งกับผู้ผลิตและผู้สวมใส่ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างประสบการณ์ที่แตกต่างเวลาที่แต่ละคนใส่เครื่องประดับของฉัน เปิดพื้นที่ให้พวกเขาสัมผัสงานคราฟต์สไตล์ดั้งเดิมด้วย รวมถึงอยากให้สัมผัสถึงความเป็นฮ่องกงที่ที่เราอาศัยอยู่ไปพร้อมๆ กัน
Life MATTERs : ในชิ้นงานของคุณมีวัสดุหลายอย่างมาก คุณมีวิธีการเลือกที่จะผสมผสานวัสดุเหล่านั้นอย่างไร
Pinky : ฉันไม่ค่อยจำกัดตัวเองให้ใช้วัสดุที่จำกัด พอชิ้นงานต้องการสื่อสารเรื่องความรู้สึกที่มีต่อฮ่องกง ฉันก็ต้องหาวัสดุหลักที่จะสื่อสารคอนเทนต์หรือไอเดียออกไป ฉันใช้ทั้งปูน เส้นยาง ทอง เงิน หรือแม้กระทั่งงานถักก็ใช้วัสดุที่แตกต่างกัน เพราะต้องการสื่อสารความคอนทราสต์ออกมา สกิลพวกนี้ต้องฝึกฝนทำเอง เพราะในมหาวิทยาลัยจะสอนแต่ขั้นตอนพื้นฐานเท่านั้น
แต่หลักๆ แล้วฉันจะอยู่กับ metal jewelry เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเหตุผลก็ง่ายมาก เพราะเงิน ทองเหลือง หรือทองสามารถสื่อถึงความเป็นจิวเวลรีได้มากที่สุด และเป็นสิ่งที่จะทำให้คนจดจำงานของฉันได้ง่ายด้วย
การทำเครื่องประดับจากโลหะมีประวัติมายาวนานแล้ว ถ้าพูดถึงยุคนี้ ในยุโรปหรือประเทศไทยเองก็ดีไซน์ออกมาได้ดีมาก พวกเขาพยายามจะผสมวัสดุใหม่ๆ ให้เข้ากับเทคนิคดั้งเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันกำลังพยายามทำอยู่ ควบคู่กันไปกับงานคราฟต์
ฉันต้องการที่จะสร้างความหมายใหม่ให้กับงานคราฟต์โดยไม่ออกแบบผลงานมาให้เหมือนภาพจำของคนทั่วไป ฉันผสมผสานวัสดุหลายอย่างที่เจอได้ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ฉันเจอในเมืองบ่อยๆ และสื่อสารข้อความภายในที่รู้สึกเกี่ยวกับฮ่องกงออกมา วันเวลาเครียดๆ และพื้นที่คับแคบที่ฉันต้องอยู่อาศัยทุกวัน
Life MATTERs : การอาศัยอยู่ในฮ่องกงส่งผลอย่างไรต่องานของคุณ
Pinky : เมืองเล็กอย่างฮ่องกงมีอิทธิพลต่อการมองพื้นที่ของฉันในมุมที่พิเศษมาก ซึ่งมันสะท้อนออกมาในผลงาน ฉันพยายามที่จะนึกภาพพื้นที่เชิงลบ ที่เต็มไปด้วยเส้นยุ่งเหยิงและสื่อสารออกมาผ่านงานถักทอ
จินตนาการนี้เกิดขึ้นได้เพราะฉันทำงานอยู่ในสตูดิโอขนาดเล็ก รู้สึกถึงแรงกดดันจากเมืองและใช้งานเครื่องเรือนในพื้นที่แสนจำกัด สิ่งที่กระทบฉันรุนแรงอีกอย่างหนึ่งคือการรับรู้ว่าวัฒนธรรมของคนฮ่องกงเน้นประสิทธิภาพจากพื้นที่ใช้สอยมากขนาดไหน ในพื้นที่เล็กๆ นั้น มีมวลต่างๆ อัดแน่นอยู่แค่ไหน
ฉันเองสนใจเรื่องพื้นที่มาโดยตลอด คอลเล็กชั่นที่เพิ่งทำเสร็จไปเร็วๆ นี้ก็ประกอบไปด้วยรูปแบบ วัสดุและเทคนิคที่หลากหลายที่จะช่วยสื่อสารความรู้สึกของฉันที่มีต่อพื้นที่ทั้งในเชิงกายภาพและจิตใจ เวลาก็เป็นปัจจัยสำคัญถ้าฉันอยากทำงานที่ ‘เพอร์เฟ็กต์’ ออกมา ฉันไม่สามารถเร่งงานได้เลย ซึ่งมันก็เหมือนการทำสมาธิจดจ่อกับความช้าท่ามกลางเมืองที่เคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็ว
Life MATTERs : กว่าจะได้งานชิ้นหนึ่งต้องใช้เวลาเท่าไหร่
Pinky : แล้วแต่คอลเล็กชั่น ฉันมักจะทำไปตามใจเพราะมีไอเดียอยากทำนู่นทำนี่เยอะไปหมด ทั้งชิ้นงานที่ผู้คนอาจจะเข้าถึงยากมาก และชิ้นงานที่เป็นเชิง commercial เข้าถึงง่าย ทำให้คนเข้าใจได้ง่ายว่านี่คืองานของฉัน ที่สตูดิโอนี้ยังเปิดเวิร์คช็อบเดือนละครั้งด้วย
Life MATTERs : คุณยังได้ไปโชว์ผลงานที่หลายประเทศในยุโรป มันเกิดขึ้นได้ยังไง
Pinky : ฉันเริ่มจากการไปสมัครเข้าร่วมพวกงานอาร์ตแฟร์ต่างๆ ครั้งแรกคือที่บาร์เซโลนา ฉันคิดว่าหลายคนที่ทำงานสายนี้อยากจะไปโชว์งานที่นี่ หรือมิวนิคก็ด้วย เพราะเป็นเมืองที่มีพื้นที่ให้งานจิวเวลรีร่วมสมัยและมีอาร์ตแฟร์มากมาย
ฉันอยากจะรู้ว่างานของฉันไปอยู่ตรงจุดนั้นได้หรือยัง เพราะถ้าคุณอยู่แต่ในฮ่องกง ลูกค้าอาจจะเจอคุณและชอบงานของคุณ แล้วก็จบไป แต่ฉันอยากรู้เกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น ฉันจึงต้องออกเดินทาง ซึ่งคอลเล็กชั่นที่คุณเห็นอยู่นี้จะก็ได้ไปโชว์ใน yearbook ที่สเปน เยอรมันและอิตาลีค่ะ
Life MATTERs : สำหรับคุณแล้ว วงการศิลปะที่ฮ่องกงเป็นอย่างไร
Pinky : ฉันคิดว่าถ้าคุณพยายามที่จะโปรโมทงานของคุณในเชิงพาณิชย์ คุณจะสามารถได้เงินทุนหรือการสนับสนุนจากองค์กรได้ง่าย แต่ถ้าเป็นสาย fine art หรือ contemporary art คุณก็ต้องพยายามอย่างมากหรือไม่ก็ต้องชี้แจงว่าลูกค้าของคุณมีจำนวนประมาณเท่าไหร่
อย่างในยุโรป คุณจะเห็นคนใส่เครื่องประดับแบบนี้เยอะมาก แต่ในฮ่องกงยังไม่ค่อยแพร่หลายขนาดนั้น ความรู้ด้านนี้ยังไปไม่ถึง ลูกค้าของฉันส่วนใหญ่จึงเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ที่นี่หรือไม่ก็นักท่องเที่ยวชาวยุโรป พวกเขามักจะกลับมาบอกว่าเพื่อนชมว่ากำไลหรือสร้อยคอของเขาสวยยังไงบ้าง
Life MATTERs : แล้วเท่าที่เคยทำมา โปรเจ็คต์ในดวงใจของคุณคืออะไร
Pinky : ฉันชอบโปรเจกต์ที่หลากหลายเพราะชอบทำงานศิลปะหลายด้าน แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ได้มีโอกาสสำรวจความเป็นไปได้ของรูปทรงและเทคนิค ฉันชอบคอลเล็กชั่น “Making Curve” และ “Entity Extension” มากเพราะมันขยายจินตนาการของฉันกับการใช้วัสดุได้อย่างสมบูรณ์แบบ
แต่ตอนนี้ฉันเริ่มมาศึกษาเรื่องวัตถุดิบและรูปทรง ซึ่งก็สนุกมาก ฉันชอบการทดลองไปเรื่อยๆ แบบนี้เพราะรู้สึกว่าสามารถเล่นกับความเป็นไปได้ต่างๆ ของการดีไซน์และกระตุ้นให้ฉันลองค้นหาเล่นๆ ไปเรื่อยๆ ฉันชอบความรู้สึกแบบนี้ บางทีฉันอาจจะชอบความรู้สึกของการค้นคว้าทดลองในแต่ละคอลเล็กชันมากกว่าตอนที่ทำมันเสร็จเสียอีก!
Life MATTERs : ย้อนกลับไปที่คุณบอกว่าคุณสนใจเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับร่างกาย พบว่าลูกค้าหรือคนที่ชื่นชอบงานเข้าใจจุดประสงค์ของคุณมากน้อยแค่ไหน
Pinky : บางทีสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะแค่ เมื่อลูกค้าลองงานของฉันบนร่างกายของพวกเขา แล้วพบว่าเครื่องประดับหน้าตาประหลาดของฉันเข้ากับพวกเขาได้อย่างเพอร์เฟ็กต์ เท่านี้ฉันก็จะรู้สึกดีใจมาก และหวังว่าชิ้นงานออกแบบของฉันและสร้างความรับรู้ใหม่ต่อร่างกายของพวกเขา ว่าเครื่องประดับมันเชื่อมต่อและมีปฏิสัมพันธ์กับร่างกายของเราได้มากกว่าที่คิด
text and photo by ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
https://www.thelittlefinger.com
https://www.facebook.com/TheLittleFingerbyPinkyWong/