เหตุการณ์ความสูญเสียที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นใกล้หรือไกลตัวเรานั้นสามารถสร้างผลกระทบกับจิตใจได้เสมอ แม้แต่การรับรู้ข่าวก็สามารถกระตุ้นอาการทางใจได้เหมือนกัน อย่างเช่นภาพที่ติดตา ฝันร้าย ใจสั่น อารมณ์ซึมเศร้า อารมณ์โกรธ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า ความรู้สึกโกรธที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเด็ก เพราะเราทุกคนล้วนรู้สึกว่าเด็กเป็นกลุ่มประชากรที่เปราะบาง เป็นความรับผิดชอบของผู้ใหญ่อย่างเราที่ต้องปกป้องพวกเขาให้ดีที่สุด เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเด็กเกิดขึ้น จึงส่งผลกระทบกับเราทุกคน ไม่ว่าเราจะมีความเกี่ยวข้องกับเด็กๆ เหล่านั้นหรือไม่ก็ตาม
สิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ คือการดูแลรักษาใจตัวเองและคนรอบข้างให้กลับมาเข้มแข็งขึ้นได้อีกครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อม และช่วยกันสร้างความเคลื่อนไหวให้เหตุการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นซ้ำสองอีก
พูดคุยกับใครสักคน ระบายความรู้สึกออกมา
หลังจากเหตุการณ์น่าเศร้า การได้พูดคุยหรือแสดงความรู้สึกออกมากับใครสักคนที่เราเชื่อใจ หรือพร้อมที่จะรับฟังนั้นสามารถช่วยบรรเทาความรู้สึกด้านลบได้ Mayra Mendez นักบำบัดของศูนย์เด็กและครอบครัวในแคลิฟอร์เนียแนะนำว่า การได้พูดคุยจะทำให้เราได้ตรวจสอบว่าในใจเราตอนนี้รู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะมีวิธีรับมือกับความรู้สึกนั้นอย่างไร
ดูแลใจกันและกัน
ในช่วงเหตุการณ์ความสูญเสีย การสังเกตคนรอบข้างว่าพวกเขามีความรู้สึกอย่างไร ไหวหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเจอกับคนที่รู้สึกแย่จนต้องการความช่วยเหลือ การอยู่เคียงข้างเขา คอยถามว่าเขาต้องการให้ช่วยเหลืออะไรไหม จะทำให้พวกเขาผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ดีกว่า
โฟกัสกับกิจวัตรประจำวันให้มากขึ้น
ข่าวความสูญเสียอาจทำให้เรารู้สึกแย่จนส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน แต่ Mayra Mendez ก็ได้แนะนำว่าเราควรกลับมาจดจ่อกับสิ่งที่ต้องทำในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น จะช่วยทำให้เราไม่รู้สึกดิ่งจนเกินไป และการมีสิ่งให้โฟกัสจะดีมากกว่าการพยายามเสพข่าวที่อาจทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิม
หลีกเลี่ยงการเสพข่าวมากจนรู้สึกแย่
การตามติดเหตุการณ์นั้นสำคัญก็จริง แต่จากบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Human Behavior ในปี 2020 ชี้ให้เห็นว่าการรับสารไม่ว่าในทางใด จะเป็นการอ่านข่าวหรือการรับชมข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์กราดยิงนั้นสามารถนำไปสู่การพุ่งขึ้นของระดับความเครียดอย่างฉับพลัน และการได้รับสารซ้ำไปซ้ำมายังเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลและอาการกระทบกระเทือนจิตใจเมื่อเวลาผ่านไป ในช่วงนี้อาจตั้งลิมิตของตัวเองในการเข้าสู่โลกโซเชียล เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกที่จะเกิดขึ้น
ถ้าไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
ไม่มีวิธีที่ถูกที่สุดสำหรับการรับมือกับความสูญเสีย มีแค่วิธีที่เข้ากับเราที่สุดเท่านั้น Rebecca Brendelประธานสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกากล่าวว่า ความรู้สึกเศร้าและวิตกกังวลจะจางหายไปหลังจากสองสัปดาห์ แต่ถ้าเวลาผ่านไปแล้วยังรู้สึกวิตกกังวลอยู่ก็สามารถไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำปรึกษา และช่วยเยียวยาจิตใจให้ดีขึ้นได้
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Manita Boonyong