เคยเป็นกันมั้ย…นอนที่ไม่ได้นอน
เคยมีคนบอกว่า ถ้าอยากนอนหลับสบาย ให้ทำอะไรก็ได้ที่เหนื่อยๆ หนักๆ เพราะถ้าเหนื่อยมากๆ ยังไงคืนนั้นก็หลับสบายหายห่วง
วันนี้เป็นอีกวันที่เราทำงานหนักไม่ต่างจากวันก่อนหน้า ตื่นเช้ามาก็รีบตรงดิ่งไปสะสางกองงานที่ค้างอยู่ แต่จัดการยังไม่ทันเสร็จเรียบร้อย ความเหนื่อย เมื่อย ล้า ก็มาชะเง้อคอรอคอย เตรียมเกาะกินร่างกายตั้งแต่ช่วงบ่ายไปจนตกดึก
อย่างไรก็ดี ทั้งที่ใช้สมาธิมาตลอดทั้งวัน ขยันขันแข็งทุกนาที แถมความรู้สึกตอนตี 1 ก็เหนื่อยแสนเหนื่อย ถูกต้องทุกประการกับคำพูดที่ว่าเหนื่อยแล้วจะหลับสบาย ทว่าเมื่อหลับจริง กลายเป็นเรานำเรื่องงานเข้าไปคิดต่อในฝัน เป็นการฝันถึงชีวิตจริงที่เลวร้ายยิ่งกว่าฝันร้ายเสียอีก
“เปล่านะ เราไม่ได้ฝันถึงเรื่องงาน เราฝันถึงอะไรก็ไม่รู้ แต่ตื่นขึ้นมาแล้วเหนื่อยมาก”
เพื่อนคนหนึ่งแสดงความคิดเห็น ซึ่งทั้งความฝันของเราที่ว่าด้วยเรื่องงานแบบตรงไปตรงมา และความฝันของเพื่อนที่ดูจะเหนือจริง ไม่เป็นรูปร่าง ต่างก็ทำให้เราอ่อนเพลียในตอนเช้ากันทั้งคู่ มันคือความฝันอันโหดร้ายที่คล้ายอยากเยาะเย้ยพวกเราว่า แม้แต่ตอนที่พักผ่อนนอนหลับ พวกเราก็หนีจากความเครียดและการทำงานไม่ได้หรอก…
“เห้อ ทำไมพวกเราถึงต้องมาเจออะไรแบบนี้นะ”
เพื่อนตัดพ้อ และเราเองก็สงสัยไม่ต่างกัน
เครียดแล้วฝัน ฝันแล้วเครียด
ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับความฝันมีมากมายหลายแขนง บ้างมองนิมิตรในยามนิทราเป็นดั่งการบอกใบ้โชคชะตาจากเทพเจ้า บ้างเชื่อว่าความฝันจะอำนวยอวยพรให้เกิดโชคลาภในการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล และบ้างก็เชื่อว่าความฝันบ่งชี้ถึงความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นในยามตื่น ซึ่งคำว่า ‘บ้าง’ ที่อยู่หลังสุดนี้อ้างอิงจากข้อมูลและการทดลองทางจิตวิทยา
โดยในทางจิตวิทยา ความฝันที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดถูกเรียกว่า Anxiety Dream อันหมายถึง การฝันที่ทำให้รู้สึกเครียด กังวล ตกใจ ไม่ว่าจะเป็นการฝันถึงสิ่งหลุดโลกที่ทำให้เราตกใจกลัว หรือฝันถึงการทำงานโดยทั่วไป แต่ทำให้เรารู้สึกเครียดได้ไม่ต่างจากตอนตื่น ทั้งที่ช่วงเวลาการนอนหลับควรจะเป็นการพักผ่อนที่ช่วยให้ตอนตื่นนอนเรารู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่เปล่า! Anxiety Dream ตัวดีจะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า ถึงขนาดที่วันต่อมา ความเหนื่อยล้านั้นก็อาจจะยังคงอยู่
“Anxiety Dream เป็นผลมาจากสิ่งเร้าเชิงลบที่ยังไม่ถูกประมวลผล ทำให้สมองพยายามประมวลผลเรื่องนั้นต่อในเวลาที่เราหลับ”
คือข้อความที่ คลอเดีย ลุยซ์ (Claudia Luiz) นักจิตวิเคราะห์และผู้เขียนหนังสือ The Making of a Psychoanalyst ใช้อธิบาย Anxiety Dream ซึ่งมันช่วยย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า ความฝันคือวิธีที่จิตใต้สำนึกของเราใช้ในการฝึกฝนความรู้สึกนึกคิด หรือพูดในอีกแง่หนึ่ง ความฝันก็คือภาพสะท้อนของประสบการณ์ในชีวิตจริงนั่นเอง
เพราะฉะนั้น หากเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่หนักหน่วงจนเกิดเป็นความเครียด มันก็เป็นไปได้สูงที่ประสบการณ์ซึ่งยังไม่ตกผลึกเหล่านี้จะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็น Anxiety Dream ที่สร้างความเหนื่อยล้าให้กับเราต่ออีกทอดหนึ่ง
ต้นกำเนิดแห่งฝันร้าย
เว็บไซต์ด้านสุขภาพอย่าง Healthline ได้จำแนกสาเหตุที่อาจนำไปสู่การมี Anxiety Dream รวมถึง Nightmare (ฝันร้าย) ไว้ดังนี้
- ความกลัวและความเครียด – กลัวที่พรุ่งนี้ต้องมีพรีเซ็นต์งาน กังวลเพราะผลการประเมินขึ้นเงินเดือนกำลังใกล้มา ไปจนถึงเครียดเพราะถูกหัวหน้าตำหนิ ทั้งหมดนี้อาจกลายเป็นตะกอนที่จิตใต้สำนึกเราเก็บเอาไปประมวลต่อ และการประมวลก็ถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบความฝันที่แสนกดดันเคร่งเครียด จนหลายครั้งเราก็ถึงกับตกใจตื่น
- การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ – การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงจะใหญ่หรือเล็กนั้นก็อาจขึ้นอยู่กับมุมมองหรือประสบการณ์ในอดีตที่แต่ละคนรู้สึกร่วม ซึ่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่เพิ่งเกิดขึ้นและกำลังใกล้จะมาถึง ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุของ Anxiety Dream ได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ กระตุ้นให้เกิดความไม่แน่นอนในชีวิต หรือเป็นสาเหตุของความทุกข์ใจ ก็จะยิ่งทำให้เราเครียดไปโดยปริยาย ยกตัวอย่างสถานการณ์ เช่น กำลังจะย้ายงาน เพิ่งสูญเสียคนในครอบครัว เพื่อนสนิทกำลังจะเป็นเรียนต่อต่างประเทศ ฯลฯ
- โรคนอนไม่หลับ – โรคนอนไม่หลับ หรือ Insomnia เองก็มีอิทธิพลต่อการสร้างความฝันอันแปลกประหลาดเช่นเดียวกัน ซึ่งนี่น่าจะถือเป็นกรณีที่ควรรีบปรึกษาแพทย์อย่างเร็วที่สุด เพราะลำพังแค่การนอนไม่หลับก็หนักหนาสาหัสมากพอแล้ว หากอุตส่าห์หลับได้แล้วแต่ยังฝันร้ายอีกก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ในระยะยาว
- แอลกอฮอล์และการฉีดสารต่างๆ เข้าร่างกาย – ไลฟ์สไตล์นักดื่ม หรือกลุ่มที่ฉีดฮอร์โมนต่างๆ ก็เสี่ยงต่อการมี Anxiety Dream เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเข้าไปยับยั้งการนอนหลับขั้น REM ซึ่งเป็นระดับการนอนหลับที่เกี่ยวข้องกับความฝันและการรักษาความทรงจำ
ฝันของฉันอาจมีความหมาย
นอกจากสาเหตุที่ทำให้เกิด Anxiety Dream จะมีหลากหลายแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฝันก็สามารถบอกใบ้ถึงลักษณะความเครียดที่แตกต่างกันได้ด้วย โดยเว็บไซต์ casper.com ได้เปิดเผยความฝัน 15 ประเภทซึ่งสะท้อนปัญหาในชีวิตจริงที่แตกต่างกัน โดยเราขอยกมา 4 ความฝันที่ทุกคนน่าจะรู้สึกเชื่อมโยงได้ และเป็นไปได้มากๆ ว่า เราอาจจะเคยฝันถึงสิ่งเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต
- ถูกไล่ล่า– ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ความฝันอย่างลอรี ควินน์ ลูเวนเบิร์ก (Lauri Quinn Loewenberg) อธิบายว่า หากใครก็ตามฝันว่าตัวเองตกเป็นคนที่ถูกตามล่าก็อาจเป็นไปได้ที่ในชีวิตจริง เรากำลังหลีกหนีอะไรบางอย่างอยู่ เช่น ไม่กล้าบอกแฟนว่ารู้สึกไม่เหมือนเดิม ค้างชำระหนี้บัตรเครดิตมาหลายเดือน เป็นต้น
- ย้อนกลับไปเป็นเด็ก– การล่องละเมอถึงวันที่ยังใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียนมักเป็นผลมาจากความเครียดในที่ทำงาน เพราะโรงเรียนเปรียบเสมือนที่ทำงานแรกของชีวิต เป็นบริเวณที่เราได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา และวิธีการปรับตัวให้เข้ากับสังคม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นความรู้สึกกดดันในวัยเด็ก ซึ่งอาจคล้ายคลึงกับความยากลำบากที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้ จึงไม่แปลกที่หลายคนมักจะฝันว่าตัวเองกลับไปอยู่ในชุดนักเรียนเมื่อพบเจอความเครียดในการทำงาน
- แก้ผ้าในที่สาธารณะ– เป็นสิ่งที่ดูจะเกิดขึ้นจริงได้ยากมาก แต่ถามว่าทำไมเราจึงฝันแบบนี้ ลอรีชี้ว่า มันอาจเป็นเพราะเรามีความวิตกกังวลต่อท่าทีที่คนอื่นมองมายังตัวเรา รู้สึกอับอาย ไม่มั่นใจ และเป็นไปได้ที่ความฝันแบบนี้จะเกิดขึ้นในคืนก่อนที่เราจะต้องทำอะไรต่อหน้าคนจำนวนมาก
- ตกจากที่สูง– เป็นการฝันที่อาจทำให้หัวใจเต้นแรงถึงขนาดตกใจตื่น โดยนักจิตวิทยาอย่างเอียน วอลเลซ (Ian Wallace)ใช้คำว่า “การฝันแบบนี้อาจหมายถึงการที่ใครบางคนกำลังยึดติดกับบางสิ่งบางอย่างมากเกินไป” นอกจากนี้ การฝันว่าตกจากที่สูงก็อาจเกิดจากความกลัวที่จะเสียการควบคุมได้เช่นกัน เช่น รู้สึกไม่มั่นคงในความสัมพันธ์ เก็บเงินไม่ได้ตามเป้าจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่ต้องการ เป็นต้น
ปัดเป่าฝันร้ายให้ผ่านพ้นไป!
สิ่งที่สำคัญที่สุดในบทความนี้น่าจะเป็นวิธีรับมือกับการฝันที่ทำให้เราไม่เป็นอันจะนอน ซึ่งวิธีการรับมือแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
- แก้ปัญหาเฉพาะหน้า – ในคืนที่ฝันถึงงานจนตกใจตื่น จะกลับไปนอนยังไงให้หลับ ในกรณีนี้ให้มองหาสิ่งที่ช่วยให้จิตใจสงบ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องน่าเบื่อ อาจจะลองหาอะไรอุ่นๆ มาดื่ม ฟังเพลงสบายๆ อ่านหนังสือให้ตาเริ่มปิด หรือถ้าจะใช้วิธีการนั่งสมาธิก็ได้เช่นกัน
- แก้ที่ต้นเหตุ – หรือก็คือแก้ที่ความเครียดและภาระงานที่ทำให้เราเก็บเอาไปฝัน โดยวิธีการที่ทำได้มีดังนี้
- หาต้นตอความเครียด แล้วจัดการกับมัน – ในเมื่อความฝันคือความคิดที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะลองสำรวจชีวิตของตัวเองและค้นหาว่า ต้นตอที่แท้จริงที่ทำให้เราเครียดคืออะไร และเราพอจะแก้ไขสิ่งนั้นยังไงได้บ้าง เพราะเมื่อสถานการณ์หรือความน่าหงุดหงิดได้รับการแก้ไข การฝันร้ายก็จะลดน้อยลง
- เล่าหรือเขียนความเครียดนั้นออกมา – นักจิตวิเคราะห์อย่างคลอเดีย ลุยซ์ แนะนำว่า บางครั้ง การได้พูด และยกความฝันออกมากางในตอนที่เรามีสติก็ช่วยหยุดยั้งพวกมันได้ โดยเธอบอกว่า “ถ้าสมองไม่จำเป็นต้องประมวลผลในช่วงที่เราหลับ มันย่อมนำไปสู่การฝันรูปแบบอื่นที่ไม่ทำให้เราอ่อนเพลีย”
- หากิจกรรมสงบก่อนนอน – หลายครั้ง ปัญหาในการทำงานก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในทันที อย่างน้อยที่สุด กิจกรรมสงบๆ ช่วงก่อนจะข่มตาหลับคงมีส่วนทุเลาความเหน็ดเหนื่อยในการฝันลงได้ ไม่มากก็น้อย
เราไม่อาจเป็นตุ๊กตาหมีถือโล่ ช่วยปัดเป่าฝันร้ายให้ทุกคนได้ในยามค่ำคืน แต่ส่วนเล็กๆ ในใจก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจสภาวะ ‘เก็บงานไปคิดต่อในฝัน’ มากขึ้น และหวังว่าทุกคนจะรับมือกับมันได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าความฝันส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเรามากจนเกินไป การไปพบแพทย์ก็อาจเป็นทางออกที่เหมาะสม เพราะต่อให้ความฝันจะไม่ใช่เรื่องจริง แต่มันก็สะท้อนความเครียดในชีวิตจริง ทั้งยังส่งผลเสียต่อชีวิตประจำวันจริงๆ ของเราได้
สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกคนนอนหลับฝันดี หรือถ้าให้ดีกว่านั้นคือหลับสนิทโดยต้องไม่ฝันเลย แล้วเจอกันใหม่ในเช้าที่สดใสนะ
อ้างอิงจาก