บนโลกที่ให้ความสำคัญกับเอกสารรับรองสถานะ คงมีน้อยคนนักที่จะถูกยกย่องให้เป็น ‘ศาสตราจารย์’ ทั้งที่บนฝาผนังบ้านปราศจากปริญญาบัตรหรือประกาศณียบัตรใดๆ —Timothy Jacob Jensen นักออกแบบจากเดนมาร์กคือหนึ่งในนั้น
แม้ว่าจะไม่มีปริญญาบัตรแม้แต่ใบเดียว แต่เขามี ‘ผลงาน’ เปี่ยมคุณภาพที่ประจักษ์ชัดแก่สายตาชาวโลก โดยเฉพาะผู้คนในแวดวงการออกแบบอุตสาหกรรม ซึ่งน่าจะคุ้นเคยกับชื่อ Jacob Jensen Design สตูดิโอของเขากันเป็นอย่างดี
แต่สำหรับคนที่เพิ่งเคยได้ยินชื่อนี้เป็นครั้งแรก เราขอเล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่า Jacob Jensen Design คือสตูดิโอออกแบบสัญชาติเดนิชที่ทำงานให้กับแบรนด์สินค้าระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Bang & Olufsen, Vertu, Lufthansa, Toshiba และอื่นๆ อีกมากมาย โดยผลงานการออกแบบของพวกเขาได้รับรางวัลยกย่องจากหลายประเทศทั่วโลกเชียวล่ะ (ขอกระซิบว่า ลิสต์รายชื่อรางวัลทั้งหมดนั้นมีความยาวถึง 8 หน้า A4 เลยทีเดียว!)
ซึ่งหัวเรือใหญ่ที่คอยนำทางลูกเรือทั้งหมดข้ามน้ำข้ามทะเลไปดังไกลทั่วโลกก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก Timothy Jacob Jensen ชายวัย 55 ปีผู้ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียงเด็กฝึกงานในสตูดิโอเล็กๆ ของคุณพ่อ ก่อนจะก้าวขึ้นมาสืบทอดกิจการ พัฒนาแนวคิดอันเป็นเอกลักษณ์ของสตูดิโอ แล้วขยายสาขาของสตูดิโอมาไกลถึงเอเชีย และแน่นอน—ไทยแลนด์แดนสยามของเราด้วย
โดยนอกจากจะเป็นการขยับขยายกิจการแล้ว สตูดิโอ Jacob Jensen Design ในกรุงเทพฯ ยังทำหน้าที่เป็น ‘โรงเรียน’ ของเหล่านักศึกษาใน Graduate Apprentice Program ซึ่งทางสตูดิโอบริหารงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ( KMUTT)
ด้วยส่วนผสมทั้งหมดนี้ เราจึงต้องขอเข้าไปคุยกับนักออกแบบและศาสตราจารย์ไร้ใบปริญญาผู้นี้ซักหน่อยว่า จากเด็กฝึกงานคนหนึ่ง เขาก้าวขึ้นมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และในฐานะผู้ให้ความรู้ นักศึกษาด้านการออกแบบในไทยควรจะเรียนรู้อะไรอีกบ้าง
Life MATTERs: คุณรู้ตัวตั้งแต่เมื่อไหร่ และรู้ได้ยังไงว่าอยากเป็นนักออกแบบเชิงอุตสาหกรรม
Timothy : ผมไม่คิดว่ามันเป็นอย่างที่คุณว่ามา มันไม่ใช่ว่าอยู่ๆ คนเราจะมีแสงสว่างวาบในหัว ฉันจะนักบวช ฉันจะเป็นพระ ฉันจะเป็นแม่ชี หรือฉันจะเป็นนักแข่งรถ
ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องของเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันมามากกว่า คือมันเป็นธุรกิจครอบครัว ผมเป็นลูกคนสุดท้อง พี่ๆ ของผมไปโรงเรียนกันหมด แล้วสตูดิโอก็อยู่ที่บ้าน ตอนนั้นผมกำลังจะทำให้แม่เป็นบ้าเวลาอยู่ในบ้าน ผมก็เลยไปอยู่ในสตูดิโอกับพ่อและบรรดาเพื่อนร่วมงานของเขาแทน
จากนั้นไม่นาน ผมพบว่าโรงเรียนไม่ชอบผม และผมก็ไม่ชอบโรงเรียน เราก็เลยเลิกกันค่อนข้างเร็ว ตอนนั้นผมอายุ 16 ปี พ่อผมเห็นผมเป็นแบบนี้ก็คิดว่า ‘จะทำยังไงกับเจ้าเด็กนี่ดี’ เขาก็เลยบอกว่า ‘พ่อจะให้เงินลูกวันละสามดอลลาร์ ถ้าลูกมาทำงานตอน 8 โมงเช้าและไม่กลับจนกว่าจะ 4 โมงเย็น’ ผมก็เลยทำงานให้พ่อ สร้างโมเดลอะไรพวกนี้ แล้วครั้งหนึ่งผมบอกพ่อว่า ‘สิ่งที่พ่อทำดูไม่ค่อยเวิร์กนะ’ พ่อก็ตอบว่า ‘เอางี้ งั้นลูกสร้างโมเดลของพ่อให้เสร็จก่อน จากนั้นค่อยทำของตัวเอง แล้วค่อยมานำเสนอทีหลัง’ นั่นแหละจุดเริ่มต้นของผม
Life MATTERs: เหมือนคุณได้เรียนที่บ้านไปเลย
Timothy : ก็ใช่ แต่เรียกว่าเป็นเด็กฝึกงานดีกว่า
Life MATTERs: เท่ากับว่าคุณไม่มีวุฒิการศึกษาใดๆ เลย
Timothy : ไม่มี
Life MATTERs: น่าสนใจนะ เพราะมันเป็นไปไม่ได้เลยในประเทศไทยที่คนๆ หนึ่งไม่มีดีกรีแล้วจะมีโอกาสทำงานในระดับนี้
Timothy : ไม่จริงเลยสำหรับวงการสร้างสรรค์ อย่างช่างภาพที่มากับคุณ ถ้าเขาเป็นช่างภาพที่ดี เขาก็เป็นช่างภาพที่ดี เขาแค่ต้องมีกล้องในมือ และก็มีความสามารถพิเศษในการบันทึกภาพที่ดีที่สุด ไม่มีใครแคร์หรอกว่าเขามีดีกรีหรือเปล่า
แต่แน่นอนว่าถ้าใครคนหนึ่งจะเป็นหมอ หมอฟัน หรืออะไรเทือกๆ นั้น เขาต้องมีดีกรีอยู่แล้วล่ะ แต่ผมว่าในแวดวงสร้างสรรค์มันไม่จำเป็นหรอก ถ้าคนๆ นั้นมีทักษะที่เก่งกาจ คุณก็จ้างเขา ในทางกลับกันถ้าคนๆ นั้นเรียนจบจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด แต่ดันทำอะไรไม่ได้เลย ก็ไม่ไหวหรอกใช่ไหม
แต่ในกรณีของผมมันแปลกกว่าคนอื่นเล็กน้อย บางคนอาจเรียกว่าบ้าเลยทีเดียว เพราะว่าผมเป็นศาสตราจารย์ด้วย ทั้งที่ผมไปโรงเรียนได้แค่ 7 ปีครึ่งเท่านั้นเองตั้งแต่เกิดมา แต่ว่าการเป็นศาสตราจารย์ (professor) หมายความว่าคุณเชี่ยวชาญในอาชีพ (profession) ของคุณมากๆ มันจึงเป็นที่มาของคำๆ นี้ยังไงล่ะ
Life MATTERs: อย่างนี้นี่เอง ขอย้อนกลับไปเรื่องเมื่อกี้ ตอนไหนกันที่พ่อของคุณตัดสินใจว่า ‘โอเค จะให้ลูกทำต่อแล้ว’
Timothy : ไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องนี้ แต่พ่อผมอพยพในปี 1981 เขาย้ายไปสเปน ผมก็เลยได้ดูแลสตูดิโออยู่สองปี จากนั้นผมก็ออกจากธุรกิจครอบครัว แต่ผมก็กลับมาทำอีกครั้งในปี 1990
Life MATTERs: ทำไมคุณถึงออกไป และทำไมถึงกลับมา
Timothy : เป็นคำถามที่ดี อย่างที่ John Lennon พูดหรือร้องไว้ว่า ‘ชีวิตคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณขณะที่คุณวุ่นวายกับการวางแผนอย่างอื่นอยู่’ (Life is what happens to you while you’re busy making other plans)
ตอนนั้นผมอายุ 24 ปี ผมทำสิ่งเดิมๆ มาแล้ว 6 ปี มันก็ไม่แปลกที่จะอยากทำอย่างอื่นใช่ไหม ผมก็เลยออกไป แล้วไปทำงานในโคเปนเฮเกน อิตาลี ออสเตรเลีย จริงๆ ผมตัดสินใจที่จะออกไปเลย ไม่ย้อนกลับไปอีก แต่ในที่สุดสตูดิโอมีปัญหา พวกเขาขอร้องให้ผมกลับไป ผมก็เลยกลับ
แล้วในวัฒนธรรมแสกนดิเนเวียน มันไม่เหมือนประเทศไทยที่คุณต้องเคารพผู้ใหญ่ เคารพพ่อแม่ มันไม่เป็นแบบนั้นในบ้านเกิดของผม ที่นั่นคุณคาดหวังให้ลูกๆ ต่อต้านคุณด้วยซ้ำไป แบบ ‘ช่างพ่องช่างแม่งสิ!’ แล้วก็ทำอย่างที่ตัวเองต้องการ แล้วพ่อก็สนับสนุนผมเป็นอย่างดี ‘ลูกทำได้อยู่แล้ว’ เขาว่าอย่างนั้น
Life MATTERs: คุณต้องเผชิญกับแรงกดดันอะไรไหม เพราะพ่อของคุณสั่งสมชื่อเสียงให้สตูดิโอมาสักระยะหนึ่งแล้ว
Timothy : ผมคิดว่าแท้จริงแล้วชีวิตทั้งชีวิตคือแรงกดดันมหาศาลสำหรับพวกเราทุกคน จริงไหม ที่จริงตอนนั้นธุรกิจอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างย่ำแย่ คนที่ดูแลสตูดิโออยู่ในเวลานั้นจึงขอให้ผมกลับมาแก้ไขปัญหา แต่แน่นอนว่าชื่อเสียงและความสำเร็จของพ่อก็ยังคงอยู่ยง แต่เมื่อคุณเติบโตขึ้นมาในครอบครัว พ่อแม่ก็เป็นแค่พ่อแม่
แล้วในวัฒนธรรมแสกนดิเนเวียน มันไม่เหมือนประเทศไทยที่คุณต้องเคารพผู้ใหญ่ เคารพพ่อแม่ มันไม่เป็นแบบนั้นในบ้านเกิดของผม ที่นั่นคุณคาดหวังให้ลูกๆ ต่อต้านคุณด้วยซ้ำไป แบบ ‘ช่างพ่องช่างแม่งสิ!’ แล้วก็ทำอย่างที่ตัวเองต้องการ แล้วพ่อก็สนับสนุนผมเป็นอย่างดี ‘ลูกทำได้อยู่แล้ว’ เขาว่าอย่างนั้น
Life MATTERs: แล้วในตอนนั้นคุณแก้ไขปัญหาของสตูดิโออย่างไร
Timothy : ผมทำงานหนัก ต่อยอดจากชื่อเสียงที่เป็นรากฐานดั้งเดิม แล้วตอนนั้นผมก็ใช้ชีวิต—ผมบอกตรงๆ เลยนะ—ด้วยเงินแค่ 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสำหรับเดนมาร์กมันน้อยมากๆ เลยล่ะ ผมใช้รถที่อายุเท่าๆ กับตัวเอง ทุกบาททุกสตางค์ต้องเอาไปลงกับสตูดิโอทั้งหมด เพราะมันเกือบจะล้มละลายแล้ว นั่นแหละ วิธีก็คือผมทำงานหนัก ทำงานร่วมกับคนเก่งๆ แล้วก็ทำงาน ทำงาน ทำงาน
มันมีประโยคหนึ่งจาก Ray Croc ชายที่ขโมย McDonalds ไปจากสองพี่น้องแมคโดนัลด์ เขาตายไปแล้วล่ะ แต่เขาเป็นคนทำให้ McDonalds โตมาได้จนทุกวันนี้ ซึ่งเขาเคยพูดอะไรดีๆ ไว้ว่า ‘อยู่ในที่ๆ ถูกต้อง ในเวลาที่ถูกต้อง และทำอะไรซักอย่างเกี่ยวกับมัน’’ (Be in the right place at the right time, and do something about it.)
เช่น คุณยืนอยู่ที่ริมแม่น้ำ นั่นคือที่ๆ ถูกต้อง และปลาเทราต์ก็กำลังกระโดดขึ้นมา นั่นคือเวลาที่ถูกต้อง แต่ถ้าคุณไม่ยื่นมือออกไปจับปลา คุณก็จะไม่ได้อะไร ผมคิดว่าตัวเองทำอย่างนั้นนะ ผมอยู่ในที่ๆ ถูกต้อง ในเวลาที่ถูกต้อง และผมก็ทำอะไรซักอย่างเกี่ยวกับมัน และทำอย่างหนักด้วย
สมมติว่าคุณจะออกแบบที่เปิดขวด มันก็ต้องเปิดขวดได้แหงอยู่แล้ว ซึ่งฟังก์ชั่นการเปิดขวดก็ไม่ได้วิเศษวิโสอะไร มันไม่ต้องใช้เวทมนตร์ แต่คำถามคือคุณจะเติมอะไรเข้าไปได้อีกหรือเปล่าล่ะ—ความปรารถนา ความรู้สึก—เพราะว่าฟังก์ชั่นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้ว ไม่ว่ายังไงโปรดักต์ก็ต้องมีฟังก์ชั่น
Life MATTERs: คุณพัฒนาคอนเซ็ปต์เรื่อง ‘รูปลักษณ์มาจากอารมณ์’ (Form Follows Feelings) ขึ้นมา อธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหมว่ามันหมายความว่าอย่างไร
Timothy : ผมจะพยายามนะ มันมีสถาบันดีไซน์อันเก่าแก่สัญชาติเยอรมันชื่อว่า Bauhaus และพวกเขาเชื่อว่า รูปลักษณ์มาจากการใช้งาน (Form Follows Function) ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ คุณเคยเห็นมือจับประตูใช่ไหม มันจะต้องมีความยาวที่พอเหมาะสำหรับการบิด และมันก็ต้องบิดลงเพื่อให้เหมาะกับสรีระ อะไรเทือกๆ นั้น ดังนั้นมือจับประตูก็เลยมีหน้าตาแบบที่คุณเคยเห็น เพื่อตอบสนองฟังก์ชั่นการใช้งาน
แต่สำหรับโปรดักต์ในยุคโพสต์โมเดิร์น สมาร์ตโฟนเครื่องหนึ่งยังมีกลไกมากกว่าจรวดเครื่องแรกที่บินไปดวงจันทร์เสียในปี 1969 เสียอีก ดังนั้นฟังก์ชั่นจึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในทั้งนั้นในยุคนี้ อย่างเช่นไอเดียที่ว่า ทุกสิ่งควรจะยั่งยืน ก็แน่สิ ทุกอย่างควรจะยั่งยืน มันเป็นไอเดียธรรมดา ไม่ใช่ไอเดียใหม่
สมมติว่าคุณจะออกแบบที่เปิดขวด มันก็ต้องเปิดขวดได้แหงอยู่แล้ว ซึ่งฟังก์ชั่นการเปิดขวดก็ไม่ได้วิเศษวิโสอะไร มันไม่ต้องใช้เวทมนตร์ แต่คำถามคือคุณจะเติมอะไรเข้าไปได้อีกหรือเปล่าล่ะ—ความปรารถนา ความรู้สึก—เพราะว่าฟังก์ชั่นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้ว ไม่ว่ายังไงโปรดักต์ก็ต้องมีฟังก์ชั่น
ดังนั้นผู้บริโภคจึงต้องการเชื่อมโยงกับโปรดักต์ด้วยความรู้สึกอะไรบางอย่างด้วย ฟังก์ชั่นจึงไม่เพียงพออีกต่อไป มันมีอะไรที่คุณสามารถเติมลงไปได้อีก จึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า Form Follows Feelings ก็เหมือนเป็นวิวัฒนาการนั่นแหละ
และถ้าผมจะเพิ่มเติมอีกนิด มันจะน่าสนใจมาก ถ้าคุณมีหุ่นยนต์ที่ทำความสะอาดพื้นให้คุณได้ มันกินไฟฟ้าเป็นอาหาร แล้วก็ทำความสะอาดพื้นให้คุณตอนคุณไม่อยู่บ้าน มันก็ดี แต่ต่อจากนั้นล่ะ มันอาจจะตอบสนองคุณได้ ‘ยินดีต้อนรับกลับบ้าน บุรุษไปรษณีย์มาแหนะ วันนี้อย่าลืมไปเล่นเทนนิสน่ะ’ มันมีบุคลิกภาพ (personality) เป็นของตัวเอง ซึ่งนั่นน่าสนใจ เพราะมันคืออีกหนึ่งเลเยอร์ที่เพิ่มขึ้นมา คุณมีฟังก์ชั่น คุณมีความรู้สึก และคุณก็สามารถเพิ่มบุคลิกภาพเข้าไปได้ด้วย
Life MATTERs: ฉันเข้าใจว่าแต่ละสตูดิโอต้องมีดีไซน์ที่เป็นคาแรกเตอร์ของตัวเอง เหมือนเป็น DNA ของตัวเอง คุณค้นพบ DNA ของ Jacob Jensen ได้อย่างไร
Timothy : มันไม่มีหรอก DNA ที่ว่าน่ะ เพราะเราทำงานให้ลูกค้าหลากหลายราย มันไม่เหมือนกับการออกแบบให้แบรนด์ตัวเอง ซึ่งเราก็มีแบรนด์ตัวเองอยู่ชื่อ Jacob Jensen แต่เวลาเราออกแบบให้ลูกค้า งานออกแบบนั้นต้องเน้น DNA ของพวกเขา แต่ถ้าจะมีบางอย่างที่เรียกได้ว่าเป็นคาแรกเตอร์ของพวกเรา ก็คงจะเป็นคุณภาพและความเรียบง่าย นั่นน่าจะเป็นสิ่งที่คุณจดจำได้ในงานของเรา
Life MATTERs: แล้วเมื่อคุณเปิดสตูดิโอที่เซี่ยงไฮ้และกรุงเทพฯ คุณออกแบบงานที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเอเชียนได้อย่างไร
Timothy : ในเซี่ยงไฮ้ บรรดาหญิงสาวยืนต่อแถวหน้าร้าน Chanel หรือ Louis Vuitton เพื่อซื้อกระเป๋าดีไซน์ใหม่ของพวกเขา มันเป็นดีไซน์แบบยุโรปทั้งนั้น ไม่มีอะไรในตัวมันที่เป็นเอเชียนเลย ผมคิดว่าดนตรีที่ดี ดีไซน์ที่ดี อาหารที่ดี มันเข้าถึงพวกเราทุกคนได้เท่าๆ กัน ไม่ว่าคุณจะมาจากเซาธ์แอฟริกา ไทย หรือเดนมาร์ก
ผมไม่คิดว่ามันมีความหลากหลายในการดีไซน์ขนาดนั้น ถ้าคุณชอบมันก็คือคุณชอบมัน อีกอย่างจริงๆ เราทำงานมากว่า 60 ปีแล้ว เราเคยทำงานให้บริษัทจากเอเชียมาก่อนจะมาเปิดสตูดิโอที่เซี่ยงไฮ้และกรุงเทพฯ เสียอีก ดังนั้นผมไม่คิดว่าจะต้องออกแบบงานที่แตกต่างสำหรับลูกค้ายุโรปและเอเชีย แต่เราออกแบบงานที่แตกต่างสำหรับลูกค้าแต่ละรายมากกว่า
แน่นอนแหละว่ามันก็ดีเหมือนกันที่มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมประเทศนั้นๆ ด้วย แต่โดยรวมแล้วเราเน้นเรื่องคุณภาพมากกว่า ผมไม่คิดว่าคุณต้องออกแบบให้คนเอเชียด้วยวิธีที่แตกต่างจากคนยุโรปหรืออเมริกัน อีกอย่างหนึ่งทุกวันนี้โลกทั้งหมดเชื่อมโยงกัน ตลาดทุกวันนี้เป็นตลาดระดับโลกแล้ว
Life MATTERs: คุณออกแบบงานมาหลากหลายมาก มีงานไหนที่มีอิทธิพลกับคุณเป็นพิเศษไหม
Timothy : ไม่นะ ผมชอบสตูดิโอที่เราออกแบบกันเอง มันเป็นงานดีไซน์แบบฮุกกะ ซึ่งเป็นงานดีไซน์ที่สะท้อนตัวตนและแนวคิดแบบเดนิชแท้ๆ ผมภูมิใจและมีความสุขกับมัน เพราะผมคิดว่ามันเป็นสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี แต่ผมไม่คิดว่ามันมีอิทธิพลกับผมแบบนั้นนะ
Life MATTERs: ในเมื่อ Jacob Jensen เป็นสตูดิโอออกแบบ คุณเข้ามามีส่วนร่วมกับวงการการศึกษาได้อย่างไร
Timothy : ตั้งแต่ปี 1987 ตอนที่ผมเป็นเด็กฝึกงานในสตูดิโอของพ่อ เราก็ให้ความรู้กับผู้คนอยู่แล้ว และเขาก็พยายามให้ความรู้กับผม เรามีเด็กฝึกงานในสตูดิโอตลอดเวลา พวกเขาอาจจะมาใช้เวลาอยู่กับเรา 6 เดือนหรือ 1 ปี จากนั้นพวกเขาก็เดินหน้าต่อไป เหมือนที่ผมก็เคยทำมาก่อน
ผมได้ข้อเสนอจากชายคนหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ เขาพิทช์กับผมว่า ‘เรามาช่วยกันให้ความรู้และผลักคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในจีนกันเถอะ เพื่อที่พวกเขาจะได้ออกแบบงานดีไซน์แบบจีนที่ดี และสร้างแบรนด์สัญชาติจีนที่ยิ่งใหญ่’ และผมชอบสิ่งที่เขาพูดมาก ทำไมโลกตะวันตกต้องมีทุกสิ่งทุกอย่าง ในเมื่อทุก 1 ใน 5 คนบนโลกคือคนจีน แต่ก็ยังไม่มีแบรนด์สัญชาติจีนที่เป็นที่รู้จักในเวทีโลกอยู่ดี
ในประเทศไทยเองซึ่งมีประชากรกว่า 70 ล้านคนก็ยังไม่มีแบรนด์ระดับโลกเหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมาก
ดังนั้นผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อหาแรงงานราคาถูก ผมต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างโลกที่ดีขึ้น ซึ่งหนึ่งในวิธีที่จะทำเช่นนั้นก็คือสนับสนุนให้คนใช้สมองมากกว่าใช้มือ
Life MATTERs : ให้นึกแบรนด์ไทยระดับโลกแบบเร็วๆ ตอนนี้ก็นึกไม่ออกเหมือนกัน
Timothy : มันไม่มี นอกจากการบินไทยที่ใกล้เคียง ผมมาจากประเทศที่มีแค่ 5 ล้านคน แต่เรามีแบรนด์ระดับโลกมากมาย เช่น Ecco, Pandora, Carlsburg, Lego, Bang & Olufsen ดังนั้นด้วยโปรแกรมการศึกษาที่เราร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในเซี่ยงไฮ้ และ KMUTT ในกรุงเทพฯ เราจึงพยายามจะหล่อหลอมคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ
คนที่จะเข้าร่วมโปรแกรมนี้ได้ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมาก่อน จากนั้นจึงมาใช้เวลาตั้งแต่ครึ่งปี หนึ่งปี ไปจนถึงสองปีกับเรา จากนั้นพวกเขาก็ไปสร้างสตูดิโอของตัวเอง แล้วใช้ความสามารถของตัวเองในการสร้างแบรนด์สัญชาติไทยที่ยิ่งใหญ่
ดังนั้นผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อหาแรงงานราคาถูก ผมต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างโลกที่ดีขึ้น ซึ่งหนึ่งในวิธีที่จะทำเช่นนั้นก็คือสนับสนุนให้คนใช้สมองมากกว่าใช้มือ อย่างประเทศจีนซึ่งถือว่าตัวเองเป็นโรงงานของโลก (factory of the world) แต่ตอนนี้พวกเขาพยายามที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมา พวกเขารู้แล้วว่าสามารถเพิ่มมูลค่าเข้าไปในสิ่งที่ตัวเองผลิตได้
Life MATTERs: คุณส่งต่อความรู้ให้เด็กฝึกงานได้อย่างไร
Timothy : อย่างไรงั้นหรือ เราไม่ได้สอนพวกเขา เพราะสิ่งที่เราให้เขาทำคือโปรเจกต์จริงๆ ที่มีเดดไลน์จริงๆ สมมติคุณอยากเรียนรู้วิธีอบขนมปัง คุณจะอ่านหนังสือเกี่ยวกับการอบขนมปังเฉยๆ หรือคุณจะลองอบขนมปังดูล่ะ พวกเราที่นี่เชื่อมั่นในการลองอบขนมปังมากกว่า
สรุปคือการทำงานในโปรเจกต์จริงๆ ก็คือวิธีที่เราส่งต่อความรู้ให้พวกเขา มันมีหลายขั้นหลายตอนในการทำงาน และสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากที่จะต้องสอนเด็กฝึกงานในเอเชียคือ ช่างหัวระบบอาวุโส! ประเทศแถบนี้ยึดถือระบบอาวุโสกันมาก ซึ่งมันไม่ดีกับการพัฒนาหรือต่อยอดเลย คุณต้องเคารพผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อแม่ เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรืออะไรก็แล้วแต่
แน่นอนว่ามันมีความอ่อนโยนอยู่ในความเคารพ แต่ในขณะเดียวกันความเคารพนั้นก็จำกัดขอบเขตความสร้างสรรค์ของคุณ
Life MATTERs: แล้วคุณทำอย่างไรเพื่อสอนเด็กฝึกงานให้เลิกยึดติดกับระบบอาวุโส
Timothy : ผมให้พวกเขาทำงานร่วมกันกับผมอย่างเท่าเทียมกัน ผมจะไม่พูดว่า ‘ผมเป็นศาสตราจารย์นะ ทำตามที่บอกเดี๋ยวนี้’ แต่ผมจะพูดว่า ‘คุณคิดว่าอย่างไรบ้าง’ ก็คือทำงานร่วมกันนั่นแหละ ผมไม่ได้ฉลาดไปกว่าพวกเขาเลย ผมแค่มีองค์ความรู้ที่กว้างกว่า
Life MATTERs: คุณไม่มีปัญหาเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจเลยหรือ ในการปล่อยให้เด็กฝึกงานที่ไม่ได้มีประสบการณ์อะไรมาทำโปรเจกต์จริงๆ กับคุณ
Timothy : อย่างแรกเลยคือพวกเขาต้องจบปริญญาตรีมาแล้ว ดังนั้นพวกเขาก็รู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับการออกแบบบ้างแหละ และเราก็ไม่ได้ปล่อยให้พวกเขาไปพบลูกค้าด้วยตัวเองละทำงานเองแบบไม่มีคนช่วยดูแล แน่นอนว่าต้องมีครีเอทีฟไดเรกเตอร์และสมาชิกในทีมช่วยแนะนำด้วย
มันแปลกดีที่คุณยกเรื่องความไว้ใจขึ้นมาพูด เพราะเมื่อปี 2014 มีงานวิจัยเรื่องความเชื่อใจ คุณคิดว่าคนชาติไหนเป็นคนที่พร้อมไว้เนื้อเชื่อใจคนอื่นมากที่สุด ลองเดาดูสิ
ยิ่งคุณมอบความไว้ใจให้ผู้คนมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะทำงานได้ดีขึ้นมากเท่านั้น ถ้าคุณมัวแต่สอดส่องพวกเขา ตรวจสอบพวกเขา ไม่ไว้ใจพวกเขา พวกเขาก็จะหมดความมุ่งมั่นไปได้ง่ายๆ เลย
Life MATTERs: ไม่รู้สิ แต่ฉันรู้ว่าไม่ใช่ไทยแน่ๆ ล่ะ ฮ่าๆ
Timothy : คนเดนมาร์กนี่แหละ ผมไม่มีปัญหาเรื่องความเชื่อใจเลย และผมคิดว่าเวลาคุณเชื่อใจคนอื่น พวกเขาสามารถรับรู้ถึงความเชื่อใจของคุณได้ แล้วพวกเขาก็จะเคารพในความเชื่อใจนั้น ยิ่งคุณมอบความไว้ใจให้ผู้คนมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะทำงานได้ดีขึ้นมากเท่านั้น ถ้าคุณมัวแต่สอดส่องพวกเขา ตรวจสอบพวกเขา ไม่ไว้ใจพวกเขา พวกเขาก็จะหมดความมุ่งมั่นไปได้ง่ายๆ เลย
Life MATTERs: แล้วคุณมาร่วมงานกับ KMUTT ได้อย่างไร
Timothy : ตอนนั้นผมเมา ผมยังเด็ก และผมก็ต้องการเงิน (หัวเราะ) ไม่หรอก ผมเคยแบ็กแพ็กมาที่ไทยตอนปี 1989 ผมชอบคนไทย อาหารไทย ศาสนาพุทธ และอะไรต่างๆ ผมอยากกลับมาที่ไทยอีกครั้งอยู่แล้ว จากนั้นด้วยเหตุการณ์หลายๆ อย่าง
ผมได้รู้จักกับคุณกอบกาญจน์ (วัฒนวรางกูร—รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) เธอเป็นประธานของบริษัท Toshiba Thailand เราทำงานร่วมกันครั้งหนึ่ง แล้วผมก็รู้จักกับหลายๆ คนในไทย ผมรีเสิร์ชเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งในกรุงเทพฯ แล้วจึงตัดสินใจที่จะร่วมงานกับ KMUTT
Life MATTERs: คุณคิดว่าเด็กฝึกงานไทยเป็นยังไงบ้าง แตกต่างจากชาติอื่นๆ มากไหม
Timothy : ต่างนะ ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม พวกเขาเคารพผมมากกว่าชาติอื่นๆ แต่ในเรื่องผลงานที่ออกมานั้นเรียกได้ว่าดีทัดเทียมกันเลย
ประเทศไทยมีคนไนซ์ๆ แต่คุณยังขาดอะไรบางอย่างอยู่ อาจเป็นเรื่องความไว้ใจที่คุณพูดถึงก็ได้ และที่สำคัญคือคุณต้องไม่คอร์รัปชั่นเด็ดขาด (เน้นเสียง) ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งเลวร้าย มันไม่เวิร์กต่อให้คุณเป็นส่วนหนึ่งของมันก็ตาม
Life MATTERs: คุณคิดอย่างไรกับการศึกษาด้านการออกแบบในประเทศไทย
Timothy : ผมคิดว่าสองประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกคือเดนมาร์กกับประเทศไทย ในเดนมาร์กเราพิสูจน์ได้ด้วยสถิติ เราเป็นประเทศที่มีคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในโลก เราเป็นคนที่พร้อมไว้เนื้อเชื่อใจคนอื่นมากที่สุดในโลก เราจ่ายภาษีมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่เราก็มีความสุขมากๆ แต่กับประเทศไทย ต่อให้คุณไม่ค่อยมีกินมีใช้ คุณก็ยังคงมีความผ่อนคลาย คุณยังยิ้มได้ ยิงมุกได้
ครั้งหนึ่งผมบินจากฟิลิปปินส์มาไทย มีแอร์โฮสเตสคนหนึ่ง คือผมชอบคุย ชอบเล่นมุกใส่คนอื่นอยู่แล้ว มันเป็นไฟลต์สามชั่วโมง และก่อนเครื่องจะแลนด์ กลายเป็นว่าเธอกล้าตีผม แบบที่ตีเบาๆ เล่นๆ น่ะ คุณนึกออกใช่ไหม แล้วก็เล่นมุกกับผม โดยขอให้ผู้โดยสารคนอื่นจัดการผมซะ ถ้าเธอไปทำอย่างนั้นในอเมริกานะ เธอคงถูกไล่ออก ถูกฟ้อง แล้วก็ถูกจับไปนอนในคุก 30 ปีแน่นอน
ประเทศไทยมีคนไนซ์ๆ แต่คุณยังขาดอะไรบางอย่างอยู่ อาจเป็นเรื่องความไว้ใจที่คุณพูดถึงก็ได้ และที่สำคัญคือคุณต้องไม่คอร์รัปชั่นเด็ดขาด (เน้นเสียง) ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งเลวร้าย มันไม่เวิร์กต่อให้คุณเป็นส่วนหนึ่งของมันก็ตาม
ในไทยมีคนเก่งๆ มากมาย มีความเป็นไปได้ใหม่ๆ และในฐานะคนที่ไปกลับไทยมากว่า 30 ปีแล้วผมก็คิดว่าประเทศกำลังก้าวไปข้างหน้า สิ่งที่ผมพอจะแนะนำได้คือให้คุณมั่นใจในตัวเอง เชื่อใจผู้อื่น และไม่คอร์รัปชั่นเด็ดขาด โกงแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้นะ นึกออกไหมว่าคุณไม่มีทางท้องนิดนึง คุณท้องก็คือคุณท้อง ถูกไหม
Life MATTERs: คำถามข้อสุดท้ายแล้ว คุณอยากบอกอะไรกับนักออกแบบรุ่นใหม่
Timothy : เรื่องวิธีการทำงาน แน่นอนว่าเดี๋ยวนี้เรามีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีต่างๆ แล้ว แต่ในสตูดิโอเราก็ยังใช้มือทำงานทุกวัน เรายังสร้างโมเดลอยู่ ไม่ใช่แค่นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์อย่างเดียว แล้วก็เรื่องความเคารพ—หรือเรียกว่าความไม่เคารพดีกว่า
ช่างแม่งพวกศิลปะโบราณจากราชวงศ์หมิงอะไรนั่น เรามาสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ กันดีกว่า แน่นอนว่าคุณสามารถรักคนอื่น เคารพอื่นได้ ถ่อมตัวได้ แต่ไม่ต้องสนระบบอาวุโสหรือโครงสร้างใดๆ คุณควรมีทัศนคติแบบช่างแม่ง ‘ก็จะทำแบบนี้’ อ้อ และอย่าลืมมีอารมณ์ขันด้วยล่ะ
Photos by Adidet Chaiwattanakul