“…indispensable to us as is to the lover his unrequited love, which he would at no price relinquish for a state of indifference perhaps, indeed, we too are unrequited lovers!”
– Friedrich Nietzsche,
Daybreak: Thoughts on the Prejudices of Morality
เวลาพูดคำว่าความรักที่ไม่สมหวัง ฟังแล้วทั้งเป็นความรู้สึกที่แสนจะสามัญ ถ้าเรามองไปที่ทะเลของเรื่องเล่า ในกวีนิพนธ์ วรรณกรรม ตำนานปรัมปราไปจนถึงประวัติศาสตร์ต่างๆ เรื่องความรักที่ไม่สมหวังก็ดูจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ชอบเล่าถึงอย่างซ้ำๆ ดังนั้น เราจึงรู้สึกทั้งเคยชิน แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกเจ็บแปลบในอก เมื่อหวนไปนึกถึง—หรือบางคนอาจจะตกอยู่ในภาวะรักที่ไม่ได้รับการตอบสนอง (unrequited Love)
รักที่ไม่สมหวังจึงเป็นคำที่น่าสนใจ คำว่า unrequited love หมายถึงความรักที่สมปรารถนา โดยรากศัพท์คำว่า requited หมายถึงการตอบสนองหรือให้คืน ส่วนความหมายตรงข้ามคือคำว่า unrequited คำศัพท์เก่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 มีนัยถึงความรักเป็นความหมายแรกเริ่ม ทีนี้ นัยของคำว่าการ ‘ไม่ได้รับคืน’ ในคำว่า unrequited love จึงมีลักษณะของการสนองซึ่งกันและกัน มีการมอบและเสนอความรักจากฝ่ายหนึ่งไปสู่อีกฝ่ายหนึ่ง และการที่ความรักที่มอบให้นั้นไม่ได้รับการตอบสนอง คือไม่ได้รับความรักตอบกลับมา ก็เป็นความรักที่ไม่สมบูรณ์และไม่สมหวัง หรือไปรักเขาข้างเดียวนั่นแหละ
ประสบการณ์เรื่องการรักข้างเดียว หรือถ้าพูดกลับกันคือความรักที่ไม่สมบูรณ์พอ อันที่จริงก็เป็นเหตุการณ์ที่ยาก หมายถึงว่า ในชีวิตเราคงอกหักรักข้างเดียวบ่อยกว่า ในการเติบโตของเราคงต้องเจอการเจ็บร้าวใจอย่างน้อยหนึ่งครั้ง หรือหลายคนก็อาจจะบ่อยจนเบื่อที่จะนับ ด้วยความที่การรักข้างเดียวเป็นสิ่งที่เป็นสากล ยืนหนึ่งเหนือกาลเวลา แต่ทว่า ในประวัติศาสตร์และวรรณกรรมของเรา นักคิด กวี และนักเขียนต่างเชิดชูความรักที่ไม่สมหวัง บ้างก็บอกว่าเป็นหัวใจของการเติบโต บ้างถือกันว่าเป็นความรักที่สูงส่งและสวยงามมากกว่าความรักที่สมบูรณ์พร้อมเสียอีก
ไม่สมบูรณ์ ไม่ตอบแทน ไม่สำคัญ
อันที่จริงเป็นเรื่องธรรมดา คือ ในมุมของนักคิดนักเขียนหรือกวี ความรักมักจะสวยงาม อุดมสมบูรณ์ก็ดีอยู่ แต่ถ้ามองในแง่ประสบการณ์ การเติบโต ความสมหวังก็ดูจะเป็นสุขสามัญธรรมดา และในแง่หนึ่งความรักที่เหมือนมีการเชื่อมโยงกัน—มีรักตอบแทนแก่กัน—ก็ดูจะไม่ได้เป็นเรื่องที่รักษาจีรังได้ การรักษาความรักในเบื้องปลายอาจเป็นการรักษาความสัมพันธ์ มิตรภาพ ไปจนถึงการรักษาหัวใจในการจากลาหรือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ดังนั้น ในงานปรัชญาและวรรณกรรมโบราณจึงมักมีแกนเรื่องเป็นความรักที่ไม่สมหวัง และถือว่าเป็นความรักที่น่ายกย่อง กระทั่งนีทเช่เองที่ดูขมโลกหน่อยๆ ก็พูดถึงความรักข้างเดียวไว้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นและสัมพันธ์กับการแสวงหาความรู้ของเหล่านักคิด นีทเช่พูดถึงความรักข้างเดียวใน Daybreak: Thoughts on the Prejudices of Morality โดยอาจตีความได้ว่า การรักข้างเดียวคือความรักที่จำเป็นกับเหล่านักรัก ความรักที่ไม่ได้รับการตอบสนองเป็นหัวใจของการเรียนรู้ความรักและการรักที่ดีขึ้น นีทเช่ค่อนข้างมองว่าการเติบโตทั้งในแง่ส่วนบุคคลและการแสวงหาความรู้มีการก้าวผ่านความเจ็บปวดเป็นสำคัญ ในทำนองเดียวกับความรักที่มีความร้าวราวขุดพรวนการเติบโต
แนวคิดเรื่องความรักที่ไม่รับรักตอบเป็นแกนเรื่องเล่าหลักของวรรณกรรม โดยเฉพาะงานเก่าๆ เช่นในยุคกลางที่จะมีงานประเภทความรักในราชสำนัก (courtly love) หมายถึงความรักของอัศวินหนุ่มที่ไปรักเอาหญิงสาวสูงศักดิ์ที่มักจะมีสามีอยู่แล้ว ความรักในหญิงสูงศักดิ์นี้ก็นำไปสู่การอุทิศชีวิตให้อย่างจริงจัง โดยที่รู้อยู่เต็มใจว่าตัวเองก็ไม่ได้จะไปมีความสัมพันธ์หรือไปรับความรักจากหญิงสูงศํกดิ์ได้ แต่ก็ยอมไปบุกป่าฝ่าดง ไปฆ่ามังกร ปีนหอคอยเพื่อความรักที่เป็นไปไม่ได้นั้น
จากกวีของอัศวินหนุ่มที่คร่ำครวญถึงคนรักที่สูงส่ง—และหลายครั้งมีสามีแล้ว เรื่อยมาจนถึงกวีคนสำคัญเช่นดันเต กวียุคเรเนสซองส์ผู้พาเราไปท่องนรกสวรรค์ของศาสนาคริสต์ ก่อนการแต่ง The Divine Comedy ดันตได้แต่งบทกวีและร้อยแก้วขึ้นชุดหนึ่งในชื่อ La Vita Nuova หรือชีวิตใหม่ โดยงานของดันเตในวัยหนุ่มนั้นเป็นงานเขียนที่เขียนตามขนบของวรรณกรรมยุคกลาง คือ พูดเรื่องความรักต่อหญิงสาวที่เป็นความรักที่เป็นไปไม่ได้ หญิงสาวคนที่ว่าเป็นคนจริงๆ คือ เบียทริซ ปอร์ตีนารี (Beatrice Portinari) หญิงสาวลูกสาววาณิชธนกิจผู้มีสามีแล้ว ดันเตพบหน้าเพียงสองครั้งและรักษาความรักจนวันตาย แม้ว่าเธอจะจากไปตั้งแต่ในช่วงวัยเพียง 20 ปี
ความรักข้างเดียวในแง่นี้จึงมักถูกนิยามว่าเป็นความรักอันสูงส่งและบริสุทธิ์ที่สุดรูปแบบหนึ่ง เป็นความรักที่คนเราจะรักษาความรักไว้ได้ โดยแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีวันได้ความรักแบบเดียวกันตอบคืนมา ความรักที่เราเองอาจจะยังรักษาความรู้สึกรักไว้เหมือนเดิม หรือค่อยๆ เรียนรู้ที่จะรักในนิยามหรือรักษาความรู้สึกที่แตกต่างออกไปจากความรักโรแมนติกที่มีการครอบครองหรือการได้คืนเป็นหัวใจ
ความยากของความรัก และการเจ็บปวดเพื่อเติบโต
ความรักเป็นเรื่องยาก หมายถึงเราอกหักบ่อยกว่าถึงจะเจอความรัก ความรักแบบรักข้างเดียวเป็นเรื่องสามัญที่พบได้ทั่วไป ในทางจิตวิทยาเองก็มีการพูดถึงความรักข้างเดียวในฐานะความเจ็บปวดที่พบได้ทั่วไปและมิติหลากหลาย ความรักของเรามีโอกาสเป็นรักข้างเดียวได้อย่างง่ายดาย โดยมีเงื่อนไขที่เราพอจะจินตนาการได้ ตั้งแต่คนที่เราไปชอบอาจจะเป็นคนที่มีเจ้าของแล้ว เราเองไม่ได้อยู่ในสถานะ—ถ้าพูดอย่างวิชาการก็อาจจะไม่ได้อยู่ในสถานะทางสังคมหรือ socio-economic เดียวกัน หน้าตาก็อาจจะไม่เหมาะสม ไหนจะเสี่ยงกลายเป็นความรักแบบที่ไม่ใช่รักหวานซึ้ง การกลายจากเพื่อนเป็นแอบรัก ไปจนถึงความรักที่ไม่เสมอกัน
อันที่จริงคำว่า requited/unrequited love ถือเป็นคู่คำที่ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงความซับซ้อนของความรู้สึกและความสัมพันธ์ของมนุษย์ภายใต้นิยามของความรักของคนสองคน ตัวอย่างข้างต้นทำให้เราเห็นว่า เรามีเฉด คือ มีระดับและมีรูปแบบของความรู้สึก ซึ่งอันที่จริงเราก็เรียกมันว่าความรักแหละ แต่เต็มไปด้วยมิติและความหลากหลาย รักมาก รักน้อย รักแบบไหน เงื่อนไขทั้งทางสังคม ทางกายภาพ ทางความรู้สึก จังหวะเวลา การวัดกะเกณฑ์ที่พอจะสัมผัสได้ แต่ก็กะประมาณออกมาได้อย่างยากลำบาก
ในภาคปฏิบัติ การไม่สมหวังในรักสัมพันธ์กับหลายอย่าง หลายครั้งเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราต้องวุ่นวาย ไม่ว่าจะเป็นการยอมบอกความรู้สึก เกิดสถานะที่เปลี่ยนแปลงไปในความสัมพันธ์ ไปสู่คนที่ไปรักเขา/คนอกหัก (the would-be lover) และคนที่ปฏิเสธ (rejector) ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการการบอกรักและไม่รับรัก มักจะนำความเจ็บปวดมา โดยที่เจ็บกันทั้งสองฝ่าย
ดังนั้น ถ้าพูดกันตามจริง การรักข้างเดียวไปจนถึงการถูกปฏิเสธอย่างเป็นทางการเป็นเรื่องเจ็บปวดและเป็นไปได้ก็ไม่อยากพบเจอ แต่ในทางกลับกัน ก็ฟังดูจะเป็นประสบการณ์จำเป็นในการเรียนวิชารักและวิชาของการถูกรัก โดยในทางปรัชญาของการเติบโต การเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดและความร้าวรานก็ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการเรียนรู้ชีวิต
บทเรียนสำคัญหนึ่งในการเรียนรู้ที่จะรักเพียงข้างเดียว คือ การได้เรียนรู้ถึงการรักโดยที่ไม่ครอบครอง และอันที่จริงก็หวังว่าเราจะไม่โรแมนติกขนาดดันเตหรือเหล่าอัศวินยุคกลางที่ยังคงแบกแผลใจและความรักที่เป็นไปไม่ได้ไปจนชั่วชีวิต การรักใครสักคนที่ในที่สุดเราทั้งเรียนรู้ว่าการรักตอบของเขานั้นมีหลายแบบ บ้างก็ไม่ตอบและไม่ใช่ข้อบังคับที่จะตอบรับด้วยความรักแบบเดียวกัน
การรักษาความรักข้างเดียวนั้น วันหนึ่งเราเองก็อาจจะได้เรียนรู้ถึงเฉดของความรัก ที่เรารักคนคนนั้น อาจจะไม่ได้ด้วยใบหน้าอันร้อนผ่าว หัวใจที่เต้นเหมือนกลอง แต่คือการรักษาความรู้สึกดีๆ ที่เคยได้มอบให้ไป
และการรักษาคนคนนั้นไว้ในใจไม่ว่าจะด้วยความรู้สึกรักแบบไหนก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon