“ความร้อนจากโทรศัพท์ของคุณช่วยแทนที่ความอบอุ่นของมนุษย์”
แค่เจอประโยคนี้เข้าไป เราก็ยกให้ Rina Sawayama นางแบบและนักร้องสาวคลื่นลูกใหม่จากประเทศเกาะ เป็นกูรูความรักและความสัมพันธ์ส่วนตัวในทันที
ความสัมพันธ์แบบชาวมิลเลเนียล เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าในบทเพลง ภาพยนตร์ และศิลปะประเภทต่างๆ เรื่องราวว่าด้วยการปัดซ้าย ปัดขวา การส่งข้อความกลับไปกลับมา เซ็กซ์ติ้ง เซลฟี่ ดับเบิ้ลแท็ป และอีกสารพัดสารพัน แต่สำหรับเรา—ไม่มีใครบอกเล่าประเด็นนี้ได้แปลกใหม่และมีสีสันเท่ารินะอีกแล้ว
อย่างในเพลง Cyber Stockholm Syndrome จากอีพีอัลบั้ม Rina (2017) ซึ่งบรรยายภาพหญิงสาวคนหนึ่งในงานปาร์ตี้ เธอไปคนเดียว นั่งหลบมุม เริ่มรู้สึกเหงา และทางออกของเธอคือการแชทกับใครบางคนบนโลกไซเบอร์
Came here on my own
Party on my phone
Came here on my own
But I start to feel alone
Better late than never so I’ll be alright
Happiest whenever I’m with you online
“ฉันจินตนาการถึงคนๆ หนึ่งที่รู้สึกเป็นอิสระในการมีตัวตนบนโลกออนไลน์ แต่ในขณะเดียวกัน ในงานปาร์ตี้จริงๆ เธอก็อาจจะเล่นโทรศัพท์และส่งข้อความหาเพื่อนบนอินสตาแกรมก็ได้” รินะให้สัมภาษณ์กับ thefader.com
โดยเรื่องราวความรัก ความเปลี่ยวดาย และความโหยหาแห่งยุค 2010s ถูกบอกเล่าผ่านสุนทรียะทางดนตรีแบบ R&B pop ของช่วงปลายยุค 90s และต้นยุค 00s (ลองนึกถึงเพลง Touch My Body ของขุ่นแม่ Mariah Carey) ซึ่งรินะและโปรดิวเซอร์ Clarance Clarity ชื่นชอบ อีกทั้งบอกเล่าผ่านวิชวลแบบ J-pop ที่มีสีสันจัดจ้าน ซึ่งหญิงสาวผมสีส้มสดได้แรงบันดาลใจมากจากรากวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง
รินะมีเลือดญี่ปุ่นไหลเวียนเต็มตัว แต่ย้ายไปอยู่ประเทศอังกฤษอย่างถาวรตั้งแต่อายุ 5 ขวบ จึงได้ซึมซับวัฒนธรรมของประเทศเกาะทั้งสอง แล้วผสมผสานมันออกมาเป็นตัวตนและบทเพลงอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
“การทำสิ่งที่ไม่มี reference ให้ดู เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากๆ” หญิงสาวให้สัมภาษณ์กับ dummymag.com “ในชาร์ตเพลงไม่มีใครที่มีเชื้อสายเอเชียนและทำเพลงฟิวชั่นระหว่างเอเชียนและบริตป๊อปเลย สิ่งที่ฉันทำมันเฉพาะเจาะจงมากๆ แต่ฉันก็อยากจะลองทำอยู่ดี”
ก่อนหน้าเพลง Cyber Stockholm Syndrome รินะเคยปล่อยเพลง Where U Are ซึ่งพูดถึงเรื่องความรักยุคโมเดิร์นเช่นกัน โดยเนื้อหาว่าด้วยเรื่องระยะทางที่เหมือนจะใกล้แต่ก็ไกลในความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์
Can it be I stayed away too long?
Did I leave your mind when I was gone?
It’s not like you’re never getting back
This time let me tell you where I’m at
I wanna be where you are
*The only time I see you these days is in my projections
I need to feel your pulse baby
And I’m holding on to
This unclear connection
เนื้อเพลงดูมิลเลนเนียลซะเหลือเกิน ทว่าน้อยคนนักจะรู้ว่า ความจริงแล้วรินะและโปรดิวเซอร์ Hoost หยิบเพลงเก่าที่ออกมาตั้งแต่ปี 1973 อย่าง I Wanna Be Where You Are ของวง The Jackson 5 มาเรียบเรียงใหม่ พร้อมเพิ่มคำร้องอีกหนึ่งวรรคเข้าไป (วรรคที่ใส่*ไว้) ทำให้เนื้อหามีความร่วมสมัยขึ้นในทันใด โดยนักร้องสาวพูดถึงเพลงนี้ไว้ว่า
“บนโลกออนไลน์คุณสามารถตัดต่อและดัดแปลงให้ตัวเองดูดีที่สุด รวมทั้งหลีกหนีความยุ่งเหยิงและความกระอักกระอ่วนที่มาพร้อมกับการโต้ตอบของมนุษย์ในชีวิตจริงได้ ความร้อนจากโทรศัพท์ของคุณช่วยแทนที่ความอบอุ่นของมนุษย์ และที่แปลกที่สุดคือ—พวกเราอยู่ด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกันก็โดดเดี่ยวเหลือเกิน”
แม้จะดูเหมือนว่านักร้องสาวกำลังวิพากษ์วิจารณ์อินเทอร์เน็ตและผู้คนในสังคมออนไลน์อย่างหนักหน่วง แต่ในความเป็นจริงเด็กเจ็นวายอย่างเธอก็เป็น digital native ที่ใช้ชีวิตอยู่กับสัญญาณ 4G ตลอดเวลาไม่ต่างจากเราๆ ดังนั้นในแง่หนึ่งคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็เป็นการบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของรินะด้วยเช่นกัน
“มันเป็นอะไรที่ฉันเองก็ทำ” หญิงสาวพูดถึงเหตุการณ์ในเพลง Cyber Stockholm Syndrome
“วิธีที่คนเราเชื่อมถึงกันผ่านอินเทอร์เน็ตติดตรึงในใจฉันเสมอ ที่ผ่านมาฉันเคยหาเพื่อนผ่านอินเทอร์เน็ต สร้างศัตรูผ่านอินเทอร์เน็ต สานสัมพันธ์ผ่านอินเทอร์เน็ต และใครๆ ต่างก็รักษาความสัมพันธ์ระยะไกลผ่านอินเทอร์เน็ตกันทั้งนั้น”
นอกจากประเด็นเรื่องความรักและความสัมพันธ์แล้ว โลกออนไลน์ของรินะยังเป็นพื้นที่สำหรับแรงบันดาลใจอีกด้วย “อินเทอร์เน็ตทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ เพราะมันเชื่อมต่อคุณเข้ากับผู้คนจำนวนมาก อย่างอินสตาแกรมก็เป็นชิ้นส่วนสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ของฉันมาตลอด” เธอว่า
ยิ่งไปกว่านั้น รินะยังบอกด้วยว่า ตัวเธอเองเจอที่พักใจในสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในการรวมตัว (collective) ของสาวๆ เอเชียนอย่าง Angry Asian Girls หรือ Sad Asian Girls Club ซึ่งช่วยให้เธอก้าวผ่านช่วงเวลาอันขื่นขมในมหาวิทยาลัย ที่เธอถูกกีดกันและกลั่นแกล้งอย่างหนักเพราะมีเชื้อสายเอเชีย แม้เธอจะพูดภาษาอังกฤษคล่องปรื๋อ (อยู่มาตั้งแต่ 5 ขวบจนเรียกว่าเป็นคนอังกฤษยังได้) และแม้ว่ามหาวิทยาลัยที่เธออยู่คือ Cambridge อันทรงเกียรติ (ซึ่งควรจะเต็มไปด้วยผู้คนที่อินเทลเล็คชวลและไม่เหยียดเชื้อชาติ) ก็ตาม
ปัจจุบันรินะกำลังทำเพลงเพื่อประกอบเป็นอัลบั้มยาว พร้อมกับทำงานเป็นนางแบบไปด้วย ระหว่างนี้สามารถไปสานสัมพันธ์ออนไลน์กับเธอได้ที่ @rinasonline
ระหว่างส่องถ้าโทรศัพท์ของคุณร้อนขึ้นมา ก็จงรู้ไว้ว่า นั่นคือความอบอุ่นที่เธอส่งผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตมาถึงคุณ
อ้างอิง