เป็นไปได้มั้ยที่เราจะสร้างงานปาร์ตี้แบบไม่ต้องใช้เงินสักบาท? หากคุณเคยพบเห็นหรือได้ยินเกี่ยวกับปาร์ตี้ที่ไม่มีชื่อเมื่อปีที่แล้ว และจนถึงปีนี้ ก็ยังไม่มีชื่อ—นั่นล่ะ ใช่
ปาร์ตี้ที่ว่านี้จัดขึ้นโดยกลุ่มเพื่อนจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่รวมตัวกันง่ายๆ ในชื่อ ‘Untitled’ ที่ประกอบด้วย แทน—แทนสกุล, ฌอน—ชวกร, อาร์ต—ขอบฟ้า, บอม—พริษฐ์ ตรีชดารัตน์ และ ป้อง—ดิษฐวัฒน์ โดยพวกเขาไม่ได้แค่เชื่อมั่นว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่มันยังเกิดขึ้นจริงมาแล้วเมื่อปีก่อน ในค่ำคืนวันส่งท้ายปีเก่าที่พวกเขาชวนเพื่อนๆ ไปปาร์ตี้เคาท์ดาวน์ด้วยกันได้สำเร็จเกินคาด
ถึงจะเรียกมันว่าปาร์ตี้ แต่คำนี้ในรูปแบบของ Untitled ก็ใช่ว่าจะมีแต่เหล้ายาปลาปิ้ง แต่คำว่าปาร์ตี้สำหรับพวกเขาคือการเปิดพื้นที่โล่ง (โล่งจริงๆ คือไม่มีอะไรเลย) ให้ผู้ร่วมงานได้เอาความสามารถมาระบายลงไปแบบไม่จำกัดเทคนิค อย่างปีที่ผ่านมาในงาน Untited ‘ปาร์ตี้นี้ไม่มีชื่อ’ นักดนตรีก็รวมวงกันมาเล่นได้เลย เพื่อนๆ ศิลปินแขนงอื่นก็ทำงานมาโชว์และมาแลกกัน ทั้งรูปปั้น ภาพเพนท์ติ้ง หรือซุ้มสัก ที่ให้คนได้นั่งสักกันตรงนั้นไปเลย หรือกระทั่งคนที่แค่อยากมาคุยกับคนอื่นเฉยๆ และหอบฟูก หอบหมอน มาตั้งเป็นซุ้มสำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนชีวิตกันก็มีมาจอยกัน
แม้ไอเดียการไม่ใช้เงินอาจฟังดูชวนฝันและล่องลอย แต่ปาร์ตี้สิ้นปีที่แล้วก็เป็นหลักฐานชั้นดีที่ช่วยยืนยันว่ามันเกิดขึ้นได้ แถมพวกเขายังย้ำว่าการแลกเปลี่ยนที่ไม่ได้มาในรูปแบบของเงิน แต่ใช้งานศิลป์ ทักษะ หรือมิตรภาพก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพียงแต่เราอาจมองข้ามไปในชั่วขณะที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่เท่านั้น
ปีนี้ พวกเขากลับมาอีกครั้งใน ‘Untitled 2 ปาร์ตี้นี้ (ก็ยัง) ไม่มีชื่อ’ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ใครก็ได้ (รวมถึงคุณที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่) เอาความสามารถทั้งวิทย์และศิลป์ไปเติมให้เต็ม ส่วนหน้าตางานจะเป็นยังไงนั้น ให้พวกเขาเป็นคนเล่าเองคงสนุกกว่า
Life MATTERs : พวกคุณมารวมกันเป็นกลุ่มชื่อ Untitled ได้ยังไง
ฌอน : ทีมนี้เป็นทีมที่จัดงานอีเวนต์ด้วยกัน เป้าหมายของการมารวมกันมันเกิดจากการที่เราทำงานพวกไลท์ติ้ง แสงสีให้อีเวนต์ด้วยกันมาก่อน พอทำงานมาถึงจุดหนึ่ง เราได้ทำแต่งานแต่ง งานโชว์รูม งานที่ไม่ให้ความสำคัญกับความคิดครีเอทีฟเท่าไหร่ มันก็ถึงจุดที่ไม่ไหวแล้ว เราเลยคิดว่าเราจะจัดอีเวนต์กัน เป็นงานที่รวบรวมคนที่มีความคิดเดียวกับเราที่อยากมีพื้นที่แสดงออกในความคิดที่เราโดนปิดกั้น ก็เลยเกิดเป็นงาน Untitled ขึ้นมา
ส่วนปีนี้เราอยากให้เรามีความเป็นโฮสต์น้อยลง ให้โฮสต์สามารถเป็นใครก็ได้ เราเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งที่มาริเริ่มเฉยๆ เอาง่ายๆ คือเราอยากให้ทุกคนเป็นเจ้าบ้านเพื่อมาสร้างบ้านหลังหนึ่งด้วยกัน โดยที่วันสุดท้ายเราจะเปิดบ้านปาร์ตี้ ซึ่งบ้านหลังนี้มันเป็นพื้นที่โล่งๆ ที่คนเอาตัวเองมาวางไว้ตรงนั้น ว่าคุณจะเป็นใครก็ได้ เป็นคนที่คุณเป็นก็ได้ หรืออยากเป็นใครที่คุณอยากเป็นก็ได้ ไม่ว่าจะผ่านศิลปะ หรือความเป็นนักคิด นักสร้าง อะไรก็ตาม
แทน : ที่บอกว่าไม่มีโฮสต์ ประเด็นมันอยู่ที่ว่า สมมติเรามีโฮสต์เหมือนรูปแบบของอีเวนต์ปกติ คนก็จะคาดหวังว่าโฮสต์จะต้องจัดงานดีๆ ให้เราเสพ แต่ว่าในที่นี้ เราต้องการที่จะพูดว่าที่งานนี้ทุกคนมี input ที่จะสร้างให้มันดีขึ้นมา เราเป็นเหมือนแค่ที่ดินเปล่าๆ แต่สิ่งที่ทำให้มันเติบโตสวยงามจริงๆ มันคือผู้คนที่มา
Life MATTERs : ทำไมตอนนั้นพวกคุณถึงเลือกตั้งชื่องานว่า Untitled
แทน : คือตอนแรกเราวางแผนภาพลักษณ์ไว้แบบที่เราไม่มีชื่อด้วยซ้ำ ก็เลยตั้งชื่อว่า ‘Untitled ปาร์ตี้นี้ยังไม่มีชื่อ’ เราต้องการให้ทุกคนที่มางานปีแรกร่วมตั้งชื่องานด้วยกัน เพราะเราให้คุณค่าความเห็นของทุกคน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปีแรกคือพอถึงเวลาที่จะตั้งชื่อ ต้องเคาท์ดาวน์ ทุกคนเมากันหมดแล้ว กลายเป็นแบบ เฮ้ย ชื่อนี้กูว่าดีแล้วเว้ย (เสียงคนเมา) ทุกคนก็โอเค มันก็เหมือนคงความไม่มี Label ดี
จริงๆ นี่เราก็ติดกันมาตั้งนานแล้วว่าเราจะเรียกตัวเองว่าอะไรเพราะเราไม่อยากให้มันเป็นคำว่า host แต่ยังไงตรงนี้มันก็ยังต้องการคนที่มานั่งทำก่อนอยู่ดี
Life MATTERs : ทำไมพวกคุณถึงจัดงานนี้ให้คนมาร่วมแบบไม่ต้องใช้เงิน
ฌอน : เรามองว่าทุกอย่างบนโลกนี้มันถูกตีความด้วยเม็ดเงิน เราก็เลยพยายามสร้างอะไรที่มันขัดแย้งกับสังคมมากๆ เพื่อเป็นการตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วมันจำเป็นจริงๆ หรือเปล่า เราตีกรอบกฎเกณฑ์ให้คนมันต้องเป็นแบบที่โลกต้องการให้มันเป็นไป เราเลยคิดว่าการตั้งชุมชนที่นี่ที่ทุกอย่างมันคอนฟลิคต์กับโลกหมดเลยจะเป็นจุดที่ทำให้มันสะท้อนอะไรบางอย่างให้สังคม
แล้วด้วยความที่งานนี้มันห้ามใช้เงิน เราไม่มีอะไรเตรียมให้ ใครจะมาเป็นอะไรก็ได้ จะมาทำอะไรตรงไหนก็ได้ ทำไปเลย ทุกอย่างมันเกิดจากการให้ การแลกกัน ไม่ว่าจะแลกกันด้วยของกับของเอง หรือว่าของกับประสบการณ์ หรือว่าการคุยกันจน เออ เราชอบพอกันแล้วแลกของๆ เราที่มันผ่านประสบการณ์ของเรามา
ปกติเราจะแทนคุณค่าของสิ่งของด้วยเงิน ทุกวันนี้เราเอาเงินค่าของว่าสิ่งนี้มันแค่สองร้อยบาท แต่ถ้าเราเปลี่ยนมันเป็นคุณค่าทางจิตใจ ของชิ้นหนึ่งมันอาจจะมีค่ากับคนๆ หนึ่งมาก แล้วถ้าอีกคนหนึ่งเห็นว่าคนนั้นเขาให้ค่าสิ่งๆ นั้นมาก การแลกเปลี่ยนก็อาจจะต้องใช้สิ่งของที่มันไม่สามารถเกิดขึ้นด้วยการแทนค่าของโลกปัจจุบันได้เลย เช่น การเอารถพอร์ชมาแลกกับปากกาหนึ่งแท่งก็อาจจะเป็นไปได้ด้วยซ้ำในการสมมติครั้งนี้
Life MATTERs : ของที่จะเอาไปแลกกันได้ในงาน Untitled ต้องเป็นของแบบไหน
บอม : คือจริงๆ คำว่าแลกของเรา เราไม่ต้องเอาสิ่งของมาแลกก็ได้ คือสิ่งของก็เป็นหนึ่งอย่างที่แลกได้ แต่เราเอาความรู้ตัวองมาคุยกับเขามันก็เป็นการแลกอย่างหนึ่ง การที่เรามาตัวเปล่าแต่เราไปช่วยคนอื่นยกของมันก็เป็นการให้อีกอย่างหนึ่ง ผมว่าคำว่าให้มันก็แล้วแต่คนตีความเหมือนกัน คือการสร้างแอคชั่นมันก็เหมือนการทำอะไรสักอย่าง
ฌอน : คืออาจจะไม่ใช่การมองว่าตัวเองจะมาเที่ยวงาน Untitled แต่เหมือนเรามางาน Untitled เพื่อจะเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิตี้มากกว่า จะให้ของเฉยๆ ก็ได้ ไม่มีข้อแม้อะไร เหมือนเรามาด้วยอุดมการณ์ที่จะเอาประสบการณ์ตัวเองมาวางไว้ให้คนเห็น แล้วคนก็เอาประสบการณ์ของเขามาวางให้เราเห็นเหมือนกัน
ประสบการณ์นี้มันอาจจะผ่านออกมาเป็นของ ผ่านออกมาเป็นการแสดง ผ่านออกมาเป็นความคิด หรือผ่านออกมาเป็นตัวเราในปัจจุบัน ก็เลยไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ว่ามันต้องเป็นอะไร แค่คุณเป็นตัวเองเข้ามาในงานก็พอ แล้วเขาก็จะเอาสิ่งของที่มันเป็นเขา เป็นงานของเขาเข้ามาแลกเปลี่ยนกัน
แทน : ปกติเราจะแทนคุณค่าของสิ่งของด้วยเงิน ทุกวันนี้เราเอาเงินค่าของว่าสิ่งนี้มันแค่สองร้อยบาท แต่ถ้าเราเปลี่ยนมันเป็นคุณค่าทางจิตใจ ของชิ้นหนึ่งมันอาจจะมีค่ากับคนๆ หนึ่งมาก แล้วถ้าอีกคนหนึ่งเห็นว่าคนนั้นเขาให้ค่าสิ่งๆ นั้นมาก การแลกเปลี่ยนก็อาจจะต้องใช้สิ่งของที่มันไม่สามารถเกิดขึ้นด้วยการแทนค่าของโลกปัจจุบันได้เลย เช่น การเอารถพอร์ชมาแลกกับปากกาหนึ่งแท่งก็อาจจะเป็นไปได้ด้วยซ้ำในการสมมติครั้งนี้
บอม : ขยายความเรื่องที่แทนพูดเรื่องเงิน คือจริงๆ ที่เราพูดกันว่าเราไม่อยากให้มีการซื้อขายขึ้น มันเกิดจากตอนที่เราทำงานจริงนี่แหละ เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันโดนตีราคาไปแล้วว่าสิ่งนี้มันราคาเท่านี้ สิ่งนี้ราคาเท่านี้ ทั้งที่จริงๆ process มันมีราคามากกว่านั้น
แทน : จริงๆ แล้วเรื่องนี้มันต่อไปยังเรื่องที่ว่าคนที่เข้ามางาน ต้องเป็นคนสร้างงานนี้ หมายความว่างานนี้เกิดขึ้นได้เพราะมันมี ดีมานด์ในสังคมจริงๆ ว่าอยากให้เกิดอะไรแบบนี้ ถ้าหากว่าถึงงานหนึ่งที่ไม่มีคนอยากมาแล้วจริงๆ งานก็จะตายไป เพราะว่าเราไม่สามารถบังคับบอกคนว่าคุณต้องมาแลกนะ ต้องมาทำแบบนี้นะ ซึ่งเราว่างานนี้มันกำลังจะเติบโต เหมือนเราแค่เอาเมล็ดพันธ์นี้ไปวางในที่ที่ถูกต้อง
Life MATTERs : แล้วพออยากให้ทุกคนเป็นโฮสต์ร่วมกันแล้ว สิ่งที่พวกคุณเตรียมไว้ให้คนที่มางานมีอะไรบ้าง
แทน : พอมันเริ่มจากไอเดียว่าเราจะมาแลกเปลี่ยนกัน และไอเดียว่าเราจะไม่ใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่คนที่มาทำงานจนถึงสถานที่ หมายความว่างานนี้มันสามารถรันได้โดยไม่ใช่เงินร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เพราะว่าเราสามารถเดินไปหาสถานที่แล้วขอแลกเปลี่ยนได้ เช่น คุณให้สถานที่นี้ใช้งานแล้วหลังจากงานจบไปแล้วเราจะทำงานที่ benefit ต่อคุณ หมายความว่าการแลกเปลี่ยนต่างๆ ไม่ได้จบอยู่แค่ภายในงาน แต่มันยังต่อไปถึงอะไรที่เกิดขึ้นหลังจากงานได้
สมมติถ้าเราไปหาคนที่ทำ lighting supply เราก็อาจจะดีลกับเขาเรื่องการแลกเปลี่ยนหลังจากนี้แล้วเราก็ได้ lighting มาจัดในงานแบบนี้ ปีที่แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่คนหนึ่งก็คือ เขาเอาเบียร์มาลงแล้วเราก็ไปทำงานให้เขาแลกกัน
Life MATTERs : อ๋อ คือกระบวนการสร้างงานก็มาจากความพยายามที่จะไม่ใช้เงินด้วย
แทน : ใช่ เพราะมันไม่มีเงินจริงๆ (ทุกคนหัวเราะ)
ฌอน : จริงๆ ไม่อยากมองว่าเราไปขอใครเขาเพราะเราไม่มี แต่ว่าเราไปขายฝันให้เขารู้มากกว่า ถึงเวลาจริงถ้ามันต้องใช้เราก็ใช้ มันไม่ใช่ว่าเราหัวดื้อฉิบหายแต่สุดท้ายแล้วมันไม่มีอะไรเลย มันคือเราไปขายเขาก่อนว่าความฝันนี้คุณเห็นด้วยหรือเปล่า คือถ้าสุดท้ายแล้วมีคนเห็นด้วยมันก็จะขยายใหญ่ไปเอง
Life MATTERs : ปาร์ตี้ที่ผ่านมาคุณใช้เงินไปหรือยัง
แทน : จริงๆ งานครั้งแรกก็ใช้ คือเราก็ได้สถานที่มาฟรี แต่ว่ามันก็ยังมีอะไรที่ตกลงกันไม่ได้ อย่างเช่น รถห้องน้ำ หรืออะไรที่เป็นสาธารณูปโภคที่จำเป็นจริงๆ อย่างไฟฟ้า ก็เลยกลายเป็นว่าคนที่มาริเริ่มก็อาจจะต้อง จัดหาเรื่องนี้ไปก่อน แต่อะไรก็ตามที่นอกเหนือจากนั้นอย่างอาหาร หรือเครื่องเสียง
ปีที่แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือนักดนตรีสามารถหาเครื่องเสียงมาเองและตกลงที่จะหารเงินกันเองได้เพราะว่าอยากเล่น ไอเดียมันก็เหมือนกัน คือถ้าหากคนเดียวจ่ายก็ต้องจ่ายหลักหมื่น แต่ถ้าหากว่าทุกคนช่วยกันหารคนละประมาณสองสามร้อยบาทก็สามารถทำให้ทุกคนได้เล่นด้วยกันได้แล้ว
ฌอน : จริงๆ แล้วเป้าหมายของมันมันคือการสร้างชุมชนแหละ มันไม่ใช่มาแล้วก็อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง แต่มันเป็นการเจอกัน สมมติทุกคนบนโต๊ะนี้เล่นดนตรี เรามาคุยกันว่าเราจะทำยังไงให้มันเกิดขึ้น
แทน : อย่างเรื่องดนตรี เราก็มาคุยกันถึงไอเดียว่าเราจะเข้าถึงแก่นแท้ของมันยังไง เราเล่นดนตรีกันเพื่ออะไร สมัยก่อนเขาเล่นดนตรีกันเพื่ออะไร
คือ Untitled มันเกิดจาก process ก่อนแล้วถึงนำไปสู่ผลลัพธ์ แต่งานหลายๆ งานเดี๋ยวนี้มันเกิดจากว่าเราต้องการผลลัพธ์แบบนี้แล้วเราค่อยมาดูว่าเราจะไปที่นั่นได้ยังไง งานนี้สมมติว่าเราไม่มีคนคนไหนเลยที่สามารถหาเครื่องเสียงหรือให้เครื่องเสียงได้ งานก็อาจจะไม่มีดนตรี ถ้าเราวาดฝันว่าจะต้องมีดนตรีตอนนั้นมันก็จะฝืนธรรมชาติสุดๆ เลย หมายความว่าถ้าไอเดียงาน Untitled เกิดขึ้นในสังคมอื่น รูปแบบงานก็จะไม่เหมือนกันเลยสักนิด
Life MATTERs : แสดงว่าตอนแรกไม่เคยเห็นภาพงานเลยว่าจะออกมาเป็นยังไงใช่มั้ย
แทน : ใช่ ต้องห้ามคิดเลย
ฌอน : เราต้องห้ามคิดว่ามันจะเป็นยังไง อย่างปีที่แล้ว ด้วยความที่เราไม่มีอะไร เราให้แค่ที่ สุดท้ายศิลปินเขาก็หยิบดินตรงนั้นปั้นเป็นอะไรสักอย่าง หรือหยิบหิน หยิบปูน ทำออกมาเป็นงาน installation ไปหยิบๆ ของออกมาจัดองค์ประกอบอะไรสักอย่าง ซึ่งมันก็สวย
แทน : จริงๆ การที่เราห้ามไปคิดถึงมันเลยมันก็เป็นการสู้กับตัวเองเหมือนกัน คือในขณะที่เราอยากให้งานมันดี เราก็ห้ามคิดเลยว่างานมันจะเป็นยังไง และโมเมนต์นั้นสิ่งที่เราจะแก้ปัญหาได้คือเราต้องเชื่อใจคนที่มาในงานจริงๆ ร้อยกว่าคนที่มาเราต้องเชื่อใจเขาว่าเขาจะทำให้มันดี เขาจะทำให้ที่นี่เป็นที่ที่ดีจริงๆ
Life MATTERs : ทำไมคุณถึงคิดว่าควรมีคอมมิวนิตี้แบบนี้เกิดขึ้น มันจำเป็นยังไงกับสังคมที่เราอยู่กันทุกวันนี้
ฌอน : คือจริงๆ เรามองว่ามันมีคนแบบนี้อยู่ในทุกๆ ที่แหละ เราแค่พยายามหาคนที่คิดเหมือนกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อาร์ต : อย่างประสบการณ์เรา เรามีป้าอยู่ที่นครศรีธรรมราช อยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ในป่า ต้องเข้าไปลึกมาก ป้าเราเขาเลี้ยงปลากระชัง อีกคนเลี้ยงหมู อีกคนเลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ แล้วทุกเย็นเขาจะขับรถมอเตอร์ไซค์ผ่านถามกันว่าเย็นนี้กินอะไร เรามีนู่นนี่นั่นนะ ตอนเย็นทุกคนก็ไปรวมกันที่บ้านหลังหนึ่งแล้วก็มาทำอาหาร กินข้าวด้วยกันทั้งหมู่บ้าน เรารู้สึกว่าโมเมนต์แบบนี้จริงๆ แล้วมันมีทุกที่จริงๆ ทุกคนเล่าเรื่องที่เจอในวันนั้นให้กันฟัง ร้องเพลงบอก เพลงบอกในภาษาใต้คือเพลงที่เล่าเรื่องว่าวันนี้เขาเจออะไรมา แล้วเขาจะทำอะไรต่อไป อัพเดตกัน เรารู้สึกว่าโมเมนต์นี้มันดี
แทน : เราว่ามันมีอยู่แล้ว แต่เราอยู่ในสังคมเมือง เรารู้สึกว่าเราอยู่ในกะลานี้ อาจจะไม่รู้ว่าคนส่วนมากเขาเป็นแบบนี้อยู่แล้วหรือเปล่า
ฌอน : เราแค่ไม่ได้เอาปัจจัยสี่มาวาง ไม่ใช่การกินข้าวหรืออะไร แต่เป็นประสบการณ์ของคน ตัวตนของเขามาวางลงไปแทน คนนี้มีเพลง คนนี้มีอย่างอื่นก็เอามาแลกกัน
Life MATTERs : อันที่จริง คอนเซ็ปต์นี้มันอุดมคติประมาณหนึ่งนะ
แทน : ใช่
ฌอน : มันเป็นความยากที่ต้องเชื่อจริงๆ ว่ามันเป็นไปได้มันถึงจะเกิดขึ้นได้
ป้อง : จริงๆ แล้วผมมองว่าทุกคนที่มาร่วมงานอาจจะไม่ต้องชอบอุดมการณ์นี้ก็ได้นะ อาจจะเกลียดอุดมการณ์นี้เลยก็ได้ แต่สมมติผมไม่ชอบอุดมการณ์นี้ อยากจะมาทำงานที่ด่าอุดมการณ์นี้ในงานนี้ก็โอเค ไม่มีปัญหา (หัวเราะ) มันเป็นสีสันของงาน
แทน : ตอนเรียนสถาปัตย์ เราก็เรียนกันว่าโลกมันเปลี่ยนยุค modernization อาจารย์เขาก็เอาพวกรายงานเรื่องสถาปัตย์สมัยก่อนที่พูดถึงโลกในอนาคตมาสอน พวกอีกห้าสิบปีโลกจะเป็นยังไง คือตอนนั้นมันดูเวอร์มากๆ เลย แต่ปัจจุบันนี้โลกมันก็พัฒนามาจนดูใกล้เคียงกับสิ่งนั้น
เราก็เลยมองว่าเราไม่ได้ใช้ชีวิตรูปแบบนี้มาตลอดหลายพันปี เราเพิ่งมาอยู่ในสังคมแบบนี้สักร้อยกว่าปีที่ผ่านมาเอง เราก็เลยตั้งคำถามว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องเสมอไปหรือเปล่า ตัวงานเองก็เป็นเหมือนคำถามว่า เฮ้ย ถ้าโลกมันอยู่ในรูปแบบอื่นละ แต่เราไม่ได้บอกว่ามันจะต้องเปลี่ยน ไม่ได้บอกว่าตอนนี้มันแย่ เราแค่ตั้งคำถาม
บอม : สุดท้ายไอเดียมันอาจจะอุดมคติ ผลมันอาจจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่ทำมันจะเกิดเอฟเฟ็กต์ตามมาอยู่ดี คือถ้าเริ่มปุ๊บมันก็ต้องมีอะไรตามมา แค่เรายังไม่รู้
ฌอน : สุดท้ายแล้วงานนี้มันอุดมคติก็จริง แต่มันเกิดจากการกระทำไง ซึ่งมันก็จะยังมีต่อไปถ้าคนยังทำอยู่
แทน : อีกอย่างที่งานนี้ทำไมจะต้องไปสุด ทำไมจะต้องไม่ใช้เงิน มีบางอย่างใช้เงินได้มั้ย เรื่องนี้เราก็เคยคุยกันว่าถ้าเราเริ่มอันที่หนึ่งอะ มันจะมีอันที่สอง อันที่สามมั้ย ถ้าเราจะทำจริงๆ เราก็ต้องเป็นไม้บรรทัดที่แข็ง ถ้าคนไม่ชอบก็ไป ถ้าคนสนใจก็ลอง คือเราก็ไม่รู้ว่ามันจะเวิร์กหรือเปล่า มันจะอุดมคติเกินไปมั้ย งานจะเป็นตัวบอกเอง
Life MATTERs : คุณคิดยังไงกับการที่สุดท้ายแล้วเราก็ยังต้องอยู่ในโลกทุนนิยมอยู่ดี
บอม : เรื่องไม่ใช้เงินนี่เราก็ไม่รู้ว่าเราจะพูดได้อีกนานแค่ไหน หมายถึงว่าเพราะงานมันจะเป็นอะไรก็ได้ เราอาจจะกลับไปใช้เงินก็ได้ เราไม่ได้จำกัดตัวเอง แต่ว่าอยากให้ทุกๆ อย่างมันเปลี่ยนไปตามไอเดียเรื่อยๆ
Life MATTERs : พูดถึงคนที่มาร่วมงาน ปีนี้คนที่ลงชื่อจะมางานแล้วมีใครบ้าง
ฌอน : ปีนี้มีนักดนตรีที่ทักมาบอกว่าอยากเล่นดนตรีไทยครับที่งานพี่ แต่ผมไม่เล่นร่วมสมัยนะครับ เล่นดนตรีไทยเลย เรียนมาไม่รู้จะไปเล่นที่ไหน เราก็บอกว่ามาเลย หรือก็มีศิลปินนักร้องบางคนที่เขามีโปรเจกต์ทำอะไรของตัวเองก็อยากมาเล่นที่นี่ แล้วก็มีอิลลัสเตรเตอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะจากศิลปกรรม วิจิตรศิลป์ จิตรกรรม แล้วก็มี performance art มี installation มีคนที่อยากจัดสเปซเป็นบาร์หรือคาเฟ่ของเขา มีคนที่เอารูปถ่าย เอาหนังมาวาง เซรามิกก็มี
Life MATTERs : พอมาทำงานนี้แล้ว ตัวพวกคุณเองได้เรียนรู้อะไรบ้าง
ฌอน : ปีที่แล้ว ด้วยความที่เราทำงานในสายศิลปะมาเยอะก็กลายเป็นเราชวนเป็นแหไปเรื่อยๆ แล้วกลายเป็นว่าคนที่มามันเป็นเพื่อนกันหมดเลย มีคนมาสามร้อยกว่าคนด้วยพลังของการชวนกันไปเรื่อยๆ
แทน : แล้วก็ได้เพื่อนของเพื่อนมาเจอกันแล้วกลายเป็นเพื่อนกันอีก ที่ตื้นตันคือการเห็นการปฏิสัมพันธ์ที่เรารู้ว่ามันเกิดขึ้นได้เพราะงานนี้และพบว่าสิ่งนี้มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในสังคม
ฌอน : คือถ้าเราเดินไปเจอเพื่อนเราที่มากับเพื่อนของมันในสถานการณ์ปกติเราอาจจะไม่ได้คุยกันกับเพื่อนคนนั้น แต่พอมาในงานนี้อยู่ๆ ทุกคนก็มานั่งคุยกันจนกลายเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น คนที่ทำเพนท์ติ้งคุยกับนักดนตรีมันก็อาจจะเกิดอะไรใหม่ขึ้นก็ได้
แทน : คือมันจะมีวันที่เราเรียกว่าวันสร้างบ้าน เป็นช่วงที่คนมาเตรียมงาน ปีที่แล้ววันสร้างบ้านคนที่มาจะค่อนข้างใกล้ชิดกันมาก แล้วมีโมเมนต์ที่เราประทับใจมาก คือตอนที่มีคนที่เรียนจบถาปัตย์ อีกคนจบฟิล์ม อีกคนจบเพนท์ติ้ง มานั่งคุยกันว่าในสาขาวิชาชีพของตัวเอง คำว่าคอนเซ็ปต์คืออะไร ความหมายของมันคืออะไร แล้วเราก็ได้เห็นว่ามุมกว้างของคำเดียวกันในสาขาอื่นๆ ว่า เออ มันมีวิธีนี้ว่ะ เขาคิดกันอย่างนี้ หรือมันมีโมเมนต์ที่เราได้พูดถึงอะไรที่มันลึกกว่าแค่การเจอกันธรรมดาได้
Life MATTERs : เคยคิดถึงเคสที่คนจะมากอบโกยอย่างเดียวมั้ย
ฌอน : คิด (ตอบทันที) จริงๆ ก็คิดหลายทีว่าคงมีคนลักไก่ แต่ก็อย่างที่บอกแหละ คนที่มาเขาก็เห็นอยู่ดีว่าคนพวกนี้เขาทำทุกอย่างขึ้นมาเองหมดเลยว่ะ เขาจะหยิบทีมันก็มีความละอายใจขึ้นมาเอง สุดท้ายแล้วมันเป็นการทดสอบคนไปในตัวว่าสุดท้ายแล้วทุกคนมีความละอายใจในตัวเองที่จะเอาของๆ คนอื่นที่เขาใช้เวลานานกี่ปีก็ไม่รู้กว่าจะทำขึ้นมาได้มาใช้
แทน : จริงๆ ตอนวาดภาพว่างานนี้จะเป็นยังไง คำถามนี้มันเกิดขึ้นเหมือนกันว่า เฮ้ย ถ้าคนมันมาขโมยละ ถ้าคนมันมาเอาไปเลยละ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความกลัว ความกลัวนี้เปลี่ยนการตัดสินใจของเราว่าถ้างั้นเราต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว แต่การจะทำอะไรบางอย่างนั้นมันปิดกั้นโอกาสอื่นๆ ไปหมดเลย เราก็เลยกลับไปสู่คำถามว่าเราเชื่อมั่นในคนที่มามั้ย เราเชื่อในตัวเขาแค่ไหนถึงจะยอมให้มีโอกาสแบบนี้เกิด แต่เราหวังว่ามันจะไม่เป็นแบบนั้น
ฌอน : เพราะว่าถ้าเกิดก็เกิด เพราะว่าอยากให้มันเรียลจริงๆ เราไม่ได้เสแสร้งให้มันเกิดขึ้น ทุกคนมันมาด้วยความเรียลของตัวเองหมดเลย มันเลยออกมาเป็นแบบนี้ได้
Photos by Adidet Chaiwattanakul
งาน Untitled 2 ปาร์ตี้นี้ (ก็ยัง) ไม่มีชื่อ จะจัดขึ้นในวันที่ 29 ธันวาคม ตั้งแต่เวลา 5 โมงเย็นเป็นต้นไป ที่ซอยอินทามระ 26/2 ใครที่อยากไปร่วมสร้างบ้านด้วยกันสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเพจ untitledparty ได้เลย