ถ้าจะเลี้ยงคน 1 หมื่นล้านให้รอด เมนูก็ต้องเปลี่ยนไม่ใช่เหรอ
อยู่ๆ ก็หิวขึ้นมา แต่โชคดีเงินเดือนเจ๊กำลังจะออก มื้อนี้คงต้องจัดหนักซะหน่อย อาหารที่ดูเหมือนซื้อง่ายขายคล่องตราบที่คุณมีเงินในกระเป๋า แต่เมื่อถึงวันหนึ่งมันก็อาจไม่สามารถซื้อแม้เพียงแครอทช้ำๆ หัวเดียว
อาหารล้วนมีที่มาที่ไป ในสถานการณ์ปัจจุบันพืชพรรณและสัตว์กลับเลี้ยงดูอย่างยากลำบากขึ้นทุกที จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่สั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารไปทั่วโลก และการผจญกับการระเบิดของประชากร (Population Bomb) ถ้าขืนเรากินอาหารเหมือนๆ เดิม อาหารจะไม่เพียงพอและเกิดการแก่งแย่งทรัพยากรอาหารที่ทำให้ The Judgement Day เป็นนิทานก่อนนอนไปเลย
เมื่อ 50 ปีก่อนนู้น นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย Stanford นาม Paul Ehrlich เคยพยากรณ์ไว้ว่า ต้องมีคนเป็นล้านๆ คนทั่วโลกอดอยากในไป 1980 ซึ่งวิธีการเดียวเพื่อหยุดวิกฤต คือต้องชะลออัตราการเกิดใหม่ของมนุษย์ แต่คุณก็เห็นว่ามันช่างเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นเราจึงหันไปแก้ที่กระบวนการผลิตอาหารแทน ซึ่งริเริ่มโดย Norman Borlaug ผู้บุกเบิกในการพัฒนาพันธุ์พืชให้ต่อกรกับสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายโดยยังให้ผลผลิตสูง ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและการปรับปรุงพันธุกรรม จนนำมาสู่ ‘การปฏิวัติเขียว’ (The Green Revolution) ก็ถือว่าพาเรารอดวิกฤตไปได้เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น
การระเบิดของประชากรมาอีกครั้งแล้ว โลกกำลังมีคนมากถึง 1 หมื่นล้านคนที่อยากกินอะไรเหมือนกันกับคุณ
เทรนด์อาหารยุคต่อไปจะเปลี่ยนไปอย่างไร เจ๊จะมีอะไรกินพรุ่งนี้ไหมหนอ?
1. อะไรทำให้เมนูต้องเปลี่ยน?
มีปัจจัยเป็นร้อยๆ อย่างที่ทำให้อาหารที่คุณชื่นชอบ กลายเป็นเพียงความทรงจำ เราสามารถสรุปได้เป็น 3 ปัญหาใหญ่ๆ ที่ทรงอิทธิพลต่อความมั่นคงทางอาหารมากที่สุด
- การระเบิดของประชากร (Population Bomb)
มีเพื่อนร่วมโลกอยู่กับคุณราว 7 พันล้านคน ณ ปัจจุบัน และภายในปี 2050 อาจมีประชากรสูงถึง 9.7 พันล้านคนอย่างเบาะๆ แม้อัตราของผู้ขาดสารอาหารทั่วโลกจะน้อยลงแล้วก็ตาม แต่ยังมีคนกว่า 800 ล้านคนไม่มีอะไรตกถึงท้องเลย
ดังนั้น หากเราต้องรองรับประชากรจำนวนมหาศาลเช่นนี้ เราจำเป็นต้องผลิตอาหารให้มากกว่าเดิมถึง 70%! หืดขึ้นคอทีเดียว
- ภัยพิบัติ (Calamities)
โรคพืชและโรคระบาดในปศุสัตว์ มักเป็นปัญหาเดิมๆ ที่เจอกันมาตลอด แต่เมื่อภัยโลกร้อนผสมโรงด้วย จึงทำให้ทุกอย่างยุ่งยากกว่าเดิม ช่วงหน้าหนาวอุ่นขึ้นอย่างพิกล ทำให้หิมะและน้ำแข็งที่เคยทำหน้าที่ช่วยกำจัดศัตรูพืชเสื่อมอำนาจลง แมลงจึงมีเวลาในการกัดกินผลผลิตมากกว่าเดิม เมื่อเข้าหน้าร้อนก็ยิ่งร้อนสาหัส เปลี่ยนพายุให้มีความรุนแรงและเป็นสาเหตุหนึ่งในการแพร่กระจายการระบาดของโรค
- โลกร้อน แน่นอนกว่า (Global Warming)
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดพายุลูกยักษ์ และความแห้งแล้งอยู่กับเรานานกว่าเดิมจนเหมือนญาติสนิท ซีกโลกใต้ระหว่างขั้วโลกใต้กับเส้นศูนย์สูตร (Southern hemisphere) มีความบอบบางอย่างมาก และเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ยังไม่มีใครจินตนาการได้ว่าเรากำลังสูญเสียแหล่งอาหารในธรรมชาติไปมากน้อยแค่ไหน
2. แมลงสุดแซ่บ ในรูปโฉมยั่วน้ำลาย
อย่าทำหน้าย่นไป เหล่าเพื่อนตัวน้อยกำลังจะเปลี่ยนมาเป็นอาหาร หนอนนก ปลวก แมลงปีกแข็ง และมดนานาชนิด เป็นแหล่งโปรตีนราคาประหยัดที่ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงดูน้อยปล่อยมลภาวะต่ำ เข้าวินมาอันดับแรกๆ ในอนาคตอาหารโลก ชาวตะวันตกเคยสะอิดสะเอียนกับอาหารจานแมลง แต่ตอนนี้เริ่มมีกระแสเปิดใจค่อนข้างมาก เพราะผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่แปรรูปแล้วจนคุณไม่ต้องทนเห็นแข้งขาของพวกมัน เช่น แป้งโปรตีนที่สกัดจากแมลง ซีเรียลอัดแท่ง หรือจะกินแบบไม่แปรรูปเลยก็ยังได้
มนุษย์เราสามารถย่อยโปรตีนจากแมลงได้มากถึง 80% หากเทียบกับไก่หรือเนื้อหมูที่เพียง 50% เท่านั้น
แมลงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขนส่งง่าย ใช้พื้นที่ไม่มาก หากเทียบเนื้อวัวกับเนื้อแมลงแบบกิโลฯ ต่อกิโลฯ การเลี้ยงวัวให้ได้เนื้อต้องใช้พื้นที่มากกว่า 10 เท่าหากเทียบกับแมลง เริ่มกินให้คุ้นลิ้น แต่ต้องระวังปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มากๆ นะเจ๊
3. น้ำกิน น้ำใช้ ส่งตรงจากส้วมคุณ
โลกเรามีน้ำอยู่ทุกที่ แต่มองไปทางไหนกลับไม่มีน้ำสำหรับดื่มกินเลย ยิ่งน้ำเพื่อทำการเกษตรยิ่งไม่ต้องพูดถึง หากคุณยังจำความแล้งได้ จะน้ำทิ้งน้ำเสีย ถ้ามันมีโอกาสนำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็ต้องทำ
น้ำโสโครกไม่ไร้ค่าซะทีเดียว มันยังคงเต็มไปด้วยสารอาหารจำเป็นเพื่อการเกษตร อย่างในประเทศอียิปต์ จอร์แดน เม็กซิโก และบางรัฐในอเมริกา ใช้น้ำทิ้งในการเพาะปลูกเป็นหลักโดยรบกวนแหล่งน้ำตามธรรมชาติให้น้อยที่สุด
มีความพยายามนำน้ำทะเลมาแปรรูปเป็นน้ำดื่มเช่นกัน เป็นผลงานจากมหาวิทยาลัย MIT ใช้เซลล์สุริยะในกระบวนการกรองเอาความเค็มออก ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์น้ำเค็มได้ถึง 90% ซึ่งมากที่สุดแล้วในตอนนี้
แต่ยังมีข้อจำกัดที่เทคโนโลยีนี้มีราคาสูงอยู่มาก ถึงอย่างไรโลกก็ยังต้องการมันอยู่ดี
4. ผลไม้ขี้เหร่ กลับมาอยู่บนโต๊ะอาหาร
ให้ตายยังไงพวกเราก็ไม่อยากกินผลไม้ช้ำๆ หรอก ผลไม้ที่หน้าตาไม่ดึงดูด มีบาดแผลจากการขนส่ง หรือถูกคัดออกจากเกรดพิเศษ เป็นอาหารที่ถูกทิ้งอย่างเสียของที่สุด คิดเป็น 1 ใน 3 ของอาหารที่ไม่เคยถึงมือคุณเลย มันเน่าเสียอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่ยังมีสารอาหารครบถ้วนอยู่
หลายหน่วยงานรัฐจึงรณรงค์ให้ผู้คนหันมากินอาหารที่น่าตาขี้เหร่เหล่านี้บ่าง อย่างในฝรั่งเศสมีกฎหมายสั่งปรับซูเปอร์มาร์เก็ตที่ทิ้งผักผลไม้โดยที่ยังไม่หมดอายุอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่การสั่งปรับก็เหมือนขู่ไปวันๆ
รัฐบาลฝรั่งเศสจึงเพิ่มบทเรียนการกินอาหารที่ดูขี้เหร่นี้ในสถานศึกษาต่างๆ เป็นการรณรงค์ถึงคุณค่าของอาหารว่าตัวคุณเองควรกินเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมโดยไม่ทิ้งภาระไว้ และแน่นอนฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกๆ ที่ผลักดันให้เลิกใช้ ‘วันหมดอายุ’ (Expiration dates) เพราะมันมีแต่จะเร่งให้คุณทิ้งอาหารเร็วขึ้นก่อนกำหนด
5. พืชตัดแต่งพันธุกรรม GMO ทนร้อน ทนแล้ง
การขยายตัวของเมืองหลวงภายใต้ภาวะโลกร้อน ทำให้เราไม่มีผืนดินเพียงพอในการเพาะปลูก (ไม่งั้นก็ต้องรบกวนป่าอีก) ดังนั้นพืชยุคใหม่จึงต้องใช้เนื้อที่น้อยลง แต่ต้องมีผลผลิตที่สูง ทำให้เราน้อมรับเทคโนโลยีชีวภาพในการเพิ่มผลผลิต และเสริมภูมิต้านทานโรคและแมลงในผลผลิตทางการเกษตร
พืชส่วนใหญ่ที่เรากินถูกปรับปรุงพันธุกรรมมาแล้วทั้งสิ้น ยุคต่อไปของ GMO คือการเพิ่มความต้านทานร้อนและแล้งให้กับพืช และเพิ่มคุณค่าทางสารอาหารที่หลากหลายกว่าเดิม นักวิจัยใช้เทคโนโลยี CRISP ในการตัดต่อยีนพืชที่มีความแม่นยำสูง จนมีแนวโน้มว่าพืชที่ให้ผลผลิตน้อย อย่าง คีนัว และถั่วเมล็ดแห้ง อาจปลูกได้ในปริมาณมากๆ และมีราคาถูก
แต่ GMO ก็ไม่ใช่กระสุนเวทมนตร์ที่จะใช้ยิงอะไรก็ได้ ยังมีข้อสังเกตอยู่มากเมื่อพืชเหล่านี้อยู่ในระบบนิเวศทางธรรมชาติ ทั้งปัญหาการกัดเซาะหน้าดินหรือสารอาหารในดินถูกดูดกลืนเนื่องจากปลูกพืชจำเจ ไม่หลากหลาย
6. เนื้อเพาะจากห้องแล็บที่ทุกบ้านต้องมี
หากเรายังกินเนื้ออยู่เรื่อยๆ โดยยังไม่มีวิธีที่ดีกว่าในการประทังความอยาก โลกอาจถึงจุดจบเร็วขึ้นอีกนิด
กระแส ‘เนื้อเพาะในห้องทดลอง’ (จะเรียก Cultured Meat หรือ Lab-Grown Meat ก็แล้วแต่) ทำให้เราไม่ต้องพึ่งพาสัตว์อีกต่อไป เพียงแต่นำเซลล์มาเลี้ยงในห้องทดลอง บ้างก็ว่าทำให้สุขภาพดีกว่าและลดการปล่อยของเสียจากการทำปศุสัตว์
หลายสิบปีมานี้ นักวิจัยพยายามปรับปรุงเนื้อเพาะให้มีคุณสมบัติทางรสชาติเฉกเช่นเนื้อสัตว์จริงๆ (แต่ยังห่างไกลรสสัมผัส เพราะมันยังไม่มีชั้นไขมันแทรกอยู่) มีบริษัท Start Up จำนวนมากลงมาเล่นในตลาดนี้อย่างคึกคัก และมันอาจผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ในอีกไม่นาน แต่ก็ต้องรีบหน่อย
เพราะทุกวันนี้เราผลิตเนื้อสัตว์ในปีละ 259 ล้านตัน แต่ในปี 2050 อาจจะต้องการเนื้อเพื่อให้เพียงพอกับการบริโภคถึง 455 ล้านตัน! หากจะมาพึ่งพาปศุสัตว์อย่างเดียว เราจะเผชิญภาวะอดยากที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
เนื้อเพาะจึงเป็น ‘จอกศักดิ์สิทธิ์’ บนโต๊ะอาหาร สำหรับคนที่ยังไม่พร้อมจะข้ามไปกินแมลงหรือหันไปเป็นมังสวิรัติเต็มตัว
ยุคหน้าของอาหารจึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก ไม่เพียงแค่ว่าจะเอามาทำเมนูอะไร แต่ต้องคิดไปถึงว่า จะเอามันมาอย่างไรโดยเบียดเบียนทรัพยากรที่มีอยู่น้อยให้มีประสิทธิภาพที่สุด
ในหนึ่งจานจึงมีเรื่องราวของความพยายามต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงที่มีปากท้องของคนทั้งโลกเป็นเดิมพัน
แล้วคราวนี้ เจ๊รู้หรือยังว่าจะทานอะไร?
อ้างอิงข้อมูลจาก
UN urges global move to meat and dairy-free diet
A sustainable food system (SFS)