“อยากมีแฟนอะ”
“โอ๊ย ตอบแชตคนที่มาจีบก่อนเหอะ”
หลายครั้งที่เราห้ามใจไม่ได้ถึงกับต้องเอ่ยปากบ่นกับเพื่อนว่า อยากมีใครสักคนมาอยู่ข้างกายบ้างจัง เพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่คนเขาเดินเคียงข้างกันเป็นคู่ จนเพื่อนก็แสนจะเบื่อหน่าย เอือมแล้วเอือมอีกว่า พอมีคนมาจีบแกนั่นแหละที่ไม่สนใจ ทิ้งข้อความให้มันขึ้นเป็นตัวแดงคาเอาไว้ ช่างเกะกะลูกตาเหลือเกิน
นี่คงเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับใครหลายคนเหมือนที่ แสตมป์ อภิวัชร์ บอกไว้ในเพลงให้ตายสิพับผ่า ว่า “ฉันชอบใครเขาก็ไม่ชอบฉัน พอเขามาชอบเรา เราก็ไม่ชอบเขาเหมือนกัน…” แต่สำหรับบางคนแล้ว ต่อให้เราจะชอบอีกฝ่ายมากขนาดไหน แต่ถ้าต้องพูดคุย หรือสนทนาผ่านตัวกลางอย่างโซเชียล ก็พร้อมจะโบกมือลากลายเป็นคนอกหักและอยู่แบบคนโสดๆ ทันทีซะงั้น
เฮ้อ…พับผ่าสิปั๊ดติ๊โถ่ ทำไมมันเป็นอย่างนี้ได้นะ ในโลกที่ใครๆ ก็โคจรมาพบรักกันผ่านโซเชียลมีเดีย แต่ทำไมเราบางคนกลับยอมเหงา และนอนดูคนอื่นเขารักกันดีกว่า ถ้าจะต้องเปิดเปลือยตัวตนและความรู้สึกด้วยการจรดนิ้วลงบนแป้นพิมพ์?
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทกับเราจนแทบจะหลอมรวมชีวิต และกลายเป็นสิ่งที่ขาดหายไปไม่ได้เสียแล้ว เช่นกันกับเครื่องมือสื่อสารอย่าง ‘โทรศัพท์’ ที่ก็แทบจะเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายไปแล้ว เราติดต่อสื่อสารกันตั้งแต่ชีวิตส่วนตัว การพูดคุยระหว่างคน 2 คนถึงคนหลายร้อยคน การทำงานระดับองค์กร หรือกระทั่งมิตรภาพและ ‘ความรัก’ เองก็สามารถเกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์มในโลกออนไลน์ได้เช่นกัน
นอกจากชีวิตในโลกจริง ผู้คนยังสามารถค้นหากันเจอผ่านโซเชียลมีเดีย ในยุคหลังมานี้จึงเกิดแอปพลิเคชั่นเดต พื้นที่สำหรับการหาคู่ และเอื้อต่อการพบรักทางออนไลน์มากมายขึ้น อย่างเช่นที่ใครก็น่าจะรู้จักจากการปัดซ้าย-ปัดขวาของแอปฯ หาคู่ออนไลน์ดังเช่น Tinder หรือกระทั่งแอปฯ ที่มีไว้เพื่อคอมมูแซฟฟิกอย่าง HER ซึ่งก็มีข้อมูลผลสำรวจจาก Tinder ในปี 2023 พบว่าพฤติกรรมของผู้ใช้แอปฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน คือคนส่วนใหญ่มักจะมองหาความสัมพันธ์ระยะยาว (long-term relationships) มากกว่าการคบหาแบบสบายๆ (casual hookups) ซึ่งจากผลสำรวจนี้ยังพบอีกว่า คนใช้แอปฯ จำนวนมากก็ประสบความสำเร็จต่อการหาความสัมพันธ์ระยะยาวเช่นกัน
สถิติข้างต้นจึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่า แม้พื้นที่ในโลกออนไลน์เป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งเอื้อให้เรามีความสัมพันธ์ได้ไม่มากก็น้อย แต่สำหรับคนโสดบางคนที่ถึงจะรู้สึกเหงาอยากมีแฟน หรือมีความสัมพันธ์เหมือนคนรอบข้าง พื้นที่นี้ก็ยังไม่ใช่คำตอบที่ใจถามหาอยู่ดี เพราะการต้องคุยกันตอบผ่านแป้นพิมพ์ยังไม่ใช่ทางเลือกที่ใช่
แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้บางคนเผชิญกับปัญหาเรื่องอยากมีแฟน แต่ก็ไม่อยากและไม่ชอบตอบแชตกันนะ?
เมื่อหน้าจอไม่บอกอารมณ์คู่สนทนา
อ่านนิยายที่ตัวเอกเขาจีบกันก็เขินจนจิกหมอน พอบทพระนางต้องเลิกกันก็น้ำตาหยดเป็นแหมะ หรือจะโมโหจนควันแทบออกหูแกมสมน้ำหน้าพระเอกหมาโบ้ที่ต้องมาขอคืนดีหลังทำผิด เมื่อตัวอักษรในหน้าหนังสือสร้างความคิด อารมณ์ และความรู้สึกให้เราได้ฉันใด ตัวอักษรในโลกออนไลน์ก็ทำได้ฉันนั้น นั่นจึงไม่แปลกเลยที่คนบางคนจะตกหลุมรักกันได้ผ่านตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัว และคนบางคนก็อาจจะวิตกกังวลเพราะตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัวได้เช่นกัน
ความวิตกกังวลเหล่านี้จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ใครหลายคนเกรงกลัวที่จะแชต เพราะไม่มีอะไรมาการันตีได้อย่างชัดเจนว่า อารมณ์หรือความรู้สึกของใครคนนั้นที่เรารับรู้จากตัวอักษร คือความรู้สึกที่แท้จริงของอีกฝ่าย เราไม่สามารถมองเห็นความเสียใจที่สะท้อนผ่านดวงตา ไม่สามารถรับรู้ถึงความดีใจในน้ำเสียง หรือกระทั่งไม่สามารถมองเห็นความเหนื่อยล้าจากวันยากๆ ของใครคนนั้นได้นั่นเอง
ทั้งนี้การคาดเดาอารมณ์ไม่ได้ ยังอาจส่งผลไปถึงความหวาดระแวงจากการตีความผ่านตัวอักษรด้วย เพราะคำคำเดียวมนุษย์เราสามารถตีความไปได้ร้อยแปด จนกลายเป็นความเหนื่อยทั้งต่อผู้ส่งสาร ที่ต้องนั่งคิดคำนึงว่าควรใช้คำนี้ดีไหม หรือคำนั้นจะทำให้รูปประโยคซอฟต์ลงกว่าคำนี้ และเหนื่อยต่อผู้รับสารว่าข้อความที่อีกฝ่ายส่งมา คือเจตนาที่ดีหรือกำลังจะตำหนิติเตียนอะไรเรากันแน่
เพราะแปลกหน้าจึงอึดอัด
ต่อจากการไม่สามารถรับรู้หรือคาดเดาใจของคนหลังแป้นพิมพ์ได้นั้น อาจเป็นเพราะเรายังไม่สนิทสนม หรือรู้จักกันมากพอจนรู้ธรรมชาติของใครอีกคนไหมนะ?
มีผลศึกษาจำนวนมากพบว่า เมื่อเราอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้า ฮอร์โมนที่ชื่อว่าคอร์ติซอล (cortisol) จะเพิ่มขึ้น และทำให้เราเกิดการตอบสนองต่อความเครียด ทั้งนี้ยังอาจผนวกกับสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ของเราที่ติดตัวมา เรามักกลัวอะไรที่คาดเดาไม่ได้ นั่นจึงทำให้เรามีปฏิกิริยาตอบสนองผ่านความกังวล ความเครียด หรือกระทั่งการแสดงออกทางกายอื่นๆ เพื่อปกป้องตัวเอง
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ในชีวิตจริงที่เราจะทำตัวไม่ถูกเมื่อต้องมีบทสนทนากับคนแปลกหน้า หรือคนที่เพิ่งรู้จักกันไม่นาน สำหรับการพูดคุยในโลกออนไลน์ก็เช่นกัน เพราะระหว่างสนทนา เราเห็นหน้าค่าตาอีกฝ่ายผ่านเพียงรูปโปรไฟล์ หรือรูปที่อีกฝ่ายโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย มากกว่านั้นอาจเป็นรูปน้องหมาน้องแมวเสียด้วยซ้ำ
ทั้งหมดนี้จึงทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ กระทั่งรู้สึกอึดอัดที่ต้องชิตแชตกับใครอีกฝ่ายที่ยังไม่ได้รู้จักกันดี จนหลายครั้งเป็นความรู้สึกที่ฝังลึกจนสมองของเราจดจำสิ่งนี้ และทำให้เราปฏิเสธที่จะมีสนทนากับคนแปลกหน้าคนอื่นๆ ด้วยตัวอักษรจากแป้นพิมพ์ไปโดยปริยาย
บทสนทนาไม่ราบรื่น
สาเหตุนี้เรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของใครหลายคนที่ไม่ใช่คนปิดกั้น และไม่ใช่คนที่มีปัญหาหนักขนาดหลีกเลี่ยงการพูดคุยผ่านข้อความไปเลยซะทีเดียว แต่กลับเป็นการไม่อยากมีบทสนทนากับใครอีกฝ่าย เพียงเพราะเนื้อหา หรือกระทั่งความต้องการของทั้งคู่ไม่สอดคล้องกันต่างหาก
ตัวอย่างเช่นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์ช่วงนี้ คือการที่มีคนบ่นว่า Small Talk หรือบทสนทนาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ประจำวันเป็นเรื่องน่าเบื่อและน่ารำคาญ นั่นยิ่งทำให้เห็นชัดว่าแม้จะมีงานวิจัย Replication Study Shows No Evidence That Small Talk Harms Well-Being ในปี 2018 ที่ศึกษาแล้วพบว่าการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ดีกว่าการไม่พูดคุยอะไรกันเลย ทำให้เกิดความสุขได้ในคู่สนทนา ช่วยกระชับให้ความสัมพันธ์ของคู่สนทนาได้มากขึ้น ทั้งยังเป็นทักษะการเข้าสังคมที่สำคัญ ทว่าก็ยังมีคนบางคนที่ไม่ชอบบทสนทนารูปแบบนี้จนกลายเป็นข้อถกเถียงในวงกว้าง เพราะมองว่าบทสนทนา เช่น อย่าลืมกินข้าวนะ อย่าลืมอาบน้ำนะ ของอีกฝ่ายดูจะเป็นประโยคที่ซ้ำซากน่าเบื่อ เพราะมันคือกิจวัตรประจำวันที่ใครๆ ก็ต้องรู้และทำอยู่แล้ว จนกลายเป็นพาลให้ไม่อยากจะพูดคุยต่อด้วยไปเสียอย่างนั้น
ประกอบกับอารมณ์ขัน (Sense of Humour) ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนบทสนทนาให้ไม่สะดุด และแทบจะเป็นตัวชี้วัดเลยว่า คน 2 คนจะมีความสุขร่วมกันในเรื่องเดียวกันได้ไหม หากลองนึกภาพดูว่าเราเล่นมุกอะไรสักอย่างไป แต่อีกคนไม่เข้าใจหรือไปตลกในเรื่องที่เราไม่ตลก บรรยากาศของข้อความที่พูดคุยก็คงกร่อย หรือกระทั่งมีมที่เซฟและเตรียมกดส่งก็คงไม่จำเป็นอีกต่อไป
พบเจอหน้าอาจสบายใจกว่า?
เราอาจจะบอกว่าถ้า Small Talk ไม่ตอบโจทย์ ทำไมไม่ Deep Talk แทนล่ะ? การพูดคุยอย่างมีสาระสำคัญอย่างลึกซึ้ง หรือ Deep Talk อาจช่วยกระชับความสัมพันธ์ และทำให้บทสนทนาของเรากับใครอีกคนยังไปต่อได้มากกว่า Small Talk เพราะเป็นการสนทนาด้วยคำถามที่นำไปสู่คำตอบที่ลึกซึ้ง ต้องคิดมากขึ้น แถมยังเป็นช่องว่างที่ทำให้เราและเขาได้เป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อที่พูดคุยนั้นๆ มากขึ้น
อามิต คูมาร์ (Amit Kumar) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการตลาดและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน บอกว่า Deep Talk คือการสนทนาที่ต้องเปิดเผยตัวตนของเรา หรือการเปิดใจในเรื่องบางอย่าง แถมบทสนทนาที่ลึกซึ้งขึ้นเหล่านี้ยังช่วยทำให้ความอึดอัดระหว่างคู่สนทนาลดน้อยลง และนำไปสู่ความสุขและความผูกพันที่มากยิ่งขึ้น
ทว่าการเปิดใจสำหรับคนบางคนก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อ Small Talk ยังไม่ใช่คำตอบของใครหลายคน Deep Talk จึงน่าจะเป็นงานหินอีกชิ้นที่บทสนทนาของใครหลายคนไปไม่ถึง และยิ่งเป็นการเปิดใจหลังตัวอักษรจากแป้นพิมพ์ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า โลกออนไลน์ที่อาจทำให้เราไม่รู้สึกใกล้ชิดกับคนหลังจอ เนื่องจากไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกอีกฝ่าย หรือกระทั่งการสร้างความกังวลหรือความอึดอัดให้เราด้วยปัจจัยต่างๆ แล้ว หลายคนจึงชอบการพูดคุยแบบพบเจอหน้า (Face-to-Face) กันมากกว่า
จนแล้วจนรอด พอจะออกไปเจอคนใหม่ๆ หรือออกไปเดตกับใครสักคน หันมองบริบทรอบข้างก็แสนจะท้อใจ ทั้งปัญหาฝุ่นควัน ทั้งการเดินทางที่คาดเดาเวลาไม่ได้ อากาศก็ร้อนฉ่ำ แต่งหน้าทำผมสวยๆ เดินออกจากบ้านไปแค่ไม่กี่ชั่วโมง หัวก็ลีบ หน้าก็หยาเสียแล้ว เมื่อเมืองไม่เอื้อให้เรามีความรักกันขนาดนี้ ทุกอย่างเลยวนกลับมาที่โลกออนไลน์อีกครั้งสินะ… แล้วแบบนี้เราจะทำยังไงให้ตัวเองตอบแชตได้มากขึ้นดีล่ะ?
- ก้าวข้ามความกังวล – บางครั้งเรากังวลว่า ถ้าเราตอบข้อความอะไรไปอาจทำให้อีกฝ่ายเข้าใจผิด จนกลายเป็นคนไม่ชอบตอบแชตไปเลย เช่นนั้นแล้วเราอาจจะลองถอยออกมาก้าวหนึ่ง กังวลกับตัวเองน้อยลง กังวลกับอักษรที่จะส่งต่อไปให้น้อยลง อย่าเพิ่งคาดเดาไปเองกับสิ่งที่ยังไม่เกิดในอนาคต
- เอาใจเขามาใส่ใจเรา – การเอาใจเขามาใส่ใจเราในที่นี้ คือการพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติในตัวตนและอารมณ์ของคู่สนทนาผ่านตัวอักษร หากเราเป็นเขาในสถานการณ์แบบนี้ เราต่อบทสนทนาอย่างไร เราจะพาคู่สนทนาไปสู่อะไร
- จัดสรรเวลา – สำหรับใครที่แอบชอบเขาคนนั้นแล้วนิดๆ แต่ก็กลัวจะขยับความสัมพันธ์ไม่ได้เพราะนิสัยไม่ชอบตอบแชตของตัวเอง งั้นอาจจะลองวางเวลาและมองให้เป็น ‘สิ่งที่ต้องทำ’ ในแต่ละวันเหมือนกับการอาบน้ำ กินข้าว หรือแปรงฟันก็ได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องมากเกินไปจนฝืนใจตัวเอง แต่เป็นการตกลงกับอีกฝ่ายให้รับรู้ว่า ในหนึ่งวันเราจะ ‘พยายาม’ เข้ามาตอบในช่วงไหนของวันบ้าง เป็นต้น
- พบคนที่ใช่และเข้าใจ – มีคนบอกว่าถ้าเราเจอคนที่ใช่ หรือคนที่ชอบจริงๆ เราจะแหกกฎความเป็นตัวเราเองอัตโนมัติ เราจะกล้าเผชิญหน้า และลองทำในสิ่งที่เราเคยไม่ชอบทำได้อย่างไม่ฝืนใจเพื่อใครอีกคน และเช่นกัน ถ้าวันหนึ่งเราเจอคนที่รู้ธรรมชาติของการสนทนา มีอารมณ์ขันแบบเดียวกัน นั่นอาจทำให้บทสนทนาไหลลื่นจนเราตอบแชตได้มากขึ้นจากเดิมแน่ๆ
ให้ตายสิพับผ่า เรื่องมันก็เป็นเสียอย่างนี้! นี่คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่คุ้นชินกับการไม่มีบทสนทนากับคนไม่คุ้นเคยในโลกออนไลน์ แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับบางคนหากจะลองเปิดใจ และก้าวข้ามความกังวลบางอย่าง เพื่อไปเจออะไรอีกอย่างเช่นกัน แม้การไม่ตอบแชตอาจจะทำให้เรารู้สึกเหงาบ้างในบางค่ำบางคืน แต่ก็แลกมากับความสบายใจและชีวิตส่วนตัว เช่นกันกับบางคนที่ยอมแลกเวลาไปกับการตอบแชต เพื่อให้ได้มาซึ่งความสัมพันธ์หรือความรักที่ตัวเองต้องการ
ในเมื่อทางไหนก็คือการสละอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งอีกหนึ่งอย่าง แล้วเราจะยังยอมทนเหงา หรือลองตอบแชตที่ดองไว้ดีนะ?
อ้างอิงจาก