“ความรักเป็นเรื่องของคนสองคน”
คำกล่าวนี้อาจจะเป็นจริงในช่วงแรกของความสัมพันธ์ที่ความรักกำลังแบ่งบาน โลกทั้งใบเป็นโลกสีชมพูมีเพียงแต่เราสอง แต่ในความเป็นจริง เมื่อความสัมพันธ์พัฒนากันนานเข้า โลกทั้งใบอาจขยายจากเรา 2 คน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงปัจจัยรายล้อมคนทั้งคู่ จนกลายเป็นว่าการยืนยันสถานะว่าเราคบกัน กำลังดูใจกัน เป็นเรื่องจำเป็นที่ต่างฝ่ายต่างเต็มใจทำ
ตั้งแต่การตั้งสเตตัสว่าคบหากัน แท็กกันในโซเชียลมีเดีย เปิดตัวให้เพื่อนฝูงได้รู้จัก ไปจนถึงออกงานสังคมร่วมกัน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นอีกขั้นหนึ่งที่ทำให้ผู้คนรับรู้ว่า เราจริงจังกับความสัมพันธ์นี้กันอยู่นะ แต่ก็ยังคงเป็นก้าวเล็กๆ ที่ยังคงมั่นใจ แต่หากขยับขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งจากคนรอบตัว เมื่อต้องไปเจอครอบครัวของแต่ละฝ่าย ความกังวลก็เกิดขึ้นแทบจะทันที
ครอบครัวเขาจะยอมรับเราได้ไหม ถ้ายอมรับไม่ได้จะทำอย่างไร? แล้วถ้าพ่อแม่เราไม่ยอมรับเขาล่ะ? คำถามในใจเกิดขึ้นมากมายจนเริ่มกลายเป็นกำแพงที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แม้เวลาผ่านไปเนิ่นนานเป็นหน่วยปี กำแพงนี้ก็ยังคงสูงใหญ่จนต่างฝ่ายต่างไม่กล้าก้าวข้าม
วัฒนธรรมครอบครัวขยาย กับการยอมรับคนรักของลูก
แม้อาจเป็นสัญญาณของความจริงจังและมั่นใจในกันและกัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะไม่กล้าเข้าหาครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะกรณีคู่ขัดแย้งหลังแต่งงานแนวๆ ‘แม่ผัว-ลูกสะใภ้’ หรือ ‘พ่อตา-ลูกเขย’ ก็มีให้เห็นทั่วไปทั้งในข่าวชาวบ้านรายวัน หรือในละครหลังข่าว แถมยังถูกผลิตซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าไม่รู้จบ เพราะนี่อาจเป็นปัญหาที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
มีงานวิจัยเรื่องปัญหาความสัมพันธ์แม่สามี-ลูกสะใภ้ในสังคมไทยตามการรับรู้ของลูกสะใภ้ โดยหญิง บัณฑิตตระกูล สำรวจความคิดเห็นของลูกสะใภ้ต่อปัญหาแนว ‘แม่ผัว-ลูกสะใภ้’ ไว้ว่า สาเหตุของปัญหามาจากการที่ลูกสะใภ้และแม่สามีต้องอยู่ร่วมบ้านกัน มีการก้าวก่ายชีวิตครอบครัวกัน และเพราะความแตกต่างของพื้นเพครอบครัว ซึ่งฝั่งลูกสะใภ้เองมองปัญหาว่าเกิดจากการที่สามีไม่ชอบให้มีปัญหากับแม่ของตน ทั้งมองว่าเป็นปัญหาทั่วไป และมีในทุกครอบครัว
เราอาจจะอธิบายการมองปัญหาเขย-สะใภ้กับพ่อแม่ได้ว่า เพราะความผูกพันในครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของทุนทางสังคม ที่มีผลต่อการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ หากนึกภาพง่ายๆ ว่าบ้านของเราสนับสนุนทุกการตัดสินใจ ก็จะทำให้เรามั่นใจกับสิ่งที่ต้องการมากขึ้น ทั้งนี้ครอบครัวยังมีความเชื่อมโยงต่อการตัดสินใจเรื่องสำคัญของชีวิตที่แม้จะเป็นการตัดสินใจส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเรียนมหาวิทยาลัย การทำงาน หรือกระทั่งชีวิตคู่ ที่การเปิดตัวกับครอบครัวถือเป็นก้าวสำคัญเพื่อบ่งบอกความมั่นใจระหว่างกัน การบอกกล่าวและขอความเห็นชอบจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ก้าวแต่ละก้าวในชีวิตมั่นคงขึ้น ในทางกลับกันหากขาดแรงสนับสนุนจากครอบครัวแล้ว ก็อาจทำให้ความมั่นใจในการตัดสินใจของเราลดลงไปได้เช่นกัน จึงไม่แปลกถ้าเราจะไม่อยากให้คนรักมีปัญหากับคนในครอบครัวของเรา
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องทั่วไป แต่ในเชิงวัฒนธรรม ปัญหาระหว่างพ่อแม่กับคู่รักเชื่อมโยงกับสังคมแบบ ‘ครอบครัวขยาย’ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรมเอเชีย เมื่อแต่งงานแล้วใครคนหนึ่งต้องย้ายเข้าไปอยู่ร่วมกับครอบครัวของอีกฝ่ายในฐานะสมาชิกใหม่ของบ้าน หากลองจินตนาการว่ามีคนแปลกหน้ามาอยู่ร่วมชายคากับคนในครอบครัว ความไม่คุ้นชินที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป อาจทำให้คนในครอบครัวตั้งแง่ รวมถึงไม่ไว้ใจผู้มาใหม่ ยิ่งหากสมาชิกคนนี้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับ ‘ลูก’ ที่เป็นที่รักของพ่อแม่ด้วยแล้ว ก็อาจทำให้พ่อแม่ไม่พอใจและคิดไปว่ากำลังจะถูกแย่งความรัก
ดังนั้น การคบหาดูใจระหว่างคน 2 คน ก็น่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานความเห็นชอบของทั้ง 2 บ้าน เพื่อให้การใช้ชีวิตคู่ร่วมกันเป็นไปได้อย่างเป็นปกติสุข เพราะถ้าเราเจอพื้นฐานครอบครัวคล้ายกัน อุปนิสัยเข้ากันได้เป็นอย่างดี นี่ก็คงจะเป็นแต้มต่อให้ความสัมพันธ์เดินไปได้อย่างสะดวกราบรื่น
ทว่าในความเป็นจริง ตัวเราเองคือคนในความสัมพันธ์ เมื่อลองศึกษาดูใจก็พบว่าเรากับเขาก็เข้ากันได้ดี ไม่มีธงแดงอะไรให้ต้องหวาดหวั่น ตัดสินใจคบหากันได้สักพักก็ยิ่งรู้ชัดว่าจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้ หรือบางคู่อาจจะเริ่มวางแผนร่วมกันเพื่อให้ชีวิตคู่ลึกซึ้งขึ้น แต่พอเดินเข้าประตูบ้านไปเจอครอบครัวใครอีกฝ่าย ดันกลายเป็นว่าเจอแรงต้าน ทั้งการเคลือบแคลงสงสัย การตั้งแง่ ไปจนถึงดูถูกคุณสมบัติ และกีดกันไม่ให้พบกัน หรือนี่คือสัญญาณของ ‘Romeo and Juliet Effect’ ที่เรากำลังต้องเผชิญ?
ยิ่งเป็นรักที่ครอบครัวห้าม ยิ่งก้าวข้ามไม่ได้?
หลายคนอาจรู้จัก โรมีโอกับจูเลียต (Romeo and Juliet) โศกนาฏกรรมคลาสสิกของเชคสเปียร์เป็นอย่างดี เรื่องของหนุ่มสาวที่รักกันท่ามกลางความขัดแย้งของครอบครัว และจุดจบของทั้งคู่ยังคงตราตรึงใจคนทั้งโลก แถมคนจำนวนมากยังคิดต่อไปด้วยว่า ถ้าทั้ง 2 คนยังมีชีวิตต่อและฝ่าฟันอุปสรรค ก็อาจได้ครองรักกันอย่างมีความสุขก็ได้
ทว่าในปี 1972 โรเบิร์ต ดริสคอลล์ (Robert Driscoll) และคณะได้ลองตั้งสมมติฐานว่า ถ้าโรมีโอกับจูเลียตยังมีชีวิตอยู่ต่อไปท่ามกลางความขัดแย้งของครอบครัว ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 คนอาจไปสู่การเลิกรากันในที่สุด ‘Romeo and Juliet Effect’ จึงถูกนำมาใช้อธิบายความสัมพันธ์ของคู่รักที่กำลังเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านจากครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพ่อแม่ บนสมมติฐานที่ว่าแรงกดดันจากครอบครัวมีผลกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก
แนวคิดดังกล่าวได้รับการยืนยันผ่านงานวิจัยชื่อ Revisiting the Romeo and Juliet Effect โดยเอช. คอลลีน ซินแคลร์ (H. Colleen Sinclair) และคณะ ที่ศึกษาผลกระทบของแรงต่อต้านจากครอบครัวและเพื่อนฝูงต่อความสัมพันธ์แบบโรแมนติก ซึ่งพบว่าแรงต่อต้านเหล่านั้นสามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นต่อระดับความรัก ความผูกมัด ความเชื่อใจ และความสงบสุขในชีวิตคู่ที่ลดลง และถึงแม้ว่าคู่รักจะพยายามเมินเฉยต่อแรงต้านนี้เท่าใด สุดท้ายความสัมพันธ์ก็จะไปถึงทางตันอยู่ดี
แม้ผลการวิจัยจะออกมาในเชิงลบเช่นนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไม่มีใครอยากเลิกรากับคนรัก ยิ่งถ้ามั่นใจในกันและกันด้วยแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะก้าวข้ามกำแพงแห่งความไม่มั่นใจและแรงกดดันนี้อย่างไรดี?
- เชื่อมั่นในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ธรรมดาคนเรามักเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เราคิดว่าจะใช้ชีวิตร่วมกันไปยาวๆ การเชื่อมั่นในกันและกันจึงเป็นสิ่งแรกที่จะทำให้คนรอบข้างหรือครอบครัว เห็นว่าความสัมพันธ์ครั้งนี้จะเป็นความสบายใจและความสุขของเรา
- เตรียมใจทั้งสองฝ่ายให้พร้อม แม้เราจะรู้จักคนรักของเราเป็นอย่างดี แต่ครอบครัวคงไม่ได้รู้จักในระดับเดียวกับเราเสียหน่อย ลองคิดดูว่าถ้าคน 2 คนไม่เคยเจอหน้ากัน แล้วมาพูดคุยกันเลยจะเป็นยังไง? การแนะนำคนรักให้ครอบครัวรู้จักเบื้องต้นเพื่อบอกเป็นนัยๆ ให้เตรียมตัวเตรียมใจ อาจช่วยทำให้สถานการณ์เบาบางลง บอกเล่าเรื่องดีๆ ของเขา ขณะเดียวกันการเล่าเรื่องของครอบครัวเราให้คนรักฟัง ก็อาจช่วยลดความกดดันของเขาลงได้ด้วย หรืออาจจะลองหาสิ่งที่เชื่อมโยงทั้ง 2 ฝ่ายเข้าด้วยกัน เช่น รถยนต์ซึ่งเป็นที่ชื่อชอบของพ่อและคนรักของเรา เพื่อสร้างบทสนทนาได้ง่ายขึ้นเมื่อพบกัน
- ทำให้ครอบครัวเห็นว่านี่คือ ‘รักที่ทำให้มีความสุข’ ที่ผ่านมาพ่อแม่ย่อมสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกของตนเสมอ เมื่อมีใครสักคนเข้ามาดูแล นอกจากการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันแล้ว สิ่งสำคัญที่คนในครอบครัวอยากรับรู้คือคนรักของลูกเป็นคนยังไง เมื่อมั่นใจว่าทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมเจอหน้ากันแล้ว ความจริงใจทั้งจากคำพูดและการกระทำจึงอาจเป็นการเข้าหาครอบครัวอีกฝ่ายที่ดีที่สุด
- หากเกิดแรงต่อต้าน โปรดลดความคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นคนรักพาเราไปเจอครอบครัว หรือเราพาเขามาเจอครอบครัวของเราก็ตาม หากเกิดแรงต่อต้านจากครอบครัวฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สิ่งที่เราพอจะทำได้เป็นอย่างแรกคือ ลดความคาดหวังของตัวเราลง เพราะบางครั้งเราอาจคาดหวังว่าครอบครัวจะสนับสนุนความรักของเรา แต่ความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้นอาจมาในรูปแบบของความไม่รู้จักกันมากพอ หรือแม้กระทั่งการมองเห็นข้อเสียในส่วนที่เราอาจมองไม่เห็น ซึ่งแม้ฟังดูจะเป็นเรื่องยาก แต่เพราะความคาดหวังที่ไม่เท่ากันนี้เอง อาจนำไปสู่ปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับครอบครัวได้เช่นกัน
- รับฟังข้อแนะนำ และเลี่ยงการเผชิญหน้า ท่ามกลางความคาดหวังที่สวนทางกันระหว่างครอบครัวกับตัวเรา สิ่งที่ครอบครัวยังมีไม่เสื่อมคลายคือ ‘ความปรารถนาดี’ การเปิดใจรับฟังคำแนะนำจากครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน แต่ในกรณีที่ความขัดแย้งระหว่างครอบครัวกับคนรักของเราเกิดจาก ‘อคติ’ การเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างกันไปก่อน และปล่อยให้เวลาเข้ามามีบทบาทเป็นตัวช่วยลดอคติลงคงจะดีกว่า เพราะบางทียิ่งตื๊อไปสถานการณ์อาจยิ่งแย่ลง
- ตระหนักรู้ว่าเราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้อง ‘เลือกข้าง’ แน่นอนว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างครอบครัวกับคนรักของเรา อาจบีบคั้นรุนแรงจนทำให้ต้องตัดสินใจเลือกข้าง แต่ก็อย่าลืมระลึกไว้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็เป็นคนที่เรารักทั้งคู่ เราไม่จำเป็นต้องเลือกข้างเพียงเพราะความขัดแย้งนี้ ขณะเดียวกันการสร้างขอบเขตที่ชัดเจนก่อนกลับมาปรับความเข้าใจด้วยบทสนทนาที่ ‘เปิดใจ’ ทั้ง 2 ฝ่าย อาจช่วยกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้นได้
ท้ายที่สุดแม้ความรักจะไม่ใช่เรื่องของคน 2 คนอีกแล้ว เพราะครอบครัวและปัจจัยต่างๆ รายล้อมคนทั้งคู่ล้วนมีผลต่อความสัมพันธ์ในระยะยาว แต่การจับมือกันเพื่อเผชิญหน้าแก้ปัญหายังเป็นเรื่องของคน 2 คนในความสัมพันธ์ ที่อาจจะต้องปรับตัว ประนีประนอม และพร้อมทำให้เห็นว่าความรักครั้งนี้ก่อให้เกิดความสุขในชีวิต
สำหรับคู่รักคู่ใดที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ เราขอเป็นกำลังใจให้คุณทั้งคู่จับมือกันก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้อย่างดี ไม่ว่าปลายทางของความสัมพันธ์จะเป็นเช่นไรก็ตาม
อย่างน้อยที่สุดในวันนี้คุณทั้งคู่ก็ยังคงมีกันและกัน และเป็นพลังใจของกันและกัน
อ้างอิงจาก