ณ ตอนนี้คงจะมีน้อยคนนักที่ยังไม่รู้จัก Ren Hang ผู้ล่วงลับ ด้วยผลงานภาพถ่ายฟิล์มสีจัดจ้านและสไตล์ที่ดูแล้วรู้เลย กับการท้าทายกรอบเซ็นเซอร์ของรัฐบาลจีนด้วยภาพนู้ดอล่างฉ่าง แต่เต็มไปด้วยองค์ประกอบศิลป์ที่เยี่ยมยอด บอกว่าดิบแต่งาม เวียร์ดแต่โก้ ก็ไม่ถือว่าเว่อร์
ตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงวันที่ Hang จากไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่อีกหลายคนทั้งในเอเชียเองและเกือบทั่วโลก ซึ่งก่อนที่ Hang จะเริ่มทำงานและเดินหน้าลุยกับสไตล์อันชัดเจนของเขา ยังมีใครอีกคนหนึ่งเป็นฮีโร่ผู้สร้างแรงบันดาลใจในระดับที่ทำให้ Hang ถึงจุดสุดยอด
“Terayama’s photos and movies bring me orgasms, like the pleasure of cumming but without masturbation.”—Hang เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้อย่างนี้เมื่อปี 2014 อ่านแล้วก็ยิ่งอยากเห็นขึ้นมา ว่าภาพถ่ายหรือหนังแบบไหนกันที่ทำให้ Hang ถึงหลั่งออกมาโดยไม่ต้องช่วยตัวเองได้ขนาดนั้น
Shuji Terayama เป็นศิลปินอาว็องการ์ดชาวญี่ปุ่น เขาทำงานอยู่ในช่วงยุค 70s เป็นทั้งช่างภาพ กวี คนทำหนัง นักเขียน ผู้กำกับ-คนเขียนบทละครเวที ถึงเขาจะไม่ได้เป็นที่รู้จักเท่าคนทำหนังคนอื่นๆ จากยุคเดียวกันอย่าง Hiroshi Teshigahara หรือ Nagisa Oshima แห่งกลุ่ม Japanese New Wave แต่ผลงานของเขากลับไปเตะตาหนุ่มน้อยชาวจีนคนหนึ่ง ที่เติบโตขึ้นมาเป็นช่างภาพที่กลายเป็นตำนานด้วยการหยุดเวลาไว้ที่อายุ 29 ปีตลอดกาล
ภาพถ่ายของชูจิที่ว่าทำให้ Hang หลั่งออกมานั้น มีความหลอนกว่างานของ Hang อยู่ประมาณหนึ่ง ด้วยกลิ่นอายของภูติผี หรือความจิตบิดเบี้ยวในจริตญี่ปุ๊นญี่ปุ่น แต่สิ่งที่เราอยากเน้นในที่นี้คือผลงานภาพยนตร์ที่เป็นรสชาติแปลกประหลาด หาดูได้ยากแม้ในปี 2017 นี้เองก็ตาม
หนังของชูจิ มักเต็มไปด้วยความล่อแหลมทั้งเชิงเนื้อหาและภาพ ตัวอย่างของความล่อแหลมที่ว่าก็เช่นเรื่อง Emperor Tomato Ketchup (1971) ที่ว่าด้วยการฉลองชัยของเด็กที่เข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศจากผู้ใหญ่ได้สำเร็จ พอมีอำนาจก็เลยออกฎหมายตามใจชอบ ตั้งแต่การสั่งให้พ่อเลียรองเท้าจนขึ้นเงา จับครูไปแขวนคอ หรือลองมีเซ็กซ์กับนางบำเรอที่เป็นเหล่าผู้ใหญ่ แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังใต้ดินที่ถูกฉายในวงแคบมากๆ แต่ Hang ในวัยละอ่อนก็ยังอุตส่าห์ไปสรรหามาดูจนได้
งานของชูจิไม่ได้มีแต่เนื้อหาแรงๆ เป็นตัวนำ แต่ยังเต็มไปด้วยการกำกับศิลป์ที่สวยงามฉูดฉาด กึ่งฝันกึ่งจริง เล่นกับจริตสุด cult รวมถึงมิติทางภาพและความเป็นภาพยนตร์ อย่างในงานหนังสั้นเรื่อง Butterfly Dress Pledge (1974) ที่มีการใส่เงาคนเดินไปเดินมาตัดหน้าจอเหมือนมันถูกฉายในโรงหนังที่เต็มไปด้วยคนดูไร้มารยาท
หรือ Rolla (1974—บางทีก็ชื่อ Laura) ที่เล่าเรื่องแก๊งสามสาวแสบ ที่ชี้นิ้วมาทางคนดูแล้วด่าเราตลอดเวลาแปดนาทีกว่าๆ “ไอ้พวกมานั่งดูหนังทดลองแบบนี้ก็มีแต่พวกมาขโมยไอเดียคนอื่น หรืออยากดูผู้หญิงโป๊ ไม่ก็พวกวอนนาบีอยากเป็นนักวิจารณ์นั่นแหละ” (อ้าว) แต่อย่าเพิ่งล้มเลิกความตั้งใจการดูหนังของเขาจากเหล่าตัวละครนิสัยไม่ดีพวกนี้ เพราะอาจจะพลาดอะไรไปอีกหลายอย่าง
ชูจิยังมีของอีกมากที่เราอยากนำเสนอ
ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่อง Throw Away Your Books, Rally in the Streets (1971) และ Grass Labyrinth (1979) ทั้งคู่มีการเล่าเรื่องแบบไหลไปมาไม่อิงตามกฎของเวลาและบรรยากาศที่งดงาม
Throw Away Your Books, Rally in the Streets เป็นเรื่องของชายหนุ่มวัยกลัดมันกับครอบครัวพังๆ เขามีพ่อที่ชอบถ้ำมอง คุณยายขี้ขโมย น้องสาวที่ชอบมีอะไรกับกระต่าย ส่วนแม่ไม่มีอะไร เพราะแม่ตายแล้ว เพียงแค่ฉากเปิดเรื่องก็ปั่นเราด้วยภาพดำทิ้งนาน ก่อนที่พระเอกจะออกมาหน้าจอแล้วคุยกับเรา “นี่พวกมึงมาดูอะไรกัน ไม่เห็นเหรอว่ามีแต่ความมืด” (อ้าว อีกแล้ว)
หนังเรื่องนี้บรรจุอารมณ์ขบถเกรี้ยวกราดของวัยรุ่นยุค 70s ไว้อยางเต็มเปี่ยม บอกเล่าความป่วยไข้ของสังคมในช่วงเปลี่ยนผ่าน แน่นอนว่ายังคงจิกกัดคนดูและปั่นมิติของความเป็นหนังได้สมเป็นชูจิเหมือนเคย
ส่วน Grass Labyrinth เป็นเรื่องเกี่ยวกับชายหนุ่มที่เดินทางกลับบ้านเพื่อตามหาท่อนอื่นๆ ของเพลงที่แม่เขาเคยร้องให้ฟังตอนเป็นเด็ก
จากความเกรี้ยวกราดต่างๆ หนังเรื่องนี้เป็นเหมือนบทกวีทั้งทางบทและทางภาพ เวลาในหนังถูกซ้อนทับไปมาจนแยกไม่ออกว่าเหตุการณ์ไหนเกิดขึ้นก่อนหลัง มิติของภาพถูกเล่นสนุกยับ เหมือนเวลาเราดูภาพเขียนเซอร์เรียลที่ในเฟรมเฟรมหนึ่งมีอะไรเกิดขึ้นมากมาย เช่นในฉากหนึ่งที่ตัวเอกกำลังคุยกับพระอยู่ ข้างหลังของทั้งคู่ก็มีคนแบกหามสิ่งที่คล้ายโลงศพเดินอยู่บนหลังคาวัด โผล่มาอย่างไร้ต้นสายปลายเหตุและไม่มีคำอธิบายไปเกินกว่านั้น
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ชูจิสร้างขึ้นในช่วงปี 1970s ซึ่งแน่นอนว่าหนังงานของเขาเป็นทั้งความ cult และ outsider สุดขั้ว จนทำให้เขาได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของเทศกาลหนังนานาชาติแห่งเบอร์ลินครั้งที่ 26 ขณะที่ ในประเทศบ้านเกิดหนังบางเรื่องของเขากลับถูกแบนและโดนไล่ให้อยู่ได้เพียงใต้ดินเท่านั้น
ย้อนกลับไปยังถ้อยคำของ Ren Hang ที่บอกว่าสิ่งเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เขาสุขสมจนหลั่งออกมา เราพบว่าในความแปลกประหลาด การถูกยี้ หรือความขบถที่สังคมอาจยังรับไม่ได้ ในตอนท้ายมันอาจกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นดีสำหรับความสร้างสรรค์ในยุคต่อมาได้อย่างงดงามทีเดียว อย่าปฏิเสธมันนักเลย
Text by Theerapat Wongpaisarnkit