เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราขึ้นไปถึงยอดเขาที่เราหมายตามาตลอด?
ยอดเขาที่เรามองมาตั้งแต่วัยเด็ก ใช้เวลาฝึกฝนและเดินทางไปหามันมาทั้งชีวิต ตลอดจนพัฒนาตัวเองขึ้นเล็กๆ น้อยๆ จนเกิดความสำเร็จย่อยๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง แต่ตาของเราก็ยังคงจับจ้องยอดเขานั้น หลายปีต่อมาหลังการปีนป่าย การเดิน การร่วงหล่น การริเริ่มปีนใหม่ ทุกความสุขความทุกข์ ทุกหยาดเหงื่อและน้ำตา สุดท้ายเราสามารถขึ้นมายืนอยู่บนยอดเขา บนจุดสูงสุดที่หมายตามาตลอด แต่จากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น?
บ่อยครั้งสิ่งที่ตามมาหลังความภาคภูมิใจและความสุขชั่วครู่คราว คือคำถามว่าแล้วจะทำอะไรต่อ? คำถามที่ตามมาด้วยการมองไปหาจุดที่สูงกว่า สู่ยอดเขาอื่นๆ ที่ไกลสุดลูกหูลูกตา สู่ท้องฟ้าและดวงดาว ราวกับว่าเราไม่อาจเห็นปลายทางที่แท้จริง แต่สิ่งที่รู้แน่ๆ ว่ามีนั้นคือการปีนป่าย
เมื่อนำเรื่องราวเหล่านั้นมาใช้ในชีวิตจริงของเรา และย้อนกลับไปมองความสำเร็จในอดีตของเรา การได้คะแนนอันดับหนึ่งในห้องเรียน การสอบติดโรงเรียนที่มีชื่อเสียง การสอบติดมหาวิทยาลัยแนวหน้า การได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง การได้งานนามสกุลเจ๋งจากสายงานที่เราต้องการทำมาตลอด การเจอคนรักที่สมบูรณ์แบบสำหรับเราที่เข้ากันไปได้เสียทุกเรื่อง ผู้ว่าฯ ที่เราเลือกได้รับตำแหน่ง ฯลฯ ระหว่างการเดินทาง หมุดหมายเหล่านั้นดูเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะมีได้ในชีวิต แต่เมื่อได้รับมันมาแล้ว เรากลับรู้สึกว่ามันเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการเดินทางของเรา และตาของเรายังมองหายอดเขาอยู่เสมอ สายตาคงมองไปยังคนรอบตัวที่ดูเหมือนว่าเขาจะปีนป่ายได้สูงและไวกว่าเราตลอดไป
ทำไมเราถึงไม่อาจรู้สึกเติมเต็มกับที่ที่เรายืนอยู่? คำตอบสำหรับคำถามดังกล่าวมีหลายระดับ ระดับแรกคือในร่างกายและการวิวัฒนาการของเรา
มนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบให้อยู่ในภาวะพึงพอใจได้นาน คือหนึ่งในข้อสรุปหยาบๆ ของบทความวิชาการ Bad Is Stronger Than Good โดย รอย เบาไมส์เตอร์ (Roy Baumeister) เอลเล็น บราตสลาฟสกี (Ellen Bratslavsky) แคทริน ฟินเคอนอยเออร์ (Catrin Finkenauer) และแคทลีน โวส์ (Kathleen Vohs) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคสเวสเทิร์นและมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม
งานวิชาการชิ้นดังกล่าว ผู้วิจัยตั้งสมมติฐานที่เรียบง่าย คือสิ่งที่แย่มีความแข็งแกร่งกว่าสิ่งที่ดี โดยเหตุผลของสมมติฐานเหล่านั้นมาจากการสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์ว่า โดยปกติแล้วเราให้ความสนใจในสิ่งที่ไม่ดีมากกว่าสิ่งดี “ความรู้สึกแย่ๆ ผู้ปกครองแย่ๆ ผลตอบรับแย่ๆ เหล่านี้มีผลกระทบสูงกว่าสิ่งดีๆ เราวิเคราะห์ข้อมูลแง่ลบละเอียดกว่าแง่บวก และในการสร้างตัวตน เรามีแรงผลักดันในการหลีกเลี่ยงการสร้างตัวตนแย่ๆ มากกว่าการพยายามสร้างตัวตนที่ดี” พวกเขาเขียนในบทคัดย่อ
ในข้อสนับสนุนสมมติฐานนั้นๆ ผู้วิจัยอธิบายว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวทางวิวัฒนาการ สิ่งมีชีวิตที่ให้ค่าสิ่งแย่ๆ สูงกว่าสิ่งดี ย่อมมีโอกาสที่จะอยู่รอดจากภัยอันตรายได้มากกว่า เมื่ออยู่รอดแล้วก็มีโอกาสสูงกว่าที่จะสามารถสืบพันธุ์แล้วส่งต่อยีนของพวกเขาไปสู่รุ่นถัดไปได้ และมันก็สืบทอดมาจนถึงพวกเราในปัจจุบันนี้
ในบทความดังกล่าว ผู้วิจัยทั้ง 4 ยังเสาะหาและรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเปรียบเทียบความแข็งแกร่งของเรื่องในแง่บวกและลบ เริ่มตั้งแต่ท่าทีการแสดงออกต่อเหตุการณ์ต่างๆ ความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ อารมณ์ความรู้สึก การเรียนรู้ การเจริญเติบโต การตีความข้อมูล ความทรงจำ ความประทับใจแรก ฯลฯ และผลสรุปที่พวกเขาได้คือ “เราพบว่าสิ่งแย่ๆ นั้นแข็งแกร่งกว่าสิ่งดีอย่างโหดร้ายและน่าผิดหวัง” เนื่องจากในทุกแง่มุมและพื้นที่ ดูเหมือนว่าประสบการณ์และการหล่อหลอมที่แตกต่างไม่ได้ช่วยให้เรามองเรื่องต่างๆ ในแง่ดีมากขึ้น
แน่นอนว่าในทุกวันนี้เราไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวสัตว์นักล่าแห่งพงไพร ว่าจะมากระโดดงับคอมนุษย์ที่อ่อนแอไร้เขี้ยวเล็บอีกต่อไปแล้ว แต่ในเมื่อการให้ค่าสิ่งแย่ๆ สูงกว่าสิ่งดีในตัวของเรายังอยู่ มันก็จะทำงานของมันไปเรื่อยๆ กับสิ่งอื่นๆ ในสังคมมนุษย์ การงาน การเงิน ความรัก ความสัมพันธ์ ฯลฯ และมากไปกว่านั้น เราอาจเรียกอย่างเหมารวมได้ว่าการพัฒนาและการประดิษฐ์ใดๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น มาจากจุดประสงค์พื้นฐานว่า “ถ้ามีไอ้นี่เราคงสามารถขจัดความทุกข์ในสักแง่ได้”
อีกหนึ่งกลไกร่างกายของเราที่เกี่ยวข้องกับความไม่รู้สึกเติมเต็มเสียทีนี้เรียกว่า Hedonic Adaptation ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เมื่อคนคนหนึ่งพบเจอเหตุการณ์ที่ไม่ว่าดีหรือแย่ เราจะปรับตัวโดยอัตโนมัติเพื่อพยายามคงความรู้สึกตัวเองไว้ที่กึ่งกลาง นั่นแปลว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะแย่หรือดี สุดท้ายเราจะคุ้นชินไปกับมันอย่างรวดเร็ว การปีนไปถึงยอดเขาไม่ได้ทำให้เราเติมเต็มอย่างที่หวังไว้ได้ตลอดกาล แต่เป็นการเติมเต็มเพียงชั่วครู่ และการทำแบบเดิมกับภูเขาลูกอื่นๆ สุดท้ายแล้ว จากความรู้สึกสำเร็จจะกลายเป็นความคุ้นชิน และเมื่อผสมกันเข้ากับการมองเรื่องแย่ๆ มากกว่าเรื่องดี ยอดเขาของคนอื่นนั้นจึงดูสวยงาม กว้างขวาง และสูงส่งกว่าเราเสียเหลือเกิน
นอกจากทางด้านพันธุกรรมของเรา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งรอบตัวเราในปัจจุบัน ผลักให้เราต้องเดินหน้าหาความเติบโตอย่างไม่สิ้นสุด เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันในโซเชียลมีเดียว่าเขาไปได้ไกลกว่าเราขนาดไหน เห็นอินฟลูเอนเซอร์คนนั้นในไอจีว่าเขามีชีวิตดีขนาดนี้ได้ยังไง? ไลฟ์โค้ชคนนั้นเขาว่ามีทางที่จะเพิ่มความเติบโตให้เราได้ ถึงจะไม่ได้เชื่อนักหรอกนะ แต่ถ้ามันคือคำตอบของชีวิตเราจริงๆ เข้าล่ะ?
ความคิดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกปลอมเลย เพราะในหลากหลายแง่มุมของโลกปัจจุบัน ทำให้เราวางคุณค่าของตัวเองไว้บนความสำเร็จอยู่เสมอ ธรรมชาติของโซเชียลมีเดียที่มีจุดขายว่าเรากำลังติดตามชีวิตของใครสักคนอยู่ แปลว่าถ้าเราเห็นแต่ความสำเร็จคือคนคนนั้นมีแต่ความสำเร็จ ระบอบทุนนิยมที่เรียกร้องการเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งแม้แต่ในระดับบุคคล และเหล่าไลฟ์โค้ชที่บอกว่าการเติบโตเป็นทางเดียวในการใช้ชีวิต และการพยายามอธิบายเหตุผลว่าทำไมแนวคิดนั้นไม่ถูกต้อง กลับกลายเป็นเพียงข้ออ้าง
ทุนนิยมอยู่กับเรามายาวนาน แต่การมาถึงของโซเชียลมีเดียเป็นราวกับเครื่องกระจายเสียง ที่นำแนวคิดทุนนิยมจับเก็บเข้าสู่หีบห่อมากมายหลายหน้าตา แล้วแจกจ่ายมันสู่ทุกผู้ใช้อย่างไม่รู้ตัว งานวิจัยมากมายเชื่อมโยงการใช้โซเชียลมีเดียเข้ากับความไม่พึงพอใจในตัวเองและความรู้สึกไม่เติมเต็มอย่างไม่น่าแปลกใจ การเปรียบเทียบตัวเองกับตัวตนที่ถูกสร้างมาให้ที่เป็นไปไม่ได้เสมอๆ ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกนั้น และคนจำนวนมากเหลือเกินที่หยิบฉวยจุดอ่อนนี้ของมนุษย์มาใช้เป็นเครื่องมือ
การเติบโตไม่ใช่ตัวร้าย แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องเรียนรู้ด้วยว่าการเติบโตในแบบที่เราคุ้นชินนั้นไม่ใช่ทุกอย่าง การเอาชีวิตรอดในโลกปัจจุบันได้อย่างคงเส้นคงวา ไม่ต้องเติบโตแบบทะลุทะลวงได้นั้นก็ถือว่าเก่งมากๆ แล้ว และการเติบโตของเราแต่ละคนนั้นย่อมมีหน้าตาไม่เหมือนกัน การไม่ได้เติบโตเหมือนคนอื่นไม่ได้แปลว่าเราไม่เติบโตเลย
อย่างนั้นแล้วถ้าความไม่พึงพอใจเป็นสภาวะตั้งต้นของมนุษย์ นั่นแปลว่าเราควรยอมจำนนกับทุกอย่างไปเลยหรือเปล่า? ไม่มีอะไรมีความหมายเพราะทุกความสุขนั้นชั่วครู่คราว ฉะนั้นต้องหยุดหาความสุขแล้วยอมแพ้เสียแบบนั้นหรือเปล่า? นั่นก็ไม่น่าใช่ตัวเลือกที่ดีนักสำหรับชีวิตของเรา เพราะความไม่พึงพอใจเองก็สามารถเป็นอีกหนึ่งความหมายได้
ความไม่พึงพอใจ ความไม่เติมเต็ม ในหลากหลายกรณีอาจแปลความหมายได้ถึงความต้องการอันแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ทั้งสภาวะบ้านเมือง ผู้นำ ระบอบการปกครอง ฯลฯ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่ทำให้เรามีความสุขได้อย่างถาวร แต่มองไปยังอดีตของเราในฐานะมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงจำนวนมากทำให้โลกนั้นดีขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ความไม่พึงพอใจจึงมักเป็นจุดเริ่มต้นของมันอยู่เรื่อยไป
อ้างอิงข้อมูลจาก