ก่อนจะเริ่มต้นอะไรใดๆ ผมขอออกตัวก่อนนะครับว่าตัวผมเองนั้นเป็น ‘คนเหี้ย’ ครับ และเหี้ยโดยเปิดเผยด้วย แต่ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนเหี้ยอย่างเปิดเผยนี่เอง ทำให้ผมเองนั้นไม่ค่อยจะมี ‘ฟอร์ม หรือหน้าตา’ อะไรให้ต้องระวังมากนัก ว่าง่ายๆ ก็คือผมเป็นคนพร้อมไฝ้ว์ พร้อมวอร์มากๆ คนหนึ่ง และมาหยาบก็พร้อมหยาบกลับ ไม่ได้มีการสงวนท่าทีทำท่าเป็นนักวิชาการหรือลิเบอรัลผู้ดีอะไรนัก แต่เพราะอย่างนี้เองมันก็ทำให้ผมได้กลายมาเป็นที่ระบายให้กับเพื่อนๆ สายลิเบอรัลหลายคนที่จะมีอาการแบบที่จะบรรยายต่อไปนี้ด้วย
ผมคิดว่าน่าจะมีท่านผู้อ่านผู้มีจิตใจในแนวคิดสายเสรีนิยม หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ลิเบอรัล’’ (ที่หลังๆ มี ‘ลิเบอร่าน’ มาปนไม่น้อย ซึ่งกรณีนี้มีลักษณะยังไง แนะนำให้ไปอ่านบทความพี่หนุ่ม โตมรเคยเขียนไว้ดูนะครับ[1]) เนี่ยที่มีอาการคล้ายมิตรสหายผมไม่น้อย คือ เคยเจอปัญหาหนักใจ ปัญหาความเครียดสะสมที่มาจากการต้องทนฟังความพร่ำเพ้อกับอะไรที่ฟังดูไม่เป็นเหตุเป็นผลนัก (เรียกสั้นๆ ว่า ‘โง่ๆ’ นั่นแหละครับ) อยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ต้องทำตัวเป็นผู้ใจกว้างั่งฟังต่อไปแบบไม่ไปขัด
หลายครั้งหลายคนอาจจะพยายามอธิบายมากมาย เพื่อให้เขาได้เข้าใจความเป็นไป หรือเห็นความผิดพลาดในวิธีการคิดของเขาเอง แต่แล้ว พยายามอย่างไรก็ดูจะไม่เป็นผลนัก บางครั้งต่อให้เขาหรือเธอคนนั้นยอมรับและเข้าใจในคำอธิบายของเราแล้ว แต่ก็ยังยืนยันค้างคาอยู่กับความเชื่อเดิมๆ จนเราที่ต้องอยู่ด้วย ทนฟัง และต้องทำใจเปิดกว้างตามประสาลิบฯ ที่ดีนั้นกลับเป็นฝ่ายอึดอัดเอง ถึงขั้นเครียดเองก็ยังมี ทำไมมันจึงเป็นเช่นนี้ และเราควรจะทำอย่างไรดี?
ก่อนอื่นผมอยากจะขีดเส้นคำอธิบายให้ชัดก่อนว่าแบบไหนที่ผมเรียกว่า ‘แบบโง่ๆ’ คือ ความโง่นั้น มันไม่ควรต้องเป็นเรื่องกระมิดกระเมี้ยน แอบด่าอะไรนะครับ เพราะเป็นหัวข้อถกเถียงในทางวิชาการและปรัชญามานานแล้ว แน่นอนว่าอันนี้ถือว่าเข้าใจโดยทั่วกันนะครับว่ากำลังพูดคุยอยู่กับคนที่ไม่ได้มีอาการผิดปกติทางสมอง ไม่ว่าจะโดยกำเนิดหรือจากการประสบเหตุใดๆ ระหว่างดำเนินชีวิตอยู่ เรากำลังพูดถึงความโง่ที่อยู่กับคนทั่วๆ ไปในสังคมนี่แหละครับ
ความโง่ หรือพฤติกรรมโง่ๆ นั้น ผมคิดว่ามีในตัวทุกคนนั่นแหละครับ ซึ่งแล้วแต่เรื่องแล้วแต่วาระไป ไม่มีใครฉลาดไปเสียทุกเรื่องหรอกครับ โดยเฉพาะอยู่ต่อหน้าความรักแล้ว คนเราก็มักจะเป็นแค่ไอ้โง่คนหนึ่งกันเสมอ
ว่าแต่ความโง่นั้นมันหมายความว่าอะไร? จริงๆ แล้วผมเคยเขียนเรื่องนี้แบบเต็มๆ ไปแล้วในชิ้น ‘Kakistocracy: เมื่อประเทศถูกปกครองด้วยคนโง่’[2] ฉะนั้นผมจะขอแต่เพียงสรุปความมานะครับ (เต็มๆ ก็ตามไปอ่านของเก่าเอา) คือ โดยสรุปแล้วความโง่เท่าที่ความหมายถกเถียงกันมาได้นั้นก็คือ “การขาดแคลน (ช้า) หรือการไร้ซึ่งความสามารถในทางปัญญาที่จะทำความเข้าใจหรือคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลกับเรื่องที่กำลังพิจารณาอยู่” นั่นเองครับ
คีย์หลักของความโง่นั้นจึงดูจะอยู่ที่ ‘ความสามารถในการทำความเข้าใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล’ นั่นเอง ว่าง่ายๆ ก็คือ ความดันทุรังในการรังแต่จะเชื่อในสิ่งที่เราอยากจะเชื่อหรืออยากจะให้เป็นจริงตามนั้น ทั้งๆ ที่มันไม่ไปด้วยกันเลยกับข้อเท็จจริงหรือเหตุผล และเราเองก็ไม่สามารถ (หรือไม่ก็ ‘ไม่พยายาม’) บังคับตัวเองให้ฝืนความฝังใจของตนให้ผันไปตามความเป็นเหตุเป็นผลได้ นั่นเป็นอาการของความโง่ในฐานการนิยามแบบนี้ครับ
ตัวอย่างเช่น อย่างการเห็นๆ อยู่ว่าการประยุทธ์ จันทร์โอชาและ คสช. ซึ่งเป็นผู้เล่นโดยตรงคนหนึ่ง (แคนดิเดต) ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ (ถ้ามี) มีอำนาจในการเลือก ‘พรรคพวก’ ของตนเองเข้าไปนั่งในตำแหน่ง สว. ที่มีอำนาจตรงๆ ในการโหวตคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไปสำรองไว้แล้วถึง 250 คน (ส.ส. ทั้งหมด 500 คน) แปลว่ามี ‘พรรคพวก หรือคนที่ตัวเองคัดเลือกไปเองกับมือ’ พร้อมอำนาจเต็มไปรออยู่แล้วถึง 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด แถมยังมีวาระนานถึง 5 ปีคือ เลือกนายกรัฐมนตรีได้อย่างน้อยที่สุดก็ 2 สมัย (แน่นอนครับ บรรดาผู้นำเหล่าทัพ ก็ได้นั่งตำแหน่ง สว. นี้หมด ตามกฎหมาย) สิ่งนี้คือสิ่งที่เห็นได้ชัดๆ ตามการทำความเข้าใจในเชิงเหตุผลได้แน่นอนว่าคือการ ‘โกงการเลือกตั้ง’
โกงแบบเห็นๆ โกงแบบโจ่งแจ้งกว่านี้คงจะไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว ไม่มีทางที่การใช้ความเข้าใจในทางเหตุผล และคำอธิบายตามระบอบประชาธิปไตยใดๆ เลยจะทำให้เห็นเป็นอื่นได้ แต่มันก็ยังมีครับคนที่เชื่อจริงๆ ว่า ‘นี่ไม่ใช่การโกง’ หรือเป็นคนที่พูดอยู่เรื่อยๆ เต็มปากเต็มคำว่า ตนเองเกลียดการโกง หรือตนนั้นนิยมชมชอบในหลักการประชาธิปไตย แต่กลับมีใจหมายจะเชียร์คนที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากกลโกงนี้ คนที่มีวิธีคิดเหล่านี้นั้น ย่อมชัดเจนครับว่า ‘ไม่สามารถคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้’ เพราะสองสิ่งที่อ้างว่ารับได้นั้น ล้วนแต่ขัดกันเองอย่างไม่อาจลงรอยได้ และคนเหล่านี้จำนวนมาก แม้จะได้รับการอธิบายอย่างชัดแจ้งที่สุดเท่าที่เราจะมีความสามรถอธิบายแล้ว กระทั่งเขาเข้าใจในเหตุผลจนกระจ่างแล้ว แต่ก็ยังคงคิดแบบเดิมอยู่ดี…นั่นแปลว่า พวกเขานั้น ‘โง่’ ครับ อิงตามนิยามที่ว่ามา
คำถามก็คือ เราจำเป็นต้องทนฟังคนเหล่านี้พูดอะไรแบบนี้หรือเปล่า? ลิเบอรัลจำนวนมากต้องอุดปากและอดกลั้นตัวเองไว้ พยายามไม่ไปด่า (ทั้งที่ในใจของตัวเองกำลังกู่ร้องคำด่าดังก้องทรวง) หลายคนมองว่าหากไปด่าว่าคนเหล่านี้แบบเสียๆ หายๆ มากเกินไป จะทำให้สูญเสียแนวร่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ (อันนี้คือคิดแบบยุทธศาสตร์สักหน่อย) หรือบางคนก็มองว่า ต้องยอมรับและเคารพในความแตกต่างและหลากหลาย แล้วก็ทนฟังพวกนี้พูดต่อไป และกลับมานั่งเครียดเอง
ลักษณะที่เกิดขึ้นดังกล่าวมานี้ ในหมู่ลิเบอรัลผู้ดีนั้น โดยรวมๆ แล้วเราเรียกว่า ‘ภาระทางศีลธรรม’ หรือ Moral Burden ครับ
ภาระทางศีลธรรมคือคำรวมๆ ที่ใช้ในการอธิบายสภาพเงื่อนไขทางสังคมหรือจิตใจที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนข้ออ้างหรือสิ่งเหนี่ยวรั้งเหล่ามนุษย์ลิเบอรัล ทำให้พวกเขาต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อการกระทำที่เขาไม่เห็นด้วยของอีกฝั่งหนึ่งอย่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
ที่อาการนี้มักจะเกิดขึ้นกับเหล่าลิเบอรัลผู้ดี ก็เพราะนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980s เป็นต้นมา กระแสเรียกร้องทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ของเหล่าลิเบอรัลผู้ดีนั้นมีเพิ่มขึ้นมากครับ อย่างเรื่องความถูกต้องทางการเมือง (ที่เคยเอ่ยถึงไปแล้ว) ที่กลายเป็นเงื่อนไขห้ามเราพูดจาหรือสื่อสารอะไรที่มันมีลักษณะของการเหยียดเย้ยผู้อื่น (ต่อให้มันเป็นความจริงก็ตามที), เรื่องขันติธรรม (tolerance) ที่บอกให้เราต้องอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง, เรื่องพหุวัฒนธรรมนิยม (multiculturalism) ที่ให้เราเชิดชูความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและพยายามยอมรับเหง้ารากทางความคิดที่ไม่เหมือนเรา, หรือแม้แต่กระแสแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ (postmodernism) เองที่เข้ามาทำลายความเชื่อแบบ ‘อภิมหาเรื่องเล่า’ (Metanarrative) หรือก็คือ การพยายามให้ค่ากับเรื่องเล่า/วิธีคิดทุกแบบอย่างเท่าๆ กัน เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เองครับที่ได้กลายรวมๆ กันแล้วได้กลายมาเป็นภาระทางศีลธรรมที่เหล่าลิเบอรัลผู้ดี ผู้ปวารณาความคิดของตนเข้ากับสำนักคิดนี้มองว่า หากตนเองถือครองแนวคิดแบบลิเบอรัลนี้อยู่ ก็จะต้องถือครองเอาลักษณะดังกล่าวเหล่านี้เอาไว้ด้วย และทำให้มันกลายมาเป็นภาระในจิตใจของเราเองที่จะต้องถือครองไว้ ประหนึ่งบรรพชิตถือศีล 227 ข้อ แล้วก็ปล่อยให้เหล่าผู้ไม่ต้องถือครอง ‘ภาระทางศีลธรรม’ เหล่านี้ (เพราะไม่ได้ปวารณาตนเป็นลิเบอรัลกับเราอยู่แล้ว) พูดอะไรบ้าๆ ไปได้เรื่อยๆ หรือกระทั่งด่าเรามาแบบโต้งๆ โดยเราได้แต่ทนนั่งยุบหนอพองหนอให้เขาด่ามา แล้วเราก็ทนไป ท่องไปว่า “ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย”
สุดท้ายมนุษย์ลิเบอรัลผู้ถือศีลแห่งความอดกลั้นเหล่านี้ก็เป็นประสาทกันไปเอง เครียดจัด รู้สึกว่าโลกมันแย่ สังคมมันเลวร้าย อัดอั้นตันใจ ถึงขั้นตรอมใจก็พอจะเคยเจอมาแล้ว ในขณะที่เหล่ามนุษย์ฝ่ายขวาทั้งหลายนั้น กลับแฮปปี้ดี๊ด๊าไปวันๆ แม้จะมีชีวิตอยู่ในสังคมทรามๆ ผืนเดียวกันนี้ เพราะพวกเขาดูจะไม่ต้องมานั่งเก็บกดน้ำท่วมปากด้วยตบะแห่งเสรีนิยมอย่างลิเบอรัลผู้ดี บอกตามตรง ผมในฐานะคนเหี้ยที่เฝ้าสังเกตการณ์มิตรสหายผู้ถือครองตบะอันสูงส่งเหล่านี้ ผมก็ได้แต่ละเหี่ยใจ เพราะรู้สึกว่าไม่คุ้มกับการที่จะต้องมาทำตัวเป็นผู้ประเสริฐ ผู้เบิกบาน (แต่ในใจร้าวรานนัก) เลย เดี๋ยวได้บ้าตายกันเอาหมดเสียเปล่าๆ และพร้อมๆ กันไปก็รู้สึกว่าเพื่อนๆ ผมเอง อาจจะไม่เก็ทในสิ่งที่เขาคิดว่าเขาเชื่อจริงๆ หรือเปล่า?
ผมคิดว่ามันต้องแยกกันนะครับระหว่าง ‘การเคารพความเห็นโง่ๆ’ กับ ‘การยอมรับให้มีความเห็นโง่ๆ ได้’
ซึ่งสองอย่างนี้มันไม่เหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องไปเคารพครับ เราเพียงแต่ต้องยืนยันในพื้นที่ที่ฝ่ายขวา ฝ่ายอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม หรือใครก็ตาม จะแสดงความเห็นอะไรของเขาก็ย่อมทำได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องยืนยัน คือ การเปิดให้มีพื้นที่และโอกาส แต่เราไม่ได้จำเป็นต้องไป ‘เคารพ’ ในความคิดเห็นเหล่านั้น มันคนละเรื่องกันนะครับ
หากเราเห็นว่าสิ่งที่เขาเสนอมานั้นมันไม่เป็นเหตุเป็นผล เราก็ควรจะต้องเสนอข้อสรุปหรือความคิดเห็นของเราออกไปได้ว่าความคิดแบบนั้นน่ะ ‘มันโง่’ ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่า เรากำลังประกันพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นให้กับความแตกต่างหลากหลายทั้งหมดทั้งมวลในโลกนี้ แต่พร้อมๆ กันไปกลับปิดกั้นและยุติพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นของตัวเองลงเสียสิ้น ซึ่งนั่นเท่ากับคุณเองกำลังทำลายของคุณค่าแบบเสรีนิยมตั้งแต่ระดับรากฐานทิ้งไปไม่ใช่หรือ? สุดท้ายแล้วแนวคิดแบบเสรีนิยมนั้นมันเริ่มจากที่ตัวเรา หรือปัจเจกก่อนมิใช่หรือ?
ก่อนที่จะยอมรับพื้นที่และความคิดเห็นของใครอย่างตรงไปตรงมาได้ มันต้องเริ่มจากการยอมรับและเปิดให้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างตรงไปตรงมาก่อนจึงจะเป็นไปได้ หากคุณยอมรับความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมาของคนทุกคนไม่ว่าจะง่าวเพียงใด และทนมันไว้ กลั้นมันไว้ ไม่อยากไปตอบโต้ เพราะคิดแต่ว่า “ต้องเคารพเค้าๆ” นั้น เราก็เป็นเพียงคนที่หน้าไหว้หลังหลอก (Hypocrite) ต่อแนวคิดที่ตัวเองเชิดชูและสมาทานอยู่เท่านั้นหรือเปล่า?
เอาแบบตรงๆ เลยก็คือ เวลาคุณพูดอะไรโง่ๆ ง่าวๆ มา ผมแย้ง ผมไม่เห็นด้วย คุณก็จะมาบอกว่า “มึงมันพวกไม่ยอมฟังความเห็นที่แตกต่าง” …แล้วความเห็นของผมที่ว่า “มึงมันโง่” นั้นเล่า พวกคุณเคยจะยอมรับบ้างไหม? หรือตัวเราเองเคยคิดจะเปิดพื้นที่ให้กับความเห็นตัวเองแบบนี้ ดังเช่นที่เปิดให้กับความเห็นของคนอื่นหรือไม่?
ผมคิดว่าหากเรากางเกณฑ์ให้ชัดๆ ว่าแบบไหนคือโง่ แบบไหนคือไม่ถูกต้องตามหลักการ เราอธิบายชัดแล้ว แต่เค้ายังไม่เก็ท (หรือไม่พยายามจะเก็ท หรือเก็ทแล้วแต่ก็ยังดึงดันจะตะบี้ตะบันเชื่อแบบเดิมอยู่ดี) เราควรมีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะพูดได้โดยไม่ต้องสงวนท่าทีครับว่า “มึงมันโง่” และการที่เราอธิบายแล้วมันยังเป็นอย่างงี้อยู่นี่แหละ ที่เป็นข้อพิสูจน์คำพูดของเรา คือเรายอมรับการมีอยู่และข้อเท็จจริงที่ว่า พวกเขาเหล่านั้นไม่คิดที่จะเข้าใจเรื่องนั้นๆ ได้ แต่พร้อมๆ กันไป การยอมรับพื้นที่ของการมีอยู่ พร้อมรับรองในสิทธิของการมีอยู่ของตัวตนและข้อเท็จจริงเหล่านั้น ก็ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงว่า ความเห็นนั้นมันไม่เป็นเหตุเป็นผลหายไปด้วย เราไม่ต้องเคารพในความโง่ เราเพียงยอมรับในพื้นที่ของมัน
เหมือนกับที่คนสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก เชื่อจริงๆ จังๆ ว่า ‘โลกแบน’ ณ เวลานี้ หรือมีคนจำนวนไม่น้อยในสหรัฐอเมริกา ที่เชื่อว่า ‘นมรสช็อกโกแลต’ ผลิตมาจากวัวที่มีสีน้ำตาล เป็นต้น เรายอมรับและให้พื้นที่กับพวกเขาในการจะคิดจะเชื่อแบบที่พวกเขาอยากเชื่อได้ เราพยายามอธิบายเขาได้ว่าเหตุและผลเป็นอย่างไร หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นยังไง แต่หากเปลี่ยนเขาไม่ได้ ก็ต้องปล่อยเขาไป ยอมรับในสิทธิของพวกเขาในการจะมีพื้นที่ของเสรีภาพในการเชื่ออะไรแบบนั้นของพวกเขา เพียงแค่ข้อเท็จจริงมันยังอยู่ว่า “สิ่งที่พวกมึงเชื่อนั้นน่ะ มันโง่ มันผิด!” ก็เท่านั้น
พูดแบบคนเหี้ยๆ คนนึงเลยนะครับ การคุยกับคนเหล่านี้เหนื่อยนะครับ ยิ่งการพยายามอธิบายนี่ยิ่งเหนื่อยมากๆ (หากท่านไม่เคยลองอย่างจริงจังจะไม่เข้าใจหรอกว่าเหนื่อยล้าทางใจปานใด) และหลายๆ ครั้งนอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ ไม่ได้อะไรกลับคืนมาแล้ว เรายังจะต้องมาเครียดเองอีก เพื่ออะไร? ผมคิดว่าอย่างน้อยหากมันจะไม่เป็นประโยชน์อะไรในการพูดคุยเลย อย่างน้อยๆ ก็ใช้ประโยชน์จากคนเหล่านี้เป็นพื้นที่ในการระบายมลพิษด้านลบในจิตใจที่มันเกิดกับเรา จากการไปสู้อธิบายให้คนเหล่านี้ฟัง กลับคืนไปหาพวกเขาคืนนั่นแหละจะถูกต้องกว่า อย่างน้อยก็จะได้มีประโยชน์อะไรบ้าง เพราะไอ้ภาระทางศีลธรรมนี้ มันไม่ควรจะเป็นภาระที่เราต้องแบก ต้องมีแต่แรกครับ
จงยอมรับในพื้นที่ของความคิดของเค้า จงพยายามอธิบายเค้าหากเราสามารถหรือมีเวลาพอ หากเค้าไม่คิดจะฟังหรือสนใจในเหตุผลหรือหลักฐานที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า เค้าเลือกจะเชื่อในความมโนของตัวเอง ก็จงปล่อยเค้าเชื่อแบบนั้นไป และก็จงวิจารณ์ความใคร่หลงในโลกมโนคาใจของพวกเขาตามแต่ใจท่านว่าเถิด เราให้พื้นที่เขาบ้าได้แล้ว ก็อย่าลืมพื้นที่ให้ตัวเองได้บ้าบ้าง ไม่งั้นเดี๋ยวได้บ้า เครียดกันตายไปข้างหนึ่งกันก่อนจริงๆ #จงไฝ้ว์กัน #จงวอร์กัน #อย่าเก็บกดอีกเลยมิตรสหายลิบผู้ดีเอ๋ย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู https://thematter.co/thinkers/slim-vs-liberal/8747
[2] โปรดดู https://thematter.co/thinkers/kakistocracy/34976