การต่อว่ากันซึ่งหน้า เป็นปะทะทางอารมณ์ในที่เรารู้ว่าอีกฝั่งเป็นใคร และใช้อะไรมาโจมตีเรา ทำให้เราสามารถรับมือกับเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อมันอยู่ในรูปแบบอื่น อย่างการเสียดสี ถากถาง ตีวัวกระทบคราด อาจทำให้เรารับมือกับเรื่องนี้ยากขึ้น เพราะอีกฝ่ายสามารถบิดพริ้วให้มันเป็นเรื่องของการล้อเล่น เอ่ยชม หรือเป็นความไม่ตั้งใจไปเสียอย่างนั้น เมื่อเราถูกกระทำแบบนั้นล่ะ เราจะรับมือกันมันอย่างไรดี?
“ไม่คิดว่าเธอก็มีฝีมือเหมือนกันนะเนี่ย” “เธอเป็นผู้หญิงที่เล่นเกมเก่งดีนะ” “หน้าหมวยแบบนี้ เอาโควิดมาด้วยหรือเปล่า” ประโยคเหล่านี้ หากเราเป็นคนนอก อาจจะไม่รู้สึกถึงความผิดปกติดอะไร แต่ถ้าหากเราเป็นผู้ฟัง เราอาจจะรู้สึกกับประโยคเหล่านี้ไปอีกแบบ น้ำผึ้งแสนหวานที่เหมือนเป็นคำชม คำหยอกล้อ กำลังอาบไปตามใบมีดโกนคมกริบ เป็นดั่งประโยคบอกเล่าทั่วไป แต่แฝงไปด้วยอคติบางอย่าง จะว่าผู้พูดตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่เรามาโฟกัสที่คำพูดนั้น ว่ามันกำลังลดทอนคุณค่าของอีกฝ่าย หรือทำให้อีกฝ่ายเกิดความไม่สบายใจอยู่หรือเปล่า
อะไรเหล่านี้มันมีชื่อเรียกอยู่เหมือนกัน โดยเรียกพฤติกรรมเหล่านี้ว่า ‘Microaggression’ แม้จะไม่ได้แสดงออกอย่างโกรธเกรี้ยว แต่มันคือการแสดงออกถึงอคติที่มีต่ออีกฝ่ายอย่างชัดเจน อาจมาในรูปแบบของการเสียดสี ยกย่อง ยกตนข่มท่าน ตีวัวกระทบคราด โดยที่ผู้พูดเองอาจจะตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ได้ (ว่าต้องการให้อีกฝ่ายเจ็บช้ำน้ำใจ) แต่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตามนั้น ผลลัพธ์ของคำพูดเหล่านั้น คือ ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี ถูกลดคุณค่า ถูกแปะป้าย Stereotype
ความน่าหงุดหงิดของการรับมือกับ Microaggression นั้น อยู่ที่มุมมองของผู้พูด มักจะมองเรื่องนี้ว่ามันไม่ได้เป็นปัญหาเท่าไหร่นัก และมักจะต่อว่าต่อขานผู้ฟังด้วยคอมโบอีกชุดว่า อ่อนไหวเกินไป “นี่ชมอยู่นะเนี่ย ไม่ได้ว่าอะไรสักหน่อย” “แซวเล่นเฉยๆ น่า” มาเป็นเกราะป้องกันให้คำพูดเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งถูกต้อง และกลายเป็นเราเองที่ไม่ควรมาคิดแง่ลบกับคำพูดของพวกเขา (Microaggression ยังมีการแบ่งประเภทและรายละเอียดอีกมาก สามารถตามไปอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่)
ขนาดในชีวิตประจำวัน ที่ไม่มีเรื่องของ power dynamic มาเกี่ยวข้อง ยังชวนให้กำหมัดแน่นขนาดนี้ ลองนึกดูว่า สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน ที่มีเรื่องของอำนาจ ตำแหน่ง เข้ามาเกี่ยวข้อง จะชวนให้รู้สึกอึดอัดคับข้องใจขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงความสามารถ เชื้อชาติ เพศ สีผิว ของอีกฝ่าย ที่ชวนให้รู้สึกว่า คำชมเหล่านั้นกลับไม่ใช่คำชมเอาเสียเลย
หากเจ้านายชมเราด้วยประโยคที่ว่า “คุณมีความสามารถกับเขาเหมือนกันนะเนี่ย” เราจะทำใจฟังว่าประโยคนี้มันเป็นคำชมได้หรือเปล่า หรือวันไหนที่เป็นอันต้องปะทะคารมกับเพื่อนร่วมงาน แล้วมีคนปลอบใจเราว่า “ช่างเถอะ คนแก่ก็เจ้ากี้เจ้าการแบบนี้แหละ” เราจะคิดว่านั่นเป็นประโยคปลอบใจเรา และเขาคนนั้นไม่ได้กำลังพูดถึงบุคคลที่สามแบบแง่ลบได้จริงหรือเปล่า
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา อคติที่แฝงมากับคำพูดธรรมดา คำชมที่เหมือนไม่ได้ชม คำแปะป้ายผู้คนว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เสมอ และด้วยหน้าที่ ตำแหน่ง ของคนที่เราสื่อสารด้วย อาจทำให้เราต้องระมัดระวังเรื่องการตอบโต้เป็นพิเศษ แล้วถ้าหากมันเกิดขึ้นกับเราเข้าแล้วล่ะ เราจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรดี?
กระทบมากระทบกลับ
แม้จะฟังดูเหมือนให้เข้าปะทะซึ่งหน้า แต่ว่าเราจะไม่ทำแบบบนั้นแน่นอน โดยเฉพาะในกรณีที่อีกฝ่ายมีตำแหน่งสูงกว่า มีอำนาจมากกว่า หรือใครก็ตามที่เราไม่อยากปะทะกับเขาโดยตรง เมื่อเราถูกพูดกระทบ เสียดสี แดกดัน ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จาก Microaggression ลองจุดประเด็นนี้ขึ้นมาในวงสนทนาทั่วไป พูดถึงความอึดอัดคับข้องใจ ความไม่ชอบในลักษณะนิสัยบางอย่าง แต่ไม่จำเป็นต้องระบุว่าเป็นใคร เพียงแค่แสดงจุดยืน ความคิดเห็น อย่างชัดเจน ว่าเราไม่โอเคกับสิ่งนี้ ไม่ใช่แค่เพราะเรานั้นช่างอ่อนไหว แต่เป็นเพราะมันไม่โอเคด้วยเหตุผล ดังนี้ 1 2 3 4
ปล่อยให้เรื่องนี้ประเด็นสนทนาที่ผุดขึ้นมาอย่างไม่ตั้งใจ และมันอาจไปเข้าหู ‘คนนั้น’ เข้าในสักวัน และเขาอาจจะตระหนักรู้ว่าสิ่งที่เขาเคยพูดนั้น มันไม่ใช่เรื่องถูกต้อง หรืออย่างน้อยก็จดจำได้ว่า เราไม่ชอบถูกปฏิบัติด้วยแบบไหน
แจ้ง HR ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
ครั้งแรกผ่านไป ครั้งสอง ครั้งสาม และครั้งต่อไปตามมาไม่หยุด หากพบว่ามีคนในออฟฟิศ นิยมใช้ Microaggression ในการสนทนา มันช่างทำให้เสียบรรยากาศและเสียความรู้สึกต่อผู้คนเป็นวงกว้าง ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเจ้านาย หัวหน้าทีม หรือเพื่อนร่วมงานก็ตาม เพื่อให้ HR ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางแก้ต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ HR เองว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร
อาจเป็นได้ทั้งการตักเตือน พูดคุย โดยตรง หรือการนัดหมายทั่วไป ทำกิจกรรมให้ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องนี้โดยผู้เชี่ยวชาญด้าน conflict resolution โดยตรง อาจทำให้เจ้าตัว ‘คนนั้น’ เกิดความตระหนักรู้หรือรู้สึกเชื่อถือมากกว่าการที่เราเดินเข้าไปบอกด้วยตัวเอง
ไม่ลดคุณค่าตัวเองตามคำพูดคนอื่น
ด้วยคำพูดเหล่านั้น ที่มันช่างทำร้ายจิตใจของคนฟังไม่มีชิ้นดี อาจทำให้เรารู้สึกกลับมาสงสัยในความสามารถ ความมั่นใจ ตัวตนของเราเอง “หรือคนอื่นจะมองว่าเราไม่ได้เก่งขนาดนั้น” “ที่ผ่านมาเรายังทำได้ไม่ดีหรือเปล่า” “เราด้อยกว่าขนาดนั้นจริงหรือเปล่า” ไม่ว่าผู้พูดจะเบี่ยงประเด็นไปอย่างไร แต่ความรู้สึกที่ถูกลดทอนคุณค่าด้วยคำพูดของเขาเป็นเรื่องจริง เราก็รู้สึกมันจริงๆ แน่นอนว่าเรื่องนี้มันส่งผลกับสุขภาพใจโดยตรง
เมื่อเราสามารถตระหนักได้ว่าการกระทำของเขานั้น มันคือ Microaggression และสิ่งนี้นี่แหละที่มันเป็นปัญหา เราก็ต้องตระหนักไว้เช่นกันว่า ไม่ใช่เพราะความมั่นใจ ความสามารถ ของเขายังไม่ดีพอ อย่าหลงทางไปกับคำโน้มน้าวของพวกเขา ที่มักจะพยายามทำให้เราเข้าใจว่า เราช่างอ่อนไหวเหลือเกินที่มาคิดมากกับคำพูดของเขา
ทั้งนี้ เราเองก็ต้องระมัดระวัง Microaggression จากเราเองด้วยเช่นกัน ก่อนที่จะสื่อสารอะไรออกไป โดยเฉพาะในประเด็นเปราะบาง เราควรทบทวนคำพูดในหลากหลายแง่มุมก่อนพูดออกไป ในมุมของผู้พูด อะไรมันก็สามารถพูดออกไปได้ทั้งนั้นถ้ามีเจตนาที่ดี แต่มุมของผู้ฟัง กลับต้องโดนบั่นทอนจิตใจกันมาครั้งแล้วครั้งเล่า จากคำพูดร้ายๆ แต่เจตนาดีเหล่านี้
อ้างอิงข้อมูลจาก