เรานัดพบที่อีโรติกช็อปลึกลับแห่งหนึ่งในย่านทองหล่อ—เรากับหญิงสาวผมยาวที่เหมือนหลุดออกมาจากนิยายสักเรื่องหนึ่ง เธอผู้มีเสียงร้องอันทรงพลังและเรื่องเล่าที่ไม่เหมือนใคร และเรียกตัวเองว่านังแม่มดสายฟ้า
‘ริค’—วชิรปิลันธิ์ โชคเจริญรัตน์ คือศิลปินเบอร์แรกๆ ของ Bakery Music ที่มีสาวกเหนียวแน่นจนถึงตอนนี้ ด้วยคาแรคเตอร์ชัดเจนและเนื้อเพลงเฉพาะตัว ที่ว่าด้วยเรื่องของวัฏฏะสงสาร การเวียนว่ายตายเกิด จนถึงการเสพสังวาสและบูชาเทพเจ้าทางศาสนา
ล่าสุดนี้ เธอกำลังจะมีงาน performing art ที่แปลงมาจาก ‘เสียงครางของวีนัส’ รวมเรื่องสั้นอีโรติก้าของเธอเอง ในชื่อ Tichila: La Maison d’Eros พร้อมคำโปรยว่า “สิ่งนี้ไม่ใช่ละครเวที และไม่ใช่คอนเสิร์ต แต่นี่คือโลกเหนือจริงที่เชิญคุณเข้าไปสัมผัส” ซึ่งจะพาเราดำดิ่งไปสู่การตั้งคำถามกับความอีโรติกและสภาวะต่างๆ ของมนุษย์
โดยริคยังได้ชักชวนศิลปินน่าสนใจอีกหลายคนมาร่วมสร้างสรรค์งานแสดงครั้งนี้ด้วย ตั้งแต่ โต้—สุหฤท สยามวาลา, อั๊ต—อัษฎา พานิชกุล, พัด—ชนุดม สุขสถิตย์, ปอ—นัทธมน เปรมสำราญ, วชร กัณหา, ชาลี นิภานันท์ แห่ง DCNXTR, โอ๊ต—มณเฑียร, วสุรัชต อุณาพรหม, ดีเจปาล์ม—ฐิตวินน์ คำเจริญ และ ป๊อด—ธนชัย อุชชิน
ทั้งหมดนี้มาพรั่งพร้อมกันด้วยความเชื่อและคำชวนของริค ซึ่งความเชื่อและศรัทธาอันทรงพลังของเธอเอง คือสิ่งที่เราอยากเล่าให้ฟัง
Life MATTERs : อะไรที่ทำให้คุณมองเห็นความงดงามในเรื่องอีโรติก
ริค : จริงๆ คำว่าอีโรติกมันเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์มากๆ เลย เป็นเรื่องสามัญ พื้นฐาน เป็นธรรมชาติมาก ดังนั้นถ้าคนจะสนใจเรื่องอีโรติกมันไม่แปลก ถ้าคุณรังเกียจมันก็อาจต้องย้อนถามก่อนว่าคุณยังมีเพศสัมพันธ์อยู่มั้ย? ถ้าคุณยังมองผู้หญิง มองผู้ชาย ยังดูนมในเน็ตอยู่ คุณจะรังเกียจมันไปเพื่ออะไร
ซึ่งถ้าจะโยงไปให้มากกว่านั้น อีโรติก ก็เหมือนเกิดกับตาย มันไม่ได้แยกจากกัน ถ้าไม่ได้พูดถึงความรักนะ มันก็คือการสืบพันธุ์ มันทำให้มีการเกิด ซึ่งเท่าที่เราสังเกต คนที่สนใจเรื่องอีโรติกก็จะสนใจเรื่องการเกิดและตายไปด้วย อันนี้เป็นความคิดเราคนเดียวนะ มันเหมือนเราตายเพื่อจะเกิดใหม่ มันเป็นวงจรอย่างนั้น
แต่โดยทั่วไป ถ้าคนมองแค่เรื่องของกามารมณ์ คนก็จะเห็นแต่มิตินั้น เป็นเรื่องของการเสพสังวาสโดยที่ไม่ได้มีความหมายที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากนั้นเลย แต่เราก็ไม่ได้จะหมกมุ่นมากในแบบที่คนอื่นจะเข้าใจคำว่าอีโรติกนะ มันมีความสวยงามของมัน ในหลายๆ มิติมากด้วย
Life MATTERs : มองว่าคนที่จะเข้าใจความละเอียดอ่อนในความอีโรติก ต้องเป็นคนประมาณไหน
ริค : ใครก็เข้าถึงได้หมดนะ เพียงแต่ว่าถ้าเราไม่เอากรอบของอะไรเลยมาครอบมัน เช่น ความเกรงว่าคนอื่นจะว่ายังไง แต่เราเองมองว่าความรักหรืออีโรติกก็เป็นศาสนาอย่างหนึ่งได้เหมือนกัน จึงไม่รู้สึกว่าต้องมีคนชนิดไหนเท่านั้นที่ควร หรือไม่ควรเข้าถึงอีโรติก ทุกคนสามารถเกิดความรู้สึกนั้นกับตัวเอง หรือจะส่งผ่านให้คนอื่นด้วยก็ได้
คือในเรื่องเพศมันก็มีมุมน่าเกลียดอยู่แหละ ในงานเราก็จะมีบรรทัดฐานเช่นเดียวกัน ว่าเรามองเห็นความสวยงามนะ ไม่ได้มองเกินเลยข้ามขั้นไปกว่านั้น ถึงจะอิสระแค่ไหน เราก็ต้องมีกรอบที่แต่ละคนตั้งไว้ให้ตัวเอง ว่าแค่ไหนคือสวยงามและพอดี และนี่คือหน้าที่ของศิลปินที่ต้องบอก ว่าเราเห็นมุมนี้นะ แล้วนำเสนอ ส่วนคนอื่นเขาจะเห็นต่างหรือเก็ตหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่เรา
Life MATTERs : แล้วอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกว่าอยากส่งผ่านเรื่องอีโรติกออกมาเป็นตัวหนังสือ
ริค : เราเคยเขียนเรื่องสั้นอีโรติกหลังจากออกอัลบั้มแรกสัก 2-3 ปี ก็เขียนเป็นเรื่องสั้นรวมเล่มกับผู้หญิงหลายๆ คน คือตอนแรกเราจะเขียนเป็นเล่มของเราเองเลยเหมือนกัน แต่บังเอิญติดว่าตอนนั้นมีลูกพอดี แล้วรู้สึกว่าลูกในท้องเขาไม่ค่อยอยากให้เขียน เราก็เลยเชื่อสภาพร่างกายเรา ตอนนั้นก็เลยไปใส่ใจเรื่องอื่น
พอทิ้งช่วงจากตรงนั้น ก็ยังรู้สึกว่าเรายังไม่ได้ทำ ก็เก็บมันเอาไว้ แล้วทีนี้ก็ได้มาดูการแสดงของน้องเอี่ยว (วสุรัชต อุณาพรหม) ที่เขาเป็นโปรดิวเซอร์งานเพอร์ฟอร์มิงอาร์ตต่างๆ เขาจะทำเกี่ยวกับเรื่องเพศ การข้ามเพศ แล้วเขาก็เอาเรื่อง La Maladie de la mort หรือ ‘โรคแห่งความตาย’ ของมาร์เกอริต ดูราส (Marguerite Duras) มาทำเป็นละคร เป็นเพอร์ฟอร์มิงอาร์ตแบบไม่ต้องมีเส้นเรื่องชัดเจน พอเราได้ดูแล้วก็เลยอยากเขียนโต้ตอบกับมาร์เกอริต ดูราส เลยตั้งชื่อตัวละครในหนังสือตัวเองว่ามาดามเอ็ม
ซึ่งข้อนี้ก็เกี่ยวพันกับเกิดและตายอีก การที่เราอาจจะไม่ได้รู้จักมาร์เกอริตโดยเจอหน้ากันเพราะเธอตายไปแล้ว แต่เรามีความทรงจำเรื่อง The Lover จากหนังสือที่เธอเขียนแล้วเราได้อ่าน มีความทรงจำเกี่ยวกับเธอจากเรื่องเล่าของคนอื่น มันซึมซับให้เรารู้จักกับเธอ โดยไม่ต้องตีตั๋วโลกแห่งความตายเพื่อไปทำความรู้จักเป็นการส่วนตัว เราว่าเราพูดคุยได้โดยที่นึกถึงว่ามาร์เกอริตอยู่ตรงหน้าเรา
แล้วก็มีเสี้ยวชีวิตหนึ่งของมาร์เกอริต ตอนอายุเจ็ดสิบกว่าแล้ว เขามีแฟนเป็นโฮโมเซ็กชวลที่อายุน้อยกว่าตัวเองครึ่งหนึ่ง เขาเป็นผู้ชายที่มองมาร์เกอริตเป็นเหมือนวีนัสของเขา แต่คิดว่าน่าจะไม่มีเรื่องทางร่างกาย ซึ่งเธอเองก็รักผู้ชายโฮโมฯ คนนี้มาก แล้วไม่อยากให้ใครมาเห็น ก็เหมือนจับขังไว้ เขาก็จะหนีหายไปตอนกลางคืน แล้วค่อยกลับมาเพื่อดูแลเธอตอนกลางวัน
แค่ส่วนหนึ่งของเขาแค่นี้มันเชื่อมโยงกับเรา ช่วงหนึ่งในชีวิตเราเคยมีแฟนเป็นโฮโมฯเหมือนกัน ทีนี้ ก็เลยทำให้เราอยากคุยกับมาร์เกอริตในเรื่องนี้ เพราะเธอก็เอาเรื่องของคนรักมาเขียนในเรื่องโรคแห่งความตาย เพื่อที่จะโบยตีเขาว่าโฮโมเป็นพวกที่ไม่รู้จักความรักที่ไร้เรื่องของร่างกาย เขาไม่รู้จักกำมะหยี่ของผู้หญิง อันนี้ใช้คำเดียวกับที่มาร์เกอริตบอกนะ
ซึ่งเราอยากคุยกับเธอในอีกด้านหนึ่ง เป็นการคุย เถียง ปรึกษา และโต้ตอบ เช่นว่าในขณะที่มาร์เกอริตสามารถรักน้องชายจนถ้าทิ้งความเป็นพี่น้องไป มันก็คือความรัก ถ้าเธอรู้สึกกับน้องชายแบบนั้นได้ แล้วกับผู้ชายอีกคนที่เขาข้ามไปเป็นอีกเพศหนึ่ง ทำไมจะรู้สึกแบบเดียวกันไม่ได้ แล้วมาร์เกอริตซึ่งในที่นี้เราเรียกว่ามาดามเอ็ม จะบอกตัวละครของเราว่ามันเทียบกันไม่ได้ เพราะนี่คือน้อง แล้วตัวละครเราก็จะตอบกลับไปว่า แล้วถ้าเราถอดเรื่องสังคมออกไปล่ะ ถ้ามันไม่มีข้อห้ามว่าพี่น้องห้ามรักกัน มันก็คือความรักอยู่ดี
มันก็เลยเป็นการคุยโต้ตอบกันประมาณนี้ เรารู้สึกว่าต้องเขียน
Life MATTERs : พอเขียนเรื่องนี้ออกมาแล้ว คุณรู้สึกเข้าใจความรักมากขึ้นไหม
ริค : ทุกความรักมันมีความเหมือนและความต่างกันอยู่ในนั้น ถ้าเอาทั้งหมดในชีวิตเรามาเรียงๆ กัน มันก็ไม่สามารถทำให้เข้าใจความรักทุกครั้งที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมดอยู่ดี เพราะแต่ละคนก็แต่ละอย่าง บางคนเราอาจจะเข้าใจเขาแค่มุมนี้ บางมุมก็ไม่เข้าใจเลย บางมุมก็เข้าใจ
แต่ว่าสุดท้ายแล้วคำว่าเข้าใจมันคืออะไรล่ะ? ซึ่งเราไม่หาคำตอบจากมัน จึงไม่ทราบว่าเราเข้าใจมันยังไงบ้าง เรารู้แค่ว่าในพื้นฐานความเป็นมนุษย์ ก็ให้อิสระซึ่งกันและกันเพราะต่างคนต่างก็เป็นปัจเจก มันก็เหมือนเรื่องศาสนา มันคือทวิภาวะ ซึ่งมันมีความเป็นเอกภาพแต่ก็ต้องมีจุดที่แยกกันไปเพื่อเป็นปัจเจก ซึ่งความรักที่ไม่ได้รวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่ได้หมายความว่าต่างคนต่างจะต้องไปมีคนอื่นนะ
แล้วการอยู่ร่วมกันให้ได้ไปตลอดรอดฝั่ง มันต้องพึ่งพิงกันทางปัญญามากกว่าทางร่างกายนะ เพราะถ้าเราพึ่งพิงกันเพียงแค่ร่างกาย ไม่นานมันก็อาจจะหมดไป แต่ถ้าเราอยู่แบบพึ่งพิงกันด้วยทักษะ ความเฉลียวฉลาด หรือสติปัญญา เรารุดหน้าไปด้วยกัน เคียงคู่กันไปได้ อันนี้น่าจะทำให้เราอยู่ด้วยกันไปจนปลายชีวิตได้
Life MATTERs : สมมติว่าสติปัญญาเราไปด้วยกันได้มากๆ แต่เรื่องอีโรติกเราไปกันไม่ได้เลย?
ริค : อันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องคุยและทำความเข้าใจกัน สำหรับเรามองว่า มันเป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจตัวเองและยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ถ้านั่นเป็นความรัก เราย่อมต้องไม่รู้สึกอยากครอบครองเขาในแบบที่เขาหมดความสุข คือต้องถามตัวเองก่อนว่าเรายังเป็นคนที่นำความสุขให้เขาได้มั้ย ไม่ใช่ถามแค่ว่าเขานำความสุขให้เราได้มั้ย ไม่งั้นความพังก็จะเริ่มมา อีกคนจะเริ่มรู้สึกอึดอัด เราเองก็จะเริ่มรู้สึกอึดอัดในวันหนึ่ง
Life MATTERs : ประเด็นเรื่องความเข้าใจกันในลักษณะนี้ ปรากฏในงานเพอร์ฟอร์ม Tichila ด้วยไหม?
ริค : ใช่ค่ะ ในติชิลาจะมี 3 พาร์ตของตัวละคร อันแรกคือเรื่องของผู้ชายที่เกิดขึ้นในโลกความจริง คือจับต้องสัมผัสได้เหมือนมนุษย์ทั่วไป อีกอันจะเป็นเรื่องของผู้ชายที่อยู่ในมโนสำนึก ความฝัน หรืออุดมคติ อาจจะมีจริงหรือไม่มีจริงก็ได้ อาจจะเป็นคนที่เราเคยชอบแต่ไม่สามารถอะไรกับเขาได้เลย ส่วนอีกอันหนึ่งเป็นเรื่องของความเป็นโฮโมฯ คือความรักที่พยายามอะลุ่มอล่วย เป็นนามธรรมมาก แต่ไม่มีการประพฤติในเรื่องของร่างกายเลย
แล้วทั้งสามอันนี้ จะมีเพียงอันเดียวที่มีการสอดใส่ในเชิงการสังวาสที่ครบวงจร ก็คือคนที่อยู่ในความฝันเท่านั้น โดยในโลกของความจริงที่จับต้องได้ ติชิลาจะไม่ให้มีการสอดใส่ มันเป็นเรื่องของขั้วอำนาจและการต่อรองอยู่ในที ซึ่งแน่นอน เมื่อยังไม่ได้ เขาก็ต้องยอม แล้วทีนี้จะยอมได้แค่ไหน ในเรื่องไม่ได้บอก
แต่มาดามเอ็มบอกว่า ถ้าทุกอย่างกลับสู่ครรลองที่ถูกต้องมันจะดี ถ้าไม่กลับสู่ครรลองทุกคนจะเจ็บปวดหมด แต่ติชิลาก็ไม่แคร์ ก็ลองดู ก็ปล่อยให้มันเป็นไป
Life MATTERs : ทำไมถึงเลือกนำเรื่องราวจากตัวอักษรมาถ่ายทอดเป็นงานเพอร์ฟอร์ม
ริค : เพราะเรามาจากดนตรี ทุกศิลปินที่ทำเพลง ทำอัลบั้มมา ทำเสร็จก็ต้องมีการเปิดตัวหรือมีคอนเสิร์ต ทีนี้เราก็แค่คิดว่าไม่ต่างกัน หนังสือก็เหมือนการทำซีดี แค่แปลจากเสียงเป็นตัวอักษร ดังนั้นพอเรามีตัวแผ่นนั้นแล้ว เราก็อยากมีการแสดงของมันเหมือนกัน
เมื่อตอนประมาณปี 2549 เคยได้รับโอกาสไปเล่นที่ลินคอร์นเซ็นเตอร์ กับศิลปินอีกหลายๆ คน ตอนนั้นก็คิดแค่ว่าเราเป็นนักดนตรี แล้วตอนนั้นเราทำโดยที่ไม่ได้เป็นดนตรีซะทีเดียว แล้วทีนี้พี่มานพบอกว่า ริคมีอะไรที่น่าสนใจอยู่นะ แต่ตอนนี้เราก็ไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้สานต่อ จนกระทั่งถึงวันนี้ เราถึงรู้สึกว่าได้เวลาแล้วล่ะ ที่หนังสือเล่มนี้มันควรนำมาทำเป็นเพอร์ฟอร์มิงอาร์ต
เรามีความเชื่อว่าเราทำได้ ก็เลยคุยกับดีเจปาล์ม (ฐิตวินน์ คำเจริญ) ปาล์มเลยชวนเอี่ยว เราก็เลยเป็นโปรดิวเซอร์ 3 คนที่มานั่งคิดงานกันว่าจะทำยังไง ทุกคนก็เห็นตรงกันว่าเราไม่อยากจับเส้นเรื่องในเรื่อง ดังนั้นงานนี้ไม่ว่าคนจะอ่านหรือไม่อ่านหนังสือก็สามารถมารับรู้ได้
เราอยากให้คนมาโดยโล่งๆ มาเห็น มาสัมผัส มาได้กลิ่น มาได้ดื่ม เปิดประสาทสัมผัสทุกอย่าง แล้วใช้มัน เหมือนที่บอกไปตอนต้นว่าทุกคนมีความอีโรติกได้หมดถ้าหลุดจากการถูกครอบทั้งหมด แล้วกลับสู่พื้นฐานของตัวเอง เราอยากให้ความรู้สึกแบบนั้นเกิดขึ้นที่นี่ ซึ่งก่อนนั้นก็จะมีเครื่องดื่มสลายตัวตนกันก่อน (หัวเราะ)
Life MATTERs : ในฐานะนักดนตรีที่ไม่เคยทำงานเพอร์ฟอร์มิ่งอาร์ตเต็มตัวมาก่อน รู้สึกเกร็งๆ บ้างไหม
ริค : เราไม่ได้ดูถูกว่ามันง่ายแม้แต่นิดเดียว แต่เราก็ไม่ได้สนใจว่าคนที่มาดูจะเป็นใครที่รู้มากกว่าหรือเก่งกว่า เราเพียงแต่เชื่อว่าเราทำด้วยความซื่อสัตย์กับความรู้สึก เชื่อในสัญชาตญาณตัวเองแล้วทำ เพราะเราก็ไม่ได้ทำเรื่องที่มันยากเย็นจนเกินไป เราพูดถึงเรื่องธรรมดา
แล้วมันก็ค่อนข้างไปได้ดี เราชอบงานนี้มาก คือเราใช้ทั้งหมดของตึก เพียงแต่บางแห่งบางที่เราอาจจะดึงความเป็นนามธรรมในหนังสือมาเล่น ดังนั้นจึงอยู่ที่ศิลปินที่เราเลือกมา ว่าเมื่อเขาอ่านที่เราเขียนแล้ว เขาจะมองเห็นติชิลาในตัวเขาในแบบไหน เพราะเราเชื่อว่าทุกคนมีเศษเสี้ยวความเป็นวีนัสอยู่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ดังนั้นทุกคนจะเชื่อมโยงกันได้
งานของเราจึงไม่ได้สั่งว่าใครจะต้องทำแบบไหน แต่พอทำออกมาแล้วมันเหมือนตอนทำหนังสือตอนนั้นเลย เราไม่ได้บอกให้นักเขียนคนไหนทำยังไงเลย แต่พออ่านจนครบ 6 เรื่องแล้ว มันมีบางอย่างเป็นจุดร่วมกันอยู่ เหมือนทุกคนเชื่อมกันเป็นใยแมงมุมทั้งที่ไม่ได้คุยกัน งานนี้ก็เช่นกัน เพราะทุกคนมีติชิลาในแบบของตัวเอง แล้วก็หยิบภาพของติชิลาในแบบที่ตัวเองเข้าใจมาสร้างเป็นงานแต่ละชิ้น
Life MATTERs : คุณเลือกศิลปินมาร่วมงานครั้งนี้อย่างไรบ้าง
ริค : อันดับแรกคือคนที่เรารู้จักซึ่งกันและกัน เราจะไม่เลือกคนที่เราเหม็นขี้หน้า ต่อให้เก่งก็ไม่เอา เราอยากได้คนที่คุยกันน้อยแต่ปริมาณความเข้าใจสูง นี่คือสิ่งสำคัญ อย่างเช่นพี่ป๊อด (ธนชัย อุชชิน) เราก็รู้ว่าพี่ป๊อดเอ็นดูเรา แล้วเราก็เคารพเขามาก ปาล์มเองก็รู้จักกันโดยที่ไม่ต้องคุยกันเยอะเลย
ถ้าเจอคนอื่น เราจะเหนื่อยกับการ เอาอันนี้ ไม่เอาอันนี้ แต่กับคนเหล่านี้ คือไม่ต้องถามเราก็ได้ว่าจะเอาอันไหน คุณสามารถตัดสินใจได้เลย เราทำงานกันโดยไม่ต้องมีอีโก้หรืออะไรเลย คือถ้ามีอะไรที่อยากได้หรือให้ช่วยเราก็จะช่วยกันทั้งหมด แต่เราแทบจะไม่เปลี่ยนอะไรที่เขาเสนอมา เราจะไม่เปลี่ยนในสิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เขาเห็น ที่เขาเชื่อ
อีกข้อ นอกจากคนที่เขารู้จักเราเรารู้จักเขาแล้ว เราบอกปาล์มว่า ขอไม่ทำงานกับผู้หญิงนะ เพราะเหนื่อย ถ้าเป็นผู้หญิงต้องขั้วเดียวกันนะ ซึ่งถามว่าจะรู้ได้ไง เราว่าเจอหน้ากันก็จะรู้ ผู้หญิงจะมีธรรมชาติที่บอกได้ว่าคนนี้เราโอเคนะ แล้วทุกคนก็แฮปปี้แล้วก็เฮกันว่าเราไม่เอาผู้หญิง (หัวเราะ) แต่ในทีมงานนี้ก็จะมีผู้หญิงอีกหนึ่งคนนะ ก็คือน้องปอ เปรมสำราญ เราคุยน้อยมากเลย แต่เขาเข้าใจเรา พอเห็นงานที่น้องส่งมาก็พบว่าน้องเขียนคำที่เราคิดเอาไว้ลงไป โดยที่เราไม่ต้องบอกเขาด้วยซ้ำ
Life MATTERs : แล้วเรื่องสถานที่ ทำไมถึงต้องเป็น Ba Hao
ริค : เราเคยคุยกันนานแล้วว่าทำไมเพอร์ฟอร์มิงอาร์ตต้องทำแค่ในโรงละครล่ะ ก็เลยคิดว่าทำที่อื่นกันเถอะ แล้วปาล์มก็พาไปดูที่นี่ ซึ่งในเรื่องนี้ มีทุกอย่างที่ Ba Hao มีหมดเลย ตอนแรกเราเห็นจากในภาพก็แค่ เออๆ ไปดูๆ แต่พอไปถึงสถานที่จริงก็ตัดสินใจเลย ดีดนิ้ว ไม่ดูที่อื่นแล้ว เราเชื่อเสียงข้างในตัวเรา
ที่นี่มีกลิ่นที่เราชอบ คือเราเห็นกลิ่นบางอย่างที่นี่ เหมือนรักแรกพบ ร้านนี้เองก็ฮอต คนก็ชอบที่นี่กัน เพราะมันมีบรรยากาศ เราเห็นเลยว่าที่นี่เป็นส่วนผสมที่ลงตัง มีความจีนร่วมสมัย ความอินโดไชน่า แล้วก็มีความฝรั่งเศสด้วย ได้อย่างไรก็ไม่ทราบ เราแทบจะเห็นมาดามเอ็มเดินอยู่ในนี้ด้วยซ้ำไป เป็นหญิงสาวที่เติบโตในลุ่มแม่น้ำโขงนี่แหละ คือมาร์เกอริต ดูราสเองก็เคยอยู่ที่ไซง่อน ไปๆ มาๆ กับฝรั่งเศส แล้วอีกอย่างหนึ่งถ้าพูดติดตลกก็คือ เราแฮปปี้กับตีจู่เอี๊ยะที่นี่ (หัวเราะ)
เราว่าคนที่มาดูที่นี่ เราน่าจะมาทำอะไรด้วยกันได้ เราอยากทำให้ที่ Ba Hao เป็นเหมือนที่นี่ (อีโรติกช็อปที่นั่งคุยกัน) คือเหมือนหลุดมาอีกโลกหนึ่ง
Life MATTERs : สำหรับการแสดงครั้งนี้คุณเชื่อว่าคนดูจะได้รับอะไรกลับไปบ้าง
ริค : คือเราก็เลว เราไม่สนใจว่าใครจะสนใจแบบไหน แต่เราสนใจเรื่องนี้ เราก็อยากเล่าเรื่องนี้
แต่งานนี้มันมีความยากอยู่ที่ว่ามันมีส่วนที่เป็นนามธรรม แล้วเราจะทำยังไงให้คนรู้สึกถึงนามธรรมที่ว่านั้น ผ่านการแสดง
แต่ไม่ว่าคนมาดูแล้วจะชอบไม่ชอบ เราเชื่ออย่างหนึ่งคือมันจะไม่มีตรงกลาง ถ้าคนดูแล้วอยู่ตรงกลาง เฉยๆ แปลว่าแย่ ครั้งหน้าอย่าทำอีกเลย แต่ถ้าคนไม่ชอบ แปลว่ามันทำให้เขารู้สึก มันเลยมีฟีดแบ็ก เพราะในความชอบหรือไม่ชอบ มันมีปัจจัยรายล้อมอยู่ อันนี้เป็นหลักคิดตั้งแต่ที่ทำอัลบั้มเลย
Life MATTERs : คุณฟังเสียงข้างในตลอดมาเลยไหม ในทุกๆ เรื่อง?
ริค : ตลอดมา เราว่านี่มันสำคัญนะ จะบอกว่ามันคือการหมกมุ่นกับตัวเองไหม ก็ใช่ บางครั้งเราต้องหมกมุ่นกับตัวเอง ซึ่งการหมกมุ่นกับตัวเองแล้วเพ้อเจ้อ กับหมกมุ่นกับตัวเองแล้วพิจารณา ไม่เหมือนกันนะ
ไอ้การเป็นศิลปินทุกคนก็เป็นศิลปินได้ทั้งนั้นแหละ แต่มันก็จะมีสภาวะหนึ่งหรือห้วงความคิดหนึ่งที่รู้ว่า ตอนนี้เราทำงานสร้างสรรค์โดยอยากให้ความสวยงามที่คนอื่นมองไม่เห็นนั้นออกมาเป็นความสวยงามที่คนอื่นเห็นได้ ศิลปินต้องมีความทะเยอทะยานที่จะสร้างงานโดยใช้จินตนาการ ไม่ใช่ความเพ้อเจ้อ
แต่อีกข้อก็ต้องดูความสามารถตัวเองด้วยค่ะ เราว่าเรื่องพื้นฐาน ทักษะ ก็สำคัญ เพราะมันจะทำให้เรามั่นคงในสิ่งที่เราทำ แต่คนมักจะลืมเลือน เพราะยิ่งโลกเปลี่ยนไปเร็วเท่าไหร่ ทุกคนก็จะเห็นแต่สิ่งที่อยู่ปลายทาง แต่ลืมไปว่าเราเหยียบอยู่ตรงไหน เราไม่สามารถโหนอะไรแล้วไปได้เลย ถึงโหนได้จริงสุดท้ายก็ต้องปล่อย เพราะมันไม่ใช่ธรรมชาติ สุดท้ายก็ต้องกลับมาสู่พื้นฐาน ถ้าพื้นฐานไม่ดีก็ไปไหนต่อไม่ได้
และเราอาจจะมองเห็นภาพข้างหน้าตรงปลายทาง เรามีพื้นฐาน แต่เราก็ต้องเริ่มหาทาง ต้องเดินไปหามันด้วยนะ ถ้าอย่างงานนี้เราไม่เดินไปหาปาล์ม เราอยู่บ้านเฉยๆ มันก็คงไม่เกิดขึ้น ถ้าเราสามารถนำความทะเยอทะยานของเราส่งต่อไปให้อีกคนรู้สึกและทะเยอทะยานไปกับเราได้ มันก็จะเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างได้ ซึ่งแน่นอนระหว่างทางมันลำบากแหละ แต่มันจะมีทางออก ถ้ามันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นนะ เราเชื่อว่าหนทางของมันจะเปิดเอง ถ้าเราไม่ทิ้งมัน ถ้าเราศรัทธา
Life MATTERs : ในการทำงานทั้งหลาย คุณเองไม่เคยทิ้งมันไป เพราะอะไร?
ริค : การทำงานมันมีทั้งแบบที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แล้วก็การทำงานที่เลี้ยงจิตวิญญาณ มันก็อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกอะไร แต่ถ้าคุณยังตอบไม่ได้ว่าจะเอาอะไรกันแน่ นั่นแหละ จึงจะรู้สึกเจ็บปวด พอคุณทำในสิ่งที่คุณอยากทำ แต่คนอื่นเขาไม่เอา เขาไม่เก็ต คุณก็เจ็บปวด
แต่ถ้าคุณเลือกทางใดทางหนึ่งไปเลยแล้วมั่นใจว่าฉันเลือกทางนี้แหละ เท่ากับคุณยอมรับทั้งสองด้านของทวิภาวะนี้ได้ คุณก็จะเข้าใจความมีและไม่มีของมัน ก็ไม่เจ็บปวด ศิลปะก็จะไม่ทำร้ายคุณ คุณก็จะไม่ต้องมาฟูมฟายว่า ทำไมฉันต้องไส้แห้ง หรือทำไมคนไม่ชอบงานของฉัน
การทำงานถือว่าเป็นสิทธิทางโลกของเรา ในฐานะที่เรา—แต่ก่อนไม่ชอบคำนี้เลย ไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปิน ต้องรอให้คนอื่นมาเรียกด้วยงานที่เขายอมรับ แต่ตอนนี้ก็โอเค ถือว่าเราเป็นศิลปิน-มั้ง-แล้วล่ะ ดังนั้นศิลปินถือว่าเป็นหน้าที่ ที่เราเกิดมาแล้วต้องทำ เชื่อว่าคนเราต้องมีสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่จะทิ้งไปไม่ได้ ถ้าเราจะละทิ้งไปจากมัน โอเคตัวตนมันอาจจะไม่ได้หายไป แต่เหมือนว่าตัวตนของเรามันพร่องไป ซึ่งมันจะเต็มได้ด้วยการทำงานนี่แหละ
หรือถ้าอยากประสบความสำเร็จ ก็ต้องถามก่อนว่าความสำเร็จคืออะไร ถ้าความสำเร็จของคุณคือการทำงานให้เสร็จ แล้วดีอย่างที่ต้องการ อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นก็ตาม ไม่ว่าหนทางจะบ้าบอแค่ไหน ถ้ากัดฟันไปเดี๋ยวมันก็เกิดขึ้นได้ ถ้าความสำเร็จของคุณมีอีกชั้นหนึ่ง คืออยากให้งานนี้เสร็จแบบที่เราชอบแล้วมีคนชอบ ก็เป็นอีกแบบที่คุณต้องสู้ต่อไปในทางใดทางหนึ่ง อยู่ที่ว่าคุณพอใจแค่ไหนมากกว่า
ดังนั้นแล้ว ถ้าเราพอใจแค่งานเสร็จเราชอบ แต่คนอื่นชอบไม่ชอบไม่รู้แหละ มันก็โอเคได้ จะไปอยากให้คนอวยพร หรือชื่นชอบ หรือแสดงความรักเต็มที่มันก็คงยากที่จะไม่เทียบกับคนอื่นในการวัด แล้วมันเทียบกันได้เหรอ ฉะนั้นอย่าเอาคนอื่นมาวัดในสิ่งที่เราเป็น แล้วก็อย่าเอาตัวเองไปวัดคนอื่นเช่นกัน เราควรเคารพกันมากกว่า ถ้ามีโอกาสก็ควรสนับสนุนซึ่งกันและกันด้วย
Life MATTERs : สุดท้ายนี้ คุณมองว่าตัวเองเป็นผู้หญิงสีอะไร
ริค : เราชอบสีม่วงนะ เพราะรู้สึกว่าข้างในเรามีทั้งสีแดงและสีน้ำเงิน แต่เราชอบแสดงพฤติกรรมสีดำ (หัวเราะ) สีขาวเราก็มีนะ แต่ไม่ค่อยได้นำมาใช้ ส่วนใหญ่คนจะเห็นในด้านที่เราปล่อยให้แสงมากระทบเรามากกว่า บางมุมก็จะมีแค่เพื่อนบางคนได้เห็น บางทีก็ไม่รู้เหมือนกัน ข้างในเราก็ปล่อยสีดำออกมาเพื่อให้คนมองว่าเป็นแบบนี้ แต่มันอาจจะเป็นซิมโบลิกอย่างหนึ่ง
ในสีดำมันก็มีความสวยงามอยู่ จริงๆ มันก็คือหลายๆ สีรวมกันนั่นแหละ สีดำเองพอกระทบแสงสีอื่นมันก็มีสีนั้นเข้ามาด้วยได้ สีดำมีมิติในตัวของมัน แต่ถ้าคนมองว่ามันเป็นได้แค่สีดำมันก็เป็นได้แค่นั้น แล้วมันก็อาจจะดูน่ากลัว มืดมน
พฤติกรรมนี้ก็อาจจะเข้ากับคำว่าทุรคา คือผู้ที่เข้าถึงได้ยาก แต่ถ้าใครที่มองเห็นและเข้าถึงได้แล้วก็จะเข้าใจ
Photos by Adidet Chaiwattanakul
เอื้อเฟื้อสถานที่โดย The Hidden Closet Bkk