ไถฟีดทีไรก็เจอคนประสบความสำเร็จแบบไม่ทันตั้งตัว เพื่อนคนนั้นก็ได้เลื่อนตำแหน่ง คนนี้ก็กำลังได้ใช้ชีวิตที่น่าอิจฉา จนบางครั้งก็รู้สึกเศร้ากับตัวเองที่ดูเหมือนยังย่ำอยู่กับที่ จนไม่มีแรงแสดงความยินดีกับคนอื่น
บนโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน บางครั้งหลายคนก็อดเปรียบเทียบความสำเร็จของตัวเองกับคนอื่นไม่ได้ ยิ่งมีโซเชียลมีเดียที่พร้อมฉายภาพให้เห็นว่าแต่ละคนเก่งมากแค่ไหน มีความสุขอย่างไร ความสำเร็จที่ตัวเองเคยภูมิใจก็เล็กจ้อยลงทันที
ทั้งที่คนที่ประสบความสำเร็จก็ไม่ได้ทำอะไรผิด การได้รับเสียงชื่นชมมากมายหรือโอกาสดีๆ ก็ต้องอยากประกาศออกมาเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทำไมการรู้สึกยินดีไปกับพวกเขาถึงยากขนาดนี้นะ
อารมณ์เป็นสิ่งซับซ้อน แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าเวลาแบบนี้ควรแสดงความยินดีกับความสำเร็จของคนอื่น แต่ก็อดเอาไปเปรียบเทียบกับตัวเองไม่ได้ จนไฟอิจฉาในใจจุดติดขึ้นมา แล้วแบบนี้เราควรจัดการยังไงถึงจะยินดีกับความสำเร็จของคนอื่นในแบบที่ยังรู้สึกดีกับตัวเองได้อยู่ The MATTER ชวนไปเข้าใจความอิจฉาที่ซับซ้อนเหล่านี้ และหาวิธีรับมือกันมันกัน
ทำไมเราถึงอิจฉา?
หลายครั้งที่เรามักมองว่าความอิจฉาเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี หากเกิดขึ้นควรรีบกำจัดทิ้งไป แต่ที่จริงแล้วความรู้สึกอิจฉาไม่ต่างจากอารมณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้นเพื่อให้เราสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้
ความอิจฉาเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกไม่ได้รับการยอมรับและไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคนในสังคม ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งร่างกายใช้ป้องกันตัวเองไม่ให้รู้สึกเจ็บปวด โดยปกติเรามักอิจฉาสิ่งที่คนอื่นมี ทั้งที่ในบางครั้งเราอาจไม่ได้อยากได้สิ่งที่คนนั้นมีจริงๆ หรอก เพียงแต่เราโกรธที่คนนั้นได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการต่างหาก
ชาสตา เนลสัน (Shasta Nelson) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ทางสังคม อธิบายว่า มนุษย์ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราต้องการเชื่อมโยงและอยากได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย Aggressive Behavior ปี 2003 ของ มาร์ก แลร์รี่ (Mark R. Leary) และคณะ ที่พบว่าการถูกกีดกันทางสังคมเป็นความเจ็บปวด ไม่ต่างจากความเจ็บปวดทางร่างกาย อีกทั้งความเจ็บปวดนั้นยังส่งผลต่ออารมณ์ การรับรู้ และสุขภาพร่างกาย
เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราไม่สามารถเชื่อมโยงกับสังคมได้ เช่น ถูกปฏิเสธงาน ไม่ถูกเพื่อนร่วมงานชวนไปกินข้าว หรือไม่ได้รับโอกาสเทียบเท่ากับคนอื่น เหล่านี้อาจทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวได้ ยิ่งเมื่อเราเอาตัวเองเปรียบเทียบกับคนอื่น เราก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ จึงทำให้ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ทั้งงาน เงิน โอกาส แม้กระทั่งเสียงชื่นชมจากคนรอบข้าง และร่างกายเราก็รับรู้ความเจ็บปวดนี้ได้ เลยแปลงสารออกมาเป็นความรู้สึกอิจฉาอย่างที่เรารู้จัก
โดยปกติแล้วเรามักอิจฉาคนที่ใกล้เคียงกับเรา อย่าง เพศ อายุ หรือฐานะ เพราะสิ่งที่เราหรือเขาปรารถนามักเป็นสิ่งเดียวกัน นั่นจึงทำให้บางครั้งเรารู้สึกอิจฉาที่คนรอบตัวประสบความสำเร็จ
ดังนั้น ความอิจฉาเลยเป็นอารมณ์ปกติของมนุษย์ และสามารถเกิดขึ้นกับเราได้อย่างง่ายดาย แม้เราจะเข้าใจเหตุผลทุกอย่างว่าทำไมคนอื่นถึงไปได้ไกลกว่าตัวเอง แต่ก็อดที่จะรู้สึกอิจฉาไม่ได้อยู่ดี ว่าทำไมโอกาสดีๆ จึงไม่เกิดขึ้นกับเรา การที่เรามีอารมณ์นี้เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องน่าอาย แค่ร่างกายกำลังส่งสัญญาณบอกว่าเรากำลังรู้สึกเจ็บปวดเท่านั้นเอง
‘อิจฉานะ แต่ก็ดีใจด้วย’ ความขัดแย้งของ 2 อารมณ์ที่ทำให้เราเป็นผู้ใหญ่
บางครั้งอารมณ์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาตามที่เราคิด ความอิจฉาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราอยากเป็นแบบคนที่เราอิจฉาเสมอไป แต่มีการผสมรวมกันจากหลากหลายอารมณ์ จึงยากที่จะบอกได้ว่า เราไม่รู้สึกพอใจที่เห็นใครได้ดีเป็นเพราะอะไรกันแน่
ปกติแล้วอารมณ์เรามีความซับซ้อน หลายครั้งที่มักมีความรู้สึกขั้วตรงข้ามเกิดขึ้นพร้อมกัน เคอร์รี่ สโคฟิลด์ (Kerry Schofield) ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายวัดเครื่องมือทางจิตวิทยาที่ Good&Co. บอกว่าเป็นเรื่องปกติที่เราจะมีอารมณ์ขัดแย้งกัน และเกิดขึ้นได้หลายสถานการณ์ เช่น ระหว่างที่เราลดน้ำหนักอย่างตั้งใจ แต่ในหัวเราดันอยากกินคุกกี้ หรือเสียใจที่ต้องเลิกกับคนรัก แต่อีกใจก็รู้สึกโล่งอกที่ไม่ต้องทนกับความท็อกซิกแบบเดิมๆ เช่นเดียวกับความอิจฉา แม้อิจฉาที่เห็นคนใกล้ตัวประสบความสำเร็จ แต่บางครั้งก็มาพร้อมกับความรู้สึกยินดีได้เช่นกัน
แม้ความรู้สึกขัดแย้งจะนำมาซึ่งความเครียด แต่มันก็ไม่ได้ไร้ประโยชน์ซะทีเดียว มิเชล เลโน (Michele Leno) นักจิตวิทยาคลินิกส่วนตัวจากรัฐมิชิแกนเสริมว่า บางทีการมีอารมณ์ขัดแย้งกันก็ช่วยให้เรารับมือกับสถานการณ์ยากๆ ได้มากขึ้น การที่เรารู้สึกยินดีกับเพื่อน แต่ก็รู้สึกเศร้าเมื่อมองย้อนกลับมามองตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนเห็นแก่ตัวได้ แต่อีกแง่หนึ่งก็อาจบ่งบอกว่าเราเป็นคนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์แล้วก็ได้
แต่ถึงอย่างนั้นความรู้สึกขัดแย้งก็มักทำให้เรารู้สึกสับสน ไม่รู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรดี ซึ่งอาจทำให้เราไม่กล้าตัดสินใจ หรืออาจเลือกที่จะกดเก็บความรู้สึกของตัวเองไว้ จนกลายเป็นความรู้สึกแย่กับตัวเอง
หากพบว่าตัวเองรู้สึกขัดแย้ง บางทีถึงเวลาที่เราต้องยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้น และลองหาวิธีรับมือด้วยวิธีใหม่ๆ เช่น แทนที่เราจะเลือกว่าจะไปหรือไม่ไปร่วมงานเลี้ยงฉลองความสำเร็จกับเพื่อนเพราะตัวเองรู้สึกแย่ เราอาจจะลองหาวิธีแสดงความยินดีด้วยการส่งข้อความไปแทน หรือถ้าเราไม่ชอบเห็นชีวิตของใครสักคนบนโซเชียลมีเดีย การบล็อก หรือเลิกติดตามก็เป็นอีกทางที่ทำให้เราได้ยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องทำร้ายใคร
แล้วทำยังไงให้เรายินดีกับคนอื่นได้จากใจจริง?
การจัดการกับความรู้สึกอิจฉาไม่ได้หมายความเราต้องกดความรู้สึกเศร้าของตัวเองเอาไว้ หรือพูดจาร้ายๆ ใส่คนอื่น แต่ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่ทำให้เราทำความเข้าใจกับอารมณ์นี้ได้ ซานัม ฮาฟีซ (Sanam Hafeez) นักจิตวิทยาประสาทแห่งนิวยอร์กซิตี้และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แนะนำวิธีแสดงความรู้สึกยินดีกับคนอื่น แม้ในวันที่เรารู้สึกเศร้าไว้ดังนี้
- ทำความเข้าใจอารมณ์ตัวเอง: ความอิจฉาไม่ได้แค่ด้านลบเสมอไป อย่างที่บอกว่าความอิจฉาบางทีก็มาพร้อมกับความยินดีได้เช่นกัน ดังนั้นเราอาจต้องกลับมาสำรวจตัวเองใหม่ว่าทำไมเราถึงรู้สึกยินดีกับคนอื่นไม่ได้ มีอารมณ์อื่นๆ ผสมอยู่ด้วยหรือเปล่า เช่น ความเศร้า ความโดดเดี่ยว ความโกรธ ความผิดหวัง ความอาย ฯลฯ หากระบุได้ก็จะทำให้เราสามารถพูดคุยกับตัวเองบนโลกแห่งความจริงมากขึ้น เช่น ‘ฉันเสียใจที่ถูกปฏิเสธ และคนอื่นได้งานนั้นไปแทน แต่ไม่เป็นไร เพราะความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้’ หลังจากระบุอารมณ์ตัวเองได้แล้วลองเขียนสิ่งเหล่านี้ออกมา สังเกตคำที่เลือกใช้ บางทีอาจทำให้เห็นว่ายังมีปัจจัยอะไรอีกหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้และต้องปล่อยมันไป เพื่อที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า
- ใจดีกับตัวเอง: หลายครั้งเรามักคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ แต่ความคิดนี้อาจไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น สิ่งสำคัญอย่าโบยตีตัวเองว่าทำไมจึงเกิดความรู้สึกนี้ เพียงแค่โอบรับมันไว้ ลดความรู้สึกผิด ลองเปลี่ยนวิธีพูดกับตัวเองและนึกถึงสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีเข้าไว้ เพราะเมื่อเรารู้สึกดีกับตัวเอง เราก็จะสามารถรู้สึกยินดีกับคนอื่นได้มากขึ้นเช่นกัน
- อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น: ลองมองตัวเองจากมุมคนอื่นดูบ้าง โฟกัสไปที่สิ่งที่เรามีหรือสิ่งที่เราทำได้ ลองชวนคนที่ไว้ใจพูดถึงข้อดีของเรา หรือลองฟังเรื่องราวที่ไม่สวยหรูจากคนรอบตัวว่าเขาผ่านมาได้ยังไงบ้าง เพื่อทำให้รู้สึกว่าไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์ไปซะหมด บีต ซิมกิน (Biet Simkin) นักเขียนหนังสือด้านการพัฒนาจิตวิญญาณ แนะนำว่าหากเจอใครที่เรารู้สึกอิจฉา หรือรู้สึกเอื้อมไม่ถึง ให้ลองมองหาสิ่งที่เรามีร่วมกัน บางทีอาจทำให้เราเข้าใจอีกฝ่ายได้มากกว่าที่คิด
- ลองฝึกให้ตัวเองแสดงความยินดีกับคนอื่น: แม้เป็นเรื่องยากที่จะแสดงความรู้สึกยินดีหากเรายังไม่รู้สึกพอใจในตัวเอง แต่การแสดงความยินดีกับคนอื่นก็เป็นวิธีที่จะช่วยปลดปล่อยตัวเราจากความรู้สึกด้านลบที่รั้งเราไว้ เราไม่จำเป็นต้องแกล้งแสดงความยินดีแบบยิ่งใหญ่ก็ได้ถ้าเราไม่พร้อม แค่เป็นการส่งข้อความสั้นๆ หรือกล่าวอะไรสักเล็กน้อยก็เพียงพอแล้ว
เพราะการที่เรายินดีกับความสำเร็จของคนอื่น ไม่ได้แปลว่าเราไม่ใช่คนไม่ประสบความสำเร็จ หรือเก่งน้อยกว่าใคร แต่ความจริงแล้วอาจหมายถึงการที่อนุญาตให้ตัวเองได้มีความสุขมากขึ้นก็ได้
อ้างอิงจาก