ก่อนหน้านี้ การทำงานที่บ้านหรือการไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน เป็นเหมือนรางวัลพิเศษที่เก็บไว้สำหรับพนักงานบางคน หรือเอาไว้ล่อตาล่อใจแคนดิเดตเข้าทำงานใหม่ แต่สำหรับตอนนี้ มันกลายมาเป็นนโยบายถาวรที่หลายบริษัทเลือกใช้กับพนักงานของพวกเขาทุกคน หรือตามแต่เนื้องานจะเอื้ออำนวย ว่าสามารถอยู่ห่างออฟฟิศได้มากน้อยแค่ไหน
ช่วงที่ผ่านมาเราได้ยิน Buzzword ยอดฮิตอย่าง การทำงานแบบ Hybrid, Remote, Flexible Schedule กันอย่างต่อเนื่อง (เหมือนที่เราได้ยิน Metaverse ในทุกที่) แม้ใจความหลักคือการทำงานที่ไม่ได้นั่งอยู่ออฟฟิศ 9-5 แบบที่ผ่านมา แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้างเล็กน้อย
อย่าง Hybrid จะให้เราเลือกวันเข้าทำงานได้ โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน อาจจะมีเงื่อนไขแตกต่างกันบ้างตามแต่นโยบายของแต่ละบริษัท ส่วนการทำงานแบบ Remote หมายถึง การทำงานที่บ้าน (หรือที่อื่นที่ไม่ใช่ออฟฟิศ) แบบเต็มตัว ไม่กำหนดวันเข้าออฟฟิศ แต่หากมีเรื่องจำเป็นก็สามารถเข้ามาได้ หรืออาจจะมีเงื่อนไขแตกต่างกันบ้างตามแต่นโยบายของแต่ละบริษัทด้วยเช่นกัน
กว่า 74% ของบริษัทในสหรัฐอเมริกา ได้ใช้ Hybrid Model กันแล้ว และมีแนวโน้มที่จะใช้อย่างถาวร ทีนี้ พอหลายบริษัทรับเอานโยบายการทำงานแบบนี้มาใช้ นั่นเท่ากับว่าเราเองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการทำงานใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นงานที่มีอยู่แล้วหรืองานที่เรากำลังมองหาอยู่ก็ตาม พอมันมีเงื่อนไขในการทำงานเพิ่มขึ้น เราเองก็ต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ นี้อย่างรอบคอบ เพื่อเลือกงานที่เหมาะสมกับความต้องการของเราด้วยเช่นกัน
มาดูกันว่า หากเราจะเริ่มต้นทำงานใน Hybrid Office เราต้องพิจารณาอะไรบ้าง ตั้งแต่ตอนเริ่มก้าวเท้าเข้าไปสัมภาษณ์ เพื่อให้รู้เงื่อนไขที่จำเป็นอย่างครบถ้วน และไม่ต้องนั่งเสียดายว่าทำไมไม่ได้ถามในภายหลัง
วันเข้าออฟฟิศลดลง แต่ต้องทำกี่ชั่วโมงต่อวัน?
นึกภาพตอนนั่งสัมภาษณ์งาน พอบอกว่าที่นี่ใช้ Hybrid Model นะ เรามักจะโฟกัสไปที่จำนวนวันเข้าออฟฟิศกันเสียส่วนใหญ่ ต้อง on-site กี่วันกันนะ? จะได้ตื่นมาทำงานที่บ้าน ไม่ต้องฝ่ารถติดได้หลายวันหรือเปล่า? จนเราอาจจะถามถึงจำนวนวันที่ได้ทำงานที่บ้าน แต่เรากลับลืมจำนวนชั่วโมงต่อวันไปหรือเปล่า?
เรื่องจำนวนชั่วโมงการทำงานนี้ มันอาจมาในหลายรูปแบบ อย่างจำนวนชั่วโมงทำงานที่บ้าน นั้นต้องเข้างานไวกว่าตอนเข้าออฟฟิศ ด้วยเหตุผลที่ว่าเราสามารถตื่นมาทำงานได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง ทำให้เราเข้างาน (จากที่บ้าน) ได้ไวขึ้น นั่นเท่ากับว่าเราต้องทำงานมากกว่าวันปกติ หรือการอ้างว่าลดจำนวนวันทำงาน เพราะอยากจะส่งเสริมความโปรดักทีฟ ยุคนี้มันต้องทำงานแค่ 4 วันกันแล้ว แต่กลายเป็นว่า ต้องทำงาน 4 วันที่จำนวนชั่วโมงมากขึ้น สุดท้ายชั่วโมงการทำงานก็เท่ากับ 5 วันอยู่ดี
อย่าให้ตัวเลขวันทำงานลวงตา จนหลงลืมที่จะถามถึงรายละเอียดที่สำคัญไม่แพ้กันอย่างชั่วโมงการทำงาน เวลาเข้า-ออกงานด้วย
โอกาสไหนบ้างที่ต้องเข้าออฟฟิศ?
แม้จะอนุญาตให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ หรือเข้าออฟฟิศแค่บางวัน แต่นโยบายของหลายแห่ง กำหนดให้ต้องเข้าออฟฟิศในโอกาสที่จำเป็น ซึ่งแต่ละที่ก็มีความจำเป็นที่ว่านั้นแตกต่างกันไป อย่าลืมถามถึงโอกาสที่ต้องเข้าออฟฟิศโดยพร้อมเพรียงและจำเป็น อาจจะเริ่มจากวันที่ต้องเข้าทั้งหมดก่อน อย่าง Town Hall หรือประชุมประจำสัปดาห์
ทุกการสัมภาษณ์ จะต้องมีบุคคลจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งของเราด้วย เราสามารถถามถึงโอกาสที่ต้องเข้าออฟฟิศของตำแหน่งนั้น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเข้าออฟฟิศโดยรวม อย่างการประชุมแยกของแต่ละทีม การนัดระดมไอเดียของแต่ละทีม วันปิดโปรเจ็กต์ แล้วนำวันที่ต้องเข้าออฟฟิศ มาพิจารณาถึงความสะดวกและความสบายใจที่จะเข้าออฟฟิศตามนโยบายของบริษัทนั้นๆ
ใช้ช่องทางใดสื่อสารในออฟฟิศ?
หากเราค่อนข้างกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องการให้มีสิ่งแปลกปลอมบนแจ้งเตือนในวันหยุดหรือหลังเลิกงาน แพลตฟอร์มที่ใช้สื่อสารกันในองค์กร ก็พอจะบอกถึงความตระหนักต่อความเป็นส่วนตัวของพนักงานได้เช่นกัน จริงๆ แล้ว แม้จะไม่ได้ทำงานบน Hybrid Model ก็ควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย แต่ยิ่งเป็น Hybrid Model หรือการทำงานแบบ Remote ยิ่งทำให้เราอาศัยการสื่อสารกันผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ยิ่งทำให้เราต้องใส่ใจเรื่องนี้ให้มาก
หากองค์กรใช้แพลตฟอร์มสำหรับการทำงานโดยเฉพาะ อย่าง Slack, Workplace, Asana, Microsoft Teams, Trello จะช่วยให้การทำงานของเราราบรื่นยิ่งขึ้น ด้วยฟีเจอร์ต่างๆ ที่ทำมาเพื่อตอบสนองความต้องการในการทำงาน ย่อมทำหน้าที่ได้ดีกว่าแพลตฟอร์มอื่น ที่อาจจะเหมาะกับการพูดคุยสื่อสารกันในชีวิตประจำวันเสียมากกว่า และยังสะท้อนถึงการเคารพเส้นแบ่งชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวที่องค์กรมีต่อพนักงานอีกด้วย
นโยบายวันลา เหมือนกับ on-site หรือเปล่า?
แม้จะฟังดูเป็นเรื่องจุกจิกไปเสียหน่อย แต่ถ้าหากสวัสดิการ วันลา ผลประโยชน์ที่ควรได้ของคนที่ทำงานภายใต้ Hybrid Model กับคนที่ทำงานแบบ On-Site แตกต่างกัน เราเองก็ควรได้รับรู้และพิจารณาว่ามันตรงกับความต้องการของเราหรือเปล่า โดยเฉพาะวันลา แม้จะทำงานที่บ้าน เชื่อว่าทุกคนก็ยังต้องการวันลาไม่ต่างกับคนที่ทำงานแบบ On-Site เพราะเรายังคงมีธุระส่วนตัว มีวันป่วย มีวันเหนื่อยจนอยากหลีกหนีไปพักผ่อน
วันทำงานที่บ้านก็ยังถือเป็นวันทำงาน ที่เราเองก็ต้องทำงานอย่างเคร่งครัดไม่ย่อหย่อนไปจากวันปกติ จึงไม่สามารถนับเป็นวันลาแทนได้ หากต้องถูกลดวันลาลง ด้วยเหตุผลที่ว่าเราทำงานภายใต้ Hybrid Model “อาทิตย์นึงอยู่บ้านตั้งหลายวันแล้วนี่ จะเอาวันลาไปทำไมเยอะแยะ?” ก็ออกจะไม่แฟร์กับเราสักเท่าไหร่ ที่ถูกมองว่าได้ประโยชน์จากการทำงานแบบ Hybrid ไปแล้ว จึงถูกลดผลประโยชน์ในด้านอื่นแทน
พอทำงานที่บ้าน ความคาดหวังมากขึ้นหรือเปล่า?
ผลสำรวจจาก ConnectSolution บอกว่า กว่า 77% ของคนทำงานแบบ Remote มีความโปรดักทีฟมากขึ้น และอีกกว่า 83% บอกว่า การทำงานเป็นทีมเป็นไปอย่างราบรื่นมากกว่าตอนเข้าออฟฟิศ นี่ยังไม่รวมถึงสารพัดข้อดีของการทำงานบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแบบ Remote หรือ Hybrid ราวกับว่าการตื่นนอนมาทำงาน โดยไม่ต้องฝ่าสภาพจราจรอันหนาแน่น ได้นั่งทำงานในพื้นที่ส่วนตัว จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเรามีแต่จะดีขึ้นกว่าตอนเข้าออฟฟิศ มันอาจจะจบลงแค่นั้นถ้าหากองค์กรเลือกโมเดลนี้เพราะอยากให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ถ้าหากเลือกเพราะต้องการผลประโยชน์จากการทำงานอันมีประสิทธิภาพนั้นล่ะ เราจะรับข้อเสนอนั้นได้หรือเปล่า?
ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรเลยที่องค์กรจะหวังผลประโยชน์จากการทำงานของพนักงาน แต่เมื่อเราทำงานจากที่บ้าน เราถูกคาดหวังให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคนทำงานที่ออฟฟิศหรือเปล่า? ความคาดหวังนั้นอาจจะมาทั้งในรูปแบบจำนวนชิ้นงานที่มากกว่าตอนเข้าออฟฟิศ มาในรูปแบบของการประเมินประจำปี KPIs เฉพาะของเหล่าพนักงาน Hybrid
หากเราต้องแบกความคาดหวังที่มากขึ้น ความรับผิดชอบที่มากขึ้น เราจะรับมือกับมันไหวหรือเปล่า? เรื่องนี้ก็เป็นอีกปัจจัยที่เราควรพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก