ขออภัยที่อาจทำให้คุณผิดหวัง
เพราะบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ เราอาจไม่ค่อยเห็นภาพงานคอมิกสตริปส์เรื่องความรักของ TUNA DUNN หรือ ตุลย์—ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต แบบที่คุณเคยรู้จัก และแทบจะไม่เห็นภาพประกอบลายเส้นอบอุ่นของ นัท—ณัฐพงศ์ ดาววิจิตร หรือที่ทุกคนรู้จักในชื่อ NUT.DAO
กลับกัน การพูดคุยครั้งนี้กลับเต็มไปด้วยเรื่องของความอยากจะขยับขยายออกจากงานที่สร้างชื่อและภาพจำของตัวเอง หลังจากที่ทั้งคู่ได้รับเลือกไปจัดแสดงผลงานที่นิทรรศการ UNKNOWN/ASIA ที่เมืองโอซาก้าประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับศิลปินทั่วเอเชีย และได้แสดงงาน (ชุดใหม่!) อีกรอบที่ The Jam Factory ในนิทรรศการชื่อเดียวกันซึ่งเพิ่งจบไปเร็วๆ นี้
ที่น่าสนใจคือ งานทั้งหมดนี้ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับสิ่งที่ผู้คนเคยจำอีกต่อไป ยังไม่นับการทำความรู้จักโลกธุรกิจอย่างการร่วมกันสร้างแบรนด์สินค้า Lig ที่ทำให้พวกเขาต้องผละจากการจับเมาส์อยู่หน้าคอมพ์แล้วมาจับผ้าที่สกรีนลายเส้นของตัวเองแทนบ้าง
แม้ไม่ใช่เรื่องราวของผลงานสร้างชื่อ แต่นี่คือการเริ่มต้นเดินทางเข้าสู่ดินแดนแห่งงานใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นมือของตุลย์และนัทดาว ซึ่งก็ชวนติดตามไม่แพ้กัน
กับเรื่องนี้ เราสัญญาว่าจะไม่ทำให้คุณผิดหวัง
Life MATTERs : ตุลย์เคยพูดว่าไม่อยากให้คนจำภาพตัวเองในฐานะนักวาดการ์ตูน รู้สึกว่าตอนนี้ทำสำเร็จหรือยัง
ตุลย์ : ไม่ค่อยแน่ใจ มันอาจจะต้องใช้เวลามากกว่านี้ถึงจะเริ่มเห็นผล งานที่ทำส่วนใหญ่ตอนนี้ก็เริ่มไม่มีงานการ์ตูนบ้างแล้วแต่รวมๆ อาจจะยังไม่สามารถกะได้ว่าคนไม่มองเราเป็นนักวาดการ์ตูนแล้ว
Life MATTERs : ทุกวันนี้ตุลย์รับงานแบบไหนบ้าง
ตุลย์ : จริงๆ ส่วนใหญ่ก็รับหมดแหละถ้ามันเป็นเชิงภาพประกอบหรือวิชวล ถ้าเป็นงานโมชั่นก็จะชอบหน่อยเพราะว่าเราสนใจ อยากสร้างพอร์ตโฟลิโอโมชั่นให้เยอะขึ้นเพราะเราก็มีแต่ GIF เรามีงานโมชั่นที่จริงจังอยู่แค่ประมาณสองงานเองมั้งซึ่งมันน้อยมากที่จะไปหาลูกค้าเพิ่มด้านโมชั่น
Life MATTERs : ถามฝั่งนัทดาวบ้าง ทุกวันนี้งานหลักๆ ที่คุณทำอยู่คืออะไร
นัทดาว : จริงๆ เรามีงานประจำคือทำกราฟิกที่ Practical Design Studio ส่วนในเพจก็จะรับพวกงานภาพประกอบหนังสือหรือทำโปสเตอร์ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือมากกว่า จะไม่ค่อยมีพวกโมชั่น หรือเหมือนตุลย์ที่วาดเป็นหนังสือเล่มหรือเป็นคอมิก
Life MATTERs : เรามักคุ้นชื่อนัทดาวในฐานะนักวาดภาพประกอบ ถ้าพูดถึงงานที่ Practical Studio คุณทำอะไรบ้าง
นัทดาว : ส่วนใหญ่เป็นงานแบรนด์ดิ้ง ทำกราฟิก โปสเตอร์ ซึ่งก็จะไม่มีตัวตนของเราอยู่ในนั้น แต่เราก็จะได้ไปรู้เรื่องอื่นที่ไม่ใช่การวาดภาพประกอบอย่างเดียว แล้วที่ Practical เขาจะมีเอเจนซี่ คือเราส่งพอร์ตเข้าไปที่เอเจนซี่ที่ญี่ปุ่นแล้วรับงานภาพประกอบผ่านทางเอเจนซี่เลย เขาก็จะมีส่งงานของทางนั้นมาบ้าง อย่างของสายการบินพีชหรือโซนี่ ก็เป็นงานที่สนุกดี
Life MATTERs : พวกคุณเคยอยากออกมาทำงานของตัวเองอย่างเดียวบ้างมั้ย
ตุลย์ / นัทดาว : (ตอบทันที) ก็มี (หัวเราะ)
นัทดาว : มี แต่ก็รู้อยู่ลึกๆ แหละว่าถ้าออกมาทำอย่างเดียวยังไงก็เบื่อเหมือนกัน ไม่ค่อยมีความพอใจเท่าไหร่ (หัวเราะ) จริงๆ เราว่ามันเป็นเรื่องปกติ เหมือนเราเจออะไรทุกวัน สุดท้ายวันหนึ่งมันก็ต้องรู้สึกอยากเดินต่อ อยากไปลองจุดนี้บ้าง จุดนั้นบ้าง แต่ก็รู้ว่าอยู่บ้านทำงานคนเดียวต้องเฉาแน่ อยู่ออฟฟิศมันก็ดีคนละอย่าง อย่างออฟฟิศเราดีอย่างหนึ่งคือเราไม่ต้องเข้าทุกวันก็ได้ มันก็เลยทำให้เราบาลานซ์ได้
ตุลย์ : อย่างเรา ตอนแรกเราก็ทำประจำที่ฟังใจแล้วก็ทำไม่ไหว เพราะว่าก็ยังบ้ารับงานนอกอยู่ด้วยแล้วก็เป็นบ้า (หัวเราะ) ก็เลยลดลง ออฟฟิศเราก็ flexible พอที่จะให้เราเข้าสองวันต่ออาทิตย์ ซึ่งเราว่ามันก็โอเคมากเลยเพราะเราไม่อยากตัดฟังใจออกไปเลย เรายังเอนจอยการที่จะได้งานที่นั่น ในขณะเดียวกันเราก็มีเวลารับงานนอกของเราด้วย
Life MATTERs : มันเป็นเรื่องของการบริหารจัดการระหว่างงานประจำกับงานส่วนตัว ถูกมั้ย
ตุลย์ : ใช่ คือถ้าทำงานประจำเลยเราว่ามันก็อาจจะเหนื่อยไป จะรู้สึกเหมือนเรานั่งหน้าคอมพ์มาทั้งวันแล้ว เราไม่อยากนั่งหน้าคอมพ์ต่อ เหมือนแบบ “เฮ้ย แกทำอะไรหลังเลิกงาน?- เออ ทำงาน” (หัวเราะ) เราไม่ค่อยชอบความรู้สึกที่มีงานประจำแต่ว่าชีวิตยังไม่เหมือนคนมีงานประจำทั่วไป ที่วันเสาร์อาทิตย์หยุดได้ กลายเป็นว่าทุกวันคือวันทำงานหมดเลย เราอยากได้วันเสาร์อาทิตย์ของเราบ้าง
มันเป็นจังหวะด้วยแหละ เวลาเรามีงานเยอะมันจะมาพร้อมกันหมดเลยแล้วก็ทบๆ กันแล้วเราก็จะรู้สึกว่า ไม่ได้ มันเป็นงานที่ดีมาก ต้องเอาให้หมดเลย แล้วพอรับหมดเลยก็จะเละ เหมือนพยายามจัดการให้ได้ แต่ว่าจะเครียดมากแล้วมันทำให้งานบางอันมันต้องลด คือทำเต็มที่หมดไม่ได้ต้องลดให้มันอยู่กลางๆ หมด
นัทดาว : คือต้องแพลนดีๆ ต้องมีจุดยืนประมาณหนึ่งว่ารับมาเต็มแล้วก็คือเต็มจริงๆ ไม่ใช่ฝืนรับไปอีก ก็ต้องยอมรับผลว่างานมันก็จะออกมาแบบคุณภาพตก จริงๆ มันเป็นเรื่องการบาลานซ์เลย ถ้าอะไรมันเยอะไปมันจะรู้เองว่าไม่ไหวแล้ว
Life MATTERs : งานแบบไหนที่วิ่งเข้ามาแล้วคุณรู้สึกว่าต้องรับให้ได้
ตุลย์ : เรามักจะอยากรับงานที่ไม่เคยทำมาก่อนหรืองานที่อยากทำมานานแล้ว อย่างที่เพิ่งทำเอ็มวีของ Yellow Lips คือเราอยากทำเอ็มวีมานานมากๆ แล้วแต่ไม่มีใครจ้างเราทำสักทีจนมีอันนี้ ก็รู้ว่าเป็นงานที่โหดมากเพราะต้องนั่งทำเอ็มวีคนเดียวเป็นแอนิเมชั่นด้วยเวลาเกือบไม่ถึงเดือน แต่รู้สึกว่าต้องทำเพราะว่าอยากทำมานานแล้วแล้วก็ไม่ได้ทำสักที
นัทดาว : ของเราก็คล้ายๆ กันนะ มันจะเป็นงานที่คิดอยู่ในหัวมาสักพักแล้วว่าอยากทำงานประมาณนี้แล้วพอมันผุดเข้ามาปุ๊บก็รับเลย แต่ก็ต้องควบคุมความโลภ (หัวเราะ) แต่ละงานก็ต้องดูว่าเราจะเอาอะไรจากงานนี้ เช่น บางงานเงินมันน้อยแต่ได้อย่างอื่น บางงานทำให้กลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น คนเห็นงานเยอะขึ้น ตังค์มันไม่เยอะแต่ทำไปก็จะได้อย่างอื่นมาแทน
Life MATTERs : ถ้าพูดถึงสไตล์ของงานล่ะ คุณชอบงานแบบไหน
นัทดาว : ตอนนี้พยายามทำงานให้มันดูโตขึ้นเหมือนตอนแรกๆ มันมาทางแบ๊วๆ เป็นคนตัวเล็กๆ มันก็เลยออกมาแบบน่ารักๆ ก็เลยพยายามดู เราอยากรับแบรนด์ที่มันดูโตขึ้นหรือว่ามีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น
Life MATTERs : ทำไมสไตล์ในตอนแรกถึงไปในทางนั้น
นัทดาว : เหมือนมันเป็นสไตล์ที่เราทำตอนเรียนแล้วมันเกิดมีคนชอบขึ้นมา ตอนแรกเราก็แฮปปี้กับมัน แต่ว่าพอทำไปสักพักหนึ่งเหมือนความคิดหรือตัวเรามันเปลี่ยน แต่คนก็จ้างเราแค่สไตล์นี้ คนเห็นภาพตัวเล็กๆ จุ๊กจิ๊กก็จะมาหาเรา เราก็จะได้วาดแต่อย่างนี้ตลอด เป็นปี วาดไปเรื่อยๆ เราก็รู้สึกว่าอยากให้งานเรามันขยับบ้างไม่ใช่วาดไปอย่างเดียว ก็คงเหมือนตุลย์ที่ทำคอมิกอย่างเดียว คนอยากได้งานคอมิกก็มาที่ตุลย์ ก็จะวนอยู่อย่างนี้ เราก็พยายามห่างออกให้รับงานอย่างอื่นด้วยได้ไม่งั้นมันก็จะวนอยู่แค่นี้แล้วก็ไม่ออกไปไหน
จริงๆ เราก็วาดได้แหละ แต่ก็อยากทำอย่างอื่นเพิ่มเพราะว่าเรายึดอยู่กับสไตล์เดียวไม่ได้ คือวาดภาพประกอบงาน commercial เขาอยากได้แบบไหนเราก็ต้องให้เขาได้ แล้วเราก็ต้องชัดประมาณหนึ่งว่าเราทำแบบนี้ได้นะ เราไม่ได้ทำได้แค่อย่างเดียว เราก็เลยต้องสร้างทางอื่นขึ้นมาด้วย
Life MATTERs : เข้าใจว่างาน commercial ต้องการความหลากหลาย แล้วสไตล์ในงานส่วนตัวของพวกคุณถูกความหลากหลายเข้าไปกระทบบ้างไหม
นัดดาว : สไตล์มันเกิดจากการทำซ้ำน่ะ เหมือนกับเราวาดหน้าคนเราจะวาดอย่างนี้ ด้วยอะไรไม่รู้ ด้วยการที่เราเห็น เราชอบ เราก็จะวาดซ้ำมาเรื่อยๆ เวลาเราวาดอะไรมันก็จะออกมาประมาณนี้ เวลาเราวาดคนกับวาดหมามันก็จะมีความสไตล์เดียวกัน ถามว่ามันสำคัญมั้ย จริงๆ มันก็สำคัญแหละ
ตุลย์ : มันก็อาจจะต้องคงความนิ่งนิดหนึ่ง แต่ว่ามันก็เหมือนกับที่คนวาดสนูปปี้ไม่จำเป็นต้องวาดสนูปปี้ไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องวาดแต่ไอ้หมาตัวนี้กับชาร์ลี บราวน์แต่เป็นกลิ่นประมาณนี้ในตัวละครแบบอื่นๆ
เราชอบ Christoph Niemann (ศิลปินชาวเยอรมัน) คือเขาไม่ต้องวาดลายเส้นเขาตลอด แต่เขาถูกจ้างเพราะความคิดของเขามากกว่า ปก The New Yorker หลายอันที่เขาทำบางอันพอมาดูเรียงๆ กันมันก็อาจจะดูไม่ออกว่าเป็นคนเดียวกันทำก็ได้ ทุกอย่างมันเปลี่ยนตามความคิดเขา อยู่ดีๆ เขาจะถ่ายรูปก็ได้ แต่มันเป็นไอเดียของ Christoph Niemann จริงๆ อยากให้คนจ้างเพราะแบบนั้นเพราะมันดูเปิดมากกว่า ดูทำอะไรก็ได้แต่ว่าเราจ้างคุณเพราะว่าคุณคิดเก่ง
นัทดาว : เหมือนอยู่ที่จุดขายว่าจะเอาอะไรมาขาย จะเอาไอเดียขายก็ได้ หรือสไตล์ก็ขายได้
Life MATTERs : พูดถึงไอเดีย คอนเทนต์ที่คุณชอบใส่ลงไปในงานเป็นเรื่องของอะไรบ้าง
นัทดาว : มีช่วงหนึ่งเราชอบไอเดียที่ว่า ความทรงจำมีผลอะไรกับตัวเราบ้าง แต่เราจะไม่ได้วาดตรงๆ เราจะใช้อะไรมาแทนนู่นแทนนี่เป็นสัญญะ
จริงๆ ตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนนี้งานเรายังเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่เราจะพูดถึงความทรงจำน้อยลงหน่อย จะพูดเรื่องแรงผลักดันข้างในของแต่ละคนมากขึ้น เราอาจจะวาดเป็นรูปคนที่กำลังผลักหรือดันอะไรบางอย่างอยู่ที่เหมือนจะไม่มีตัวตน แต่เขาอาจจะรู้ว่าเขาทำอะไร abstract หน่อย คนดูอาจจะต้องอาศัยการอธิบาย ซึ่งทั้งนี้ เราควรจะรู้ตัวเราเองว่าเรากำลังทำอะไร มันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด มากกว่าจะให้คนอื่นมาบอกเราว่า เฮ้ย คุณทำอันนี้อยู่นะ อันนั้นอยู่นะ
ตุลย์ : เราไม่ค่อยมีเวลาพัฒนางานส่วนตัวมากขนาดนั้น ถ้ามีงานที่ไม่ได้ติดลูกค้าเราก็จะคิด subject ใหม่ขึ้นมาสำหรับงานนั้นโดยเฉพาะ คืออย่างพี่นัทดาวเขาจะมีอะไรในระยะยาว ค่อยๆ พัฒนา แต่ของเรามันจะเหมือนโยนโจทย์ให้ตัวเองแล้วทำเลยมากกว่า
ถ้าไม่มีโจทย์เราจะเหลวเละเทะมากเลย เราไม่ใช่คนที่มีงาน มีไอเดียอะไรบางอย่างที่สะสมมาตั้งแต่สมัยก่อนที่จะสามารถทำต่อ อย่างงาน UNKNOWN/ASIA ที่ The Jam Factory เราก็เลยทำเป็นเรื่องความเมา จะเป็นเรื่องของความมึนเมา แอลกอฮอล์หมดเลย แต่เราแค่เล่าหลายๆ แบบ
Life MATTERs : งานที่จัดแสดงที่งาน UNKNOWN/ASIA ที่ญี่ปุ่นพูดเรื่องเดียวกันกับที่จัดที่ไทยหรือเปล่า
นัทดาว : เป็นงานคนละชุด เวลามีงานแบบนี้เราพยายามจะทำงานใหม่ ไม่งั้นมันก็จะไม่มีโอกาสให้ได้ทำงานออกมา ของเราเป็นเรื่องความทรงจำ เราแทนค่าความทรงจำเป็นก้อนหินเพราะว่ามันมีร่องรอย มีการประกอบกันของมวลเล็กๆ แล้วก็เอาคนไป interact กับก้อนหินในท่าทางแปลกๆ
ตุลย์ : ของเราตอนนั้นไม่ได้คิดโจทย์อะไรให้ตัวเอง รูปอันใหญ่ที่ไปโชว์ ช่วงนั้นเราชอบวาดผู้หญิงเปลือยมากไม่รู้เป็นอะไร ชอบวาดผู้หญิงเปลือยๆ ก็จับเขามากอดซบพันกัน แล้วก็มีอีกเซ็ตที่เราเรียกว่า Girliverse มาจาก Universe บวกกับ Girl เราก็ทำเป็นผู้หญิงเปลือยนี่แหละ ให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายผู้หญิงเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
เช่น เรารู้สึกว่าขาผู้หญิงที่ไม่ได้โกนขนมันเหมือนกระบองเพชรเราก็เลยวาดให้อยู่รวมกันกับกระบองเพชรในกระถาง หรือหน้าอกของผู้หญิงที่เป็นภูเขาเอเวอเรสต์ หรือว่าผู้หญิงที่ส่องเข้าไปดูส่วน private ของตัวเองแล้วก็เห็นเป็นหลุมดำ กาแล็กซี อันนั้นก็ดูพอจะมีคอนเซ็ปต์สุดแล้ว ที่เหลือก็เละเทะ (หัวเราะ)
Life MATTERs : การได้ไปเห็นงานของศิลปินอื่นๆ จากทั่วเอเชียส่งผลอะไรกับตัวคุณบ้างไหม
ตุลย์ : ไปงานนี้แล้วเหมือนเป็น wake up call ประมาณหนึ่ง เพราะว่าถ้าอยู่ไทย เวลาเราไปออกบูธบางคนเขาก็อาจจะรู้จัก TUNA DUNN ประมาณหนึ่ง แต่ในญี่ปุ่นเราโนเนมมากๆ คือเราไม่สามารถพึ่งการที่เรามีชื่อแล้วหรือมีแฟนคลับอยู่ เลยทำให้รู้สึกเครียดเหมือนกัน ตอนนั้นก็ต้องเอางานไปสู้อย่างเดียวเลย ชื่อไม่สำคัญแล้ว เพจไม่ค่อยช่วยอะไร ก็ต้องเก่งขึ้นให้ได้มากกว่า
Life MATTERs : ความเก่งที่คุณหมายถึงคืออะไร
นัทดาว : สมมติว่ามีลูกค้าเขาอยากได้ภาพประกอบ เราต้องเคลียร์ว่าจะทำอะไรให้เขา
ตุลย์ : หรือไม่ งานออกมาแล้วเราไม่เกลียดมัน (หัวเราะ) นั่นคือเก่งแล้วสำหรับเรา เพราะเราว่าหลายครั้งเราทำออกมาแล้วก็ไม่ค่อยพอใจขนาดนั้น รู้สึกว่าถ้าเก่งแล้ว มันจะทำโดยไม่ได้ต้องมานั่งเครียดว่าอันนี้มันดีพอหรือยังวะ เขาจะชอบมั้ยๆ ความกังวลมันต้องลดลง
นัทดาว : แต่จุดนั้นอาจจะไม่มีจริงก็ได้นะ (หัวเราะ)
Life MATTERs : นอกเหนือจากงานสำหรับโชว์แล้ว เห็นว่าคุณยังมีแบรนด์สินค้าร่วมกันด้วย อะไรคือจุดเริ่มต้นทำสินค้าของคุณ
นัทดาว : เราอยากขยายงานภาพประกอบให้มันไปอยู่บนโปรดักต์ มันเป็นที่ที่หนึ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้เพิ่ม หมายถึงได้ดูเรื่องการผลิตด้วย ได้ดูว่าผ้ามันพิมพ์ยังไง มันจะมาเย็บยังไง มันก็มีที่ทำแล้วพังเยอะแยะเต็มไปหมด (หัวเราะ) เพราะเราไม่เคยรู้เลยว่าปริ๊นท์แล้วมันได้หน้ากว้างเท่าไหร่ แล้วเราต้องไปตัดยังไง
ก็ได้ลองทำสิ่งที่อยากทำ สมมติอยากทำกระเป๋า อยากทำผ้าห่ม อยากทำเสื้อ ก็ลองทำแล้วก็ลองบริหารเงินดู มันก็ได้อย่างอื่นที่ไม่ใช่แค่นั่งวาดไปเรื่อยๆ
Life MATTERs : พอได้ทำงานอย่างอื่นมากเข้า ความเป็นตัวเองยังสำคัญอยู่ไหม
ตุลย์ : เราชอบงงเวลาลูกค้าบอกว่าที่เราทำมาดูไม่เป็นทูน่าเลยค่ะ มันจะไม่เป็นทูน่าได้ไงก็กูวาด (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าเป็นตัวเองก็คือแค่เราทำ ไม่ได้ลอกใคร มันก็ต้องเป็นตัวเองแล้ว คือถ้าการเป็นตัวเองคือการคงแบรนด์ มันก็เป็นอีกหนึ่งอย่างแหละ แต่ว่าถ้าอันไหนที่เราทำมันก็คือตัวเราไง บางทีก็รู้สึกหงุดหงิดเวลาคนบอกว่าทำไมดูไม่เป็นตัวเองเลย ก็ฉันวาดอะ จะไม่เป็นฉันได้ยังไง
นัทดาว : ถ้าคนอื่นมองเขาอาจจะไปติดภาพที่คนนี้วาดช่วงเวลาหนึ่ง แล้วเหมือนก็เชปสิ่งนั้นว่าอันนี้คือทูน่านะ แล้วเขาก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่นอกจากสิ่งนั้นไม่ใช่ทูน่าว่ะทั้งที่ก็ทูน่าวาดไง
ตุลย์ : เราว่าตราบใดที่ไม่ได้ลอกใครก็โอเคแล้วนะ ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นว่าฉันต้องมีแบรนด์นี้ที่เด่นออกมา นี่คือฉัน ไม่มีใครเหมือนฉันอีกแล้ว มันยากเกินไปแล้วในยุคนี้ที่จะเป็นคนเดียวในโลกที่ไม่เหมือนใครเลย มันเป็นไปไม่ได้
นัทดาว : คือทุกคนน่ะ ถ้าไม่ได้ถูกเลี้ยงมาในที่เดียวกัน เดินไปไหนด้วยกัน ตัวติดกันตลอดเวลา ยังไงสิ่งที่มันรับเข้ามา สิ่งแวดล้อมที่อยู่ยังไงมันก็เชปตัวเราไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เรื่องที่เราจะพูดหรือเรื่องที่เราจะใส่เข้าไปในภาพประกอบ เพราะฉะนั้นความเป็นตัวเองมันสำคัญในเรื่องที่ว่า เราจะพูดอะไรลงไปในภาพนั้นมากกว่า มันอาจจะไม่ใช่เรื่องสไตล์แล้ว
Life MATTERs : คุณมักพูดถึงการก้าวไปทำสิ่งใหม่ๆ อะไรคือสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าต้องออกจากกรอบของตัวเองได้แล้ว
นัทดาว : การที่คนจะได้เห็นว่าเราทำอะไรได้บ้าง เหมือนโปรดักต์ชิ้นหนึ่งที่มันทำได้ทุกอย่าง เวลามาจ้างเขาก็จะนึกออกว่าเราทำอะไรได้บ้าง ไม่งั้นเราทำอยู่อย่างเดียว คนที่จะมาจ้างเรามันก็น้อยลง
ตุลย์ : จริงๆ มันเป็นเรื่องความเบื่อด้วยนะ เหมือนวาดไปก็ได้แบบเดิม เปิด Photoshop เปิด AI ถึงจุดหนึ่งมันก็กลายเป็นรูทีนไป แล้วตอนนั้นที่เราได้ไปทำงานของ Tiger Jams (งานประกวดดนตรีจัดโดยเบียร์ไทเกอร์และฟังใจ) เราต้องไม่วาดรูปเฉยๆ แล้ว เพราะตอนนั้นต้องทำ installation แล้วก็ทำไม่เป็นเลย แต่พอเราได้ทำเรารู้สึกว่ามันก็สนุกที่จะได้เห็นงานเราในที่นอกเหนือจากในโพสต์เฟซบุ๊คหรือกระดาษ
Life MATTERs : พอได้ไปจับงานในสื่ออื่นๆ มากเข้า คุณชอบเวลางานตัวเองปรากฏอยู่ที่ไหนเป็นพิเศษ
ตุลย์ : ชอบที่มันเป็นโมชั่นนะ อย่างที่บอก เราอยากสร้างพอร์ตไปทำงานโมชั่นต่อ แล้วจริงๆ เราเป็นคนที่ค่อนข้างถนัดงานดิจิตอลมากกว่างานที่จะลงไปอยู่บนของจริงๆ ถ้าเทียบกันเราจะค่อนข้างสบายกับการทำดิจิตอลมากกว่า
นัทดาว : ส่วนเรา จริง ๆ ก็ยังเป็นสิ่งพิมพ์อยู่นะ เพราะเรารู้สึกว่ามันจับต้องได้ เห็นแล้วก็แฮปปี้ดี (หัวเราะ)
ตุลย์ : เฮ้ย แต่เราก็อยากเห็นงานตัวเองใหญ่ๆ นะ ยังเป็นอะไรที่ยังไม่ได้ทำขนาดนั้น ที่แบบใหญ่แบบใหญ่มากๆ สะใจ โคตรใหญ่ ตัวเราเล็กนิดเดียว แต่ก็ไม่รู้จะเกิดขึ้นมั้ย
Life MATTERs : สเต็ปต่อไปที่พวกคุณวางแผนไว้คืออะไร
ตุลย์ : เราไม่รู้ว่าในเชิงมีเดียคืออะไรแต่เราอยากทำงานให้เท่ขึ้น อยากได้งานที่ให้เราลองทำอะไรที่ดาร์กมาก เพราะตอนที่ทำปก crossplay ของฟังใจ (โปรเจกต์ที่ให้ศิลปินสลับกันร้องเพลงของอีกคน) เราทำปกฮิวโก้ x YENA เพลงมันดาร์กอยู่แล้วแล้วเราก็ทำปกออกมาดาร์กมาก
เป็นงานที่โพสต์ลงเพจแล้วคนกดไลก์น้อยมากแต่เราชอบมากเกือบมากที่สุดในงานที่ทำมาเลยเราก็เลยอยากได้งานที่เขาเปิดโอกาสให้เราทำอย่างนั้นอีก เพราะคนก็เข้าใจว่าเราทำเป็นแต่น่ารักๆ ก็อยากลองดู ซึ่งสุดท้ายแล้วมันอาจจะไม่เวิร์กก็ได้ อาจจะต้องกลับมาวาดอะไรน่ารักๆ ก็ได้
นัทดาว : ของเราอยากทำ sculpture แล้วก็พยายามทำเพนท์ให้เยอะขึ้นหน่อยเพราะเราแอบเอียนงานที่มีลูกค้านิดหนึ่ง ทำมาสามสี่ปีแล้ว อยากพักแหละ ไม่ได้จะปฏิเสธมันเลยแต่ว่าอยากลองทางนี้เพิ่ม มันใหม่ด้วยแหละ อะไรที่ไม่เคยทำก็สนุกหมดแต่ทำไปสักพักอาจจะเบื่อก็ได้ ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ)
ตุลย์ : ทำที่อยากทำ จนเบื่อแล้วก็ค่อยเปลี่ยน
นัทดาว : ก็วนลูปอย่างนี้แหละ (หัวเราะ)
Photos by Adidet Chaiwattanakul