กีต้าร์ตัวเดิมที่เคยฝึกเล่นช่วงปิดเทอม รองเท้าเดินป่าคู่เก่าที่เคยใส่เมื่อนานมาแล้ว ขวดไวน์ถูกบรรจุด้วยดอกไม้ หนังสือการ์ตูนกองพะเนินที่ยังอ่านไม่จบ เมื่อกวาดสายตาไปเห็นของเหล่านี้ก็พลันนึกขึ้นมาว่า เราเองเคยมีกิจกรรมในชีวิตมากมายขนาดไหน แต่อีกใจหนึ่งก็รู้ดีว่า กิจกรรมแต่ละอย่างนั้นถูกส่งต่อมาจากความสัมพันธ์ในอดีตที่แต่ละคนทิ้งไว้ ซึ่งของแต่ละชิ้นก็ไม่ได้มีเจ้าของคนเดียว
บางครั้งเวลาเราเผลอเลื่อนไปดูรูปเก่าๆ ในโทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดีย ก็เหมือนได้อ่านไดอารี่ ได้กลับไปเห็นเรื่องราวบางอย่างที่เราลืมไป โชคดีที่ยังมีรูปเหล่านั้นเป็นหลักฐานยืนยันว่าสิ่งไหนเคยเกิดขึ้นบ้าง เช่นเดียวกับข้าวของบางอย่างที่เคยโปรดปรานในช่วงหนึ่ง แม้ตอนนี้จะฝุ่นจับเพราะไม่ได้หยิบมาใช้ หรือลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่ามันอยู่ตรงนั้น แต่การมีอยู่ของมันในวันนี้ก็ช่วยยืนยันว่า ในวันนั้นเราเคยชอบมันขนาดไหน
กีต้าร์ตัวเดิมที่อยู่มุมนั้นมาตลอด ใครคนหนึ่งเคยเล่นเพลงโปรดของเขาให้ฟัง สอนให้เราเล่นตามในจังหวะง่ายๆ ทั้งที่ปกติแล้วเราไม่ได้ชอบฟังเพลงแบบเดียวกับเขาสักนิด รองเท้าเดินป่าที่เคยใส่ หลังจากเลิกรากับใครอีกคนไปก็ไม่ได้หยิบมาใส่อีกเลย แน่ล่ะ เพราะแค่ออกไปซื้อข้าวเองยังคิดแล้วคิดอีก ตอนนั้่นเราฝ่าความลำบากขนาดนั้นได้ยังไงกันนะ
เห็นข้าวของแล้วนึกถึงเรื่องราวที่ผ่านมา เราเองก็ผ่านกิจกรรมในชีวิตมามากมาย ได้ลองมีไลฟ์สไตล์แบบต่างๆ แม้มันจะมาจากความสัมพันธ์คนละช่วงเวลา มีแฟนชอบดนตรีเราก็ลองเล่นดนตรี มีแฟนสายลุยเราก็ลุยตาม มีแฟนแบบไหนเราก็ลองเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ไปตามนั้น ในมุมหนึ่งก็ถือเป็นประสบการณ์ดีๆ ในชีวิตของเราเหมือนกัน เพราะถ้าเราไม่ได้มีแฟนเป็นเขาคนนั้น เราก็คงไม่มีโอกาสได้ลุกมาลองทำอะไรใหม่ๆ สักเท่าไหร่
แต่บางแวบในใจก็กังวลขึ้นมา ทั้งหมดนั่นหมายความว่า เราเปลี่ยนการใช้ชีวิตไปตามคนรักในช่วงเวลานั้นๆ หมดเลยงั้นเหรอ?
ทั้งที่ผ่านมาหากไม่สังเกตดีๆ เราเองก็คิดว่าตัวเองมีไลฟ์สไตล์ มีชีวิตเป็นของตัวเองมาตลอด ไม่เคยรู้เลยว่าเราปล่อยใจให้เขาเข้ามามีอิทธิพลกับเราขนาดนี้ แถมไม่ได้เป็นกับแค่คนเดียว แต่เราเลือกจะเปลี่ยนอะไรบางอย่างไปตามคนรัก โดยไม่สังเกตตัวเอง(ในตอนนั้น)ด้วยซ้ำ ทำไมเราถึงเลือกทำแบบนั้นกันนะ?
เปลี่ยนแฟนไป ทำไมเราเปลี่ยนแปลง?
คนเราเปลี่ยนไปไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย ไม่ว่าจะไลฟ์สไตล์หรือนิสัยส่วนตัวก็ตาม นั่นเพราะอะไร? ลองมาฟังคำตอบจากเมดิลีน เอ ฟยูเกอร์ (Madeleine A. Fugère) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จาก Eastern Connecticut State University ซึ่งเล่าในงานวิจัยเรื่อง Life Events and Personality Change: A Systematic Review and Meta-Analysis ว่าการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับนิสัย และความพึงพอใจในชีวิตที่ต่างออกไป ยิ่งถ้าชีวิตได้ผ่านช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง ยิ่งมีแนวโน้มจะเปลี่ยนมากขึ้นด้วย
ในงานวิจัยที่ว่านั้นเน้นศึกษาไปยังลักษณะนิสัย 5 ประการ ได้แก่ การเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ความมั่นคงทางอารมณ์ อินโทรเวิร์ต/เอ็กโทรเวิร์ต ความมีมโนธรรม และความโอนอ่อนผ่อนตาม อะไรเหล่านี้ถูกนับว่าเป็นแกนหลักของนิสัย รวมถึงการเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) และความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งล้วนเป็นลักษณะนิสัยที่สังเกตเห็นได้ และอะไรเหล่านี้นี่แหละมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงมากที่สุด
แล้วลักษณะนิสัยของคนเราจะเปลี่ยนไปในโอกาสไหนบ้าง? แน่นอนว่างานวิจัยนี้มองไปที่การเปลี่ยนแปลงตัวเองในความสัมพันธ์ เหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่จะเปลี่ยนนิสัยเราไปนั้น ย่อมเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ด้วย ได้แก่ การเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ แต่งงาน มีลูก แยกกันอยู่ หย่าร้าง หรือเป็นม่าย หากมีอันต้องผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ก็ไม่แปลกเลยที่นิสัยที่เราแสดงออกมา หรือนิสัยที่คนรอบข้างสังเกตได้ จะเปลี่ยนไปด้วย
ดังนั้น ก็สบายใจได้เลยนะว่าการเปลี่ยนแปลงนิสัยและความพึงพอใจในมุมจิตวิทยา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่ผิดแปลกอะไรเลย
ทีนี้กลับมาที่คำถามต้นเรื่องของเรา ว่าทำไมเราถึงเลือกเปลี่ยนตัวเองไปตามคนรักของเรา ไม่ว่าจะทั้งตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และรู้ตัวหรือไม่รู้ก็ตาม?
ส่งไม้ต่อมาที่เอริก้า บี สล็อตเตอร์ (Erica B Slotter) นักจิตวิทยาสังคม เจ้าของงานวิจัย Where do “You” end and “I” begin? Pre-emptive self-other inclusion as a motivated process ซึ่งตีพิมพ์บน Journal of Personality and Social Psychology ในปี 2009 ที่ชี้เรื่องนี้อย่างตรงจุดว่า เวลาเรามีความสัมพันธ์แบบโรแมนติกกับใครสักคน ไม่ว่าจะเพิ่งเริ่มปิ๊ง หรืออยู่ในห้วงรักไปแล้วก็ตาม คนเรามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อตัวเองไปตามคนที่เราปิ๊งด้วย
วิธีที่ใช้วิจัยก็แสบเอาเรื่อง โดยผู้วิจัยจะพาคนมารู้จักคู่เดตของตัวเอง ผ่านโปรไฟล์ที่ใส่ความชอบปลอมๆ ลงไป อย่างความสนใจในกีฬา ดนตรี ศิลปะ หรืออะไรก็ตามที่ตอนแรกเจ้าตัวบอกว่าตัวเองไม่ได้สนใจเลยสักนิด ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่า พอผู้เข้าร่วมทดลองได้เจอคนที่ถูกใจ พวกเขาจะบอกว่าตัวเองก็สนใจสิ่งนั้นอยู่บ้างเหมือนกัน (เอ้า!)
นั่นหมายความว่า ต่อให้เราบอกว่าชีวิตนี้ฉันไม่เคยสนใจทำนู่นนี่มาก่อน แต่ถ้าหากเราไปปิ๊งใครคนหนึ่งเข้าแล้วเขาสนใจอะไร เราก็ยินดีจะเปิดใจสนใจในสิ่งนั้นขึ้นมาบ้าง แถมมีโมเมด้วยว่า ฉันเองก็สนใจอยู่บ้างตั้งนานแล้วล่ะ นั่นจึงไม่แปลกเลยที่บางครั้งเราจะหันไปใช้ชีวิตแบบเดียวกับคนรักของเรา ทั้งอาจเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ งานอดิเรก กิจวัตรประจำวัน หรือแม้แต่นิสัยก็ตาม
แต่งานวิจัยชิ้นที่ว่านี้เนี่ย ค่อนข้างเอนเอียงไปทางนิสัยและความชอบที่เป็นแง่บวกเสียมากกว่า (หมายถึงพวกนิสัยที่ใส่ไปในโปรไฟล์ปลอม เพื่อหลอกผู้เข้าร่วมทดลอง) ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงมีแต่อะไรด้านบวก ว่าเราพร้อมจะเปลี่ยนไปให้เข้ากับชีวิตคนที่เรารัก แล้วถ้าเป็นนิสัยในด้านลบล่ะ หากเรารู้ว่าคนที่เราปิ๊งมีนิสัยแย่ๆ บางอย่าง เราจะเปลี่ยนตัวเองไปตามนั้นมั้ย?
งานวิจัยชิ้นถัดมาของเอริก้าในปี 2012 และ 2016 จึงศึกษาต่อไปอีกว่า คนเราจะเปลี่ยนไปตามคนรักในแง่ลบไหม แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้เราเลือกเปลี่ยนไปในด้านบวกหรือลบ คำตอบที่ได้นั้นก็ออกมาค่อนข้างน่าตกใจ (แต่ก็ไม่น่าประหลาดใจ) ตรงที่ ใช่ มีคนพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปในด้านลบตามคนรักด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะนิสัยด้านลบในระดับกลาง เช่น ซุ่มซ่าม ไม่เป็นระเบียบ เอ้อระเหย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเลือกว่าจะเปลี่ยนไปตามคนรักในด้านบวกหรือลบนั้น คือ self-esteem ที่เรามีต่อตัวเราเอง คนที่มี self-esteem สูงจะมองตัวเองในแง่ดี ซึ่งมักเลือกทำตามนิสัยหรือกิจกรรมในด้านดีของคนรักมากกว่า ส่วนคนที่ self-esteem ต่ำจะมองตัวเองในแง่ร้าย โดยมักเลือกทำตามนิสัยด้านลบของคนรัก เพื่อให้อีกฝ่ายพึงพอใจและเห็นว่าเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน
น่าสนใจตรงที่ข้อสรุปของเรื่องนี้คือ คนเรามักเปลี่ยนไปตามคนรักเหมือนกันหมด (และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร) ไม่ว่าเราจะ self-esteem สูงหรือต่ำ หรือการมองตัวเองในแง่ดีหรือแง่ร้าย แต่จะเปลี่ยนไปแบบไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิธีที่เรามองตัวเองเหมือนกัน ถ้าเรามองตัวเองในแง่ร้าย เราก็ไม่ยี่หระที่จะรับเอานิสัยแง่ลบของอีกฝ่ายมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าฉันทำได้นะ เราเป็นคนแบบเดียวกันนะ ในทางกลับกัน คนที่มองตัวเองในแง่ดี มีความเคารพในตัวเอง และเห็นคุณค่าตัวเอง ก็มักเลือกอะไรที่ไม่ขัดต่อมุมมองที่มีต่อตัวเองเช่นกัน
ดังนั้น ก็คงไม่ใช่เรื่องผิดซะทีเดียวเลย หากเราจะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ นิสัย ไปตามแฟนเรื่อยๆ ในเมื่อคนเรามันก็ชอบหลายแบบ อยากลองหลายอย่างได้ ก็นับเป็นประสบการณ์หนึ่งในชีวิตไม่ใช่หรือ ถ้าช่วงเวลานั้นที่ได้ลองทำ เราได้มีความสุขไปกับมัน แค่นั้นก็เพียงพอให้ตัดสินใจได้แล้วล่ะ
จุดที่เราควรจะวังจึงเป็นเรื่องเปลี่ยนไปในทิศทางไหนมากกว่า หากเริ่มต้นด้วยการปรับตัวเองให้แย่ลง เช่น รับเอานิสัยในแง่ลบของเขามา ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองไม่อยากทำ ไม่ส่งผลดีกับชีวิตในภาพรวม หรือออกจะสร้างปัญหาให้ชีวิตเดิม เราอาจจะต้องพิจารณาแล้วว่า ความสัมพันธ์ที่ทำให้เราเปลี่ยนไปแบบนี้จะพาเราไปสู่ความรักแบบไหนกัน
หากมีรักครั้งใหม่ อย่าลืมลองสังเกตตัวเองกันนะว่า รักครั้งนี้กำลังพาเราไปในทิศทางไหน จะได้รู้ในเบื้องต้นว่า เรากำลังก้าวตามเขาไปด้านไหนกันแน่?
อ้างอิงจาก