“เดี๋ยวโตไปก็รู้เอง”
คำพูดดังกล่าวมักสร้างความรำคาญเมื่อมีใครมาพูดกับเรา แต่เมื่อเราโตขึ้นแล้วเผลอมองกับไปในสิ่งที่เราเคยไม่เข้าใจนั้นๆ เราก็นึกได้ว่าเราเข้าใจมันได้ ก็เพราะเราโตขึ้นจริงๆ แต่น่าแปลก เนื่องจากเรามักนึกภาพความเปลี่ยนแปลงในชีวิตว่ามันต้องเป็นเรื่องใหญ่ มองเห็นชัด นี่มันคือตัวเราชัดๆ แต่ทำไมเราถึงไม่รู้ว่าเราเปลี่ยนไป แล้วกลับต้องมาถามตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าเรารู้รึเปล่าว่าเราเปลี่ยนไปตรงไหนบ้าง?
ตลอดชีวิตของเรา เราเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อาจเรียกได้ว่าในทุกวินาที แต่เกือบทุกครั้งกว่าเราจะรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง มันก็เกิดขึ้นไปแล้วโดยไม่ทันตั้งตัว มากไปกว่านั้นผลกระทบที่ตามมาจากการเปลี่ยนนั้นๆ ก็อาจเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อยู่มาวันหนึ่ง เราและเพื่อนที่เคยสนิทด้วยก็ห่างหายออกจากกันไปเพราะเราอาจต้องเดินทางไปยังจุดใหม่ๆ ในชีวิต คนที่เราเคยคิดว่าจะรักตลอดไปก็อาจเดินจากไปเพราะภาพอนาคตของเราอาจไม่เหมือนกันอีกต่อไป บ่อยครั้งเราหันมองตัวเองที่เปลี่ยนแปลงไป เราอาจแปลกใจกับคนที่เรากำลังเป็นเลยด้วยซ้ำ
อะไรบ้างที่มีส่วนในความเปลี่ยนแปลงของเรา? เวลาและอายุควบคุมทุกอย่างในชีวิตเราเลยหรือเปล่า?
ยิ่งโตยิ่งระวัง
เวลาและอายุเปลี่ยนแปลงเราแม้แต่ในระดับพื้นฐานที่สุด นั่นคือการตัดสินใจ หนึ่งงานวิจัที่พูดเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวคือ Effect of Aging on Change of Intention โดย เอเรียล เฟอสเตนเบิร์ก (Ariel Furstenberg) จากคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันฟิสิกส์แรคคา มหาวิทยาลัย The Hebrew University of Jerusalem
เกือบทุกอย่างที่เราทำในชีวิตคือการตัดสินใจ การเปลี่ยนแปลงในวิธีคิดของเราเกี่ยวกับการตัดสินใจ ถึงแม้จะฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่ได้ใหญ่มาก แต่ก็อาจแปลได้ว่าเมื่อความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ มาถึง ทุกการกระทำในชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปทั้งหมดก็เป็นได้ การทดลองของงานวิจัยชิ้นนี้พาเราไปดูถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น โดยผู้วิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ นั่นคือกลุ่มแรกเป็นคนอายุ 18-25 ปี และอีกกลุ่มเป็นคนอายุ 41-67 ปี แล้วแยก 2 กลุ่มครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มหนึ่งได้รับข้อมูลก่อนว่าในห้องที่จะเข้าไปมีอะไรบ้าง อีกกลุ่มรู้เพียงข้อมูลพื้นฐานของตัวเอง
การทดลองเป็นการทดสอบการตัดสินใจที่พื้นฐานที่สุด นั่นคือการเลือกกดปุ่มลูกศรซ้ายหรือขวาในห้องสลัว คีย์บอร์ดบนหน้าตัก และจอทีวีแสดงภาพลูกศร >>, << หรือ <><> ทำหน้าที่สิ่งเร้าเพื่อบอกให้กลุ่มตัวอย่างกดปุ่มไหน โดยผู้วิจัยต้องการวัดความเร็วและความถูกต้องของการกดปุ่มนั้นๆ พร้อมกับพฤติกรรมระหว่างกดเพื่อคำนวณถึงความมั่นใจและความเป็นไปได้ที่คนคนหนึ่งจะเปลี่ยนใจในการตัดสินใจของเรา
ผลการทดลองออกมาว่าทั้งกลุ่มเด็กและกลุ่มโตได้รับผลกระทบจากการแจ้งข้อมูลหรือไม่แจ้งข้อมูลการทดลองทั้งคู่ แต่ว่ากลุ่มที่โตกว่ามีโอกาสที่จะแลกความเร็วในการกดไปกับการมองให้แน่ใจก่อนว่าลูกศรบนจอชี้ทางไหน พวกเขามีปฏิกิริยาช้ากว่า และพลาดน้อยกว่า “แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างโตกว่าจะมีทิศทางการตัดสินใจค่อนข้างไปทิศทางเดียวกันกับกลุ่มเด็ก พวกเขาช้ากว่า รอบคอบกว่า และจบการตัดสินใจขั้นตอนการตัดสินใจให้เสร็จก่อนที่จะให้ระบบประสาทสั่งการทำงาน ต่างจากกลุ่มเด็กที่ระบบดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่กับการตัดสินใจ” ผู้วิจัยเขียน
เราอาจแปลผลการทดลองนี้ได้ว่าเมื่อเราเติบโตขึ้น อะไรบางอย่างในร่างกายเราเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราตัดสิน แม้แต่เรื่องที่ง่ายที่สุดเช่นการกดปุ่มตามคำสั่ง เราช้าลง แม้จะมีประสบการณ์มากขึ้น เราอาจใช้สัญชาตญาณน้อยลง แต่คิดกลั่นกรองมากขึ้น แล้วเราเป็นเช่นนั้นหรือเปล่าในเรื่องที่ใหญ่กว่านี้? ในวัยหนึ่งเราคนหนึ่งอาจจะเลือกอะไรตามใจตัวเอง เลือกความสัมพันธ์ที่มีเพียงรัก เลือกใช้เวลากับเพื่อนที่มอบความสนุกให้กับเราเท่านั้น แต่เมื่อโตขึ้นเมื่ออยู่ดีๆ เราก็มีสิ่งที่เรียกว่าความปรารถนาอื่นๆ เข้ามา ความรักจะสู้ความมั่นคงได้หรือไม่? ความสนุกจะเทียบเทียมความก้าวหน้าได้ขนาดไหน? ไม่มีตัวเลือกไหนที่ผิด แต่จากที่เรามักไม่เคยคิด อยู่ดีๆ เราก็คิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเวลาและวัย
นอกจากวัยและเวลา
เวลาเปลี่ยนทุกอย่าง นั่นคือเรื่องจริง แต่ว่าสำหรับมนุษย์ มีเพียงเวลาเท่านั้นหรือไม่ที่เปลี่ยนเรา? ชีวิตมีมิติมากกว่านั้นแน่นอน งานวิจัย Personality Development in Emerging Adulthood—How the Perception of Life Events and Mindset Affect Personality Trait Change โดย ยันเทอ เดอ ฟริซ (Jantje De Vries) จากคณะจิตวิทยาบุคลิกภาพ มหาวิทยลัย Freie Universität Berlin เป็นงานวิจัยที่พูดเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพของเราเมื่อพบเจอเข้ากับหลักไมล์ของชีวิต
งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มจากการมองกลุ่มตัวอย่างผ่านบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ หรือ Big 5 Personality Factors นั่นคือความไม่มั่นคงทางอารมณ์ การเปิดตัว การเปิดรับประสบการณ์ ความเป็นมิตร และการมีจิตสำนึก เพื่อจัดกลุ่มให้แก่กลุ่มตัวอย่าง แล้วมองไปยังวิธีคิด (Mindset) ของพวกเขา หลังจากนั้นผู้วิจัยเก็บข้อมูลอีกครั้งเมื่อกลุ่มตัวอย่างพบเจอกับเหตุการณ์สำคัญในชีวิต 2 เหตุ นั่นคือการเรียนจบ และการย้ายออกจากบ้าน แล้วเก็บข้อมูลเพิ่มเติมว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นประสบการณ์แง่บวกหรือลบขนาดไหน
ผลการทดลองพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วเวลาและวัยทำให้ระดับค่ามีนของ Big 5 สูงขึ้น ซึ่งอาจอธิบายได้จากความจำเป็นต้องเติบโตของคน การต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น หรือการต้องเริ่มประกอบอาชีพ และแม้ว่าเหตุการณ์สำคัญของการเรียนจบและการย้ายออกจากบ้านจะไม่มีผลกระทบกับภาพของ Big 5 โดยรวม เมื่อผู้วิจัยนำมุมมองบวกและลบต่อเหตุการณ์นั้นๆ เข้ามาพิจารณาควบคู่กันไปด้วยทำให้เห็นภาพที่แตกต่าง
“เมื่อกลุ่มตัวอย่างมองภาพการเรียนจบเป็นประสบกาณณ์แง่ลบ เราพบว่าพวกเขามีระดับความไม่มั่นคงทางอารมณ์สูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม เมื่อมองมันเป็นบวก ความกล้าเปิดตน (Extraversion) ของพวกเขาสูงขึ้น” ผู้วิจัยเขียน และยังพูดว่าหากกลุ่มตัวอย่างมีวิธีคิด Growth Mindset พวกเขาจะมีระดับการเปิดตนสูงขึ้น ไม่ว่าจะมองประสบการณ์ของเหตุการณ์ในชีวิตลบหรือบวก
งานวิจัยชิ้นนี้บอกกับเราว่านอกจากเวลาและวัย ประสบการณ์และเหตุการณ์ในชีวิตของเราส่งผลกับการเติบโตของเรา เราต่างคนต่างโตมาไม่เหมือนกัน มองโลกไม่เหมือนกัน และไม่เป็นคนแบบเดียวกัน ในการเปลี่ยนแปลงช่วงชีวิตของแต่ละคนมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป คนที่แตกต่างกันอยู่แล้วก็ยิ่งแตกต่างกันไปมากขึ้น ฉะนั้นจึงไม่แปลกเลยที่การจากลาจะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ
แต่บางทีก็โชคดีที่เราเจอคนที่อยู่กับเราได้ แม้ว่าตัวตนของเราและเขาจะไม่เหมือนเดิม
อ้างอิงจาก