ก่อนที่ตัวละครทั้งหลายจะได้ไปโลดแล่นบนจอหนังอิสระ พวกเขาหลายคนต้องผ่านการ casting โดยสร้อยฟ้าและทิพย์วรรณมาก่อน และถ้าไม่ใช่เธอทั้งคู่ ใบหน้าของพระเอกนางเอกในโปสเตอร์หนังอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราเห็นๆ กันก็ได้ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขามีวิธีการแบบไหน ในการเฟ้นหาคนที่ใช่มาอยู่ในหนังสักเรื่องหนึ่ง
สร้อย—สร้อยฟ้า แสนคำก้อน และ ทิพย์—ทิพย์วรรณ นรินทร คือสองผู้ก่อตั้ง SOITIP Casting ที่คัดเลือกนักแสดงให้งานน้อยใหญ่มามากมาย นอกจาก 3 เรื่องที่ว่าไปแล้วก็ยังมี ดาวคะนอง โดยใหม่—อโนชา, Popeye โดย Kristen Tan หรือ Motel Mist โดยปราบดา หยุ่นและหนังอิสระอื่นๆ อีกแทบจะทั้งวงการ ภายใต้ความไว้วางใจของผู้กำกับทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ที่เชื่อว่าพวกเธอจะหา ‘คนคนนั้น’ มาจนได้แน่ๆ
ด้วยความพิเศษของหนัง ที่ต้องการคาแรคเตอร์เฉพาะตัวมากๆ วิธีการทำแคสต์จึงเต็มไปด้วยเรื่องราว มีทั้งหาจากเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไปจนถึงลงพื้นที่กันจริงๆ ถึงวัดป่าไกลโพ้นแถบอีสาน เกิดเป็นประสบการณ์ที่น้อยคนนักจะได้สัมผัสอะไรแบบนี้ และพวกเธอก็กำลังจะเล่าให้เราฟังในพื้นที่นี้เอง
Life MATTERs : จุดเริ่มต้นในการมาทำแคสติ้งคืออะไร
ทิพย์ : เราเริ่มทำแคสติ้งเพราะเป็นผู้ช่วยกำกับก่อน ซึ่งผู้ช่วยผู้กำกับก็ต้องช่วยแคสต์เอ็กตร้า แต่ทีนี้ พอทำหนังอิสระมันก็จะมีหลายๆ ตำแหน่งควบกันไป จากที่แคสต์ฯ เอ็กตร้าของเรื่องหนึ่ง ก็เริ่มไปแคสต์ของพี่ผู้ช่วยผู้กำกับคนอื่น ซึ่งพอทำไปแล้วก็รู้สึกว่าทำได้แฮะ เขาเลยให้แคสต์บทตัวหลัก
สร้อย : เราเป็นเพื่อนทิพย์อีกทีหนึ่ง จริงๆ เราไม่เกี่ยวกับหนังเลย คือเรียนออกแบบ แล้วตอนแรกทิพย์ก็มาถามหาคนจากเราก่อน แล้วสักพักหนึ่งก็ชวนมาทำด้วยกัน ตอนแรกเราก็ส่งแค่คนมาให้ดู คนนี้สิแก คนนั้นสิแก แล้วพอถึงคราวหนัง ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ทิพย์ก็เลยให้มาช่วยจริงๆ
ทิพย์ : คือตัวสร้อยเขารู้จักคนเยอะ แล้วคนละสายกับเราไง ไหนๆ ก็ถามมันเยอะแล้ว เลยชวนมาทำซะเลย
สร้อย : เลยได้ไปทำสตรีทแคสติ้งกับทิพย์ คือเราไม่รู้จักการแคสติ้งเลย หนังอะไรเราก็ไม่รู้เรื่อง ทิพย์บอกว่า ไปหานักแสดงตัวนี้กัน อ่านบทแล้วก็ไปหา เราก็ถามเขาว่าหายังไง เขาก็บอกว่า คนเหล่านี้เขาคงไปเดินตรงนี้มั้ง เราก็โอเค ไปเดินตรงนั้น ก็ถามคนตรงนั้นแหละ ว่ามาเล่นหนังไหม
Life MATTERs : แปลว่ามันก็ยังมีการใช้วิธีเดินตามหานักแสดงเองอยู่?
สร้อย : ทำอยู่นะ เพราะว่าถ้าหาจากโมเดลลิ่ง มันจะได้คนซ้ำๆ ตั้งแต่ที่ทำมา เราแทบจะไม่ได้คนจากโมเดลลิ่งเลย บางคนก็แอ็คติ้งไม่ได้ หน้าตาไม่โดน เราเลยรู้สึกว่าพอไปถึงที่เลยบางทีมันโดนกว่า มันได้กว่า ยิ่งบทที่เฉพาะมากๆ มันหาตามโมเดลลิ่งไม่ได้หรอก ก็จะไปตามสถานที่ที่เขาอยู่ แล้วติดต่อเขามา
ทิพย์ : พอเราทำแคสต์ให้หนังซึ่งมันยาวด้วยอะ เซนส์มันจะไม่เหมือนงานโฆษณา โฆษณามันเร็ว คือหันมาแบบนี้แล้วต้องได้เลย คือจะเอาลุคเป็นส่วนใหญ่ แอ็คติ้งว่ากันข้างหน้า และด้วยระยะเวลาการทำงานมันแค่อาทิตย์เดียวแล้วถ่ายเลย เราไม่มีเวลาไปสเกาต์หาจากข้างนอก มันเหนื่อยเกินไป กับการที่จะไปตามหาในระยะเวลาสั้นๆ วิธีออกไปหาข้างนอกเลยใช้เฉพาะกับงานหนัง ที่มีเวลามากกว่า
Life MATTERs : ในการแคสต์ใครสักคนมาทำงาน มีกระบวนการยังไงบ้าง
ทิพย์ : ตอนแรกเราก็ต้องอ่านบทก่อน แล้วไปคุยกับผู้กำกับ ว่าที่เรากับเขาคิดไว้เหมือนหรือต่างกันยังไงบ้าง เมื่อได้ภาพตรงกัน ก็มาวางแผนว่าจะไปหาคาแรคเตอร์เหล่านี้จากที่ไหนได้บ้าง
สร้อย : แต่ทุกวันนี้เฟซบุ๊กก็ช่วยพวกเราเยอะเลยนะ พอประกาศหาแล้วคนแชร์กันไปเรื่อยๆ หรือที่ลองไปค้นตามเฟซบุ๊กหรือไอจีก็เจอเยอะ แต่บางงานก็ยังต้องออกไปสเกาต์เองอยู่ดี ต้องลองดูว่าคนแบบที่เราหา เขาจะไปเดินหรือไปอยู่กันตรงไหนเราก็ไปตรงนั้น ที่เราแคสต์มาได้ก็หาข้างนอกทั้งหมด ไม่มีใครมาจากโมเดลลิ่งเลย อย่าง Motel Mist หรือ Popeye ถ้าไม่นับพี่เอก หรือเพ็ญพักตร์ ตัวละครอื่นๆ นี่มาจากการสเกาต์ทั้งหมด
ในสถานการณ์เดียวกัน แต่นักแสดงเล่นออกมาไม่เหมือนกันเลย มันก็น่าคิดนะว่าทำไมแต่ละคนถึงตอบสนองต่อเหตุการณ์เดียวได้ต่างกันขนาดนี้
Life MATTERs : ความสนุกของการทำแคสติ้งคืออะไร
ทิพย์ : เราชอบที่ได้คุย ได้แลกเปลี่ยนกับคนที่หลากหลายมากๆ บางทีก็ได้เห็นมุมมองหรือตรรกะแบบที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อนเลย มันก็ทำให้เราเปิดกว้างทางความคิดมากขึ้น ยอมรับความหลากหลายได้ดีขึ้น
สร้อย : ในสถานการณ์เดียวกัน แต่นักแสดงเล่นออกมาไม่เหมือนกันเลย มันก็น่าคิดนะว่าทำไมแต่ละคนถึงตอบสนองต่อเหตุการณ์เดียวได้ต่างกันขนาดนี้ สักพักก็จะเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า หรือว่าเขาเป็นแบบนี้ หรือมีปัญหาอะไรในชีวิตหรือเปล่า เราพบว่าเด็กมีปัญหามักจะเล่นดี
Life MATTERs : ระหว่างแคสต์จะมีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ทำยังไงให้คนเปิดใจตอบ
ทิพย์ : เราก็อยากถามเหมือนกันว่าทำไมถึงเล่าให้เราฟัง คนชอบถามว่าทำไมแกถามแล้วเขาตอบวะ เพราะบางทีมันก็เป็นเรื่องลึกๆ ที่ไม่น่าจะพูดกัน แต่ที่เราถามก็อิงจากบทแหละ ล่าสุดไปแคสต์ผู้สูงอายุ ก็ได้เรื่องประวัติศาสตร์มากมาย ร้องห่มร้องไห้
สร้อย : แล้วผู้สูงอายุนี่คือ 60 70 80 เลยนะ คือเขามีเรื่องยาวมาก แล้วเขาก็เล่ามาจนเรารู้สึกว่าสิ่งนี้เราไม่ค่อยได้เจอ มันคือประวัติศาสตร์เลย แล้วเขาเล่าในมุมของคนปกติที่อยู่ในสังคมนี้ ก็สนุกอีกแบบหนึง เพราะเวลาเราแคสต์ เราจะใช้การสัมภาษณ์เยอะ
สร้อย : การสัมภาษณ์มันเป็นกลยุทธ์ที่จะดึงศักยภาพคนนั้นออกมา ซึ่งผู้กำกับส่วนใหญ่ก็จะชอบฟังตอนสัมภาษณ์ บางทีฟังเยอะกว่าตอนลองแอคติ้งอีกนะ เพราะเราจะรู้ได้ว่าอินเนอร์ของคนคนนี้สามารถหยิบมาไกด์เป็นตัวละครได้ไหม
Life MATTERs : บทที่ตามหากันนานที่สุดคือบทไหน
ทิพย์ : น่าจะเรื่อง ‘เอวัง’ ของพี่คงเดชนะ สุดท้ายก็ได้คนที่ไปหามาคนแรก อันนี้เราไปทั่วภาคอีสานเลย ตามหาเด็กวัดในหลายจังหวัดมาก
สร้อย : แล้วก็ทำให้รู้ว่าประเทศไทยไม่มีเด็กวัดแล้ว โจทย์พี่เดชคือจะหาเด็กวัดแบบที่อยู่ในหนังสือเรียนภาษาไทย เด็กวัดที่อยู่กับพระเลย แต่จากที่เราไปตามหา พบว่ามันก็ไม่ใช่เด็กวัดแบบที่มาบิณฑบาตร แต่เป็นเด็กวัดแบบที่มาเรียนหนังสือแล้วก็นั่งรถกลับที่พัก เราก็เจอน้องคนหนึ่ง แต่พี่เดชก็รู้สึกว่าน้องยังไม่ใช่เด็กวัดในอุดมคติ เราก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่เลยนั่งรถไฟไปหนองคาย แล้วก็ค่อยๆ ไล่ลงมา เพราะเราคิดว่าอีสานคนเยอะ แล้วก็น่าจะมีวัฒนธรรมแบบนั้นอยู่
ก็เลยไล่จากหนองคาย ไป ยโสธร มหาสารคาม อุดรธานี แต่น่าจะไปจบที่อุบลมั้ง ไปทั่วแคว้นแดนอีสาน ก็พบว่าไม่ค่อยมีเด็กวัดแบบที่เราคิดเลย เพราะแต่ก่อนเด็กมาอยู่วัดเพราะมันไม่มีระบบโรงเรียน เด็กมาอยู่วัดเพื่อแลกกับการศึกษาในวัด แต่พอมีระบบโรงเรียนทุกคนก็ไปโรงเรียน อยู่กับพระต้องถือศีลในวัด มีข้อห้ามเยอะ มันไม่ได้อิสระเหมือนไปโรงเรียน วัดก็จะไม่ตอบโจทย์ตรงนี้แล้ว ทีนี้เด็กน้อยที่ยังอยู่ในวัดก็จะกลายเป็นสามเณร บวชเรียนไปเลย ซึ่งไม่ตรงโจทย์เราแน่ๆ
ทิพย์ : เด็กวัดจริงๆ คือคนที่โตแล้ว คนที่ไม่มีจะกิน มาอาศัยวัด มาอาศัยข้าววัดกิน เป็นผู้ใหญ่ไปแล้ว
สร้อย : ก็เลยรู้สึกว่าเด็กวัดในอุดมคติเราไม่มีแล้ว หรืออาจจะมีอยู่ใต้หรือเหนือเราก็ไม่รู้เนอะ แต่ในที่สุดเราก็เลยกลับมาน้องคนแรก
Life MATTERs : แล้วเรื่องที่แคสต์ง่ายที่สุดล่ะคือเรื่องอะไร
สร้อย : ไม่มี เรารู้สึกว่ามันยากทุกอันเลย พอเป็นหนังแล้วคาแรคเตอร์มันลึก ก็ต้องทำงานโดยการที่คุยกันกับเขาเยอะ เราก็เลยรู้สึกว่าไม่มีอันไหนที่ปุ๊บปั๊บแล้วได้มาเลย
ทิพย์ : บางทีคนนี้เราคิดว่าใช่ แต่พอมาแคสต์ มาลองเล่นแล้วไม่ใช่ ก็ต้องทำงานใหม่หมด
Life MATTERs : เมื่อมีคนที่มาแคสต์แล้วไม่ผ่าน ลำบากใจไหมในการตัดเขาออก
ทิพย์ : มันเลยจุดนั้นมาแล้ว เรารู้สึกว่ามันเป็นงาน …อืม แต่ก็เป็นคำถามที่ตอบยากเหมือนกันนะ
สร้อย : ลำบากใจที่จะเอาใครออกไหมเหรอ บางอันเสียดายมากกว่า เช่นคนนี้ดีอย่างหนึ่ง คนนั้นดีอีกอย่างหนึ่งก็น่าเสียดาย
ทิพย์ : เราไม่ลำบากใจตอนตัดคนออก แต่ลำบากใจตอนที่มีคนมาแคสต์แล้วรู้สึกว่าไม่ใช่แน่นอน แต่คือเขามาแล้วอ่ะ เราก็ต้องไปต่อให้จบกระบวนการ เพราะเขาอุตส่าห์ตั้งใจออกมาจากบ้านเพื่อมาหาเรา ก็ไม่อยากให้เขาเสียใจ นอกจากจะไม่ไหวจริงๆ เราถึงจะบอกว่าพอแล้ว
สร้อย : เราก็เกรงใจเขานะ สมมติว่ายื้อไปแล้วมันไม่ได้ มันยิ่งเสียเวลาเขา แต่ส่วนใหญ่ก็พยายามทำให้ครบแหละ นอกจากมีคนมารอเยอะ ก็ต้องกล่าวลากันไป ก็พยายามพูดไม่ให้เขาเสียน้ำใจมาก ซึ่งมันจะมีความลำบากใจมากตอนที่เรียกเขามาแคสต์อีกรอบแล้วสุดท้ายเอาออก เพราะเหมือนเขามาสองสามรอบแล้ว อันนี้จะมีความขอโทษนะคะ… (เสียงอ่อย)
Life MATTERs : อยากให้อธิบายเพิ่มเติมหน่อย ที่บอกเมื่อตอนต้นว่าเด็กมีปัญหามักจะเล่นดี
ทิพย์ : เด็กที่เราเอามาเล่นส่วนมาก พอคุยๆ ไปสักพักเราจะเห็นว่าเขามีปัญหาบางอย่าง มันเป็นเรื่องของคนที่ผ่านชีวิตมา เขาจะมีแบ็คกราวด์ที่ทำให้รู้สึกอ่อนไหวกับเรื่องนั้นๆ การต้องต่อสู่ ดิ้นรน หรืออะไรก็แล้วแต่ มันจะกลายเป็นวัตถุดิบที่ทำให้แสดงออกมาดี ถ้าเป็นเด็กที่ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร หรือไม่เคยผ่านเหตุการณ์ที่มันหนักหนาสาหัส แล้วไปเจอบทหนักๆ เขาก็อาจไม่รู้ว่าจะรู้สึกกับมันยังไง เพราะไม่เคยผ่านมันมาก่อน
สร้อย : แต่เราว่าตัวเขาเองไม่รู้ตัวหรอก
ทิพย์ : ใช่ตัวเขาไม่รู้ เหมือนมันจะออกมาเองนะ แววตาของคนที่มีความรู้สึก อย่างเช่นแก๊งชาวเขาที่ผ่านการถูกกดมาก่อน มันจะอยู่ข้างในเขา มองตาเขาแล้วมันจะออกมาโดยที่ไม่ต้องพูดเลย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการแอคติ้งนะ
Life MATTERs : แปลว่าคนบางคนอาจจะเหมาะแค่กับบทเพียงบทเดียว?
ทิพย์ : อาจจะแบบนั้น เราต้องทำความเข้าใจกับน้องที่มาแสดงด้วย ว่าธรรมชาติของเขาเป็นแบบไหน เหมาะกับบทแบบไหน บางทีการดันเขาไปในจุดที่เขาไม่สบายตัว เขาก็เล่นไม่ได้หรอก เพราะการต้องฝืนเป็นคนนั้นคนนี้มันเหนื่อย
สร้อย : สุดท้ายมันก็เล่นออกมาจากเนเจอร์ข้างในอยู่ดี ถ้าบอกว่าเป็นเรื่องของการแสดง เราว่าอาจจะไม่ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ เราว่าคนจะแสดงยังไงก็ได้แหละ แต่แสดงให้คนดูเชื่อว่าเขาเป็นคนนั้นจริงๆ มันยาก และถ้าถามว่าคนที่เราหามาจะไปเป็นอย่างอื่นมันยาก ใช่ มันเป็นปมด้อยของเรา ที่ไม่มีใครไปไหนได้เท่าไหร่
ทิพย์ : คนที่เราเลือกแทบจะไม่มีใครไปอยู่ในระบบได้ เพราะที่เขาแสดงมันมาจากตัวเขาเองที่เหมาะกับบทนั้นๆ ยกเว้นคนที่มีพรสวรรค์ทางการแสดง หรือมีแพสชั่นกับการเป็นนักแสดงด้วย ในขณะที่บางคนก็ไม่ได้อยากเล่นหรอก แต่เราไปเอาเขามาเล่น หลังจากนั้นมันก็อยู่ที่ตัวเขาเองด้วย ถ้าอยากเป็นนักแสดงก็ต้องพัฒนาตัวเองไป แต่บางคนอาจจะไม่ได้อยากไปถึงจุดนั้น เขาก็ไปทำอย่างอื่น เพราะมีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าสำหรับเขา
Life MATTERs : สิ่งที่ค้นพบเวลาไปแคสต์คนไกลๆ คืออะไร
ทิพย์ : งานอื่นๆ เราก็เคยไปสเกาต์หาคนแถบต่างจังหวัดเนอะ พอเจอคนน่ารักแล้วเข้าไปถาม ปรากฏว่าทุกคนมีค่ายหมดแล้ว
สร้อย : วงการนี้โหดมาก ตามโรงเรียนประจำจังหวัด พอไปถึงนี่คือเด็กพาเดินได้เลย ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือบางทีเขาก็ให้เราทำจดหมายไป แล้วเรียกมาให้ทั้งโรงเรียนเลย เราก็แบบ เฮ้ย ได้ด้วยเหรอวะ แต่สุดท้าย ทุกคนที่น่ารักคือมีค่ายกันไปหมดแล้ว แต่ละจังหวัดก็จะมีศูนย์กลางของเขาที่จะมีพวกเน็ตไอดอลไปอยู่กัน อย่างที่ชลบุรีจะมีร้านกาแฟอยู่แถวๆ ที่ขายข้าวหลามหนองมน ไปถึงนี่คือทุกคนที่อยู่ในไอจีเดินกันอยู่ตรงนั้น แล้วก็จะมีคนไปทาบทามไว้หมดแล้ว เราต้องรอเวลาสักสามสี่ปี ให้เด็กรุ่นใหม่เกิด
การมีค่าย บางคนได้โอกาสแต่บางคนก็เหมือนถูกตัดโอกาส
Life MATTERs : การที่เด็กน่ารักๆ มีค่ายกันหมดแล้วมันทำให้เกิดอะไรขึ้น
ทิพย์ : การมีค่าย บางคนได้โอกาสแต่บางคนก็เหมือนถูกตัดโอกาส คือเขาจับเซ็นสัญญาไว้ตั้งแต่ประถมเลย เก็บไว้ก่อน แต่เด็กไม่มีงาน หมดสัญญาอีกทีคือโตไปแล้ว ซึ่งเราสงสารนะ ทุกคนมีความฝัน แต่ว่าไม่ได้ทำงานจนกว่าจะเป็นอิสระ
สร้อย : เรามองว่าเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่คนเยอะ ล้นหลาม
ทิพย์ : แล้วเด็กมันมีความฝันมา มันก็อยากอยู่ในบริษัทที่มันใหญ่ โดยที่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะได้ทำในสิ่งที่อยากทำจริงๆ หรือเปล่า ทั้งๆ ที่หลายคนดีมากนะ เล่นดีเลย
Life MATTERs : สำหรับพวกคุณ เสน่ห์ของหนังอิสระคืออะไร
สร้อย : เราโชคดีที่ทีมงานหนังอิสระที่เราเจอ ทุกคนในโปรดักชั่นมีความครีเอทีฟในตัวเอง เราสนุกที่ได้รอดูว่าเขาจะคิดอะไรขึ้นมาอีก เช่น คนทำเสื้อผ้าเขาก็จะมีเหตุผลในการเลือกชุด หรือทีมอาร์ตที่ยกของมาจัดวางเขาก็คิดมาแล้ว ในทางกลับกัน เขาก็รอดูด้วยว่าเราจะแคสต์ใครมาให้อยู่ในเซ็ตของเขา
Life MATTERs : เคยอยากลองทำแคสต์ให้หนังค่ายใหญ่ๆ บ้างไหม
ทิพย์ : ก็อยากทำ แต่เรารู้สึกว่า ถ้าทำแคสต์ให้ค่ายใหญ่ สุดท้ายถ้าเราเข้าไปทำมันก็จะต้องมีความเป็นองค์กรนั้นอยู่ดี เช่น ถ้าเราไปทำงานสังกัดหนึ่ง เขาก็ต้องให้เราเอาคนในสังกัดเขามาแคสต์ คือเขาก็เล่นดีอยู่แล้วแหละ แต่เราก็รู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรใหม่เลย
สร้อย : ถามว่าอยากทำไหม ก็อยากทำในแง่ของการเรียนรู้ระบบมากกว่า ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นความท้าทายอะไรขนาดนั้น เพราะรู้สึกว่าทำมาสักพัก เราก็มีเนเจอร์ของเราเอง ค่ายใหญ่เองเขาก็ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ การที่เขารู้จักทาร์เก็ตของตัวเองดี เราว่าเขาก็เก่งในแบบนั้น ซึ่งเราไม่รู้เลย
ทิพย์ : และเขาอาจจะไม่ชอบหนังที่เราแคสต์ก็ได้
สร้อย : ใช่ เราเคยถูกทาบทามให้ไปแคสต์หนังเรื่องหนึ่งของค่ายดัง แต่ก็มีปัญหาเลยไม่ได้ทำ เราได้ไปดูหนังนะ หนังมันสนุกเลยแหละ แต่เราก็นึกภาพไม่ออกเหมือนกันถ้าตัวเองแคสต์จะเป็นยังไง ซึ่งสุดท้ายในเรื่องนั้นเราว่าทุกคนเล่นดีหมดเลยนะ ไม่ได้ติดอะไร แค่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราเลือกเป็นเบอร์หนึ่ง ไม่ใช่เนเจอร์ของเรา
ทิพย์ : ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นแมสนะ ก็อยากทำหนังแมส อยากลองระบบอื่น แต่พอไปทำแล้วอาจจะไม่ใช่ เขาอาจจะไม่ซื้อเราก็ได้ เป็นแบบนั้นมากกว่า
Life MATTERs : คนแบบไหนถึงจะทำแคสติ้งได้ หรือไม่ได้
สร้อย : พูดยาก อย่างแรกถ้าจะทำได้ต้องเป็นคนมีแพสชั่น เราว่ามันคือความสนใจ ความเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำอยู่มันถึงจะทำได้ ไม่ใช่ว่าเป็นคนเงียบพูดน้อยแล้วจะทำไม่ได้นะ เพราะถ้าสนใจแล้ว มันจะทำให้คุณพูดออกมาเองแหละ ถ้าคุณอยากรู้สิ่งนี้
ทิพย์ : อีกอย่างคือต้องเป็นคนช่างสังเกต ชอบที่จะรู้จักคน เรียนรู้สิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ หรือชอบตั้งคำถาม ว่าคนนี้จะไปอยู่ในนี้ได้มั้ย เรื่องเซนส์ด้วยนะ เราว่าทีมแคสต์แต่ละทีมมีเซนส์ไม่เหมือนกันหรอก แต่เราเองจะรู้กัน
สร้อย : ส่วนตัวเราไม่ค่อยชอบพูดกับคนแปลกหน้านะ แต่ครั้งแรกที่ไปกับทิพย์ เราไปยืนที่ตลาดรถไฟแล้วคิดว่าคนนี้น่าสนใจ แล้วจะทำยังไงล่ะ ให้คนนั้นมาอยู่ในหนังเราให้ได้ มันก็ต้องไปคุยกับเขา เลยไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของนิสัยนะ มันคือความที่ว่า คุณอยากได้เขามาแค่ไหนล่ะ
ทิพย์ : เพราะเอาเข้าจริง แต่ละคนก็ไม่ได้ชอบคุยกับคนอื่นขนาดนั้นนะ โดยธรรมดาเราก็ไม่ใช่คนชอบไปสังคม ไปเจ๊าะแจ๊ะกับคนอยู่แล้ว ไม่ใช่แบบนั้นกันเลย
สร้อย : อีกอย่างหนึ่ง เราว่าคนที่จะทำไม่ได้คือคนที่ด่วนตัดสินคน หรือไปดูถูกเขาว่าแบบนี้ไม่ได้หรอก มันปิดทั้งโอกาสเขาและโอกาสเราด้วย แต่ท้ายที่สุดเราก็ต้องมาตัดสินกันอยู่ดีในทีหลัง ตัดสินในไม่ตัดสิน (หัวเราะ)
Life MATTERs : ในกระบวนการทำหนัง หน้าที่ของคนทำแคสต์จบลงตรงไหน
สร้อย : จบพร้อมหนังเลย สำหรับเรา ตอนฉายก็ยังทำอยู่เลยนะ คือเราดูแลนักแสดงด้วย ของคนอื่นเราไม่รู้ แต่ของเราคือไปเอาเขามา ก็ต้องดูแลเขา ตอนถ่ายก็ต้องดูจิตใจ ดูทุกอย่างของเขา หลังๆ มีรับผิดชอบเรื่องเงินด้วย
ทิพย์ : มันมีสัญญา ก็ต้องดูเรื่องสัญญาคือเราต้องคอนแทคต์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับนักแสดงหมดเลย ในบางเรื่องคือแทบอยู่ติดนักแสดง ไปเข้าห้องน้ำก็แทบจะตัวติดไปด้วย เวลาเขาเรียกถ้าเราอยู่ไกลนักแสดง ไม่รู้ว่านักแสดงไปไหน มันก็จะช้า หรืออย่างซีนต่อไปต้องถ่ายอะไร หรือต้องซ้อมบทต่อบท มีซีนดราม่า เราก็ต้องให้สมาธิเขา คือไม่ใช่แอ็คติ้งโค้ชนะ แต่เราเตรียมนักแสดงให้พร้อมน่ะ
สร้อย : คือเขาเป็นคนทั่วไปที่เราไปบอกเขาว่า พี่มาเล่นหนังกันสิคะ ดังนั้นจะเหมือนเป็นเพื่อนกัน ต้องช่วยกัน ถึงหนังจบแล้ว ก็ยังต้องเป็นเพื่อนกันไปตลอด มันไม่จบว่ะ
Photos by Adidet Chaiwattanakul