ใครๆ ต่างบอกให้เราเป็นตัวของตัวเอง แต่จะเป็นตัวเองได้ยังไง ในเมื่อยังไม่แน่ใจเลยว่า ตัวตนจริงๆ ของเราเป็นแบบไหน?
เป็นเรื่องธรรมดาถ้าเราไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ 100% ทุกสถานการณ์ อย่างเวลาอยู่ที่บ้านก็เป็นแบบหนึ่ง อยู่ที่ทำงานแล้วเป็นอีกแบบ หรือเวลาอยู่กับคนสนิท ก็คงไม่เหมือนตอนอยู่กับคนที่เพิ่งเจอ แต่สำหรับบางคน ต่อให้อยู่กับคนสนิทหรือแม้แต่อยู่เงียบๆ กับตัวเองจริงๆ ก็ยังสับสนว่าสรุปแล้วเราเป็นคนแบบไหน แทนที่คนตรงหน้าในกระจกควรเป็นคนที่เรารู้จักดีที่สุด แต่กลับกลายเป็นเหมือนคนแปลกหน้าที่เราแทบไม่รู้จักเลยสักนิด หรือเป็นใครสักคนที่เราไม่อาจอ้าแขนโอบรับได้อย่างเต็มที่ ชวนให้รู้สึกเปล่าเปลี่ยว สับสน หลงทาง
แต่ไม่เป็นไรนะ ในบทความนี้เราจะชวนทุกคนมาย้อนดูกันว่าอะไรทำให้เราเจอความรู้สึกสับสนเหล่านี้ และมาหาวิธีโอบกอดตัวตนที่อยู่ภายในไปพร้อมๆ กัน
ตัวตนของเราหล่นหายไปตอนไหน?
นับตั้งแต่ลืมตาดูโลก ประสบการณ์และการเลี้ยงดูได้ค่อยๆ ซึมซับจนหล่อหลอมเราให้กลายเป็นเราอย่างทุกวันนี้ โดยเฉพาะช่วงวัยเด็กที่เรายังไม่สามารถแยกแยะได้มากนัก ดังนั้นหากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดไม่ยอมรับพฤติกรรมอะไร เด็กๆ ก็มีแนวโน้มจะไม่ยอมรับพฤติกรรมเหล่านั้นตามไปด้วย หรือหากอิงตามทฤษฎีของนักจิตวิทยา อีริค อีริคสัน (Erik Erikson) ช่วงสำคัญที่ทำให้เราได้ค้นพบตัวตนคงจะเป็นช่วงวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี เพราะพัฒนาการจะอยู่ในขั้น ‘identity vs. role confusion’ คือช่วงที่เรากำลังค้นหาว่าตัวตน ค่านิยม ความเชื่อ เป้าหมาย สิ่งที่ยึดถือและให้คุณค่าเป็นแบบไหน หากช่วงเวลานี้เรามีอิสระให้ได้สำรวจความสนใจ ความชอบของตัวเอง จนหาเจอว่าสิ่งนี้เหมาะกับฉันนะ และได้รับการยอมรับจากสิ่งที่เลือก ก็มีแนวโน้มว่าจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ชัดเจนในตัวเอง แม้ไม่ได้เป็นคนแบบนี้ตลอดไป แต่ก็พอจะตอบได้ว่าเรื่องไหนที่เราเหมือนหรือต่างจากคนอื่นๆ ไปพร้อมกับยอมรับตัวตนนั้นๆ ซึ่งช่วงวัยนี้นอกจากจะสำคัญต่อการเป็นตัวของตัวเองแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพใจของเราอีกด้วย โดยเห็นได้จากการศึกษาในปี 2019 ที่พบว่า การยอมรับตัวเองอย่างไม่มีเงื่อนไขคือหนึ่งในตัวชี้วัดที่ดีต่อการมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง
ในทางตรงกันข้าม หากช่วงวัยนี้เราถูกจำกัด ตีกรอบ ไม่เปิดโอกาสให้ได้สำรวจความต้องการของตัวเอง ไม่มีพื้นที่ให้ได้แสดงออกอย่างอิสระ เช่น ถูกต่อว่า วิจารณ์ หรือทำให้รู้สึกอับอาย เมื่อแสดงพฤติกรรมบางอย่าง เหล่านี้อาจนำไปสู่ความสับสนในบทบาทและจุดยืนของตัวเอง จนเกิดความไม่มั่นใจว่าทำแบบนี้ได้ไหม เป็นแบบนี้ได้หรือเปล่า แม้จะรู้สึกว่านี่คือตัวตนของฉัน แต่เมื่อคนรอบข้างไม่ยอมรับและผลักไสตัวตนนั้น ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะโอบรับความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่พอลองเป็นแบบอื่น ก็รู้สึกไม่ใช่ตัวเอง ในที่สุดก็กลายเป็นความสับสน จนเริ่มตอบไม่ได้แล้วว่าเราคือใครกันแน่
สังคมไทยกับการยอมรับแบบ ‘มีเงื่อนไข’
ถ้าลองมองย้อนมาที่สังคมไทย ในช่วงวัย 12-18 ปี เราต้องเจออะไรบ้าง?
แน่นอนว่าเวลาชีวิตส่วนใหญ่ของเราอยู่ที่บ้านและโรงเรียนเป็นหลัก สำหรับที่บ้าน ครอบครัวไหนที่ให้อิสระเด็กๆ ได้ลองค้นหาตัวเองและสนับสนุนอย่างเต็มที่ก็นับว่าเป็นเรื่องโชคดี แต่เชื่อว่ามีบางครอบครัวที่ไม่ได้ให้อิสระมากขนาดนั้น บวกกับการโตมาพร้อมประโยค “เด็กๆ ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่” ที่บอกเป็นนัยๆ ว่าถ้าทำอะไรต่างไปจากที่พ่อแม่ผู้ปกครองบอกแล้วจะไม่ถูกยอมรับและสนับสนุน เด็กๆ เลยไม่กล้าจะเดินออกนอกเส้น แม้ทางที่ก้าวไปข้างหน้านั้นจะชวนอึดอัด และรู้อยู่เต็มอกว่าไม่ใช่ทางของเราเลยสักนิด ซึ่งแน่นอนว่าการเติบโตขึ้นมาภายในกรอบนี้ ย่อมส่งผลต่อการยอมรับตัวเองในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเห็นได้จากการศึกษาปี 2016 พบว่าผู้เข้าร่วมซึ่งอยู่ในวัยผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะยอมรับตนเองมากขึ้น หากพวกเขาจำได้ว่าพ่อแม่ยอมรับตัวตนของพวกเขาในวัยเด็ก
นอกจากเรื่องการเลี้ยงดูแล้ว เด็กและวัยรุ่นในไทยยังต้องเข้ามาเจอระบบการศึกษาที่ตีกรอบทับอีกชั้นหนึ่ง ตั้งแต่บทเรียนที่เน้นการตอบคำถามมากกว่าตั้งคำถาม ไปจนถึงกฎเกณฑ์เรื่องเสื้อผ้า ทรงผม บางโรงเรียนเข้มงวดไปถึงขั้นกำหนดสีกระเป๋าและความยาวของถุงเท้า บ้างก็มีกฎแปลกๆ เช่น ห้ามกินน้ำในห้องเรียน ทั้งที่มองตามเหตุและผลจริงๆ เรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลกับการเรียนรู้ แต่พอจะตั้งคำถามกลับกลายเป็นความก้าวร้าว ตามมาด้วยบทลงโทษให้รู้สึกอับอาย
ซ้ำร้ายเด็กบางคนยังเจอปัญหาการบูลลี่ กีดกันและกลั่นแกล้งในโรงเรียนจนฝังลึกเป็นบาดแผลในใจ ชวนให้รู้สึกว่าการจะอยู่รอดในสังคมได้ เราต้องปรับตัวไปทำในสิ่งที่ ‘คนอื่นบอกให้ทำ’ มากกว่าทำตาม ‘ความต้องการจริงๆ ของตัวเอง’ แต่บอกก่อนว่าเรื่องนี้เป็นคนละอย่างกับการหักห้ามใจไม่ให้ทำในสิ่งที่แย่ หากเป็นการตัดสินใจสิ่งต่างๆ โดยปิดการรับรู้ถึงเสียงภายในใจของตัวเอง ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการเลือกร้านที่อยากกินไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการเลือกเส้นทางชีวิต
ทว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่นับรวมค่านิยมในสังคมที่ตีเส้นทับเราไปเรื่อยๆ เช่น ผู้ชายต้องเป็นช้างเท้าหน้า ต้องเข้มแข็ง ห้ามมีน้ำตา ขณะที่ผู้หญิงต้องเป็นช้างเท้าหลังและกุลสตรีผู้อ่อนหวาน หรือการยอมรับความหลากหลายทางเพศก็ยังมีเงื่อนไข อย่างประโยคที่บอกว่า “เป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนดี” แม้ค่านิยมเหล่านี้จะไม่ได้ขีดเขียนไว้เป็นกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน แต่ก็เป็นความกดดันทางสังคมที่ทำให้เรารู้สึกเหมือน ต้อง ‘พิสูจน์ตัวเอง’ อยู่ตลอดเวลา ทั้งที่การยอมรับตัวตนของกันและกันนั้นควรเกิดขึ้นเป็นปกติและไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้ใครยอมรับ
นอกจากเรื่องเชิงสังคมแล้ว ‘สถานที่และโอกาส’ เป็นอีก 2 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อตัวตนของเราเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เราเกิด เมืองที่เราอาศัยอยู่ รัฐบาลปัจจุบัน เศรษฐกิจ และแม้กระทั่งช่วงเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ เพราะส่งผลกับมุมมองต่อตัวเราและโลกภายนอก อย่างการอยู่ในที่ที่เสรีภาพในการแสดงออกมีเพียงน้อยนิด อยู่ท่ามกลางสังคมที่ไม่ได้ยอมรับความหลากหลาย ทำให้บางคนเริ่มรู้สึกผิดกับการเป็นตัวของตัวเอง แต่พอจะออกไปเจอสังคมใหม่ๆ ผู้คนที่หลากหลาย ก็ต้องอาศัยทั้งต้นทุนและโอกาสบางอย่าง สำหรับบางคนเลยกลายเป็นเรื่องยากทั้งการออกไปค้นหาตัวตน และการถูกยอมรับตัวตนในแบบที่เราเป็น
ถึงเวลาพาตัวเองกลับ ‘บ้าน’
อย่างไรก็ตามความบอบช้ำหรือเรื่องฝังใจในวัยเด็ก ไม่ได้เป็นเครื่องหมายตีตราว่าเราจะหาตัวเองไม่เจอไปตลอดกาล ทั้งยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า สภาพแวดล้อมทางกายภาพไม่ได้เปลี่ยนบุคลิกของเรา แต่เปลี่ยนวิธีที่เรารับรู้และมุมมองต่อตัวตนของเราได้ นั่นหมายความว่า ตัวตนเราอาจจะไม่ได้หายไปไหน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือมุมมองต่อตัวตนนั้นมากกว่า
ในเว็บไซต์ very well mind แนะนำว่าการใช้เวลาอยู่กับตัวเองคนเดียวอาจช่วยให้เราทบทวนเรื่องนี้ได้ดีขึ้น แม้บางคนจะมองว่าการอยู่คนเดียวเป็นภาพที่ดูเปลี่ยวเหงา แต่จริงๆ แล้วการได้หยุดพักจากความกดดันภายนอก ได้หยุดฟังเสียงของคนอื่นชั่วคราวก็ทำให้เราได้กลับมาทบทวนและฟังเสียงภายในใจของตัวเองบ้าง ซึ่งระหว่างนี้เราอาจจะลองสังเกตตัวเองไปด้วยว่า อะไรที่ทำให้เราใจเต้นและมีความสุข สิ่งไหนที่เราให้คุณค่า เรารู้สึกต่อเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตยังไงบ้าง ทำไมเราถึงตัดสินใจแบบนี้และอีกหลากหลายคำถามที่ทำให้เราได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น แต่ถ้ากลัวจะลืมหรือคิดแล้วรู้สึกฟุ้งๆ ให้ลองจดลงในกระดาษไปเรื่อยๆ พอกลับมาอ่านอาจจะเห็นภาพตัวเองได้ชัดยิ่งขึ้น
ส่วนขั้นต่อมาคือเรื่องการยอมรับตัวเอง (self-acceptance) แต่การยอมรับตัวเองในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการมองว่าตัวเองสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ หรือมั่นใจแบบไม่สนใครเลย หากเป็นการกล้าที่จะยอมรับทั้งจุดดี และในจุดที่เราอาจจะไม่ชอบตัวเองเท่าไร โดยการฝึกเรื่องนี้อาจเริ่มจากการขอบคุณตัวเองวันละเรื่อง แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม รวมทั้งฝึกให้อภัยตัวเอง เช่น ปรับจากการตำหนิตัวเองเวลาทำพลาด มาโฟกัสที่บทเรียนและมองหาทางป้องกันไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้การพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยอมรับและสนับสนุนก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ถ้าสังเกตเห็นสัญญาณว่าคนรอบข้างหรือสังคมที่เราอยู่ค่อนข้างท็อกซิก คอยตัดสินเราทุกอย่างก้าว แบบนั้นก็อาจจะต้องลองถอยออกมาทีละนิด แล้วหันมาให้เวลากับคนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เราได้ลองผิดลองถูก เพื่อค้นหาตัวตนของเราได้อย่างสบายใจมากกว่า เพราะบางทีการยอมรับตัวเองได้ยากอาจเกิดจากสภาพแวดล้อมรอบข้างได้เหมือนกัน
จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะค้นพบและยอมรับความเป็นตัวเองได้อย่างแท้จริง แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่ต้องอาศัยเวลา การหันกลับมาฟังเสียงจากภายในของเรามากขึ้น และอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สนับสนุน
สำหรับใครที่รู้สึกเหมือนเป็นคนแปลกหน้าของตัวเอง เราหวังว่าความรู้สึกนั้นจะค่อยๆ จางหาย และได้พาตัวเองกลับบ้าน มาโอบกอดตัวเราที่เป็นเราได้ในสักวันนะ
อ้างอิงจาก