“เธอเป็นอะไรรึเปล่า?”
“ไม่มั้ง”
คนที่ถามได้ยินคำตอบนี้เป็นร้อยๆ ครั้งมาแล้วจากเรา ที่เขาถามตั้งแต่แรกอาจเป็นเพราะว่าบางอย่างในตาของเรากำลังส่งเสียงที่ไม่มีใครได้ยินออกมา ตาเหม่อลอยราวกับสติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เปลือกตาลู่ลงเล็กน้อยราวกับมันแบกความเศร้าเอาไว้โดยไม่รู้ตัว ขอบตาคล้ำเข้มเหมือนคนพักผ่อนไม่พอ จากการตื่นมองเพดานห้องนานเกินไป หรืออาจจากการสะดุ้งตื่นตอนเช้าจากความกังวลที่เราไม่อาจชี้ให้ใครเห็นได้ว่าคืออะไร
คำตอบของเราไม่ได้จะกวนโอ๊ยใครทั้งนั้น คำตอบสั้นห้วนที่ไม่หมายความว่าอะไรเลย เพราะเราไม่รู้จริงๆ ว่าความรู้สึกหนักอึ้งไร้คำเรียกนี้คืออะไร เมื่อไม่มีอะไรร้ายๆ เกิดขึ้นกับเรา ไม่ได้เกิดความสูญเสียที่ใหญ่หลวง ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในชีวิต เราจะเล่าสิ่งที่อยู่ข้างในออกไปได้อย่างไร หากเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เรารู้สึกอยู่คืออะไร?
มันคือสิ่งที่ทำให้ตัวของเราหนักอึ้งจนไม่อาจลุกจากเตียงในตอนเช้า สมองที่ดึงความคิดความอ่านของเราเอาไว้ที่ไหนจนไม่อยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างเต็มที่ ความรู้สึกที่หนาหนัก ใหญ่โต โศกเศร้า แต่ล่องหนไปพร้อมกัน บางทีสิ่งนั้นอาจคือสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า Tiny Trauma ก็เป็นได้
Death By a Thousand Cuts
เวลาเราพูดถึง Trauma หรือแผลใจ ภาพจำที่เรามีคือเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่กระทบกระทั่งเราอย่างหนัก เหมือนอุกกาบาตตกใส่เราแล้วเปลี่ยนโลกที่เรารู้จักไปอย่างสิ้นเชิง เรียกว่าเรามักนึกถึงแผลใจ ว่าเป็นแผลเปลี่ยนชีวิตขนาดใหญ่ที่ติดตัวเราไปชั่วชีวิต แต่นักจิตวิทยาผู้ทำงานร่วมกับ The British Psychological Society เม็ก อาโรล์ (Meg Arroll) นำเสนอแผลใจอีกรูปแบบออกมาในหนังสือของเธอ Tiny Traumas
“เมื่อคุณไม่รู้ว่าอะไรที่ผิดปกติ แต่รู้แน่ว่าไม่มีอะไรถูกต้องเลย” คือคำอธิบายสั้นๆ บนหน้าปกหนังสือของเธอ โดยความหมายขอ Tiny Trauma คือแผลเล็กๆ น้อยๆ ที่เราเจอระหว่างการใช้ชีวิต “คำพูดที่เลินเล่อของบางคนจากการทำงาน กากตกค้างของการรู้สึกว่าตัวเองเป็นแกะดำในครอบครัว รอยขีดข่วนมากโขจากการเหยียดหยาม การหักหลัง และความคาดหวังสังคมที่ไม่ว่าใครก็ไปไม่ถึง” เธออธิบาย
พูดอย่างเปรียบเปรยคือ เมื่อเราเป็นแผลใหญ่ เรารู้สึกเจ็บปวดถึงขีดสุด และเรารู้แน่ๆ ว่าความเจ็บปวดเหล่านั้นมาจากไอ้แผลนี้นี่แหละ เพราะมันยากเกินกว่าจะมองข้าม แต่เมื่อเราพูดถึงแผลเล็กๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ทั่วตัวของเรา แน่นอนว่ามันไม่เจ็บเท่าในทีเดียว แต่กว่าเราจะรู้ตัวว่าร่างกายของเราเริ่มรับมันไม่ไหว เราก็ไม่รู้อีกต่อไปแล้วว่าแผลเล็กๆ ที่เราชินชาเหล่านี้รอยใดมาจากไหน
ตัวอย่างเล็กที่สุดอย่าง เช่นเสียงนาฬิกาปลุกยามเช้า อาจก่อความรู้สึกว่าสังคมบังคับให้เราต้องเร่งรัดตลอดไป ความคาดหวังของการต้องเป็นคนที่สมบูรณ์แบบอาจโผล่ขึ้นมาเมื่อเรานึกถึงพ่อแม่ของเรา ผู้อาจเป็นตัวอย่างที่ดีหรือไม่ดีแก่เรา การโดนพูดขัดในที่ทำงาน การถูกล่วงเกินขอบเขต การต่อไม่ติดกับเพื่อนสมัยเรียนอาจทำให้เราวิตกต่อความเปราะบางของสัมพันธ์มนุษย์ ฯลฯ เป็นบางตัวอย่างของแผลเหล่านั้น
เมื่อเรามองชีวิตของเราทุกวันนี้ จะเป็นไปได้เหรอ ที่เราจะไม่มีแผลเหล่านี้?
i hate this city
ลองนึกภาพว่าแต่ละวันเราต้องตื่นมาเจออะไรบ้างในประเทศไทย มองไปนอกหน้าต่างคอนโดค่าเช่าแพงกระเป๋าเงินแทบฉีก เราเห็นฝุ่น PM 2.5 นอกหน้าต่าง ถ้าเป็นคนกรุงเทพฯ เราอาจต้องฮึบลงตึกไปเพื่อนึกว่าเราจะทรมานจากอะไรดี ระหว่างการเบียดรถเมล์ เบียดรถไฟฟ้า หรือการเบียดกับรถคันอื่นบนท้องถนน แต่หากเป็นบางจังหวัดเราก็อาจคิดว่า ทำไมเราไม่มีแม้แต่ตัวเลือกขนส่งสาธารณะด้วยซ้ำกันนะ ทั้งหมดนั่นเพื่อต้องไปเจอกับงานประจำกลืนชีวิต ที่ไม่ได้จ่ายเรามากพอจะยึดเป็นงานเดียวได้ด้วยซ้ำ คิดเช่นนั้นเสร็จก็ต้องมาคิดว่าจะต้องทำแบบนั้นอีกตอนขากลับ และวนมันซ้ำทุกวันไปอีกตลอดชีวิต จนไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าเราจะได้เกษียณหรือเปล่า
คงไม่ใช่ความเห็นที่แปลกไปนักถ้าจะบอกว่าที่ที่เรายืนอยู่นี้สร้างบาดแผลให้เราทุกเมื่อเชื่อวัน รอยแผลเล็กๆ ที่เกิดได้จากทั้งสิ่งที่คาดเดาได้และไม่อาจคาดเดาได้ จราจรที่แน่นเกินไป ค่าครองชีพที่สูงเกินไป เงินเดือนที่น้อยเกินไป อากาศที่ร้อนเกินไป ทางเท้าที่ห่วยเกินไป นั่นยังไม่รวมกับเมื่อเราต้องการจะหลบหนีโลกของความเป็นจริงไปยังหน้าโซเชียลมีเดีย สมองของเราก็ไม่อาจหยุดตัวเองที่จะเปรียบตัวของเรากับคนรอบตัวเราได้ แผลเล็กๆ อีกแผลจากการเปรียบเทียบและความเหลื่อมล้ำ
มากไปกว่านั้น หลายๆ ครั้งเมื่อเราเริ่มนึกถึงแหล่งที่มาของมัน เริ่มเผยใจของเราออกไปยังใครหลายๆ คน คำตอบที่ได้กลับมาบางครั้งก็ทำให้เราไม่อยากพูดอะไรออกไปเลย “ทำใจเหอะ” “ใครๆ ก็เจอ” “ยังไม่ชินอีกเหรอ” และใครจะไปรู้ หากเราชินชากับมันมากพอ เราอาจจะเริ่มเป็นแบบนั้นก็ได้ จริงหรือเปล่านะ?
ไม่จริงเสมอไป
Welcome Change
“ทนๆ ไปเหอะ” น่าจะขึ้นแท่นเป็นคำพูดประจำชาติของเราได้เลย มันมาได้ทั้งจากเพื่อนที่เราปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องของเรา มาจากพ่อแม่ผู้มาจากยุคสมัยที่ไม่ยอมพูดเกี่ยวกับปัญหาอะไรเลย หรือเหล่ามนุษย์นักโค้ชผู้บอกให้เรากัดฟันต่อไป เราจะผ่านทุกอย่างไปได้หากเราอดทน แต่นั่นเป็นวิธีคิดของมนุษย์จริงๆ หรือ? เราไม่ต้องหาคำตอบของสิ่งข้างในแล้วหลับหูหลับตาด้วยใจชาชิน เพื่อให้ผ่านวันวันหนึ่งไปได้จริงๆ อย่างนั้นหรือ?
มนุษย์อาจไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้ทำแบบนั้นก็เป็นได้ เพราะเราแต่ละคนมีกลไกภายในที่ชื่อว่า Cognitive Dissonance ความรู้สึกอึดอัดภายในใจ ที่เกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่เราเชื่อหรือความนึกคิดของเรา กับสิ่งที่เราแสดงออกและกระทำออกมานั้นขัดกัน ความไม่ลงรอยดังกล่าวเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น การเลือกฟังเพลงจากศิลปินที่มีความเชื่อทางการเมืองขัดกับเรา หรือการซื้อสินค้าจากนายทุนที่เราไม่อยากสนับสนุน ไปจนการพยายามหยุดคิดหาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งที่สร้างบาดแผลให้กับเรา
วิธีการที่เราจะสามารถจัดการกับความไม่ลงรอยนี้ไม่ได้มีรูปแบบเดียว แน่ล่ะ เราอาจจะสามารถพยายามสร้างมุมมองโลกใหม่ให้กับตัวเองไปเลยก็ได้ หากแต่มันเป็นวิธีที่ยากและอาศัยแรงเยอะมากๆ การพยายามดัดงอความเป็นจริงของโลกทั้งใบให้เข้ากับมุมมองตัวเองที่หลุดลอยออกไปนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ยั่งยืน เราจะทำยังไงเมื่อมีคนบอกเราว่าความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเราจะทำยังไง?
อีกวิธีที่เราทำได้คือการตั้งคำถามอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับประเด็นเหล่านั้น ทำไมเรากำลังอึดอัด? ทำไมเราถึงไม่สบายใจ? ทำไมมันไม่มีอะไรที่ไม่ถูกสักนิดในโลกที่เรายืนอยู่? เมื่อรู้ไปแล้วท่านั้นเราจึงจะสามารถค่อยๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงน้อยใหญ่ให้เราหลุดพ้นจากบาดแผลน้อยๆ ที่ทับถมเราเหล่านั้นได้
นั่นอาจเป็นความโหดร้ายของการเป็นมนุษย์ เราอยู่ในโลกที่ทำร้ายเราทุกวันอย่างเล็กๆ น้อยๆ พร้อมโดนบอกเสมอว่าเราไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จงชินไปกับมัน แต่หากมองในอีกมุม เราอาจเห็นคนจำนวนมากในโลกในสังคมของเราที่เจ็บปวดแบบเดียวกันอยู่มากมาย
ฉะนั้นด้วยแรงของเราทุกคน นี่อาจเป็นโอกาสของเราที่จะร่วมมือกันในการสร้างโลกที่ไม่ทิ้งแผลให้ใครอีกเลยแล้วหรือไม่?
อ้างอิงจาก