แกก็ไม่ชอบคนนี้เหมือนกันเลยหรอ?
ไอ้เราก็หูดีด้วยสิ พอสืบทราบมาว่าเพื่อนคนนี้ไม่ชอบเพื่อนคนนู้น อะไรไม่รู้ก็ดลใจให้เราอยากสานสัมพันธ์ ปลูกต้นมิตรภาพกับเพื่อนคนนี้อย่างด่วน จนแอบคิดว่าถ้าเรา 2 คนได้มาเป็นเพื่อนกัน หลายสิ่งหลายอย่างคงจะลงล็อคเข้าคู่กันน่าดู
ยิ่งรู้ว่าเพื่อนไม่ชอบอีกฝ่ายมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งอยากจะจับมือ พร้อมเซ็นสัญญาพันธมิตรให้ไวมากขึ้นเท่านั้น ว่ากันตามตรงมันก็รู้สึกดีแปลกๆ เหมือนกัน ที่เราจะได้เป็นเพื่อนกับเพื่อนที่มีคนที่ไม่ชอบคนเดียวกัน ราวกับว่าแค่ความไม่ชอบตรงกัน ก็เป็นใบเบิกทางให้เราสนิทกันได้ง่ายขึ้นกว่าที่คิด
เวลาเรากับเพื่อนมีศัตรูร่วมกัน แล้วเหมือนมิตรภาพของเราทั้งคู่จะดูแพรวพราวขึ้น ไม่ใช่ความรู้สึกที่เราคิดไปเอง แต่มันสามารถอธิบายได้ด้วย ทฤษฎีความสอดคล้อง (Congruity Theory) ซึ่งพร้อมจะตอบเราว่า ทำไมเราถึงอยากเป็นเพื่อนกับคนที่มีคนที่ไม่ชอบหรือศัตรูคนเดียวกัน
ทฤษฎีความสอดคล้อง เป็นทฤษฎีที่ถูกคิดและพัฒนาขึ้นโดย ชาร์ลส์ ออสกู้ด (Charles Osgood) และ พอร์ซีย์ แทนนินบาว์ม (Percy Tannebaum) นักจิตวิทยาชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้อธิบายเอาไว้ว่า คนเรามีแนวโน้มต้องการให้ความคิดเห็นและทัศนคติของตนเองสอดคล้องกันอยู่เสมอ หากเกิดความไม่ลงรอยหรือขัดแย้งขึ้น เราจะมีแรงจูงใจในการปรับความคิดหรือมุมมองเพื่อคืนสมดุลให้กับตัวเอง
ถ้าจะให้เห็นภาพมากขึ้น มาลองนึกตามกันว่า หากเรามีนักแสดงคนโปรดสักคนในวงการบันเทิง (เป็นทัศนคติเชิงบวก) แต่เขาดันไปถ่ายโฆษณาสินค้าที่เราไม่ชอบ (เป็นทัศนคติเชิงลบ) ตามทฤษฎีแล้ว มันก็จุดของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นำไปสู่การปรับทัศนคติและความคิดเราให้สอดคล้องกันดังเดิม ซึ่งอาจมีได้ 3 แนวทาง เช่น มองว่าสินค้าตัวนี้ก็ไม่ได้แย่เสมอไป หรือ เราอาจเริ่มมองว่านักแสดงคนนี้ก็มีข้อเสียเหมือนกัน
พอจะเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมว่า หลักการดังกล่าวมีกลไกการทำงานอย่างไร? แต่หลายคนอาจสงสัยต่อว่า เอ๊ะ…แล้วมันสามารถอธิบายสถานการณ์การสร้างมิตรภาพจากการมีศัตรูร่วมได้อย่างไร?
เราจึงอยากให้ทุกคนลองนึกภาพกันต่อ เวลาเราเจอใครที่มีความชอบหรือบุคลิกคล้ายคลึงกัน มันก็เหมือนเป็นการสร้างความสอดคล้องระหว่างกัน ที่จะช่วยดึงดูดให้เราอยากรู้จักคนๆ นี้มากขึ้น
เช่นเดียวกันกับเวลาเรารู้สึกไม่ชอบใครสักคน แล้วเราพบว่ามีใครอีกคนกำลังรู้สึกแบบเดียวกับเราอยู่ ทำให้จิตใจเรารู้สึกว่าเรากับอีกฝ่ายมีบางอย่างคล้ายคลึงกัน และอาจทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันกันได้ง่ายกว่า เพราะตามทฤษฎีข้างต้น เมื่อเราเจอความขัดแย้งทางทัศนคติหรือความคิด เราก็มักพยายามจัดการให้มันสอดคล้องดังเดิม ซึ่งเราก็อาจเลือกแบ่งปันความรู้สึกที่ไม่ชอบคนๆ นั้น ให้อีกฝ่ายได้รับรู้ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกถึงความสมเหตุสมผลและความสอดคล้องกันทางความคิดมากขึ้น
และเพื่อให้ภาพของคำอธิบายนี้กระจ่างมากขึ้น เราจึงจะมาจำลองสถานการณ์ให้ทุกคนคิดตามกัน โดยวันหนึ่งเรามีปัญหากับเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง นามสมมติว่า A แล้วเราก็บังเอิญได้ยินเพื่อนร่วมงานนามสมมติว่า B บ่นเรื่อง A กับคนในที่ทำงานอยู่พอดี เราจึงแอบแทรกตัวเขาไปฟัง พอหลายคนเริ่มคล้อยตามเห็นด้วย เราก็ค่อยๆ พูดเสริมว่า “ไอ้คนนั้นน่ะหรอ ฉันก็ไม่ชอบนางเหมือนกัน” ตรงนี้จึงเป็นจุดเชื่อมโยงที่จะทำให้เราและ B เริ่มมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น จากมุมมองและทัศนคติที่สอดคล้องกัน และท้ายสุดมันก็จะทำให้เราทั้งคู่สนิทสนมกันมากขึ้นนั่นเอง
หลายคนอาจคิดต่อว่า ทัศนคติเชิงลบจะสามารถช่วยให้เราสร้างความสัมพันธ์หรือมิตรภาพกับใครได้จริงหรือ? ส่วนนี้เราจึงยกงานสำรวจจาก University of Oklahoma ร่วมกับ The University of Texas Austin ของ เจนิเฟอร์ เค. บอสสัน (Jennifer K. Bosson) ผู้เป็นอาจารย์ด้านจิตวิทยา และคณะวิจัย ซึ่งได้สำรวจเกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ผ่านทัศนคติเชิงลบระหว่างบุคคล
จากการสำรวจ ซึ่งจะแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 รอบ รอบที่ 1 และ 2 จะให้ผู้เข้าสำรวจแบ่งปันทัศนคติต่อบุคคลที่สาม ซึ่งใน 2 รอบแรกนี้ ผู้คนโดยส่วนใหญ่จะแชร์ทัศนคติเชิงลบมากกว่าเชิงบวก และในรอบที่ 3 ผู้ศึกษามุ่งเน้นไปที่การแบ่งปันทัศนคติเชิงลบที่มีระหว่างกลุ่มผู้เข้าสำรวจด้วยกัน และได้พบว่า การแชร์ทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับบุคคลที่สาม ช่วยให้คนสนิทกันมากกว่าการแชร์ทัศนคติด้านบวก เนื่องจากมันช่วยสร้างความรู้สึกการเป็นพวกเดียวกัน แถมพฤติกรรมดังกล่าวยังมีส่วนต่อการเสริมสร้างความรู้สึกเชิงบวกในตนเองด้วย
งานศึกษานี้จึงสอดประสานไปกับทฤษฎีความสอดคล้องของชาร์ลส์และพอร์ซีย์ เพราะการพบว่ามีใครสักคนกำลังมีความรู้สึกเชิงลบต่อบุคคลที่สามเหมือนกับเรา ถือเป็นการช่วยสร้างสมดุลทางทัศนคติขึ้นมาใหม่
ความรู้สึกอยากจะหาพวกพ้อง เวลาไม่พอใจหรือเป็นศัตรูกับใครสักคน ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่าหลายคนก็คงไม่อยากยืนกรานความคิดของตนเองคนเดียวโดยปราศจากพวกพ้อง มันก็คงจะดีกว่าถ้าจะมีใครสักคนอยู่เคียงข้างพร้อมซัปพอร์ตความคิดและความรู้สึกเรา แต่ยังไงก็ต้องระวังไม่ให้ความไม่ชอบหรือความเกลียดชังของเรา ไปทำร้ายคนอื่นแบบไม่รู้ตัวด้วยเหมือนกันนะ
สุดท้ายนี้ ถ้าจากความไม่ชอบเหมือนกันในวันนั้น จะนำพาให้เราได้พบมิตรภาพใหม่ หรือได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบร่วมกันได้ด้วยก็คงดี
อ้างอิงจาก