เวลานึกถึงคำว่าไดอารี่ที่รัก ฟังดูแล้วก็จั๊กจี้
บ้านเราอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับการเขียนไดอารี่กันเท่าไหร่ แต่ในวัฒนธรรมแบบตะวันตก การเขียนไดอารี่ถือเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างแพร่หลาย มีตั้งแต่การเขียนบันทึกเรื่องราวระบายความรู้สึกต่างๆ ตั้งแต่ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการเขียนบันทึกประกอบการเดินทาง การเขียนไดอารี่นอกจากจะเป็นการบันทึกเรื่องราวในแต่ละวันแล้ว การเขียนบันทึกยังให้ประโยชน์ทางสุขภาพ เป็นการทบทวนและระบายสิ่งที่อยู่ในใจ
ในวัฒนธรรมตะวันตก ไดอารี่สมัยใหม่แบบที่มีการบันทึกรายวันและมีการครุ่นคิดเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตย้อนไปได้ในสมัยกลาง—ยุคสมัยแห่งความเคร่งครัดทางศาสนา การเขียนไดอารี่เป็นการทบทวนความรู้สึกภายในกับเรื่องราวที่ได้เผชิญภายนอก เป็นการสำรวจและทบทวนตัวเองเพื่อผลประโยชน์ทางจิตวิญญาณ ในสมัยเรอเนซองส์ยุคถัดมา ความเคร่งครัดทางศาสนาคลายลง ผู้คนก็ยังคงบันทึกเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตต่อไป เพิ่มเติมคือการใส่ความรู้สึกเช่นความหวังและความกลัวลงไปประกอบด้วย
เวลาเราพูดถึงการเขียนไดอารี่เรามักคิดถึงกิจกรรมจุกจิกของสาวน้อย แต่การบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวันไม่ว่าด้วยลีลาแบบเคร่งขรึมหรือแบบสนทนากับไดอารี่ นักวิจัยพบว่าการเขียนในชีวิตประจำวันนี้ให้ประโยชน์ในทางสุขภาพและทางจิตใจกับเราด้วย
James Pennebaker นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย University of Texas at Austin เชื่อว่าการเขียนบันทึกประจำวันถือเป็นการจัดการความเครียดที่มีประสิทธิภาพรูปแบบหนึ่ง ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย มีหลักฐานพบว่าการเขียนสัมพันธ์กับสมองข้างซ้าย ในขณะที่เราจับปากกาเขียนด้วยสมองฝั่งตรรกะและเหตุผลพร้อมๆ กับให้อิสระกับสมองข้างขวาได้ปลดปล่อยและสำรวจอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ
ผลโดยรวมของการเขียนบันทึกในฐานะของการระบายความเครียดจึงส่งผลเชิงบวก จากการที่เราได้เขียนความคิดและความรู้ต่างๆ ลงไป
Jane McCartney นักจิตวิทยาอาชีพบอกว่าการเขียนความคิดที่เรากำลังคิดวนเวียนในหัวลงไปในกระดาษเป็นการระบายความหมกมุ่นของเราลงไป ช่วยลดปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับได้ นอกจากนี้การเขียนยังทำให้เราเข้าใจและรู้จักตัวเองมากขึ้น แก้ปัญหาที่กำลังเผชิญได้ดีขึ้น บางครั้งการเขียนระบายช่วยลดความรู้สึกขัดแย้งระหว่างบุคคลลงได้ด้วย เขียนระบายไปแล้วพอเจอหน้าก็ตึงเครียดน้อยลง
อ้างอิงข้อมูลจาก