“แกๆ ดูคลิปนี้สิ ตลกมาก”
“เออจริงด้วย แหะๆ”
ยื่นคลิปตลกให้เพื่อนดู ในใจก็คาดหวังแหละว่าเพื่อนจะขำก๊าก เพราะตอนเราดูยังขำแทบขาดใจ สรุปเพื่อนดันนั่งดูหน้านิ่ง พร้อมตบท้ายด้วยการหัวเราะแห้งๆ พอเป็นพิธี
เท่าที่จำได้แกยังเคยเป็นคนส่งคลิปแนวนี้มาหัวเราะคิกคักกับเราอยู่เลย ทำไมครั้งนี้แกไม่ขำกับเราแล้ว ก็มั่นใจว่ามิตรภาพยังคงเหมือนเดิมไม่ได้จืดจางลง ความสนิทยังเท่าเดิมไม่ได้ลดหายไปไหน แต่อารมณ์ขันที่เคยมีร่วมกันกลับเปลี่ยนไปเสียแบบนั้น
แม้มิตรภาพยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่หลายสิ่งที่เคยมีร่วมกันระหว่างเรากับเพื่อนอาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แน่นอนว่าอารมณ์ขันเองก็เช่นกัน วันนี้เราอาจตลกกับมุกนี้ วันข้างหน้าก็อาจไม่ตลกกับมุกแนวนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะอะไรกันนะที่ทำให้อารมณ์ขันของเราและเพื่อนถึงไม่เหมือนเดิม? แล้วเมื่อเป็นแบบนี้เราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง?
เวลาเปลี่ยน ความตลกก็เปลี่ยนผันตามกาลเวลา
นอกจากบทสนทนาเม้ามอยเรื่องคนนู้คนนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ในแชทกับเพื่อนของหลายคน คือบรรดามีมและวิดีโอตลกมากมายที่เรามักพลัดกันส่งให้กันอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งก็อาจแตะหลักสิบคลิป แต่เมื่อเวลาผ่านไป เพื่อนก็เริ่มไม่ขำกับมีมที่เราส่งให้ หนำซ้ำยังส่งวิดีโอตลกที่เราดันไม่เก็ตมาให้อีก
แม้มิตรภาพยังคงแนบแน่นไม่เปลี่ยนแปลง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเครื่องการันตีว่าอารมณ์ขันระหว่างเรากับเพื่อนจะไม่เปลี่ยนไป เมื่อเวลาเดินไปข้างหน้า เราเองก็ไปข้างหน้าเช่นกัน
จอห์น ชาร์ลส์ ไซมอน (John Charles Simon) ผู้ศึกษาเกี่ยวกับการหัวเราะและเจ้าของหนังสือ Why We Laugh: A New Understanding ได้ใช้ทฤษฎี Mutual Vulnerability Theory มาอธิบายว่า เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มุมมองต่อบางเรื่องก็อาจเปลี่ยนแปลงตามช่วงวัยและประสบการณ์ หลายสิ่งที่เรามองว่าตลกก็อาจไม่รู้สึกตลกเหมือนก่อน
จอห์นอธิบายเสริมต่อว่า ในบางแง่มุม ผู้ใหญ่ก็อาจมีแนวโน้มที่จะหัวเราะให้กับสิ่งต่างๆ ซึ่งเคยทำให้เขารู้สึกหัวเราะได้เมื่อครั้งเป็นเด็ก เช่น หากย้อนกลับไปช่วงวัยรุ่น มีมเกี่ยวกับการทำงาน อย่างมีมล้อคนที่โดนเจ้านายต่อว่าในที่ประชุม หรือกระทั่งมีมที่เกี่ยวกับการตกงาน ก็อาจเป็นเรื่องขำขันและสร้างเสียงหัวเราะได้ ทว่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้อาจเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการตกงานหรือเคยมีส่วนร่วมกับสถานการณ์ดังกล่าว ก็อาจรู้สึกไม่ตลกกับมีมแบบนี้อีก
หรืออีกตัวอย่างคือ แต่ก่อนเราอาจเคยขำกับวิดีโอตลกที่เกี่ยวกับการบาดเจ็บหรือเจ็บตัว ไม่ว่าจะ วิดีโอคนขับจักรยานล้ม คนตกบันได หรือคนสะดุดล้ม อย่างไรก็ตาม หากเราได้รับประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการบาดเจ็บทางร่างกาย เราก็อาจไม่รู้สึกสนุกกับวิดีโอทำนองนี้อีกต่อไป เพราะมุมมองต่อเหตุการณ์เหล่านี้ของเราเปลี่ยนไป
อีกทั้ง จอห์นได้ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า เมื่อเราโตขึ้นแวดวงสังคมของเราก็อาจเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน เราอาจไม่ได้อยู่แค่กับเพื่อนเหมือนช่วงวัยเด็ก แต่ยังมีสังคมอื่นๆ เช่น สังคมการทำงาน ซึ่งบางครั้งก็อาจเป็นสังคมเฉพาะ พวกเขาก็จะมีมุกหรืออารมณ์ขันต่อเรื่องตลกที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น อย่างเวลาเลื่อนฟีดผ่านวิดีโอตลกเกี่ยวกับการสร้างบ้านหรือโครงสร้างอาคารประหลาดๆ เราก็อาจไม่รู้สึกขำเท่าไหร่นัก กลับกันวิดีโอเหล่านี้ก็อาจเป็นเรื่องตลกสำหรับสังคมของนักออกแบบหรือสถาปนิก
ดังนั้นแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอก หากวันหนึ่งเพื่อนสนิทเราจะไม่รู้สึกขำกับวิดีโอตลกอย่างที่เคยขำเหมือนเมื่อก่อน หรือหากเพื่อนจะยื่นวิดีโอตลกที่เราดันไม่ตลกมาให้เราดู พอเห็นเรามีท่าทีนิ่งๆ ก็ถามกลับว่า “เราไม่ขำหรอ?” เพราะความเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเปลี่ยนไปได้หมดตามช่วงเวลาและช่วงวัย ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างแค่อารมณ์ขัน ซึ่งเคยเชื่อมความสัมพันธ์เราเอาไว้ก็ตาม
แล้วเราจะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ยังไงบ้าง?
หลายคนพอสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในความสัมพันธ์ก็อาจรู้สึกกังวลว่า มันจะมากระทบต่อความสัมพันธ์ของเราหรือเปล่า เพราะบางครั้งความเปลี่ยนแปลงแม้จะเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถส่งผลต่อความสัมพันธ์ได้ทั้งนั้น
แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะทุกความเปลี่ยนแปลงมีวิธีเตรียมรับมืออยู่เสมอ เราจึงได้รวบรวมวิธีการจาก ทิฟฟานี ฮักกินส์ (Tiffany Huggins) ที่ปรึกษาสุขภาพจิตทางคลินิก และ คอร์ทนีย์ แฮร์รีส (Courtney Harris) โค้ชด้านความสัมพันธ์ สำหรับเตรียมตัวสำหรับความเปลี่ยนแปลงและการรักษามิตรภาพเอาไว้ในวันที่เราและเพื่อนมีบางอย่างที่แตกต่างกัน มาให้ทุกคนได้ลองไปปรับใช้ดูกัน
- ยอมรับกับทุกความเปลี่ยนแปลงในชีวิต: ให้นึกไว้เสมอว่า การเปลี่ยนแปลงคือธรรมชาติของมนุษย์เรา เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ย่อมเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย แม้อารมณ์ขันร่วมระหว่างเราและเพื่อนจะเปลี่ยนไป ไม่ได้หมายความมิตรภาพจะจืดจางลงเสียเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นเราเองก็อาจค่อยๆ เรียนรู้ที่จะยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงนี้ พร้อมอาจลองปรับแนวคิดว่า อารมณ์ขันเองก็เป็นเรื่องที่สามารถเปลียนไปมาได้ตลอดเวลา
- มองความแตกต่างให้เป็นเรื่องปกติของความสัมพันธ์: ทุกความสัมพันธ์ล้วนมีความแตกต่าง เรื่อยไปจนถึงความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา การมีอารมณ์ขันที่แตกต่างจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพื่อให้มิตรภาพของเราและเพื่อนจะยังคงอยู่ต่อไปได้ นอกจากจะยอมรับถึงความเปลี่ยนแปลงในชีวิตแล้ว เราอาจต้องมองความแตกต่างระหว่างเรากับเพื่อนให้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกความสัมพันธ์ เพื่อให้เราสามารถก้าวต่อไปข้างหน้า ไม่เก็บเรื่องเหล่านี้มาคิดเล็กคิดน้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ได้
- ลองหาทางคุยกับเพื่อนแบบตรงๆ ดู: บางครั้งการสื่อสารก็เป็นเรื่องที่ยากสำหรับหลายคน แต่ทางออกที่ดีที่สุดในหลายเรื่องก็หนีไม่พ้นการสื่อสารกัน แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่าง อารมณ์ขันซึ่งเปลี่ยนไประหว่างเรากับเพื่อน ก็สามารถหยิบมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ว่า เรากำลังรู้สึกอย่างไร แล้วเรากับเพื่อนจะต้องปรับตัวอย่างไรต่อไป
- เปิดใจให้กว้าง พร้อมรับความตลกใหม่ๆ เสมอ: เข้าใจแหละว่า ความตลกเป็นเรื่องปัจเจก เราไม่เคยตลกมุกแบบนี้ จะให้ขำคิกคักก็คงไม่ใช่ แต่ก็ใช่ว่าเราควรจะปิดกั้นไม่รับความตลกใหม่ๆ เสียเมื่อไหร่ ระหว่างส่งมีมกันไปมา เราอาจเจอวิดีโอแนวใหม่ๆ ที่เรารู้สึกตลกก็ได้ ซึ่งก็อย่าลืมรีแอคชั่นให้เพื่อนรู้ด้วย เผื่อครั้งหน้าเพื่อนจะส่งมีมแบบเดิมมาอีกเรื่อยๆ
- ทบทวนมิตรภาพระหว่างเรากับเพื่อน: มากกว่าเรื่องมุกตลก ก็คือเรื่องของมิตรภาพระหว่างเรากับเพื่อน เวลากำลังรู้สึกนอยว่าอารมณ์ขันของเราทั้งคู่ไม่ตรงกันอีกแล้ว อาจลองมองไปให้ไกลขึ้นกว่าเดิมว่า การมีอารมณ์ขันตรงกันสำคัญต่อความสัมพันธ์ครั้งนี้มากแค่ไหน หากมันไม่ใช่สิ่งเดียวที่ยึดเรากับเพื่อนไว้อยู่ด้วยกัน ก็อาจลองมองหาจุดร่วมใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่อารมณ์ขัน ทั้งนี้เพื่อให้เราสามารถรักษามิตรภาพนี้ไว้ได้ต่อไป
ไม่ว่าเรากับเพื่อนจะสนิทสนมกันแค่ไหน เมื่อเวลาหมุนไปข้างหน้าเรื่อยๆ ก็อาจต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในแง่ใดแง่หนึ่งเข้าสักวัน แต่หัวใจสำคัญคือการยอมรับความเปลี่ยนแปลง และมองคุณค่าในมิตรภาพของเราและเพื่อนให้ลึกลงไปมากกว่าแค่อารมณ์ขัน
แม้มุกตลกวันนี้จะเปลี่ยนไป ไม่ขำกันเหมือนแต่ก่อน ก็ใช่ว่าวันหน้าจะไม่มีมุกใหม่ๆ มาให้ขำซะเมื่อไหร่กัน
อ้างอิงจาก