Work-Life Balance ชีวิตที่โลกการทำงานและโลกส่วนตัวถูกจัดสรรอย่างลงตัว จะดีแค่ไหนหากเราตื่นไปทำงานที่เรารักด้วยความสดใส เดินทางกลับด้วยระยะทางที่ไม่ไกลจนท้อกับการจราจร มีเวลาพักผ่อน ไม่ต้องมองแจ้งเตือนเมื่อถึงบ้าน มีเวลาว่างให้กับงานอดิเรกทุกวันหยุด จัดสรรเวลาไปทำธุระ ใช้ชีวิตของตัวเองได้ดั่งใจ ฟังดูเป็นชีวิตในอุดมคติเอามากๆ แต่เชื่อไหมว่าบางคนกลับรู้สึกว่าไอเดียนี้เป็นเรื่องเอาไปใช้จริงไม่ได้
เชื่อว่าในหลายออฟฟิศ จะมีคนที่เชื่อใน Work-Life Balance พยายามให้ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวสมดุลกันอยู่เสมอ และคนที่ทำงานแบบถวายหัว จนกลายเป็น Work ไร้ Balance แทน หากลองลัดเลาะส่องรูปแบบการใช้ชีวิตของทั้งคู่ คงเรียกได้ว่ายืนกันคนละฝั่ง มาสำรวจกันว่า แต่ละฝั่งเขาใช้ชีวิตกันประมาณไหนบ้าง
คนที่เชื่อใน Work-Life Balance ด้วยความต้องการชั่งน้ำหนักชีวิตสองฝั่งให้พอดีกัน เลยทำให้เขาเลือกที่จะเป็นคนเข้าออกงานตรงเวลา หลังเลิกงานไปแล้ว ก็พร้อมจะเดินทางกลับบ้านหรือไปใช้เวลาตามอัธยาศัย วันหยุดยิ่งเป็นเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ยอมให้ใครข้ามไปได้ อาจหมดไปกับการนอนเฉยๆ เลื่อนเลือกซีรีส์ไปมา หรือออกไปทำกิจกรรมร้อยแปดอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเหน็ดเหนื่อยเกินไป ไม่ปล่อยให้ความเครียดจากการทำงานกัดกินชีวิตส่วนตัว จนต้องใช้เวลาพักผ่อนมาเลียแผลใจ แทนที่จะได้ใช้มันเพื่อพักผ่อนอย่างที่ควรจะเป็น
แล้วคนที่ใช้ชีวิตแบบ Work ไร้ Balance ล่ะ พวกเขาเป็นยังไง? อย่างที่บอกว่าเขาเป็นคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน เราเลยได้เห็นเขานั่งทำงานจนดึกดื่น จนเผลอส่งข้อความถามไถ่เรื่องงานทิ้งไว้หลังเลิกงาน จนคนรอบข้างเคยชินที่เห็นเขาทำงานหามรุ่งหามค่ำ ถึงอย่างนั้นเขาก็เป็นคนมีเลือดเนื้อ ต้องการการพักผ่อนเหมือนคนอื่น แต่เพียงเพื่อชาร์จแบตตัวเองให้เต็ม แล้วลุกขึ้นมาทำงานอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนก็ตาม เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยกรุยทางในเส้นทางอาชีพให้เขาได้อย่างดี
พวกเขาต่างกันขนาดนี้เลยแหละ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาเหมือนกัน คือ พวกเขาพอใจในรูปแบบการใช้ชีวิตตัวเอง (และไม่ได้ต้องการให้คนอื่นมาก้าวก่าย) อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ชีวิต Work-Life Balance นั้นช่างดูเป็นชีวิตในอุดมคติ แล้วทำไมบางคนถึงเชื่อใน Work ไร้ Balance เชื่อในการทำงานแบบบถวายหัวกันล่ะ
เจ้านายผู้ไม่เชื่อใน Work-Life Balance
เราลองมาฟังความเห็นจาก รอส แมคเครย์ (Ross McCray) co-founder แห่ง VideoAmp จากคอลัมน์ The boss who doesn’t believe in work-life balance ใน BBC เขาเล่าถึงเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิต โดยรวมแล้วเขาช่างเป็นเจ้านายผู้ไม่เชื่อใน Work-Life Balance ตัวจริงเลยล่ะ เขาไม่มีเส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน รักที่จะทำงานอย่างเต็มที่ เลยทำให้เขาตื่นตั้งแต่ 04.30 น. ในทุกวัน เพื่อตื่นมาทำงานกว่า 100 ชั่วโมงต่อวัน แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเรียบง่าย ซ้ำๆ กันเสมอ เพราะเขาไม่อยากเสียเวลา(ทำงาน)ไปกับการเลือกเสื้อผ้า แล้วลุกไปใช้ชีวิตแบบเต็มพิกัด ที่สำคัญเขาเชื่อว่า “ผมค่อนข้างเห็นแก่ตัวเลยล่ะ ผมอยากจะเติบโต อยากเอาชนะตัวเอง และทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง” นั่นเลยทำให้เขาเลือกจะใช้เวลาทุกวินาทีที่มีไปกับการพัฒนาตัวเองให้เดินหน้าต่อ
ฟังดูเหมือนว่าเขาจะเป็นเจ้านายใจร้าย กดขี่ชีวิตการทำงานของพนักงานให้ทำงานหนักเหมือนตัวเองเป็นแน่ แต่ไม่ใช่เลย ออฟฟิศของเขาไม่มีเวลาเข้าออกงานด้วยซ้ำ แถมยังมีวันลาแบบไม่จำกัด แต่สิ่งสำคัญคือ เขาต้องการให้ทุกคนรับผิดชอบงานของตัวเองให้ดี พนักงานที่นี่มีทั้งคนที่มาทำงานแต่เช้าเพื่อเลี่ยงรถติด แล้วกลับไปรับลูกหลังเลิกเรียนได้ทันเวลา โดยไม่ต้องลาครึ่งวัน ไปจนถึงคนที่มาทำงานสายโด่ง สวนทางกับคนที่มาเช้า แต่เขาก็นั่งทำงานจนดึกดื่น เพื่อเคลียร์งานในมือให้เรียบร้อย
ดูเผินๆ เหมือนกับพวกเขาทำงานอยู่บนความยืดหยุ่น แต่วัฒนธรรมการทำงานขององค์กรนี้ ทำให้พนักงานหลายคนของเขาเชื่อว่างานคือส่วนหนึ่งของชีวิต พวกเขาถึงอยากจะเช็คอีเมลในวันหยุด อยากเอางานที่คั่งค้างกลับไปสะสางต่อที่บ้าน โดยไม่รู้สึกว่าถูกรบกวนชีวิตส่วนตัว เพราะเส้นแบ่งระหว่างงานกับชีวิตนั้นช่างพร่ามัว
สอดคล้องกับ ดร.เมลบา นิโคลสัน ซัลลิแวน (Melba Nicholson Sullivan) นักจิตวิทยา ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า การทำงานและชีวิตของเรา มันเกิดขึ้นและดำเนินไปพร้อมกัน จนเราไม่อาจแยกทั้งสองสิ่งออกจากกันได้ แต่ไม่ได้บอกแบบนี้เพื่อให้เราทำงานหนักจนไม่ลืมหูลืมตา แต่ต้องการให้เราไม่ต้องรู้สึกแย่เกินไป หากรู้สึกว่าชีวิตของเรากำลังไม่สมดุล แล้วเร่งหาความสมดุลจนชีวิตไม่สมดุลอีกทีนึง
อย่างที่เราได้ยินจากไลฟ์โค้ชด้านการทำงานอยู่บ่อยๆ อยากก้าวหน้า อยากประสบความสำเร็จ ต้องเทหมดหน้าตัก จัดลำดับความสำคัญให้ความสำเร็จอยู่อันดับแรก เลยต้องทำทุกทางเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้นได้ ทำงานหนักกว่าคนอื่น เราจะไปได้ไกลกว่าคนอื่น หากอยากไปถึงจุดนั้น ก็ต้องยอมสละชีวิตส่วนตัวของเราไป เพราะทุกนาทีของเรานั้นสามารถทุ่มเทไปกับการทำงานได้
มันไม่ผิดอะไรถ้าเราไม่เชื่อในการเอนหลังวันหยุด แต่เชื่อในคตินกตื่นเช้าได้กินหนอนก่อนใคร แต่ถ้าเราเป็นนกที่เริ่มบอกให้ตัวอื่นตื่นเช้าเหมือนเราล่ะ จะเป็นยังไง
Work ไร้ Balance ทำร้ายเราได้แค่ไหน
เรื่องนี้จะเป็นแค่ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน ถ้าไม่มีใครถือไม้บรรทัดของตัวเองไปทาบทับให้ชีวิตคนอื่นเป็นไปดั่งใจ แต่หลายครั้งที่มาตรวัดความขยันของเราไม่เท่ากัน จนเกิดมุมมองต่อการทำงานที่ต่างกัน ต้องพร้อมตอบเรื่องงานตลอดเวลา(เหมือนฉัน)สิ รู้ว่าเห็นแจ้งเตือนนะ แต่ทำไมถึงไม่ตอบ
ผลการวิจัยเรื่อง Killing me softly: electronic communications monitoring and employee and significant-other well-being, จาก ร.ศ. วิลเลียม เบ็กเกอร์ (William Becker) จาก Pamplin College of Business กล่าวถึงผลเสียของการคาดหวังในการทำงาน และประเด็นที่น่าสนใจคือ ความคาดหวังที่พนักงานจะต้องคอยตอบ คอยเช็คอีเมล แม้จะเป็นหลังเวลาเลิกงาน จนเกิดวัฒนธรรม always on ขึ้น ความคาดหวังนี้ส่งผลต่อความเครียด ความกังวล ของตัวพนักงานเอง และส่งผลถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย
จนเมื่อปี 2017 ฝรั่งเศสผ่านความเห็นชอบใน ‘Right to disconnect’ กฎหมายที่ให้บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 50 คนขึ้นไป ต้องกำหนดเวลาการส่งอีเมลกันอย่างชัดเจน และอนุญาตให้พนักงานปิดเครื่องมือสื่อสารนอกเวลางาน ถ้าไม่ปฏิบัติตามสามารถฟ้องร้องได้ (และมีเคสโดนฟ้องมาแล้ว) สำหรับในไทยก็มีกฎหมายที่ใกล้เคียงนี้เหมือนกัน จากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 26 วรรค 3 “เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานตามปกติที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือสิ้นสุดการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธการติดต่อสื่อสาร ไม่ว่าในทางใดๆ กับนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน”
หรือแม้แต่ประโยคที่ว่า “ไม่มีใครตายเพราะทำงานหนัก” แต่ข่าวคนที่ตายเพราะโหมงานเกินกำลังก็มีมาให้เห็นอยู่บ่อยๆ เพราะความคิดที่ว่า ไม่สบายนิดหน่อยก็ลุกขึ้นมาทำงานเถอะ หรือแม้แต่นอนโรงพยาบาลก็เปิดคอมได้น่า ก็เหมือนการทำงานแบบรีโมตนั่นแหละ
กว่า 80 ชั่วโมงต่อเดือน คือจำนวนงานล่วงเวลา (ที่ไม่ได้จ่ายค่าตอบแทน) ในประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนานที่สุดในโลก เมื่อปี 2017 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมอบของขวัญให้วัยทำงานด้วย ‘Premium Fridays’ คือ การอนุญาตให้เลิกงานตั้งแต่บ่ายสามโมง ในทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน เพื่อสนับสนุนให้ใช้เวลาในที่ทำงานน้อยลง (เสียบ้าง) แต่ของขวัญชิ้นนี้กลับไม่ถูกนำมาใช้ เพราะสุดท้ายแล้ว มีคนทำงานน้อยกว่า 4% ด้วยซ้ำ ที่ได้เลิกงานก่อนเวลาในวัน Premium Fridays จริงๆ
ออกจะน่าเศร้าเสียหน่อย ที่เราจะถูกมองว่าเป็นคนขยันก็ต่อเมื่อเราสละเวลาส่วนตัวให้กลายเป็นเวลาทำงาน การนั่งอยู่ที่โต๊ะประจำจนล่วงเลยเวลา ทำงานข้ามวันข้ามคืนไม่ได้พักผ่อน รันวงการงานหนักติดกันหลายๆ วัน พร้อมทำงานแม้แต่ในวันหยุด ยิ่งบวกคะแนนในสายตาเพื่อนร่วมงานหรือแม้แต่หัวหน้า จนส่งผลกับสุขภาพของคนทำงานตั้งแต่สุขภาพกาย สุขภาพใจ ไปจนจากไปในหน้าที่
แม้จะเชื่อหรือไม่เชื่อใน Work-Life Balance ก็ไม่จำเป็นต้องเอามาตรวัดของเราไปบ่งชี้ว่าใครควรทำอะไร มันคือเรื่องของชุดความคิดที่ต่างกันนั่นแหละ ต่อให้ต่างคนต่างมีเส้นชัยคนละเส้น มามองกันแค่เรื่องการทำงาน คนที่ไม่ตอบข้อความนอกเวลางาน ใช้เวลาไปกับการพักผ่อน แต่ก็ยังคงทำงานได้ดีเหมือนกัน ก็ไม่อาจดูแคลนว่าเขาเป็นคนขี้เกียจ หรือคนที่เอาแต่ทำงาน จนไม่มีงานอดิเรกจรรโลงใจ ก็เป็นคนมีแพสชั่นได้ เมื่อแพสชั่นของเขาคือการทำงาน
สิ่งสำคัญคือเราควรรู้จักตัวเองให้มาก รู้ว่าอะไรเหมาะกับเรา รับผิดชอบสิ่งที่เราทำให้ดี ไม่ล้ำเส้นว่าคนอื่นบ้างานจนเกินไป หรือเอาความบ้างานของเราไปริดรอนสิทธิของคนอื่น เท่านั้นก็น่าจะพอแล้ว
อ้างอิงจาก