“หนึ่งวันมียี่สิบสี่ชั่วโมง ฉันทำงานไปแล้วยี่สิบห้าชั่วโมง”
แม้ไม่เป็นความจริงอย่างที่ว่า แต่หลายครั้งเวลาทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็น ความเหนื่อยล้าก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนอย่างนั้นจริงๆ พอถึงเวลาเลิกงานกลับถึงบ้านก็เหนื่อยจนแทบไม่มีเรี่ยวแรงจะลุกขึ้นไปทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อได้เลย
ทุกคนเคยรู้สึกไหมว่า ชั่วโมงการทำงานราวๆ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นระยะเวลาปกติ กลับทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า จนบางครั้งก็รู้สึกเหมือนว่า เวลาการทำงานเริ่มเบียดเบียนเวลาในการใช้ชีวิตส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ยังไงยังงั้น
การทำงานแบบติดกันเป็นระยะเวลานานๆ อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป เพราะชีวิตยังมีอีกหลากหลายสิ่งที่ต้องทำ เราเลยขอพามารู้จักกับ ‘Micro-Shifts’ อีกหนึ่งเทรนด์การทำงานที่พร้อมเข้ามาช่วยซัพพอร์ตการทำงานให้มันบาลานซ์กับชีวิตส่วนตัวมากยิ่งขึ้นกัน
Micro-Shifts กับการทำงานแบบน้อยแต่มาก
‘บางงานก็ต้องยืนจนปวดขา บางงานก็ต้องนั่งตัวงอจนปวดหลัง’
เชื่อว่าคงไม่มีใครใคร่จะทำงานแบบยิงยาวหลายชั่วโมงติดกันหรอก ถ้าเลือกได้หลายคนก็คงอยากมีเวลาส่วนตัวเอาไว้ไปทำกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิต แต่ด้วยโครงสร้างการทำงานหลากแห่ง ที่มักบีบให้เราทุ่มทั้งวันไปกับงาน จึงไม่แปลกหากหลายคนจะเริ่มมองหาหนทางหรือวิธีการใหม่ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้
Micro-Shifts เทรนด์การทำงาน ว่าด้วยการแบ่งชั่วโมงการทำงานหรือกะการทำงานให้ย่อยมากขึ้น เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงาน แถมยังช่วยให้เราสามารถจัดสรรเวลาและรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่อื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้ โดยส่วนใหญ่แล้วรูปแบบการทำงานแบบ Micro-Shifts จะถูกนำไปใช้กับกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำงานแบบเต็มเวลา เช่น นักเรียนที่ทำงานพาร์ทไทม์ คนที่เข้างานเป็นกะ หรือคนที่เป็นฟรีแลนซ์
ตัวอย่างการแบ่งย่อยกะหรือชั่วโมงการทำงาน เช่น เราอาจแบ่งการทำงานเป็นรอบละ 2-3 ชั่วโมง แล้วพัก ขึ้นอยู่กับลักษณะงานและความต้องการของแต่ละบุคคล หรือบางคนที่ทำฟรีแลนซ์ก็อาจแบ่งเป็นทำงานแรกใน 3 ชั่วโมงแรกตอนเช้า และพอ 3 ชั่วโมงช่วงบ่ายก็ค่อยทำอีกงาน ก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากงานบ้านที่ต้องทำเป็นประจำ บางคนก็อาจมีคลาสเรียนเสริม บางคนก็อาจมีงานอดิเรกที่อยากทำ หรือบางคนเป็นคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเลี้ยงลูกด้วย ใครๆ ก็อยากได้เวลาใช้ชีวิตส่วนตัวเพิ่มกันทั้งนั้น ผลสำรวจเหล่าคนทำงานกว่า 4 แสนคน บนฐานข้อมูลการทำงานที่เกิดขึ้นในระบบของ Deputy บอกว่า คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนเจน Z เริ่มมองหางานที่มีความยืดหยุ่นในเรื่องของชั่วโมงการทำงานมากขึ้น ซึ่งมันสามารถช่วยดึงศักยภาพการทำงานออกมาได้
ในงานศึกษาข้างต้นยังนำเสนอถึงสาเหตุความนิยมของเทรนด์ Micro-Shifts ด้วยเช่นกัน โดยสาเหตุหลักมาจากปัญหาความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งกดดันให้ผู้คนจำนวนมากต้องทำหลายๆ งานพร้อมกัน รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สามารถจัดสรรตารางงานให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและความต้องการของพนักงาน มากกว่าจะต้องทำตามความคาดหวังของระบบหรือแนวคิดขององค์กรแบบเดิมๆ ทำให้หลายคนมองว่า Micro-Shifts นี้แหละ คือสิ่งที่ตอบโจทย์บรรดาพนักงานตัวจ้อยอย่างเราๆ ที่สุดแล้วตอนนี้
ฟังดูแล้ว นายจ้างหลายคนก็อาจจะงงว่า แบบนี้ก็ได้หรอ? ให้ทำงานน้อยลง แต่ได้เงินเท่าเดิม อย่าเพิ่งด่วนตัดสินไป เพราะการทำงานแบบ Micro-Shifts ไม่ได้มีส่วนในการลดเวลาการทำงานแต่อย่างใด ซิลวิจา มาร์ตินเซวิก (Silvija Martincevic) ซีอีโอ ของ Deputy กล่าวว่า การทำงานแบบ Micro-Shifts ไม่ได้หมายความว่า พนักงานจะทำงานได้น้อยลง แต่มันคือการทำงานอย่างชาญฉลาดมากกว่า โดยมันยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่คนทำงานด้วยเช่นกัน
นอกจากช่วยซัพพอร์ตความต้องการของฝั่งพนักงานแล้ว การที่คนทำงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แม้ช่วงเวลาการทำงานจะลดน้อยลง ก็อาจส่งผลดีต่อบริษัทหรือองค์กรมากกว่าที่คิด เพราะการต้องทำงานแบบยิงยาวหลายชั่วโมง ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการทำงาน ตลอดจนการโฟกัสต่องานที่ทำลดลง ดังนั้น หากเราสามารถจัดสรรและแบ่งเวลาในการทำงานและการใช้ชีวิตได้ ก็ย่อมส่งผลดีต่อทั้งฝั่งของพนักงานและนายจ้าง
ชาวออฟฟิศสามารถปรับใช้วิธีแบบ Micro-Shifts ได้ยังไงบ้าง
หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ ก็อาจคิดว่า Micro-Shifts ดูจะเป็นวิธีที่ที่เหมาะสำหรับการทำงานที่เป็นกะหรือได้ค่าจ้างรายชั่วโมงมากกว่าพนักงานประจำ อย่างไรก็ดี หากถอดเอาแนวคิดเบื้องหลังเทรนด์การทำงานแบบ Micro-Shifts มาดู ก็พบว่ามีหลายข้อที่เหล่าหนุ่มสาวออฟฟิศก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน
เราจึงได้หยิบเอาวิธีการทำงานในรูปแบบ Micro-Shifts ของ นิริท โคเฮน (Nirit Cohen) นักวางกลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคล มาปรับให้เข้ากับสไตล์การทำงานแบบออฟฟิศมากขึ้นดู
- เพิ่มเวลาเบรกระหว่างการทำงาน: แน่นอนว่าการทำงานเป็นกะ ก็สามารถเลือกมากกว่าว่าจะเข้างานและออกงานกี่โมง แล้วหากเป็นชาวออฟฟิศล่ะ? เราก็อาจเริ่มด้วยการเพิ่มเบรกเล็กๆ ให้ตัวเอง เพราะการทำงานแบบ Micro-Shifts คือการแบ่งเวลาออกเป็นหลายส่วน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน ดังนั้น นอกจากได้พักสมองแล้ว การมีช่วงว่างระหว่างเวลาก็อาจทำให้เราได้ไปทำอย่างอื่นมากขึ้นด้วย เช่น เวลาเข้าออฟฟิศ อาจแวะออกไปทำธุระใกล้ๆ สักแป๊บแล้วกลับมาลุยงานต่อ ใครทำงานที่บ้านก็อาจแอบแวะไปทำงานบ้านรอก็ได้เช่นกัน โดยที่เราเองก็ต้องพยายามรักษาประสิทธิภาพการทำงานไม่ให้ลดลงด้วย
- จัดแบ่งตารางเวลาให้ชัดเจน: อย่างที่ได้กล่าวไป ในยุคที่เศรษฐกิจไม่มั่นคงเท่าไหร่ เราในฐานะมนุษย์เงินเดือนก็คงไม่ค่อยมั่นใจอย่างแน่นอน หลายคนจึงมีงานสองงานสามงอกขึ้นมานอกเหนือจากงานประจำ แต่ถ้าแบ่งเวลาไม่ดีล่ะก็ จากงานที่จะช่วยเรา อาจสร้างความปวดหัวให้แทน ดังนั้น หากเราสามารถจัดสรรเวลาให้ดีได้ แบ่งเป็นสัดส่วนชัดเจน ว่าจะทำงานชิ้นไหนนานเท่าไหร่ เราก็อาจมีเวลาเพิ่มเติมไปทำกิจกรรมพักผ่อนอย่างอื่นได้ แถมงานของเรายังมีประสิทธิภาพด้วย
- เลือกรูปแบบเวลาการทำงานให้เหมาะกับตนเอง: สองข้อที่ผ่านมา เราสามารถเริ่มทำด้วยตนเองได้เลยไม่ต้องรอใคร ทว่าข้อนี้อาจต้องอาศัยความเป็นทีมเวิร์คสักนิด หากเราทำงานเป็นทีม แน่นอนว่าความต้องการของแต่ละคนก็อาจขัดกันหรือสวนทางกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าอยากให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมมีเวลาทำงานยืดหยุ่นกว่าเดิมด้วย อาจต้องมานั่งตกลงและออกแบบเวลาหรือรูปแบบการทำงานที่สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้แต่ละคนมากที่สุด เช่น บางคนอาจมีธุระต้องทำช่วงเช้า อาจเลื่อนเวลาเริ่มงานเป็นช่วงสายๆ แทน หรือบางคนหัวแล่นตอนบ่าย แต่ติดประชุมทีม ลองคุยกันเพื่อหาทางเปลี่ยนเวลาการประชุมเป็นช่วงเวลาอื่นแทน
เหล่านี้เป็นเพียงวิธีที่เราประยุกต์มาจากใจความสำคัญของแนวคิดการทำงานแบบ Micro-Shifts ให้ทุกคนได้ลองปรับใช้กัน หากใครมีวิธีการทำงานแบบอื่นๆ อยู่แล้ว ก็สามารถเอาวิธีนี้ไปเสริมให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์หรือเงื่อนไขการทำงานของแต่ละคนได้เช่นกัน
ในโลกของการทำงาน มันก็อาจมีวันที่งานล้นมือจนต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าปกติ แต่ถ้าเราสามารถจัดการแบ่งเวลาให้ดี ก็อาจทำให้งานเราสำเร็จได้ง่ายขึ้น แถมเราเองก็มีเวลาไปทำในสิ่งที่ชอบได้อีกด้วย
อ้างอิงจาก