เราเลือกงานหนึ่งเพราะอะไร? ตำแหน่งที่เหมาะกับความสามารถ เงินเดือนที่สมน้ำสมเนื้อ วัฒนธรรมองค์กรที่เข้ากันได้ดี หรือมีออฟฟิศที่ครบครันไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งที่เรานำมาพิจารณาอาจถือเป็นปัจจัยใหญ่ๆ ซึ่งนับเป็นแรงจูงใจให้เราเลือกหรือไม่เลือกได้ แต่สำหรับสวัสดิการ ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องรองลงมา เป็นเหมือนของแถมที่ได้ก็ดีไป ได้น้อยก็ไม่เป็นไรหรอกน่า นั่นหมายความว่าเราไม่ได้สนใจสวัสดิการมากเท่าที่ควรหรือเปล่า?
เมื่อสวัสดิการในสายตาของบริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ได้เป็นแค่เงื่อนไขที่ให้ไปตามมาตรฐาน แต่เป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้พนักงานจากตัวบริษัทเอง แต่ละที่มีไม้เด็ดอะไรไว้มัดใจพนักงานบ้าง มาดูกัน
ก่อนจะไปคุยเรื่องสวัสดิการ เราเองก็ไม่เคยได้รู้จักคำนิยามของสิ่งนี้อย่างถี่ถ้วน ตามความเข้าใจ มันมีความใกล้เคียงสิ่งอำนวยความสะดวกของที่พักอาศัย อย่างที่บอกว่ามีก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่เราก็ไม่อาจตีขลุมเอาตามความเข้าใจเพียงอย่างเดียวได้
จึงพยายามหาความหมายของ ‘สวัสดิการ’ ในบริบทของการทำงาน ว่าสำหรับคนทำงาน สำหรับองค์กร บริษัท ห้างร้านแล้ว คำนี้ถูกให้ความหมายไว้ในแง่ไหน เราไปเจอเอกสารจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ได้ให้คำนิยามของ ‘สวัสดิการ’ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
“สวัสดิการ หมายถึง บริการหรือกิจกรรมใดๆ ที่หน่วยงานราชการ หรือองค์กรธุรกิจเอกชนจัดให้มีขึ้นเพื่อให้ข้าราชการ พนักงาน หรือผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในองค์กรนั้นๆ ได้รับความสะดวกสบายในการทำงาน มีความมั่นคงในอาชีพ มีหลักประกันที่แน่นอนในการดำเนินชีวิต หรือได้รับประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากเงินเดือน หรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เป็นประจำ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานมีขวัญและกำลังใจที่ดีเพื่อจะได้ใช้กำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญา ความสามารถของตนในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ไม่ต้องวิตกกังวล ปัญหายุ่งยากทั้งในทางส่วนตัวและครอบครัว ทำให้มีความพอใจในงาน มีความรักงานและตั้งใจที่จะทำงานนั้นให้นานที่สุด”
โดยรวมแล้ว จะบอกว่าเป็น well-being ในที่ทำงานที่องค์กรเป็นผู้จัดหาให้ก็ไม่ผิดนัก นอกจากจะมีไว้เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ยังมีไว้เพื่อจูงใจให้พนักงานเอง อยากทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ
แน่ล่ะ ถ้าพนักงานได้มีชีวิตที่ดี คุณภาพงานที่ดีคงไม่หนีไปไหน นอกจากค่าจ้างที่เป็นสิ่งตอบแทนของการทำงานแล้ว สวัสดิการจึงเป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงกายและใจของพนักงานอีกด้วย อาจจะมาในรูปแบบของพื้นที่พักผ่อนที่ใครๆ ก็สามารถมาผ่อนคลายระหว่างวันได้ เป็นความเข้าอกเข้าใจต่อพนักงาน ว่าพวกเขาต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน จึงจัดพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานให้ ถ้าเลือกได้ ไม่ว่าใครก็คงอยากให้ตัวเองได้อยู่ในออฟฟิศที่เกื้อหนุนให้คุณภาพชีวิตของเราทั้งนั้น
สำหรับในไทย กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2548 ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการ ไว้ 4 ส่วน แต่ส่วนที่พูดถึงในที่ทำงาน ว่าต้องมีอะไรจัดหาไว้ให้บ้าง ขอสรุปมาให้อ่านง่ายๆ แบบไม่ได้ยกตัวบทมาด้วย โดยในสถานที่ทำงานต้องมี
- น้ำสะอาดสำหรับดื่ม ในจำนวนที่เพียงพอต่อจำนวนคน
- ห้องน้ำและห้องส้วมแยกสำหรับลูกจ้างชายและลูกจ้างหญิง และในกรณีที่มีลูกจ้าง ที่เป็นคนพิการ ให้นายจ้างจัดให้มีห้องน้ำและห้องส้วมสำหรับคนพิการแยกไว้โดยเฉพาะ
- มีสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและการรักษาพยาบาล
เราเองก็เคยอยู่ในออฟฟิศที่สวัสดิการเป็นเลิศ มีน้ำเก๊กฮวยฟองขาวฟรีไม่อั้น สมองแล่นกันตั้งแต่บ่ายโมง เอ็นจอยกับ playstation หลังเลิกงาน ไปจนถึงออฟฟิศที่ไม่มีแม้แต่ตู้เย็นมาตั้งในออฟฟิศด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลที่ว่ามา “ทำงานไม่ได้มากิน”
แม้สวัสดิการจะไม่ใช่เหตุผลหลักในการเลือกหรือไม่เลือกทำงานที่ไหน เราอาจสนใจตำแหน่ง ค่าตอบแทน สิ่งอื่นๆ ที่เหมาะสมมากกว่า แต่สวัสดิการเองก็สามารถบ่งบอกถึงความใส่ใจต่อคุณภาพชีวิตของพนักงาน ซึ่งสะท้อนทัศนคติขององค์กรได้ดีเช่นกัน เราเลยอยากพามาดูสวัสดิการเจ๋งๆ ในบริษัทระดับโลก ว่าพวกเขาหล่อเลี้ยงคุณภาพชีวิตของพนักงานกันด้วยอะไรบ้าง
ใช้สิทธิ์ลาเมื่อมีเบบี๋ได้ทั้งพ่อและแม่
ไม่ต้องกังวลว่าแม่ลาได้ แล้วพ่อจะสามารถลาไปดูแลได้หรือเปล่า จริงๆ ในทุกบริษัทก็มีสิทธิประโยชน์นี้ให้ทุกที่ แต่เราขอเลือกที่ที่มีข้อเสนอพิเศษ หรืออะไรเจ๋งๆ มาเล่าให้ฟังกัน
เมื่อมีเบบี๋หรือรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง สำหรับ Google แม่สามารถลาได้ 18 สัปดาห์ พ่อลาได้ 6 สัปดาห์ โดยที่ยังได้เงินเดือนและมียังได้โบนัส ‘baby bonding bucks’ ที่เป็นเหมือนชุด kit ของใช้จำเป็นสำหรับเบบี๋และพ่อแม่มือใหม่ด้วย และเมื่อพ่อแม่ต้องกลับมาทำงาน ยังสามารถใช้สิทธิ์ daycare เพื่อดูแลลูกๆ ระหว่างวันได้อีกด้วย
ส่วน Facebook เองก็ไม่น้อยหน้า เอาวันลาไปเลยสี่เดือนสำหรับทั้งคู่ และยังคงจ่ายเงินเดือนให้ตามปกติ รวมทั้ง $4,000 สำหรับ ‘baby cash’ อีกด้วย ที่โหดกว่านั้น Netflix ให้วันลาสำหรับ Birth parent paid leave ถึง 52 สัปดาห์ นั่นหมายถึงหนึ่งปีเลยทีเดียว
มาทำงานพร้อมสัตว์เลี้ยงคู่ใจ
Amazon และ Google อนุญาตให้พนักงานพาสัตว์เลี้ยงคู่ใจมาแจกจ่ายความสดใสในที่ทำงานเสมอ พวกเขามีเหตุผลคล้ายๆ กัน คือต้องการให้ในที่ทำงานไม่ตึงเครียดเกินไป เมื่อนั่งทำงานจนล้าอยู่หน้าจอทั้งวัน หรือประชุมยิงยาวกันตั้งแต่เช้า ยังไงเราก็ยังต้องการช่วงพัก ออกไปสูดอากาศ ดื่มกาแฟ หรือแม้แต่มีเพื่อนคู่ใจคอยเพิ่มพลังงานด้านบวกให้เราอยู่นอกห้องประชุม นอกจากจะเป็นความชื่นใจของเจ้าของแล้ว ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้กับผู้คนในออฟฟิศที่อยากจะมาเล่นกับเจ้าสี่ขานี้อีกด้วย
และที่ VMware บริษัทเทคโนโลยีคลาวด์ ได้อนุญาตให้มีวันลาพิเศษ 2 วัน เมื่อสัตว์เลี้ยงเสียชีวิต ถือเป็นอีกความใส่ใจต่อสุขภาพจิตใจของพนักงาน
หยุดทำงานแล้วออกไปเที่ยวซะสิ
เรื่องของวันลาในบริษัทใหญ่ๆ หรือออฟฟิศสมัยใหม่ที่ค่อนข้างจะเป็น flexible time กันอยู่แล้ว อาจจะทำให้ไม่สามารถนับได้จริงๆ ว่ากำหนดวันลาให้เท่านั้นเท่านี้นะ หรือบางที่ก็เลือกที่จะให้ตามความต้องการของพนักงาน เราไม่รู้เลยว่าพวกเขาใช้เวลาเหล่านั้นไปกับการปั่นงานข้ามวันข้ามคืนที่บ้านหรือได้พักผ่อนจริงๆ กันแน่
Airbnb เลยเสนอเงินจำนวน $2,000 ต่อปีให้กับพนักงาน เพื่อออกไปเที่ยวและพักผ่อนที่ Airbnb ที่ไหนก็ได้บนโลกนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานของพวกเขาได้ไปเที่ยวเช่นเดียวกับลูกค้าที่พวกเขาให้บริการเหมือนกัน
ยังมีข้อเสนอเจ๋งๆ อีกมาก อย่าง การให้เงินเดือน 50% แก่คู่สมรสของพนักงานที่เสียชีวิตไปเป็นเวลา 10 ปี ของ Google เมื่อมาฝึกงานกับ Facebook สามารถเลือกเป็นที่พักฟรีหรือเงินค่าที่พักเป็นจำนวน $1,000 ก็ได้ ไปจนถึงสวัสดิการที่เราเห็นกันบ่อยๆ อย่าง อาหาร เครื่องดื่ม ฟิตเนส นวดผ่อนคลาย บริการที่จอดรถ บริการซักรีดเสื้อผ้า หรือแม้แต่ทันตแพทย์ on site ที่สามารถเดินไปนัดคิวได้แบบชิลๆ ที่ให้บรรยายทั้งวันก็คงไม่หมด
โดยทั้งหมดนี้ สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พนักงานของพวกเขาได้รับ คือ การสะท้อนทัศนคติของผู้บริหาร ที่มองพวกเขาเป็นมนุษย์ มีชีวิต มีจิตใจ มีวันกระตือรือร้น มีวันเหนื่อยล้า การสร้างบรรยากาศที่เหมาะแก่การทำงาน ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้พนักงานทำงานได้อย่างเต็มที่ มีความสุขกับงาน ให้ที่ทำงานของเขาไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ใช้แรง ใช้สมอง แลกกับเงินแล้วจบไปเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่อาชีพของเขา จะสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แม้จะไม่ใช่เวลาส่วนตัวก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก