นั่งปั้นโปรเจ็กต์ชิ้นนี้มาด้วยตัวเอง ทั้งหยาดเหงื่อและเวลานอนที่สละไป พอออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้วมันช่างชื่นใจ มุมมองของคนทำย่อมรู้สึกว่าสิ่งที่ปั้นมากับมือนั้น ช่างออกมาสมบูรณ์แบบพร้อมส่งแล้วแบบไม่มีติดขัด แต่พอได้ส่งงานจริง ชิ้นงานถูกมองด้วยมุมอื่น (บ้าง) ทำให้เราได้ฟีดแบ็กกลับมาเพียบ ทั้งดีและไม่ดี เราจะรับมือกับฟีคแบคอย่างไร ให้ดูเป็นมืออาชีพ
ไม่ว่าจะมีหน้าที่อะไร เนื้องานแบบไหน ก็หนีไม่พ้นเรื่องของฟีดแบ็กทั้งนั้น อาจจะมีทั้งดีและไม่ดี เราเห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง พอเป็นฟีดแบ็กในด้านดี อาจไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพราะนั่นเท่ากับว่า เราอาจไม่ต้องเจอกับปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า แต่พอเป็นฟีดแบ็กคด้านลบ เราอาจจะต้องหอบเอางานชิ้นที่รู้สึกว่าเราทำดีแล้ว กลับมาแก้ไขใหม่ตามฟีดแบ็กที่ได้ อยากจะหน้ามุ่ย อาจจะถอนหายใจ ก็ดูเป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมเท่าไหร่นัก นั่นเพราะเราอยากได้แต่ฟีดแบ็กด้านดีๆ หรือเปล่านะ?
ไม่แปลกเลย เมื่อเราทุ่มเทกับงานสักชิ้นแล้วย่อมอยากได้คำชื่นชม แต่ไม่อยากให้กลัวกับฟีดแบ็กมากจนเกินไป เพราะมันสามารถเป็นทั้งคำชื่นชม ความคิดเห็น และคำติ ชี้ข้อบกพร่อง ได้ทั้งนั้น อย่างประโยคยอดฮิตที่ชาวออฟฟิศได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่าฟีดแบ็กนั้นเป็นเหมือนของขวัญ นั่นเพราะเราไม่อาจทำงานได้ด้วยมุมมองของเราเพียงคนเดียว การได้รับความคิดเห็นจากคนอื่น ไม่ว่าจะในด้านบวกหรือลบ ช่วยให้เราได้เห็นงานในอีกมุมที่เราอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน
การให้ฟีดแบ็กกันจึงไม่ไช่เหรียญสองด้านที่จะออกมาแค่ดีหรือไม่ดีเท่านั้น มันเป็นการให้ความคิดเห็น ถ้ามีจุดไหนบกพร่องเราก็ต้องนำไปปรับปรุง ถ้าจุดไหนที่ดีแล้ว เราก็จะได้รู้และเก็บมันไว้เป็นจุดแข็งของการทำงานต่อไป ทุกครั้งที่เรารับฟีดแบ็กมา เป็นเหมือนการรับความคิดเห็นจากคนอื่น แม้เราที่เป็นคนทำอาจจะคิดว่าเรารู้ดีที่สุด แต่เราก็ยังคงมองในเลนส์ของเราอยู่ดี
ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี เห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เราควรแสดงออกต่อผู้ให้ฟีดแบ็กอย่างเหมาะสม และนำเอาฟีดแบ็กที่ได้นั้นมาพัฒนาทั้งงานและเราเองให้ดีขึ้นเสมอ มาดูกันว่าเราจะรับมือกับการให้ฟีดแบ็กอย่างไรให้ดูเป็นมืออาชีพ จาก เดวิด เบอร์กุส (David Burkus) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Organizational Psychologist จากเวที TED กันเถอะ
แสดงความขอบคุณ
เพราะฟีดแบ็กนั้นเป็นเหมือนของขวัญที่อีกฝ่ายมอบให้เรารู้ว่า งานของเรานั้นเป็นอย่างไรในสายตาของคนอื่น ไม่ว่าจะด้านบวกหรือลบก็ตาม อย่าลืมแสดงความขอบคุณออกไปสำหรับความคิดเห็นที่เขาให้มา เพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจว่า เราได้รับฟังถึงความคิดเห็นของเขาแล้วและไม่ได้รู้สึกต่อต้านต่อความคิดเห็นนั้น เพราะการต่อต้านความคิดเห็นของอีกฝ่ายในทันที อาจทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่รับฟังความเห็นของคนอื่นสักเท่าไหร่นัก
ทบทวนสิ่งที่ได้ยิน
เมื่อเราต้องนำความคิดเห็นนั้นไปแก้ไขหรือต่อยอด เพื่อให้แน่ใจว่าเราไปได้ถูกทาง อย่าลืมทวนความเห็นที่เราได้ยิน เพื่อยืนยันว่าเขาเป็นผู้พูดสิ่งนี้นะ เราและเขาเข้าใจตรงกันในเรื่องเดียวกันหรือเปล่า “คุณก.รู้สึกว่ามันยังไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายใช่ไหมครับ?” “คุณข.คิดว่ามันสามารถลดเวลาลงได้อีกนะคะ” ถ้าหากอีกฝ่ายตกประเด็นสำคัญอะไรไป หรือเรากำลังตีความอะไรพลาดไป จะได้สามารถแก้ไขกันได้ในตอนนั้นเลย และสิ่งสำคัญคือ มันช่วยทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าความคิดเห็นของเขานั้นมีความสำคัญกับเรา และเรารับฟังความคิดเห็นของเขาจริงๆ
ทบทวนสิ่งที่จะเปลี่ยน
เมื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกคนแล้ว หากมีอะไรที่เราต้องนำกลับมาแก้ไข อย่าลืมพูดทบทวนว่า เราได้ฟังฟีดแบคมาแล้วนะ แล้วเรากำลังจะเอากลับไปแก้ในส่วนไหนบ้าง พูดมาเป็นข้อๆ ได้เลย ยิ่งทำให้เห็นว่าเรายินดีที่จะแก้ไขในข้อบกพร่อง ถ้าหากเราตกหล่นประเด็นของใครไป ก็จะได้มีคนท้วงได้ทันเวลา การแก้ไขของเราจะได้จบลงง่ายขึ้น ไม่ต้องคอยไล่แก้กันไปมาหลายรอบ เพราะจับประเด็นได้ไม่ครบถ้วน
หากไม่เห็นด้วย ให้แสดงเหตุผล
แน่นอนว่าเราไม่อาจเห็นด้วยกับทุกความคิดเห็นได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องโนสนโนแคร์แล้วทำเฉพาะสิ่งที่อยากทำเท่านั้น หากมีความคิดเห็นไหนที่เรารู้สึกไม่เห็นด้วย ให้ขอบคุณและรับฟังเหมือนกับความเห็นอื่นๆ แต่อย่าลืมให้เหตุผลไปว่า ที่เราเลือกทำแบบนี้เพราะอะไร ทำไมมันจึงไม่ตรงกับสิ่งที่เขาคิด หากมันสามารถหาจุดตรงกลางได้ ให้ลองเสนอไปว่า เราสามารถทำในสิ่งนี้เพื่อแก้ไขแทนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ลองถามความคิดเห็นของผู้อื่นร่วมด้วย
เพราะการได้รับความคิดเห็น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือลบ ย่อมดีกว่าไม่มีใครมีความเห็นอะไรต่องานของเราเลย อย่าเพิ่งตั้งแง่ว่าความคิดเห็นของคนทำอย่างเราจะดีที่สุด เพราะเราทำมาเองกับมือ นั่นจะทำให้เรากลายเป็นน้ำเต็มแก้ว ที่ไม่มีวันรับความเห็นใดๆ ได้อีกเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก