“ออกแล้ว กำลังไป รอแปบ”
เมื่อเพื่อนว่ามาแบบนั้น ไอ่เราก็รอ…
คงไม่นานหรอก ก็ออกจากบ้านแล้วนี่นา ไม่เกิน 10 นาทีก็น่าจะถึง แต่ที่ไหนได้ มันสายทะลุหนึ่งชั่วโมง รอจนท้อ คอยจนเหนื่อย นั่งเบื่อจนไม่มีอารมณ์จะไปกินข้าวด้วยแล้วเนี่ย!
เชื่อว่าพวกเราน่าจะเคยมีประสบการณ์เจอเพื่อนแบบนี้มาบ้างอย่างน้อยก็สักครั้งสองครั้ง เพื่อนตัวดีที่เพิ่งตื่น แต่บอกเราว่ากำลังอาบน้ำ พออาบน้ำก็ดันโกหกว่าออกจากบ้านแล้ว และในวินาทีที่เพิ่งตบเท้าออกจากบ้าน หมอนี่หรือเธอคนนี้ก็จะหลอกให้เราสบายใจว่าตัวเองใกล้จะถึง
ฮึ่ย! พอเล่าแล้วก็ของขึ้น เซ็งสุดๆ ที่เราต้องไปรอมันตลอด และที่เซ็งยิ่งกว่าคือเพื่อนคนนี้ทำราวกับว่ายิ่งสนิทก็ยิ่งสายได้มากกว่าปกติ เพราะทีกับเพื่อนกลุ่มอื่นก็ไม่เห็นมันสายขนาดนี้เลย ทำไมกับคนอื่นตรงเวลาได้ แต่กับเราที่ดีกับมันแทบตายจึงสายแล้วสายอีก
จริงอยู่ที่ ‘การสาย’ อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ หลายคนบอกใครๆ ก็ทำกัน แต่ไม่แน่นะ รู้ตัวอีกที การไม่ตรงต่อเวลาและโกหกไปมานี่แหละที่อาจทำให้เราต้องเสียเพื่อนดีๆ ไปโดยไม่รู้ตัว
การไม่ตรงต่อเวลาถือเป็นเรื่องใหญ่
วิลเลียม เมคพีซ เธเยอร์ (William Makepeace Thayer) นักเขียนชาวอเมริกันอธิบายถึงความตรงต่อเวลาเอาไว้ว่า “ความกระฉับเฉงและตรงต่อเวลาแผ่ขยายไปในทุกสิ่ง ทั้งการพบปะเพื่อนฝูง การไปโบสถ์ การทำงาน การรักษาสัญญา การเข้านอนตอนกลางคืนและตื่นในตอนเช้า แถมยังสอดแทรกอยู่ในทุกความสัมพันธ์และการกระทำ แม้ว่ามันอาจจะดูเป็นสิ่งที่เล็กน้อยมากก็ตาม”
คำพูดของวิลเลียมสะท้อนว่า การให้ความเคารพซึ่งเวลาที่นัดหมายหรือวางแผนไว้นับเป็นสิ่งสำคัญซึ่งยึดโยงอยู่กับทุกอย่างในชีวิตประจำวัน แม้หลายครั้ง เราจะมองว่าสายนิดสายหน่อยไม่เห็นเป็นไร ทว่าแท้ที่จริง สิ่งนี้อาจเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบความสัมพันธ์ได้โดยง่าย
คนบางกลุ่มแสดงทรรศนะว่า ‘การมาสายแสดงถึงความไม่รับผิดชอบ’
‘เฮ้ย มันขนาดนั้นเลยเหรอ’ เราคิดในใจ ก่อนจะพบว่ามันก็จริงพอสมควร เพราะต่อให้เป็นนัดหมายที่เล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม การไปช้ากว่าเวลานัดย่อมบ่งชี้ถึงความไม่รับผิดชอบ และสิ่งนี้ไม่ต่างอะไรเลยกับการส่งงานสายหรือไปพบแพทย์ช้ากว่าเวลาที่กำหนด
จริงอยู่ที่ว่า บางครั้งการสายก็มาพร้อมเหตุผลแห่งความจำเป็นอันเป็นเรื่องที่เพื่อนในกลุ่มเข้าใจได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า อีกหลายครั้งที่เหลือ การมาช้าของเราหรือของเพื่อนก็ไม่ได้สาเหตุอะไรมากมายไปกว่าการเฉื่อยชาและไม่อยากเร่งรีบ
“แกรู้มั้ยว่าการมาสายคือการเอาเปรียบคนอื่น” เพื่อนคนหนึ่งตำหนิเพื่อนอีกคนที่เพิ่งมาถึงได้ไม่นาน
เราที่เห็นด้วยได้แต่ผสมโรงในใจ หึ! ใช่เลย ถ้าเพื่อนบอกตั้งแต่แรกว่าจะสายขนาดนี้ เราก็คงได้ทำงานบ้านต่ออีกนิด แต่งหน้าต่อได้อีกหน่อย และดีไม่ดีอาจจะเดินทางมาด้วยรถเมล์ได้โดยไม่ต้องรีบโบกแท็กซี่ขึ้นทางด่วน กลายเป็นเราต้องเสียเวลาและเงินโดยใช่เหตุไปไม่รู้เท่าไหร่ ในขณะที่เพื่อน นอกจากจะตื่นนอนแบบสบายๆ แล้วยังมาถึงโดยไม่ต้องรอคนอื่นเลย
และแล้ว เมื่อใครสักคนมาสาย มื้อที่ควรจะเต็มไปด้วยความสุข การดูหนังแสนสนุก หรือกระทั่งการนั่งคาเฟ่ในบ่ายวันหยุดก็จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยพลังงานลบของคนที่มาถึงก่อน
เราถูกสอนให้เป็นคนสายๆ
เพราะอะไรการตรงต่อเวลาจึงเป็นเรื่องยากอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนไทย แน่นอนว่าสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเราถูกปลูกฝังให้เป็นคนง่ายๆ ยืดหยุ่น รู้จักให้อภัย และการสายแทบจะไม่เคยเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในประเทศนี้
ระบบขนส่งสาธารณะของไทยไม่เคยมีเวลาแน่ชัด ระบบราชการที่ควรจะรวดเร็วก็ล่าช้า ระบบการรักษาพยาบาลที่น่าจะเร่งด่วนก็ต้องไปต่อคิวตั้งแต่เช้ามืด ทุกอย่างล้วนหล่อหลอมและบอกกับเราว่าต้องคอยให้เป็น เย็นให้พอ และรอให้ได้ เป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ที่มีชื่อว่า ‘ตรงต่อเวลา’ แถมยังเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนธรรมดาที่ไปถึงตรงตามนัดดูเป็นคนที่แปลกประหลาดในสังคม
ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม ตัดพ้อถึงปรากฏการณ์นี้ไว้ใน Post Today ว่า
“แต่ก่อนพฤติกรรม ‘ไม่ตรงเวลา’ ในห้อง ไม่ได้เกิดกับเด็กนักเรียนที่มาสาย ครูหลายคน ตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม จนถึงอุดมศึกษา ก็มาสายให้เห็น สมัยนี้ไม่รู้ยังมีหรือไม่ แต่ฟังเสียงเล่ารอบตัวก็รู้ว่ายังหนักหนาสาหัส ไม่ต่างจากเดิมเท่าไร”
“นึกย้อนไปถึงตอนเรียนลูกเสือ ยังมีเพลงตรงต่อเวลาออกมาเตือนสติ หลายคนยังพอจำได้ ‘ตรงต่อเวลา พวกเราต้องมาให้ตรงเวลา เราเกิดมาเป็นคนต้องหมั่นฝึกตนให้ตรงเวลา วันคืนไม่คอยท่า วันเวลาไม่เคยคอยใคร’”
“ทุกคนพร่ำสอน ตรงต่อเวลา สุดท้ายคนสอนก็ไม่เที่ยงตรง เลยไม่ศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่ต้องมาเป็นประธานในพิธี ยังมาสายให้แขกนั่งรอจนตูดเปียก นับประสาอะไรจะมาเป็นแบบอย่างเยาวชน”
หากไม่นับเรื่องฉุกเฉินซึ่งบังเอิญเกิดขึ้นจนใครบางคนจำต้องมาสาย เราก็คงจำต้องยอมรับว่าบริบทมากมายต่างขัดเกลาให้การสายซึมลึกเข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอของใครหลายคน ท้ายที่สุด กระทั่งผู้ที่ครอบครัวสอนให้รู้จักตรงเวลาก็ค่อยๆ กลายเป็นคนสายๆ เพราะไม่อยากรู้สึกแปลกแยกหรือต้องมาถึงคนแรกและนั่งรอเพื่อนเพียงลำพัง
จำใจบอกไปว่า ‘ใกล้ถึง’
สิ่งหนึ่งที่ชาวตรงเวลาอยากรู้มากที่สุดคือ ในเมื่อรู้อยู่แก่ใจว่าจะมาสายแน่ๆ แทนที่จะเอื้อนเอ่ยอย่างตรงไปตรงมา เพราะอะไรเจ้าตัวจึงเลือกที่จะโกหกออกมาว่าใกล้ถึง
- กลัวเกินกว่าจะบอกความจริง (ทั้งที่อีกเดี๋ยวคนอื่นก็รู้อยู่ดี)
- เป็นกลไกแสดงออกที่ช่วยให้ตัวเองรู้สึกผิดน้อยลง (อันนี้เข้าใจได้)
- อยากให้อีกฝ่ายรู้สีกดีและมีความหวังในการรอมากขึ้น (เหรอ?)
ในฐานะคนรอ เราก็เห็นด้วยว่า ถ้อยคำเหล่านี้ให้ผลลัพธ์เชิงบวกบ้างในบางครั้ง ทว่าอีกหลายต่อหลายครั้ง มันยิ่งทำให้บรรยากาศเลวร้ายแบบกู่ไม่กลับ เรารู้สึกเสียเวลา เราไม่เข้าใจว่าทำไมไม่บอกกันตรงๆ จะได้ทำอย่างอื่นรอ พูดง่ายๆ คือถ้าพูดมาแต่แรกว่าน่าจะสายกี่นาที (หรือกี่ชั่วโมง) เราก็คงรู้สึกแย่ที่ต้องรอน้อยกว่านี้
ถึง…พวกที่ชอบมาสาย
ก่อนอื่นเลยอยากให้เลิกคิดว่าสายนิดๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะการมาสายเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้อาจค่อยๆ กัดกร่อนความสัมพันธ์ของเราไปอย่างไม่ทันตั้งตัว ยิ่งเราสายน้อย เพื่อนก็อาจพยายามมองข้ามและไม่บ่นอะไรมาก แต่ยิ่งนานวันเข้า พวกเขาก็อาจจะทนเราน้อยลง…เชื่อเถอะว่าไม่มีใครอยากเสียเวลาไปกับการรอหรอก
เพราะฉะนั้น ถ้าคิดว่าตัวเองเป็นคนติดสาย คราวหน้าก็ลองเผื่อเวลาสักหน่อย ตื่นให้เร็วขึ้น อาบน้ำให้ไวกว่าเดิม การเป็นคนตรงเวลาอาจจะทำได้ยาก แต่หากค่อยๆ ปรับ เราก็เชื่อว่าทุกคนทำได้แน่ และมันจะส่งผลดีทั้งต่อครอบครัว เพื่อน คนรัก รวมไปถึงการทำงานเลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าวันไหนรู้แน่ๆ ว่าจะไปสาย สิ่งที่ควรทำคือการกลั้นใจและยอมรับออกไปตรงๆ ว่าสายมากน้อยแค่ไหน สายเล็กน้อยก็บอกเล็กน้อย ช้าเป็นชั่วโมงก็บอกไปตามจริง โทษหนักจะได้กลายเป็นเบา และเพื่อนของเราก็จะได้หากิจกรรมที่เหมาะสมทำฆ่าเวลา
อย่างไรก็ดี เราก็หวังว่าฝั่งของผู้รอจะคงความยืดหยุ่นเอาไว้มากพอ เพราะในบางนัด การสายเล็กน้อยก็ไม่ได้ส่งผลมากมายขนาดนั้น หากตึงเกิน เคร่งไป สุดท้ายคนที่อึดอัดก็คือเราเอง และที่สำคัญ เราต้องไม่ลืมว่าในบางสถานการณ์ เพื่อนของเราก็อาจมีความจำเป็นให้ต้องมาสายจริงๆ ก็ได้
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิด เราไม่ได้จะสื่อว่าการมาสายคือสิ่งที่ถูกต้องและทุกคนควรให้อภัย เพราะอย่างไรเสียก็ไม่มีใครควรต้องรอคนอื่นโดยไร้จุดหมายปลายทาง นัดก็คือนัด เป็นข้อตกลงที่ทุกฝ่ายเลือกที่จะยอมรับ ถ้าคิดว่าไปไม่ทันก็ควรบอกกันไว้แต่เนิ่นๆ เพราะที่แน่ๆ มันดีกว่าการบอกว่าจะมาสายในวันจริงที่เพื่อนทั้งกลุ่มไปถึงร้านที่นัดกันแล้ว
‘เฮ้ย ตื่นสายอีกแล้วว่ะ ไปช้าชัวร์ แต่ไม่เป็นไร ก็บอกเพื่อนว่าใกล้ถึงแบบทุกทีนั่นแหละ…’
ถ้าเพื่อนยังทนได้ก็แปลว่าเขารักคุณมากพอ แต่ถ้าเขาช่างน้ำหนักแล้วพบว่า การรอไม่คุ้มค่าเมื่อไหร่ล่ะก็…
คุณอาจต้องเสียเพื่อนที่เคยบอกเขาว่า “ใกล้ถึงแล้ว” ไปอีกหนึ่งคน
อ้างอิงข้อมูล