1.
“เครื่องบินของแพนอเมริกา ยังไม่ตอบกลับมาว่าทางโล่ง ใช่ไหมครับ”
“ออ..ใช่แล้ว”
วันที่ 27 มีนาคม 1977 ทุกอย่างเริ่มต้นที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเกาะคานารี่ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสเปน ได้วางระเบิดร้านขายของ ณ สนามบินลาส ปามาส (Las Palmas) ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 8 รายด้วยกัน หลังเกิดเหตุทางกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ขู่จะวางระเบิดลูกที่ 2 อีก ทำให้ตำรวจสั่งปิดสนามบิน เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยทั้งหมด
ผลกระทบของมัน ทำให้เครื่องบินหลายลำ ต้องเปลี่ยนเส้นจุดลงจอดเป็นระยะทาง 120 กิโลเมตร จากลาส ปามาสไปลงที่สนามบินโลส โรเดโอส (Los Rhodeos Airport) ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะเตเนริเฟ่ (Tenerife) แทน
นั่นทำให้เครื่องบินโบอิ้ง 747-100 ของสายการบินแพนแอม แห่งสหรัฐอเมริกา ไฟลท์ 1736 ซึ่งเดินทางมาจากสนามบินลอสแอนเจลิส แล้วแวะพักที่นิวยอร์ก ต้องมาลงที่เตเนริเฟ่
เครื่องลำนี้ มีกัปตันวิกเตอร์ กรับส์ (Victor Grubbs) นักบินผู้ช่วยคือ โรเบิร์ต แบร็ก (Robert Bragg)วิศวกรประจำเครื่องคือ จอร์จ วาร์นส์ (George Warns) มีลูกเรือและผู้โดยสารรวม 396 ราย
เช่นเดียวกับเครื่องบินโบอิ้ง 747-200 ไฟลท์ 4805 ซึ่งมาจากเมืองอัมสเตอร์ดัม มุ่งหน้าสนามบินลาส ปามาส ของสายการบินรอยัลดัตช์ แอร์ไลน์ (Royal Dutch Airlines) หรือเรียกย่อๆ ว่า เคแอลเอ็ม ของประเทศเนเธอร์แลนด์ พวกเขาก็มีปลายทางที่ลาส ปามาส เลยต้องหักเหเส้นทางมาที่เตเนริเฟ่
โดยเคแอลเอ็มได้ลงจอดที่สนามบินเตเนริเฟ่ ในเวลา 13.38 น. และอยู่ระหว่างการเติมน้ำมัน พวกเขามีผู้โดยสาร รวมลูกเรือ ทั้งหมด 249 คน
กัปตันเครื่องลำนี้ คือ ยาคอบ เวลด์ไฮย์เซน วาน ซานเทน (Jacob Veldhuyzen van Zanten) นักบินผู้ช่วย คือ เคลาส์ เมียร์ส (Klass Meurs) ส่วนวิศวกรประจำเครื่องคือ วิลเลม ชรูเดอร์ (Willem Schreuder)
ส่วนเครื่องแพนแอม ได้ลงจอดในเวลา 14.15 น. ตอนนั้นสนามบิน มีหมอกหนาปกคลุม จนทัศนวิสัยย่ำแย่ แทบไม่เห็นอะไรเลย แถมยังมีเครื่องจากหลากหลายสายการบิน เรียงรายกันเข้าจอด ชนิดที่ว่าหอควบคุมการจราจรทางอากาศ ทำงานกันอลหม่าน เพราะปกติเจ้าหน้าที่ในสนามบินแห่งนี้จะเจอเครื่องบินไม่มาก งานไม่หนัก
แต่เพราะการก่อการร้ายที่เกาะคานารี่ เลยทำให้เจ้าหน้าที่ต้องวุ่นอยู่กับการจัดระเบียบการจราจรบนฟากฟ้าแบบมือเป็นระวิงเลยทีเดียว
เมื่อเครื่องเคแอลเอ็มเติมน้ำมันเสร็จ เจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าสนามบินลาส ปามาส กลับมาเปิดใช้งานได้ตามปกติแล้ว นั่นทำให้เครื่องบินที่เปลี่ยนเส้นทางมาจอดที่เกาะเตเนริเฟ่ จะได้กลับไปจอดยังที่หมายเดิมอีกครั้ง
ทั้งแพนแอมและเคแอลเอ็ม จึงเตรียมตัวบินขึ้นกัน
โดยทางเครื่องแพนแอมกับเคแอลเอ็ม ได้เคลื่อนไปตามรันเวย์ เจ้าหน้าที่หอควบคุม ได้ให้สายการบินจากเนเธอร์แลนด์ขึ้นบินก่อน
พอทางเคแอลเอ็ม ได้รับแจ้งแบบนั้น กัปตันยาคอบ ซึ่งมีประสบการณ์สูง ได้ขยับคันเร่งด้วยความใจร้อน ทำให้เครื่องเริ่มเคลื่อนไปข้างหน้าเร็วขึ้น ทางเมียร์สได้แจ้งว่า หอควบคุมยังไม่ให้สัญญาณว่าไปได้
ประโยคนี้เอง ทำให้กัปตันมากประสบการณ์ หันมาพูดด้วยตวาดใส่นักบินผู้ช่วยว่า “ฉันรู้น่า ว่ายังไม่ไป แกถาม (หอควบคุม) กลับไปอีกทีสิ”
เมียร์สรีบปฏิบัติการตามคำสั่ง และเขาจะไม่ได้พูดตั้งข้อสงสัยกับยาคอบอีกต่อไป โดยนักบินผู้ช่วยได้แจ้งไปยังหอควบคุมว่า พวกเขาพร้อมบินแล้ว และกำลังรอการอนุญาตอยู่
บทสนทนาที่ถูกบันทึกไว้ พบว่าทางเจ้าหน้าที่หอได้ระบุเส้นทางที่เคแอลเอ็มต้องใช้หลังบินขึ้น โดยมีการใช้คำว่า บินขึ้น แต่ไม่ได้ใช้คำชัดเจนว่าสามารถบินขึ้นได้จริงๆ หรือไม่
เมียร์สได้ถามหอควบคุมซ้ำอีกครั้ง แต่กัปตันยาคอบ พูดออกมาว่า “เราจะไปแล้ว”
10 วินาทีต่อมา ทางหอมีคำสั่งแจ้งไปยังแพนแอม ให้หักหลบออกจากรันเวย์ไปก่อน เพื่อจะได้ให้เครื่องเคแอลเอ็มบินขึ้น
อย่างไรก็ดีตอนที่หอแจ้งไปนั้น กัปตันแพนเอม ขับเลยจากจุดทางออกที่เจ้าหน้าที่ระบุไว้ จึงต้องขับเลยไปออกอีกจุด ที่อยู่ถัดออกไป ระหว่างนั้นทางศูนย์ได้ถามย้ำกับเครื่องแพนแอมว่า “แจ้งมาด้วยนะ ถ้ารันเวย์โล่งแล้ว”
“พวกเราจะแจ้งไป เมื่อมันโล่งแล้ว”
วินาทีนั้นเอง วิลเลม วิศวกรประจำเครื่องเคแอลเอ็ม ได้ยินคำพูดนี้จากหอควบคุม จึงสบตามองไปยังกัปตันยาคอบ และเมียร์ส ตอนนี้เครื่องบินจากเนเธอร์แลนด์ กำลังเร่งความเร็วเพื่อทะยานขึ้นจากรันเวย์สู่ฟากฟ้าแล้ว
วิลเลมได้ถามย้ำกัปตันด้วยความหวาดหวั่น “เครื่องบินของแพนอเมริกา ยังไม่ตอบกลับมาว่าทางโล่ง ใช่ไหมครับ”
กัปตันยาคอบ ได้พูดประโยคสุดท้ายในชีวิตมาว่า “ออ..ใช่แล้ว”
เพียง 9 วินาทีต่อมา หายนะก็เกิดขึ้น
กัปตันวิกเตอร์ของแพนแอม รู้ได้ทันทีว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เขาจึงพูดออกมาว่า “รีบออกไปจากไอ้ที่ตรงนี้”
แต่ทุกอย่างช้าเสียไปแล้ว
2.
พลันที่เครื่องบินเคแอลเอ็ม ทะยานจากรันเวย์ กัปตันยาคอบพบว่า มันมีสิ่งกีดขวางอยู่ตรงหน้า นั่นก็คือเครื่องบินแพนแอม ที่ยังอยู่ตรงรันเวย์ ไม่กี่วินาทีต่อมา จึงเกิดการชนกันครั้งหายนะวินาศสันตะโรที่รุนแรงสุดในโลกขึ้น
ว่ากันว่าเมียร์ส ผู้ช่วยกัปตันยาคอบ สามารถแจ้งเตือนอีกรอบ ย้ำอีกทีได้ว่า รันเวย์ยังไม่โล่ง และพวกเขายังไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบิน เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมยังไม่ได้บอกให้เคแอลเอ็มไปได้
แต่เขากลับปิดปากเงียบ
และไม่มีโอกาสได้มีชีวิตอีกต่อไป
3.
การชนกันของเครื่องบิน 2 ลำนี้ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 583 ราย ถือเป็นตัวเลขการสูญเสียที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก โดยเครื่องบินเคแอลเอ็มนั้น พอชนเสร็จ ก็เสียการทรงตัว ก่อนร่วงกระแทกพื้น ระเบิดดังสนั่น ไฟลุกท่วม ทำเอาทุกคนบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด แบ่งเป็นลูกเรือ 14 ราย ผู้โดยสาร 234 คน
ส่วนเครื่องบินแพนแอม ลูกเรือตายไป 9 จาก 16 คน ผู้โดยสารจาก 380 คน รอดชีวิตมาได้เพียง 54 รายเท่านั้น
จากบันทึกของศูนย์ควบคุมพบว่า ก่อนจะชนกัน ทางกัปตันวิกเตอร์ของแพนแอม ได้ตะโกนออกมาว่า “มันมาแล้ว ชิบหาย มันมาแล้ว” โดยเขาพยายามหักเครื่องไปทางซ้าย เพื่อออกไปจากรันเวย์
“รีบเบี่ยงออก รีบออกไปเลย รีบเลย” ผู้ช่วยบ็อบตะโกนเร้า
ด้านกัปตันยาคอบแห่งเคแอลเอ็ม ก็ได้เห็นเครื่องแพนแอมจอดขวาง จึงพยายามเบรกเครื่องบินของตัวเอง ซึ่งเขาเกือบทำสำเร็จ แต่เพราะระยะที่กระชั้นชิดมาก และความเร็วที่ส่งมา ทำให้เครื่องยนต์ช่วงล่างของเคแอลเอ็ม ชนเข้ากับส่วนบนของแพนแอม จนนำไปสู่โศกนาฏกรรม
เมื่อเจ้าหน้าที่สนามบินเห็นซากของเครื่องเคแอลเอ็มที่ระเบิดเละเป็นจุณอยู่ตรงหน้า พวกเขาก็ระดมทีมช่วยเหลือ เข้าไปในจุดเกิดเหตุทันที
บ็อบ นักบินผู้ช่วยแพนแอมเล่าว่า พอชนเสร็จ เครื่องก็ไถลพังกระจุยไปตามสนามหญ้า มีผู้โดยสารจำนวนหนึ่งบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่มีอีกส่วนที่ยังรอด เขาพบว่าตัวเองไม่ได้บาดเจ็บอะไรแม้แต่นิด ราวกับปาฏิหาริย์ แต่นั่นเป็นเพราะจุดที่ชนอยู่ตรงกลางลำ ทำให้กัปตัน ผู้ช่วยและวิศวกร และผู้โดยสารชั้น 1 ซึ่งนั่งอยู่แถวหน้า พากันรอดตายได้อย่างเหลือเชื่อ
ส่วนผู้โดยสารที่นั่งกลางลำ และส่วนท้าย ต่างเสียชีวิตกันเกือบทั้งหมด
หลังตั้งสติกันได้ ทางกัปตันวิกเตอร์ ก็ได้กระตุ้นให้ทุกคน รีบหนีไปโดยเร็ว เพราะเครื่องมีโอกาสจะระเบิดสูง โดยทุกคนได้เร่งปีนออกไปตรงบริเวณปีก แล้วกระโดดสู่พื้นเบื้องล่าง ซึ่งมีความสูงราวๆ ตึก 3 ชั้น
ผู้โดยสารหญิงรายหนึ่งเล่าว่า ตอนนั้น เธอนั่งคิดว่า เราคงตายแน่แล้ว เพราะมันมีระเบิดดังขึ้นแล้วเปลวไฟก็พุ่งออกมา ทุกอย่างใกล้เข้ามามาก ในใจก็คิดว่า ฉันไม่อยากโดนเผาทั้งเป็น อยู่ดีๆ ก็มีหมอจากชิคาโก มาเร่ง บอกว่า “โดดลงไป ผมจะประคองคุณเอง
เธอมองไปรอบๆ ก็เห็นเปลวเพลิงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จึงเริ่มโดดลงจากเครื่อง แล้วออกวิ่งแบบไม่คิดชีวิต
“ไม่ถึง 15 วินาที เครื่องบินได้ระเบิดเหมือนโดนปรมาณูลง จากนั้นดวงไฟมหึมาสีแดง ก็ลอยพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า”
4.
หลังเกิดเหตุสลด เจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือพาผู้รอดชีวิตส่งโรงพยาบาล สื่อแห่ทำข่าว ทั้งโลกตกตะลึงอย่างมาก นั่นทำให้ตำรวจสเปนและผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ถูกสั่งให้เข้ามาสืบสวน เพื่อหาว่าอะไรคือสาเหตุของโศกนาฎกรรมครั้งมหาวินาศขึ้น พวกเขาคุยกับผู้รอดชีวิต และตรวจเอกสารจากหอควบคุมที่บันทึกไว้
กินเวลาไม่นาน ก็พบต้นเหตุแห่งหายนะครั้งนี้ แม้มันจะมีหลายส่วนด้วยกัน แต่คนที่ผิดเต็มๆ งานนี้ก็คือ กัปตันยาคอบของสายการบินเคแอลเอ็มนั่นเอง
โดยบุรุษคนนี้ คือคนที่นำเครื่องขึ้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหอควบคุม ซึ่งทำเอาเจ้าหน้าที่งงมาก เพราะยาคอปเป็นนักบินอาวุโสบินมาหลายชั่วโมง ทำงานมาหลายปี ทำไมถึงตัดสินใจผิดพลาดแบบนี้ มันจึงนำไปสู่การสืบสวนที่ลงลึกขึ้น จนพบว่า
ยาคอบก็แค่ตัดสินใจพลาด และฟังคำสนทนาของหอผิดนั่นเอง คิดไปว่ารันเวย์โล่งแล้ว จึงนำเครื่องขึ้น จนเกิดเหตุสลดนี้
อย่างไรก็ดี บนเครื่องเคแอลเอ็มลำนั้น ยังมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับยาคอบว่าควรนำเครื่องขึ้น เพราะทางเมียร์สและวิลเลม ได้พยายามแจ้งเตือนกัปตันแล้วว่า เครื่องแพนแอม ยังไม่ออกไปจากรันเวย์ แต่มันเป็นการแจ้งเตือนที่น้อยเกินไป
ดูเหมือนทั้งเมียร์สและวิลเลม เลือกที่จะปิดปากเงียบมากกว่าท้วงติง หรือถามย้ำซ้ำๆ แก่กัปตัน เพื่อเตือนว่าพวกเขายังบินขึ้นไม่ได้
ทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามว่า ทำไมทั้งคู่จึงไม่โต้แย้งยาคอบ จนนำไปสู่การเสียชีวิตแบบยกลำ
เมื่อทางการค้นประวัติเคแอลเอ็มโดยละเอียด พวกเขาก็พบว่า ตัวยาคอ เป็นนักบินมากประสบการณ์ เป็นหน้าเป็นตาของสายการบิน โดยเขายังเป็นครูฝึกนักบินเครื่องโบอิ้ง 747 และยังเป็นหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยด้านการบิน โดยมีฉายาว่ามิสเตอร์เคแอลเอ็ม ได้ถ่ายโฆษณาให้กับเคแอลเอ็ม เผยแพร่ไปทั่วโลก โดยมีรูปเขานั่งยิ้มอยู่หน้าแผงควบคุม ใส่เสื้อเชิร์ตสีขาว มากด้วยความมั่นใจ
ด้วยบารมีชื่อเสียงขนาดนี้ ทำให้นักบินและวิศวกรบนเครื่องไม่กล้าเถียง เพราะคิดว่าเขาเก่ง นอกจากนี้กัปตันยาคอบยังมีอำนาจออกใบอนุญาตนักบินและกำกับดูแลการตรวจสอบเที่ยวบินในช่วง 6 เดือนของพนักงานในเคแอลเอ็มว่า จะได้ต่อใบอนุญาตหรือไม่ด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ เขาให้คุณให้โทษแก่นักบินคนอื่นของสายการบินได้ จึงทำให้ลูกน้องไม่กล้าหือลูกพี่ แม้ทางเมียร์สและวิลเลม จะมีฝีมือในการบินมากแค่ไหนก็ตาม
แต่พวกเขาเลือกไม่เถียงยาคอบ จนนำไปสู่เรื่องสลดดังกล่าว
สิ่งนี้ได้สะท้อนว่าเคแอลเอ็ม เป็นองค์กรที่มีสายการบังคับบัญชาเข้มข้น ทำให้พนักงานอายุน้อยๆ กลัวที่จะท้าทายหรือเถียงหัวหน้า พวกเขาเลือกจะอยู่เฉยๆ ดีกว่าทำอะไรลงไป แล้วพลาดขึ้นมา ก็จะถูกลงโทษ ถูกจ้องจับผิด จึงอยู่กันแบบไม่สร้างผลเสีย ไม่มีผลงาน จะปลอดภัยกว่า ซึ่งเป็นองค์กรที่เจือด้วยความกลัวระหว่างพนักงานกันเองอย่างมาก
นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมนักบินชั้นผู้น้อยจึงสยบยอมเจียมตนแก่ผู้อาวุโส แม้จะไม่เห็นด้วยกับการทำงานของหัวหน้า แต่ก็เลือกปิดปากไว้ จะปลอดภัยกว่าพูดออกไปแล้ว ไม่ใช่ แล้วเราจะซวยแทน
นอกจากความผิดของกัปตันยาคอบและวัฒนธรรมองค์กรเคแอลเอ็มแล้ว ทางการยังพบว่าบทสนทนาระหว่างหอควบคุมกับสายการบินทั้ง 2 แห่งนี้ ต่างมีความกำกวมอย่างมาก มันฟังแล้ว สามารถตีความได้หลายทาง เช่นตอนที่เมียร์ส นักบินผู้ช่วยของเคแอลเอ็มพูดว่า “พวกเราพร้อมจะบินขึ้นแล้ว” ทางหอได้แจ้งว่า “โอเค” ซึ่งคำนี้ มันตีความได้หลายทางว่า เป็นการรับรู้ว่าจะบิน หรือเป็นการอนุญาตให้บินได้
เมื่อร่วมเข้ากับความมั่นใจแบบอหังการของกัปตันยาคอบ ที่ตีความพลาด แล้วไม่มีใครกล้าท้วงติง มันจึงนำไปสู่ความตายของ 583 ชีวิต
รวมถึงตัวเขาด้วย มิสเตอร์เคแอลเอ็ม
5.
หลังเกิดเหตุหายนะนี้ วงการสายการบินมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เริ่มที่พวกเขากำหนดภาษาสากลในการสื่อสาร เพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนอีก
ในเวลาต่อมา การฝึกในห้องนักบิน ได้เปลี่ยนไปเน้นเรื่องการตัดสินใจของลูกเรือมากขึ้น ส่งเสริมให้นักบินยืนยันความเห็นของตัวเอง เมื่อเห็นว่ามีอะไรบางอย่างผิดปกติ และย้ำให้กัปตันต้องฟังข้อกังวลจากนักบินและลูกเรือด้วย ไม่ใช่ยึดแต่ความคิดตัวเองเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งปัจจุบัน มันกลายเป็นหลักสูตรที่สายการบินใช้กันทั่วโลก
เหตุการณ์นี้ทางหนังสือเรื่ององค์กรไม่กลัว (The Fearless Organization) ของเอมี ซี.เอ็ดมันซัน (แปลไทย โดยสำนักพิมพ์ BookScape โดยทิพย์นภา หวนสุริยา) ได้ยกเป็นกรณีศึกษา ถึงรูปแบบองค์กรที่ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่กล้าลุกตั้งคำถามต่อหัวหน้า ทั้งที่รู้ว่าอีกฝ่ายกำลังทำผิด แต่พวกเขากลับเลือกปิดปากเงียบ เก็บข้อสงสัย จนนำมาสู่การสูญเสียแบบนี้
นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า หากอีกฝ่ายกำลังทำพลาดทำผิดครั้งมหันต์ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งสูงแค่ไหน หรือเราจะต่ำเตี้ยเพียงใด ก็จำเป็นต้องพูดออกมา เพราะหากเลือกที่จะนิ่งเฉย หายนะอาจจะเกิดขึ้น และนำมาซึ่งความรุนแรงขั้นพินาศได้
สำหรับเหตุการณ์ที่เตเนริเฟ่นี้ ถือเป็นโศกนาฎกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากสุดของอุบัติเหตุเครื่องบิน มันนำไปสู่ความสูญเสียบอบช้ำมากมาย ผู้รอดชีวิตหลายคนเผยว่า พวกเขายังฝันร้าย และหวาดผวาทุกครั้งที่ขึ้นบิน ยิ่งใกล้ถึงวันครบรอบเมื่อใด ก็ยังเศร้าโศกขมขื่นใจอย่างยิ่ง
เหล่านักบินของแพนแอม ยังกลับมาบินต่อ หลังพักรักษาตัวไปหลายเดือน โดยพวกเขายังจดจำความสยดสยองของเรื่องนี้ไปชั่วชีวิต และหากถามว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับหายนะครั้งนี้ เราก็คงต้องยกคำพูดของผู้โดยสารหญิงคนหนึ่งที่เปรยความในใจอย่างเจ็บปวด แต่ก็แทนความรู้สึกของทุกคนที่ไม่ตายในวันนั้นมาได้ว่า
“ฉันไม่เคยออกมาเล่าเรื่องนี้กว่า 40 ปี พอถึงวันที่ครบรอบเหตุการณ์นี้ ฉันก็คิดเพียงว่า
ตัวเองโชคดีแค่ไหน ที่รอดมาได้”
อ้างอิงจาก
หนังสือเรื่อง องค์กรไม่กลัว (The Fearless Organization) ของเอมี ซี.เอ็ดมันซัน แปลไทย โดยทิพย์นภา หวนสุริยา สำนักพิมพ์ BookScape หน้า 128-130
https://www.cbsnews.com/news/tenerife-remembering-the-worlds-deadliest-aviation-disaster/
https://www.pbs.org/wgbh/nova/planecrash/minutes.html
https://www.aerotime.aero/articles/30595-on-this-day-tenerife-aviation-s-deadliest-disaster
https://www.telegraph.co.uk/travel/comment/tenerife-airport-disaster/