แค่เปิดประตูเข้าออฟฟิศมา ก็รู้สึกถึงบรรยากาศแปลกๆ จะลุกไปเข้าห้องน้ำ ไปดื่มกาแฟสักแก้ว ก็เหมือนมีอะไรตามหลังอยู่ตลอดเวลา พอหันไปกลับไม่ใช่สิ่งลี้ลับที่ไหน แต่เป็นเพื่อนร่วมงานที่สวมวิญญาณกล้องวงจรปิด คอยสอดส่องอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ก็ไม่อาจรอดพ้นสายตาที่สแตนบายตลอดชั่วโมงทำงานนี้ได้ บางสถานการณ์อาจเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยที่เราไม่ใส่ใจ แต่ถ้ามากเกินไปจนอึดอัด เราจะรับมือเรื่องนี้ได้ยังไงดีนะ
หากคนนอกสายตามีความลำบากใจด้านหนึ่ง คนที่อยู่ในสายตาตลอดเวลาก็มีความลำบากใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าสายตานั้นจะจ้องมองด้วยความใส่ใจเกินขนาด หรืออยากจับผิดในวันที่เราล้ม วันที่เราพลาด ก็ชวนให้อึดอัดไม่ต่างกัน เพราะเมื่อเรารู้ตัวว่ามีสายตาทาบทับความเคลื่อนไหวของเราอยู่ เราก็อดไม่ได้ที่จะต้องทำตัวเป๊ะแบบไม่มีโป๊ะ จะทำงานขั้นตอนไหน เดินไปพูดคุยกับใคร ต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล จนรู้สึกว่านอกจากทำงานที่มีในมือแต่ละวันแล้ว เราต้องสวมบทบาทพนักงานที่ดีเมื่ออยู่ในสายตาคนอื่นอีกด้วย จะว่าไป เหตุการณ์แบบนี้มันคุ้นๆ หรือเปล่านะ
ใช่แล้วล่ะ การจับตามองพนักงานตลอดเวลา เคยเป็นวิกฤตในที่ทำงานมาแล้วในช่วง COVID-19 ที่โยกย้ายโลกการทำงานจากออฟฟิศไปไว้ที่บ้าน บริษัทหลายแห่งที่ไม่ได้มีนโยบายยืดหยุ่นมาก่อน ย่อมปรับตัวกับการทำงานวิถีใหม่นี้ไม่ทัน จนเลือกใช้มาตรการเข้มงวดกับพนักงาน ชนิดที่ต้องเห็นว่าออนไลน์อยู่เสมอ รายงานตัวทุกชั่วโมง รายงานความคืบหน้าอย่าให้ขาด จนกลายเป็นความอึดอัดที่ไม่เคยเจอมาก่อนในตอนเข้าออฟฟิศ
สิ่งนี้ใช่ว่าจะหายไปพร้อมกับโรคระบาด ผลสำรจจาก Forbes Advisor ชี้ให้เห็นว่า พนักงานกว่า 43% กล่าวว่าพวกเขาถูกจับตามองในกิจกรรมบนโลกออนไลน์ ว่าเขากำลังทำงานอยู่จริงไหม เข้าใช้งานเว็บไซต์อะไรบ้างในเวลางาน ซึ่งนั่นทำให้ 68% ของพนักงาน รู้สึกอายที่ถูกจับตามองตลอดเวลาแบบนี้
จากผลสำรวจเดิมข้างต้น เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้เหล่าพนักงานไม่ชอบการถูกจับตามองตลอดเวลา 31% รู้สึกถูกเจ้าจี้เจ้าการมากเกินไป 18% รู้สึกเครียดและกังวล 16% เลือกที่จะพักระหว่างวันน้อยลง และ 15% รู้สึกถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวมากเกินไป
ในมุมหนึ่ง เราอาจมองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่นายจ้างสามารถทำได้ เวลางานก็ต้องทำงานเท่านั้นนี่นา หากวอกแวกไปทำอย่างอื่น ก็ไม่แปลกที่จะต้องถูกจับตามองเสมอ แต่ใช่ว่าทุกคนจะพอใจกับความเข้มงวดทุกวินาที การเฝ้าติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิดเกินไป ทำให้พนักงานกว่า 39% เกิดความรู้สึกแง่ลบในความสัมพันธ์กับนายจ้างไปจนถึงความรู้สึกที่มีต่อองค์กรได้เลยล่ะ
นอกจากบนโลกออนไลน์แล้ว ชีวิตการทำงานจริงก็เกิดเหตุการณ์จับตามองเกินลิมิตก็สร้างความลำบากใจไม่แพ้กัน อย่างนั้นปัญหาไม่น่าจะอยู่ที่ว่าเราโดนจับตาด้วยวิธีไหน จะออนไลน์ออฟไลน์ แต่ปัญหาอยู่ตรงการถูกจับตามองมากเกินไป ไม่ว่าสายตาที่จับจ้องมานั้นจะมองด้วยความเข้มงวดในการทำงาน ความห่วงใย ใส่ใจ ต่อพนักงานรายคน หรืออยากจับจ้องรอวันล้มของเรา ล้วนสร้างความอึดอัดใจระหว่างการทำงาน ไปจนถึงเรื่องเส้นแบ่งความเป็นส่วนตัว
เมื่อมันล้ำเส้นไปไกลจนเกิดความลำบากใจขณะทำงานแล้ว เราพอจะทำยังไงกับเรื่องนี้ได้บ้าง ลองมาฟังคำแนะนำจาก จอห์นนี่ ซี เทย์เลอร์ จูเนียร์ (Johnny C. Taylor Jr.) CEO จาก Society for Human Resource Management สมาคมวิชาชีพด้านทรัพยากรบุคคล ได้ให้คำแนะนำในเรื่องนี้ไว้ ดังนี้
- เตือนอย่างใจเย็นและเป็นมืออาชีพ เมื่อถึงจุดที่เรารู้สึกอึดอัดกับการถูกจับตามองมากไป เรามีสิทธิ์และสามารถพูดคุยกับคนนั้นโดยตรง ควรเป็นการคุยตัวต่อตัว เพื่อชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมไหนบ้างที่เรารู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ นอกจากชี้ให้เห็นปัญหาแล้ว เราเองต้องรับฟังคำอธิบายจากอีกฝั่งด้วยว่าเขาทำไปเพราะอะไร ถ้าเป็นไปได้ ควรมีคนกลางอยู่ในการพูดคุยครั้งนี้ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการโต้เถียงด้วยเหตุผลของฝั่งตัวเองเพียงอย่างเดียว
- เก็บข้อมูลโดยละเอียด วัน เวลา เหตุการณ์ ที่เรารู้สึกว่ากำลังถูกจับตามองเกินขอบเขต เพื่อให้เรามีหลักฐานหนาแน่นและมีน้ำหนักมากพอ และไม่ให้สิ่งที่เราพูดกลายเป็นข้อกกล่าวหาลอยๆ หรือความวิตกเกินไป
- รายงานต่อผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง หากเราไม่อยากเผชิญหน้ากับตัวต้นเรื่องโดยตรง เราสามารถเก็บข้อมูลโดยละเอียด แล้วนำเรื่องนี้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพราะเรื่องนี้ถือว่าอยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของพวกเขาด้วยเช่นกัน
แม้เราจะรู้สึกว่า หากเราทำงานได้ดีทุกกระเบียดนิ้ว ใครจะจับตาดูยังไงก็เป๊ะไม่มีโป๊ะ แต่การทำงานกันบนพื้นฐานของความไว้ใจ ไม่ต้องมากังวลว่าใครจะทำงานให้เราเต็มที่หรือเปล่า เขาจะเฝ้ามองเราอยู่ไหม อาจช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสบายใจมากกว่า หากได้พื้นที่ส่วนตัว ได้ใช้เวลารับผิดชอบงานของตัวเองให้เต็มที่
อ้างอิงจาก