หลายคนยังคงอินอยู่กับ TEDxBangkok แต่บางคนอาจจะยังไม่รู้ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นดูจริงจังอลังการ ล้วนมาจากการทำงานอาสา ไร้สัญญาว่าจ้าง ไร้ค่าตอบแทน พูดง่ายๆ ก็คือทุกคนทำด้วยใจ จนเกิดเวทีใหญ่ที่ใช้ถ้อยคำสร้างแรงบันดาลใจหรือเสนอชุดความคิดใหม่ๆ ให้กับสังคมได้ และ พิ—พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน ก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญอีกคนหนึ่ง ที่ช่วยก่อร่าง TEDxBangkok มาตั้งแต่ปี 2015
จากนักศึกษาวิชาจีนศึกษา รั้วธรรมศาสตร์ ด้วยความที่ชอบดู TED Talks อยู่แล้ว และเอ็นจอยการคุยกับผู้คนในแง่มุมลึกซึ้ง เขาจึงเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครที่ TEDxChiangmai จนพบว่าสนุกกับมันและเขาเองมีศักยภาพในการช่วยสร้างคอนเทนต์ของ speaker ด้วย ดังนั้นเมื่อทีมอยากทำ TED ที่กรุงเทพฯด้วย เขาจึงไม่รอช้าที่จะเริ่มฟอร์มทีมกันตั้งแต่ตอนนั้น
ในตอนนี้พิริยะคือหนึ่งในทีม curator และ co-organizer ของงาน ซึ่งตลอดมาไม่เคยได้รับเงินกลับไปแม้แต่บาทเดียว แต่กลับมีบางอย่างที่ทำให้เขาไม่สามารถหยุดทำงานอาสาชิ้นนี้ได้เลย…
Life MATTERs : คิดว่าอะไรในตัวเองที่เหมาะกับการทำ TED
พิ : ผมเป็นคนที่เอนจอยการคุยกับคนมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้วโดยเฉพาะการคุยในวงเหล้า ซึ่งสเน่ห์ของมันคือการคุยแบบดีพๆ ที่บนโต๊ะอาหารเราอาจจะไม่คุยกัน อย่างเรื่องปรัชญา แนวคิดในเรื่องต่างๆ หรือเป้าหมายชีวิตอะไรแบบนั้นครับ ซึ่งพอเป็นงาน curator เนี่ย ผมที่เลิกเหล้าแล้ว ก็เลยได้ทำสิ่งเดียวกัน แล้วความสนุกและความท้าทายที่ตามมาหลังจากนั้นอีก ก็คือการทำยังไงให้สิ่งที่คุยกันบนโต๊ะ มันกลายเป็นไอเดียที่ทำให้เขาอยากหยิบไปพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก
ซึ่งตรงนี้มันเกิดจาก mindset ที่เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่โง่ที่สุดในห้อง ไม่ว่าเขาจะเป็น speaker ที่เรารีเสิร์ชมาแล้วมากน้อยแค่ไหน เวลาไปอยู่ตรงหน้า เราก็อยากฟังจากปากเขาว่าเขาคิดยังไง ไปเจออะไรมา ผมว่า mindset นั้น คงทำให้คนที่เราคุยด้วยรู้สึกว่าน้องคนนี้อยากรู้จักไอเดียเราจริงๆ ที่เหลือคือศาสตร์ต่างๆ อย่างเช่นศาสตร์การเล่าเรื่อง รวมถึงศาสตร์การเขียนบทอะไรพวกนี้ครับ มันก็คือการหารูปแบบการเล่าเรื่องที่เหมาะสมที่สุด แล้วลองไปแชร์กับเขาดูว่าจะสร้างคอนเทนต์อะไรออกมาได้บ้าง
Life MATTERs : คิดว่าการคุยกัน แชร์กันในเรื่องลึกๆ มันดีอย่างไรบ้าง
พิ : ไม่รู้สิ เราว่ามันทำให้เรารู้จักคนคนนั้นขึ้นไม่มากก็น้อย เช่น พี่ไปไหนมา ทำงานเหนื่อยไหม มันก็พอทำให้รู้จักกันได้ผิวๆ แต่พอเราคุยกับเพื่อนในเรื่องที่ต้องหรี่เสียงเบา ที่มันค่อนข้างเปราะบาง เราก็จะเห็นมุมมองของเพื่อนวงนั้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบ เรื่องผี ความกลัว หรือความอ่อนแอของตัวเอง เราว่าความเป็นคนจะออกมา ณ โมเมนต์นั้นมากกว่าการไปดูหนังด้วยกัน หรือสำหรับคนที่ทำงานด้วยกัน การคุยพวกนี้ก็อาจจะทำให้รู้สึกเหมือนปลดล็อคอะไรบางอย่างก็ได้นะ
Life MATTERs : การรับฟัง เรื่องที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนเราขนาดนั้น มันสำคัญ หรือส่งผลต่อการขับเคลื่อนสังคมอย่างไรบ้าง
พิ : เราว่าสำคัญมากเลยนะ เวทีแบบนี้มันทำสองหน้าที่ อย่างแรกคือหน้าที่ของ freedom of speech ซึ่งส่วนตัว เราคิดว่าการตำหนิ ติเตียน หรือการโจมตีกันในแง่ลบอย่างเดียว มันก็ส่งผลในรูปแบบหนึ่ง เช่นการวิพากษ์วิจารณ์ให้คนที่ทำงานอยู่พัฒนา แต่การพูดของ TED จะมีการเสนอทางออกของปัญหาหรือไอเดียใหม่ๆ มาด้วยเสมอ ซึ่งจริงๆ ถ้าไปดูคือปัญหามันโคตรเก่าเลยนะ อย่างเช่นเรื่องการแปะป้ายแบบ stereotype ปัญหารถติด ปัญหาวัฒนธรรม ฯลฯ
เรื่องพวกนี้ใครๆ ก็พูดกันอยู่แล้ว แต่เราจะหาวิธีการ มุมมองใหม่ๆ แล้วให้อิสระในการพูดกับเขา เราว่ามันเป็นวิธีการขับเคลื่อนสังคมแบบหนึ่ง และในอีกมุม มันทำให้คนได้รับรู้อีกหนึ่งลิ้นชักความคิด มีตลาดนัดความคิดที่ไม่ได้บอกว่าอะไรถูกอะไรผิด แล้วคนจะหยิบชุดความคิดไหนไปก็แล้วแต่คุณ
เดิมทีในสังคมเราจะมีชุดความคิดที่มันค่อนข้าง fix อยู่ว่าแบบไหนคือดี แบบไหนคือเหมาะสม แต่พอเรามีตัวเลือกทางความคิดมากขึ้น เราว่ามันจะขับเคลื่อนสังคมหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้
Life MATTERs : คิดว่า TEDxBangkok สามครั้งที่ผ่านมาส่งผลกับคนทำงานเองอย่างไรบ้าง
พิ : มันก็มีหลายเลเยอร์นะ กับทีมงานเองก็ชัดมาก เช่น มันจะมีแฮชแท็กที่แซวกันทุกปีหลังงานว่า ‘ทำ TED ลาออก’ คือคนที่มาเป็น volunteer ที่ TED พอจบงานแล้วจะลาออกจากงานประจำกันเยอะมาก เช่นพี่คนหนึ่งที่เดิมทีเขาเป็นนักวิจัย เรื่องไวรัสศึกษา ก็ลาออกไปทำงานด้านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กๆ ตัวเราเองก็เหมือนกัน จบงาน TED ปีแรก วันจันทร์ตื่นเช้ามา เราไปลาออกเลย
ไม่ได้บอกว่าการลาออกไปตามหาแพชชั่นมันเป็นสิ่งที่ดีหรือทุกคนควรทำนะ เพียงแต่ TED มันเป็น playgroud ที่มีสเน่ห์มาก คือไม่ว่าคุณเป็นใคร คุณสามารถกระโดดเข้ามาใช้ความสามารถที่อาจจะไม่ได้ใช้ในงานอาสาทั่วๆ ไป การทำ TED มันคือการใช้สกิลการจัดการ การบริหาร และทักษะอะไรอีกหลายๆ อย่าง
พอเราเอาสกิลที่มีมาใช้ในพื้นที่ตรงนี้ แล้วจบงานมา เราเห็นอิมแพ็คของมันอย่างชัดเจน เลยเกิดคำถามต่อมาว่าเราจะสามารถทำสิ่งนี้ในทุกๆ เช้าได้หรือเปล่า ซึ่งบางคนก็เจอความพร้อมที่จะทำสิ่งนั้นแล้ว บางคนก็ยังรอโอกาส รอจังหวะหลายๆ อย่างอยู่ ซึ่งเราว่ามันเป็นพื้นที่ที่เป็นเอกลักษณ์ดี
Life MATTERs : พอเป็น playgroud ที่มีคนมาทำงานกันเยอะๆ ทำให้เห็นธรรมชาติของคนทำงานรุ่นนี้ไหม
พิ : เห็นมากขึ้นครับ ไม่รู้ว่าเราอยู่ในวงที่แคบหรือเปล่านะ เพราะพอ TED เป็นงานที่ไม่ได้เงิน แถมมันแทบจะเข้าเนื้อด้วยซ้ำ อยู่ที่เข้ามากเข้าน้อย เช่นค่าเดินทาง ค่ากาแฟ เพราะเวลาประชุมก็จำเป็นต้องนัดกันร้านกาแฟเพราะสะดวกที่สุด แต่พบว่าหลายคนทุ่มเทกับสิ่งนี้มากกว่างานประจำ เช่น บางคนเลิกงาน 6 โมง แต่ working hours ของเราคือสองทุ่มถึงตีสี่ ทุกคนก็พร้อมจะทุ่มเทตรงนั้น แต่ไม่มีใครเรียกร้องว่าฉันต้องได้เงิน ต้องได้สิ่งตอบแทนที่เป็นสิ่งของ แต่ว่าสิ่งที่เขาได้กลับไปมันคือสกิล ที่ไปสร้างที่มีความหมายให้ชีวิตมากกว่าสิ่งที่เป็นผลตอบแทนทางธุรกิจ
เราว่าคนในทีมได้เต็มเติมในด้านนี้มากกว่า และจากที่เห็น ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่นะ ที่มองหางานที่มันเติมเต็มแบบนี้ ในสามปีมานี้ อายุเฉลี่ยของทั้งทีมงานและคนดูมากขึ้นเรื่อยๆ ปีแรกอายุเฉลี่ยของทีมจะอยู่ที่ 25-26 ปี ปีที่สองก็เริ่มมีเลข 3 มา พอมาปีนี้ก็เริ่มมีคนที่อายุแตะเลข 4 ประมาณ 4-5 คน บางคนก็ทำงานในตำแหน่งสูงๆ ไปแล้ว แต่เขาก็ลงมาลุยตรงนี้ด้วยความที่อยากปล่อยของ หรืออยากทำอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของเงิน ไม่ใช่เรื่องของการสร้างรายได้
Life MATTERs : จริงไหมที่ว่าคนเป็น volunteer ต้องมีความพร้อมด้านการเงินในระดับหนึ่ง
พิ : เราว่าที่บ้านก็ต้องพร้อมระดับหนึ่งครับ ถ้าต้องใช้หนี้ หาเงินผ่อน เราว่าคงไม่มีเวลามาทำงานอาสาขนาดนั้น ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่ผิดเลยที่เขาจะไม่ได้มาทำงานเพื่อสังคม เพราะทุกคนก็ต้องเอาตัวเองให้โอเคก่อน อย่างเจนพวกเรา ส่วนหนึ่งอาจจะพ่อแม่ปูพื้นฐานมาให้ระดับหนึ่งแล้ว อย่างน้อยเรามีข้าวกิน เรารู้ว่าถ้าเราตั้งใจทำงาน ไม่เลือกงาน เราก็ได้เงินมากินข้าวทุกวันแล้วแหละ
อย่างที่บอกว่างานอาสาสมัครมันเติมเต็มเราอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่เรื่องความอิ่มท้อง ถามว่าอยู่กันยังไง ทุกวันนี้ก็ไม่ได้รวยหรืออยู่สบายนะครับ ทุกคนก็มีงานประจำของตัวเองแล้วแบ่งเวลาเอา อย่างผมเองก็ทำบริษัทกับเพื่อนอีกคนที่เจอกันที่ TED นี่แหละ เขาทำสายอาร์ตไดเร็กเตอร์ ผมสายคอนเทนต์ ก็ออกมาเปิดบริษัทที่ทำเพื่อสังคมเหมือนกัน เช่นทำ Talk คนพิการบ้าง ทำนิทรรศการเรื่องสิ่งแวดล้อมบ้าง แคมเปญพวกการศึกษาบ้าง
ซึ่งเราก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราได้มากกว่าเรื่องเงินมันคือคอนเนกชั่น ซึ่งมันไม่ใช่แค่คอนเนกชั่นเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจอย่างเดียวนะ มันคือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เพื่อนที่อยากทำอะไรดีๆ เหมือนกัน บางคนก็เป็น volunteer งานอื่นต่อ บางคนออกไปเปิดธุรกิจด้วยกันก็มีหลายเคส เรารู้สึกว่าโอกาสตรงนี้มันคุ้มกว่าเงินที่ได้ ถ้าเทียบกับว่าเราเอาเวลาไปทำอย่างอื่น
Life MATTERs : แปลว่าคุณเชื่อ ว่าอุดมการณ์ก็ยังสามารถอยู่ได้ในยุคนี้
พิ : ผมเชื่ออย่างนั้น ซึ่งเราจะเห็นความคิดที่ว่า ถ้าจะช่วยสังคมจริงๆ มันไม่ควรแพง ทำดีก็ต้องไม่เก็บเงินสิ เป็นคนดีไม่ใช่เหรอ? แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามีนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากๆ ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน ถ้าเขารวยและเก่ง ความคิดของเขาจะเป็นที่ยอมรับทันที เราว่าสังคมในยุคหนึ่งวัดความสำเร็จของคนที่ตัวเลขในบัญชีมากเกินไปหรือเปล่า ทั้งๆ ที่เราไม่ได้มองที่กระบวนการระหว่างทางของเขาเลย
ถ้าคนยุคนี้หันมาให้คุณค่ากับคนที่ทำ process ระหว่างทางที่มันมีความหมาย คิดว่าก็จะมีคนที่หันมาทำเพื่อสังคมกันมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้เราก็เห็นคนหันมาทำอะไรแบบนี้มากขึ้นนะ แต่ก็ยังไม่พออยู่ดี กับปัญหาที่มีในสังคม
Life MATTERs : มีปัญหาอะไรอีกบ้างที่คุณอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
พิ : ผมอินเรื่องการศึกษาครับ อยากทำโรงเรียนของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันเราก็รู้สึกว่า TED มันเป็นมากกว่าอีเวนต์ ณ ตอนนี้มันยังเป็นอีเวนต์ที่ยังมาปีละครั้งอยู่ แต่ในความรู้สึกส่วนตัวคิดว่ามันไปได้ไกลมากกว่านั้นแล้วก็อยากให้มันไปได้ไกลกว่านั้น ทั้งเรื่องแนวคิด หรือวิธีการทำงาน และเรารู้สึกว่าคนที่ได้ประโยชน์กับการจัดอีเวนต์ก็คือ volunteer เองด้วยนะ อย่างเช่นสิ่งที่ speaker ได้คือเขาได้ฝึกพูด หรือระหว่างทางเขาเจอไอเดียของตัวเอง
แต่สิ่งที่ volunteer ได้รับคือความคิดที่ว่าเราทำได้! และเราตัวใหญ่กว่าที่คิด ซึ่งตอนนี้ด้วยความที่เราจัดแค่ปีละครั้ง มันก็ยังมีความถูกจำกัดอยู่ เช่นหลายคนที่เก่งมากๆ หรือทำได้อีกหลายอย่าง ต้องมาเป็นคนเปิดประตูวันงาน คือเราเสียดายที่เขาไม่ได้ใช้สกิลของเขาอย่างเต็มที่ เราอยากให้คนลองมาสัมผัสรูปแบบการทำงานของ TED มากขึ้น ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ แต่คุณก็สามารถพูดเรื่องเดียวกันได้ในระดับที่เท่ากัน
ซึ่งความเป็นไปได้คือก็การมี TEDx อื่นๆ ขึ้นมาอีกเยอะๆ ซึ่งก็มีคนตั้งคำถามนะ ว่าเยอะไปไหม เกร่อไปหมด คนจะเบื่อหรือเปล่า ซึ่งในมุมเราที่เป็นคนจัด หรือมุมที่เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่จัดทำทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับเมืองก็จะมาแชร์ มาปรึกษากันตลอด เพราะเรารู้สึกว่าทุกวันนี้คนเก่งๆ มีเยอะมากจนเวทีไม่พอ เรารู้สึกว่ายิ่งพื้นที่มีมากก็ยิ่งดี อย่างน้อยก็อย่างที่บอกว่าเป็นตลาดนัดทางความคิด มันอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากก็น้อย
Life MATTERs : สิ่งที่ดึงคนให้ยังทำงาน Volunteer ต่อไปคืออะไร
พิ : อันแรกคือทีมครับ งาน Volunteer ถ้าทำแล้วไม่แฮปปี้ เงินก็ไม่ได้ ความสุขก็ไม่ได้ คงไม่มีใครเอ็นจอยที่จะทำ ถ้าเราทำในความรู้สึกของคนที่เป็นเพื่อนกัน หรือคนที่เชื่อในอะไรคล้ายๆ กัน พอมาทำงานด้วยกันแล้วมันสนุก ทุกคนจะรู้สึกว่าเป้าหมายมันใหญ่กว่าตัวเอง คือเราอาจจะเป็นแค่พนักงานออฟฟิศหรือเด็กจบใหม่คนหนึ่งที่ก็ไม่รู้จะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน แต่พอมารวมกัน ไม่ว่าคุณจะทำตำแหน่งอะไร คุณก็คือฟันเฟืองตัวหนึ่งที่สำคัญ
มันคุ้มค่ามากกับการออกทำอะไรแบบนี้ ซึ่งปัญหาพื้นฐานของคนที่เกิดขึ้นในตอนนี้เลยคือหาแพชชั่นไม่เจอ หาสิ่งที่อยากทำไม่เจอ ปัญหามันไม่ใช่การเจอสิ่งที่ใช่นะ แต่เราคิดว่าปัญหาคือไม่ได้ลองทำสิ่งที่ไม่ใช่ต่างหาก ถ้าเราไม่ออกมาทำ ไม่ออกมาเจอคน ไม่ได้เจอคนหลายๆ แบบ เราก็ไม่รู้หรอกว่าอะไรที่เราไม่ชอบ หรือเราอาจจะไม่ต้องเจอตัวตนขนาดนั้นก็ได้นะ แต่อย่างน้อยเราก็ได้ลองหา แล้วตัดชอยส์ไปเรื่อยๆ มันอาจจะมีบางอย่างที่เราพอทำได้ แต่จริงๆ เราไม่อินแฮะ
สำหรับงาน volunteer ตอนนี้มันมีช่องทางที่เยอะมาก มีองค์กรเพื่อสังคมอีกมากที่เขาต้องการแนวคิดของคนรุ่นใหม่แบบเราๆ นี่แหละ แต่ละสกิลมันสามารถนำกลับไปใช้เพื่อตัวเองได้ทั้งนั้นเลย และระหว่างทางเราก็ได้เห็นดอกไม้ที่เราปลูกเองไปด้วย มันไม่เกี่ยวว่าใครเก่งไม่เก่ง แต่สำคัญที่ว่าทุกคนได้มีพื้นที่ในการลองทำ