สภาพแวดล้อม บรรยากาศ และวัฒนธรรมองค์กร ต่างช่วยกันหล่อหลอมตกแต่งให้เรากลายเป็นบุคลากร ที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และมี DNA ขององค์กรแทรกอยู่ในนั้น แม้จะฟังดูละม้ายคล้ายกับหนังเอเลี่ยน แต่เมื่อเราเข้าไปในองค์กรใดก็ตาม เราต่างรู้ดีว่าวัฒนธรรมองค์กร มันทำหน้าที่แบบนั้นจริงๆ มันคงไม่ยากอะไรในช่วงเวลาที่เราเข้าออฟฟิศไปเจอหน้ากันทุกวัน ได้พูดคุย ได้อยู่ในบรรยากาศนั้นๆ ขององค์กรเป็นประจำ แต่ในเวลานี้ที่การทำงานที่ออฟฟิศทุกวันไม่เป็นที่นิยมแล้วล่ะ วัฒนธรรมองค์กรจะยังอยู่กับเราได้แค่ไหน?
วัฒนธรรมองค์กร เป็นอีกหนึ่งด่านที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะอยู่หรือไม่อยู่ในพื้นที่นี้ บางคนเข้ามาด้วยความเริงร่า ถูกใจในตำแหน่ง ค่าตอบแทน ทำเลที่ตั้ง สิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่พอเข้ามาแล้วกลัวทุกข์ระทม เพราะไม่สามารถเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ได้ ในทางกลับกัน ก็ยังมีบางคนที่อาจไม่ได้ถูกใจในเนื้องาน หรือสิทธิประโยชน์ของตัวเองสักเท่าไหร่นัก แต่ดันหลงรักในวัฒนธรรมองค์กร จนเลือกที่จะมองข้ามข้อเสียอื่นๆ ไปเสียหมด
จริงๆ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า วัฒนธรรมแบบไหนดีที่สุด เยี่ยมที่สุด คะแนนเต็มร้อย มันมีเพียงเหมาะหรือไม่เหมาะเท่านั้นเอง เพราะมันคือ วิสัยทัศน์ ลักษณะนิสัย จุดมุ่งหมาย วิธีการทำงาน ในรูปแบบของแต่ละองค์กรที่จะมีบุคลิกแตกต่างกันออกไป หากที่ไหนสามารถรักษาวัฒนธรรมองค์กรให้ทุกคนสามารถมีวิธีคิด มีจุดมุ่งหมายไปในทิศทางเดียวกันได้ ฝั่งบริหารคงรู้สึกว่านี่คือความสำเร็จ ฝั่งพนักงานเองก็จะได้อยู่ในสภาพแวดล้อม ที่มีเพื่อนร่วมงานที่มีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน โดยรวมแล้ว วัฒนธรรมองค์กร จึงแสดงออกมาทั้งในรูปแบบของบรรยากาศในที่ทำงาน และบุคลิก ภาพลักษณ์ขององค์กร ที่หมายรวมถึงตัวคนทำงานเองด้วย
ในหลายองค์กร จึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมในที่ทำงานนี้ค่อนข้างมาก แต่การไม่เคร่งในรูปแบบใดๆ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน องค์กรจะสามารถส่งต่อบุคลิก นิสัย จุดมุ่งหมายในการทำงานเหล่านี้ได้ ผ่านการทำงานร่วมกัน พบปะ พูดคุย แก้ปัญหาในงาน ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน สิ่งเหล่านั้น ล้วนต้องอาศัยการเจอหน้ากันในที่ทำงานทั้งนั้น พอมาถึงวันที่เราอาจจะไม่ได้อยู่ออฟฟิศบ่อยขนาดนั้น วัฒนธรรมองค์กรล่ะ จะเป็นอย่างไร?
หลังจากช่วงทำงานที่บ้าน หลายองค์กรต่างเฟ้นหารูปแบบการทำงาน ที่เหมาะกับองค์กรของตนเองมาใช้ ให้เหมาะกับโลกการทำงานที่เปลี่ยนไป (อย่างน้อยก็รู้แล้วว่าการเข้าออฟฟิศทุกวันไม่จำเป็นขนาดนั้นอีกต่อไปแล้ว) งานวิจัยจาก SHRM บอกตัวเลขที่น่าสนใจไว้ว่า กว่า 65% ของนายจ้าง กำลังเจอกับปัญหาการรักษาความั่นใจให้กับพนักงาน ในขณะที่ทำงานในแบบไฮบริด เมื่อการทำงานรูปแบบใหม่ๆ นั้น อาจทำให้เราไม่ได้เข้าออฟฟิศบ่อยอย่างเคย แล้วจะรักษาวัฒนธรรมองค์กรไว้อย่างไรดี?
ทำงานร่วมกันไว้สิดี
แม้จะไม่ได้เจอหน้ากันบ่อย แต่การได้ลงมือทำงานร่วมกันในโปรเจ็กต์ต่างๆ ไม่ว่าจะทีมเล็ก ทีมใหญ่ แผนก หรือทั้งองค์กร จะเป็นการผลักดันให้ทุกคนในทีมต้องพูดคุยสื่อสารกันอยู่เสมอ ไม่ใช่แค่เพิ่มความสนิทสนม แต่การทำงานร่วมกัน จะทำให้แต่ละคนงัดรูปแบบการทำงาน วิธีการแก้ปัญหา ในแบบที่สามารถทำร่วมกับผู้อื่นได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งนั้นก็คือวัฒนธรรมขององค์กร แม้จะต้องย้ายเก้าอี้ไปทำงานที่บ้านกันบางวัน แต่การทำงานร่วมกันก็ยังคงจำเป็นไม่ต่างกันช่วงก่อนหน้านี้
สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา
ตอนอยู่ออฟฟิศ เราสามารถชะโงกหน้าไปพูดคุยกับเพื่อนโต๊ะข้างๆ ขยิบตาให้กับความขี้เล่นของเพื่อนที่เพิ่งเดินผ่านไป รับรู้อารมณ์ของหัวหน้า สบตากับเพื่อนร่วมงานขณะกำลังพรีเซนต์ในที่ประชุม สิ่งเหล่านี้มันทำให้การสื่อสารกลายเป็นเรื่องง่ายที่จะรับรู้ความหมายและความรู้สึกของกันและกัน แต่เมื่อมันต้องย้ายเป็นการพูดคุยผ่านหน้าจอ ผ่านเสียง หรือแม้แต่ข้อความ ทำให้เราไม่อาจสื่อสารกันได้เหมือนเคย
สังเกตได้ว่า การพูดคุยกันในช่วงประชุมออนไลน์ มันช่างเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน กว่าจะเข้าใจกันในแต่ละเรื่อง เพราะการรับรู้ของเรานั้นลดลง ดังนั้น เมื่อต้องพูดคุยกันเมื่อไม่เห็นหน้า อย่ามัวทำให้มันเป็นเรื่องซับซ้อน แทรกคำพูดยากๆ ให้ดูมีชั้นเชิง แต่ควรเป็นคำพูดที่ กระชับ เข้าใจง่าย และได้ใจความแทน เพื่อให้การพูดคุยในแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อหน่าย และป้องกันการตีความคลาดเคลื่อน
หัวหน้าคือหัวใจหลัก
ผู้นำทีม ถือเป็นผู้กำหนดทิศทางการทำงานและทิศทางของวัฒนธรรมองค์กรด้วย หากต้องการให้ทีมเป็นแบบไหน หัวหน้าเองก็ต้องเป็นแบบนั้นด้วย ไม่ใช่แค่การบอกปากเปล่าว่า ฉันคือหัวหน้าและฉันต้องการให้บรรยากาศเป็น ดังนี้ 1 2 3 4 แต่ตัวหัวหน้าเอง ควรลงมาในสนาม เป็นหนึ่งในผู้เล่น ปรับตัวให้เป็นไปตามที่ตัวเองอยากให้เป็น แสดงให้คนในทีมเห็นว่า หัวหน้าเองก็ลงมือทำ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม เพื่อนำทางให้ทีมด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่ได้เจอหน้ากันนั้น หัวหน้า กลายมาเป็นอีกคนที่พนักงานต่างจับตามอง เพื่อรอดูทิศทางในการทำงานว่า ควรทำแบบไหน มากน้อยแค่ไหน วางตัวอย่างไร
พูดคุย สื่อสาร กันให้มากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ต้องสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ ไม่น้อยลงไป เพื่อรักษาจุดร่วมของผู้คนเอาไว้ เพราะวัฒนธรรมองค์กรจะคงอยู่ได้ ต่อเมื่อพนักงานรับมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง และผนวกตัวเองกลับเข้าไปในองค์กรอีกครั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก