“เรารู้สึกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว”
คบหากับแฟนมาหลายสิบปี จู่ๆ ความรู้สึกหลายอย่างก็เปลี่ยนไป ราวกับว่าความรักที่เริ่มก่อร่างมาด้วยกันตั้งแต่ต้น ดันหล่นหายไปไหนก็ไม่รู้ กิจกรรมต่างๆ ที่เคยชวนกันทำแล้วเอนจอย ก็กลับไม่สามารถสร้างความสุขให้กับเราได้อีกต่อไป
ตอนแรกก็แอบคิดในใจว่า มันก็คงเป็นแค่ความรู้สึกเบื่อหน่าย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตามกาลเวลา ทว่ายิ่งเวลาล่วงเลย ก็ยิ่งเริ่มมั่นใจว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตอนนี้มันไม่ใช่ความเบื่อ แต่มันคือความรู้สึกหมดรักอีกฝ่ายไปแล้วต่างหาก
ทั้งที่อยู่ด้วยกันจนความสัมพันธ์แนบแน่น เวลาหมุนไปข้างหน้าก็ควรช่วยให้ความสัมพันธ์ไปในทางที่ดีขึ้นแท้ๆ แต่มันกลับตรงกันข้าม กลายมาเป็นความรู้สึกหมดรัก ซึ่งก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่วันนี้มันได้เริ่มทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว แล้วไอความรู้สึกหมดรักนี่มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง อะไรที่กระตุ้นมันให้เกิดขึ้นมา
หมดรักเกิดขึ้นได้ยังไง
จากที่เคยรักกันดี พอมาวันนี้ดันหมดรักเขาซะแล้ว เข้าใจนะว่าความรู้สึกคนมันเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แต่ใครจะไปคิดว่าความรู้สึกคนเราจะเปลี่ยนไปจนกระทบถึงความสัมพันธ์ขนาดนี้
แต่กว่าจะมาถึงวันที่เรารู้สึกเช่นนี้กันได้ ก็คงต้องใช้เวลามานานพอสมควร เพราะความรักไม่ใช่แค่เรื่องของความรู้สึก แต่มันมีกระบวนการในสมองที่ซับซ้อนมากกว่าที่เราคิด ริชาร์ด ชวาตซ์ (Richard Schwartz)และ แจคลิน โอลส์ (Jacqueline Olds) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและชีวิตคู่จาก Harvard Medical School ได้อธิบายเอาไว้ว่า เมื่อเราตกหลุมรักใครสักคน สมองส่วนของ Caudate nucleus ที่เกี่ยวข้องกับความคาดหวังรางวัล และ Ventral tegmental area ที่เกี่ยวข้องกับความสุขและความต้องการ จะทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเห็นหรือคิดถึงคนที่รัก
นอกจากนี้ ระหว่างที่สมองทั้ง 2 ส่วนกำลังทำงาน ก็จะหลั่งสารโดพามีน (dopamine) หรือสารแห่งความสุขออกมา ยิ่งในช่วงแรกที่ความรักผลิบาน ปริมาณคอติซอล (Cortisol) ฮอร์โมนเกี่ยวกับความเครียดจะเพิ่มมากขึ้น ทว่าเซโรโทนิน (Serotonin) สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์จะลดลง ทำให้เรารู้สึกคลั่งรักหรือหลงใหลอีกฝ่ายมากเป็นพิเศษ
และแน่นอนว่า ความรู้สึกรักมันก็อาจไม่ได้จีรังยั่งยืนไปตลอด และมันอาจมีวันถดถอยลงด้วยเช่นกัน แคทเธอรีน ฟรานเซน (Catherine Franssen) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและผู้อำนวยการด้านประสาทวิทยาแห่ง Longwood University กล่าวว่า ความรู้สึกหมดรักเองก็เกิดจากกระบวนการทำงานในสมองของเรา ผ่านการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและสารสื่อประสาท เช่น เมื่อความรู้สึกดีๆ ระหว่างเราและคู่รักเริ่มหมดไป สารโดพามีนที่เคยหลั่งออกมาในตอนแรกก็จะลดลง สมองก็จะปรับความเข้าใจ พร้อมมองว่า ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถทำให้เรารู้สึกมีความสุขได้อีกต่อไปแล้ว
เพราะฉะนั้นแล้ว ความรักจึงเป็นความรู้สึกที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอด ขึ้นอยู่กับว่าต้นรักที่เรากับอีกฝ่ายร่วมกับปลูกขึ้นมา ได้รับการดูแลและใส่ใจมากน้อยแค่ไหน เพราะหากวันใดวันหนึ่งต้นรักเริ่มเหี่ยวเฉา ความรู้สึกหมดรักก็อาจเดินเข้ามาทักทายได้
สัญญาณเมื่อเราเริ่มหมดรัก
เรารู้แล้วแหละว่าการหมดรักมันคืออะไร แล้วเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ว่าแต่กว่าจะรู้สึกหมดรักได้ มันจะมีสัญญาณอะไร สามารถช่วยบอกเราล่วงหน้าได้บ้างมั้ยนะ
ใช่ว่าการหมดใจจู่ๆ จะรู้สึกปุบปับขึ้นมาเลยเสียเมื่อไหร่ มันก็อาจต้องใช้เวลาบ่มเพาะความรู้สึกนี้มาเช่นกัน มาร์ก เทรเวอร์ส (Mark Travers) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา การศึกษา และความสัมพันธ์ เผย 5 สัญญาณ ที่จะช่วยเตือนเราให้รู้ว่า เรากำลังใกล้หมดใจกับคู่รักของเราแล้ว
- เลิกมองเขาด้วยความเข้าใจและอ่อนโยนเหมือนแต่ก่อน
เวลาอีกฝ่ายทำผิด แต่ก่อนเราก็เข้าใจและให้อภัยเขาอย่างง่ายดาย แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เรากลับเริ่มมองเขาเปลี่ยนไป แม้จะทำผิดเพียงเล็กน้อย เราก็เริ่มตั้งแง่และไม่อยากให้อภัยเขาอีกต่อไป ความเมตตาที่เราเคยมอบให้อีกฝ่ายอย่างเต็มใจ มันก็อาจไม่มีอีกต่อไปแล้ว จนท้ายที่สุด เราจะเริ่มปฏิบัติต่ออีกฝ่ายโดยปราศจากความชอบ พร้อมมีความรู้สึกอื่นเข้ามาแทน
- เริ่มจะตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์อีกฝ่ายมากขึ้น
แรกๆ ก็แซวกันเอาพอขำ แต่เมื่อเวลาผ่านไป คำแซวที่เคยตลกขบขัน ก็ถูกแทนที่ด้วยความจริงจัง เริ่มตำหนิหรือวิจารณ์อีกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาหรือเธอเริ่มทำให้คุณรู้สึกไม่พอใจ ซึ่งบางครั้งมันอาจรุนแรงถึงขั้นพูดคำหยาบคายหรือคำที่ไม่เหมาะสมใส่กัน
- เริ่มตั้งการ์ดใส่อีกฝ่ายมากขึ้น
เมื่อความรักที่เคยมีเริ่มจางหาย คำพูดเล็กๆ น้อยๆ ของอีกฝ่ายก็อาจกระตุ้นความรู้สึกเรามากขึ้น แม้จะเป็นคำพูดเล็กๆ น้อยๆ เราอาจเผลอตอบโต้กลับทันทีแบบไม่รู้ตัว อาจด้วยคำพูดประชดประชัน รวมถึงใช้คำพูดแรงๆ อย่างที่เราเองก็ไม่เคยใช้กับอีกฝ่ายมาก่อน
- ความเฉยเมยต่ออีกฝ่ายเริ่มก่อตัวขึ้น
แต่ก่อนพอมีปัญหาจิ๊บจ๊อยแค่ไหน แค่เขาหรือเธอโทรมา เราก็พร้อมจะตรงดิ่งไปช่วยเหลือ พอมาวันนี้ เรากลับรู้สึกไม่อยากให้ความช่วยเหลือเขาอีกต่อไป เริ่มเมินข้อความหรือสายเรียกเข้าจากอีกฝ่าย รวมถึงเวลาที่อีกฝ่ายเริ่มบ่นถึงปัญหาขิงข่าในแต่ละวัน ก็อาจมีความรู้สึกรำคาญหรือไม่อยากรับรู้แทรกขึ้นมาในความรู้สึกของเรา
- ความตื่นเต้นเริ่มจางหายไปในความสัมพันธ์
ความผูกผันที่เคยมีให้กัน กลายเป็นความห่างเหิน ความน่ารัก ความเอาใจใส่ ตลอดจนรอยยิ้มที่เคยทำให้เรายิ้มได้ กลับไม่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นเหมือนเคยแล้ว รู้ตัวอีกที เราก็เริ่มถอยห่างออกจากความสัมพันธ์มาเรื่อยๆ จนบางครั้งก็แอบคิดแล้ว ‘หากเราได้ลองออกเดตกับคนอื่นดูบ้าง จะเป็นยังไงต่อไปนะ’
แล้วเราจะทำยังไงต่อ เมื่อเราหมดรักกับใครสักคน
เมื่อความรู้สึกหลายอย่างระหว่างเรากับคนรักที่เคยมีกันท่วมท้น เริ่มถูกแทนที่ด้วยความเฉยเมย จนความรู้สึกหมดรักเริ่มก่อตัว ก่อนความรู้สึกนั้นจะเข้ามานั่งแทนที่ฝ่ายตรงข้ามในหัวใจ เราจะสามารถจัดการหรือรับมือกับมันได้บ้างไหม
แน่นอนว่า ถ้าเลือกได้ ก็คงไม่มีใครอยากรู้สึกหมดรักกับคนที่เราร่วมกันสร้างความสัมพันธ์มาจนถึงขนาดนี้หรอก แต่บางความรู้สึกก็ใช่ว่าจะเลือกเวลาเกิด คาร์ลา มารี แมนลี (Carla Marie Manly) นักจิตวิทยาคลินิก และ แบรนดอน ซานทัน (Brandon Santan) นักบำบัดการแต่งงานและครอบครัว ได้แนะนำว่า เราอาจลองพิจารณาและทบทวนความรู้สึกของเราให้ดีว่า ความรู้สึกหมดรักของเรามันเกิดขึ้นจากอีกฝ่าย หรือเกิดขึ้นจากเพียงแค่ความเครียด ความทุกข์ หรือปัญหาภายนอก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับตัวอีกฝ่าย หากเป็นเช่นนี้ เราก็ควรจะจัดการที่ตัวเราเองมากกว่า
หากต้นตอปัญหาที่ทำให้เกิดความรู้สึกหมดรัก มาจากคู่รักของเราเอง ทั้ง คาร์ลา มารี แมนลี และแบรนดอน ซานทัน ก็ได้แนะนำให้เราลองประเมินว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาชั่วครั้งชั่วคราวหรือปัญหาเรื้อรัง ซึ่งการพิจารณาในส่วนนี้จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่า ความสัมพันธ์ในครั้งนี้ของเรายังสามารถกอบกู้ขึ้นมาได้หรือไม่
อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องของเราเพียงคนเดียว แต่มันเป็นเรื่องของคน 2 คน ดังนั้น ต้องไม่ลืมที่จะหันหน้าไปพูดคุยกัน ยิ่งเราสื่อสารออกไปมากเท่าไหร่ ก็อาจช่วยให้อีกฝ่ายเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของเราทั้งคู่เอาไว้ ไม่ให้พังทลายได้
ท้ายสุดแล้ว ผู้ที่ต้องทำหน้าที่ตัดสินใจ ก็คือตัวขอเราเอง หากคิดว่าความสัมพันธ์มันยังสามารถกอบกู้ขึ้นมาและเดินต่อไปข้างหน้าได้ ก็ลองช่วยกันเริ่มต้นสร้างมันขึ้นมาใหม่อีกครั้งก็ไม่สาย ทว่าหากเรารู้สึกว่า ความรู้สึกที่เคยมีมันเหลวแหลกจนหยิบขึ้นมาต่อไม่ติดแล้ว การตัดสินใจจะยุติก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด เพียงแต่ก่อนจะตัดสินใจอะไรลงไป เราก็ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนและรอบคอบเสมอ
หัวใจสำคัญของการมีชีวิตคู่ คือการสื่อสารและเข้าใจกัน ไม่ว่าความรู้สึกใดจะเกิดขึ้นมาก็ตาม ยิ่งมันกระทบต่อความสัมพันธ์ของเราด้วยแล้ว ก็ยิ่งควรหันหน้าเข้าหากันและจับมือพูดคุย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างก็ได้รับสิ่งที่ตนเองต้องการ โดยที่สุดท้ายมันจะต้องไม่ไปทำร้ายความรู้สึกกันและกันในภายหลัง
ไม่ว่าความสัมพันธ์จะไปต่อหรือหยุดลง การยอมรับต่อความรู้สึกตัวเองได้ในวันนี้ ก็คือจุดเริ่มต้นที่ดีในการดูแลหัวใจของเรา
อ้างอิงจาก